วันนี้ (8 มิถุนายน) พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมด้วยว่าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พรรคก้าวไกล คือ ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ, วรภพ วิริยะโรจน์, พริษฐ์ วัชรสินธุ, รังสิมันต์ โรม และ เบญจา แสงจันทร์ เข้าพบปะพูดคุยหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ACT) เพื่อเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน
พิธากล่าวว่า พรรคก้าวไกลให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน อันถือเป็นปัญหาสำคัญในสังคมไทยที่ทำให้ประเทศสูญเสียโอกาสในการพัฒนาอย่างมหาศาล จะเห็นได้ว่าตลอด 4 ปีในการทำงานของพรรคก้าวไกลในสภาผู้แทนราษฎร มีการเปิดโปงการทุจริตและการตรวจสอบการใช้อำนาจและงบประมาณภาครัฐอย่างเข้มข้น เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด
แต่เมื่อพรรคก้าวไกลผ่านการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 จนได้รับคะแนนเสียงมากที่สุดเป็นพรรคอันดับหนึ่ง และเป็นแกนนำเจรจาจัดตั้งรัฐบาล จึงมีการทำ MOU กับพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อวางกรอบแนวทางการบริหารประเทศร่วมกันคือ
“2. ทุกพรรคจะทำงานโดยซื่อสัตย์สุจริต หากมีบุคคลของพรรคใดมีพฤติกรรมทุจริต คอร์รัปชัน ทุกพรรคจะยุติการดำรงตำแหน่งของบุคคลนั้นๆ ทันที”
และสำหรับแนวนโยบายที่จะทำร่วมกันก็คือ
“7. แก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันโดยการสร้างระบบและวัฒนธรรมรัฐโปร่งใส เปิดเผยข้อมูลรัฐในทุกหน่วยงาน” แสดงให้เห็นว่าพรรคก้าวไกลให้ความจริงจังกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันเป็นอย่างยิ่ง”
อย่างไรก็ตาม จากการติดตามตัวชี้วัดต่างๆ รวมทั้ง Corruption Perception Index: CPI พบว่าตลอดหลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้คะแนนและลำดับอย่างลุ่มๆ ดอนๆ ในรัฐบาลที่ผ่านๆ มา ดังนั้นเราจึงมีเป้าหมายต้องการเร่งแก้ปัญหาการทุจริตให้เห็นผล ทำให้ดัชนี CPI ของประเทศไทยมีคะแนนและลำดับดีขึ้นได้โดยเร็วที่สุด
“หากเราผลักดันให้นโยบายของเราเรื่องการเปิดเผยข้อมูลรัฐ และการนำเทคโนโลยีมาช่วยจับโกงสำเร็จได้ภายใน 100 วันตามที่เราตั้งไว้ ผมเชื่อว่าต้นปีหน้าเราจะมีข่าวดีว่าคะแนนและลำดับของประเทศไทยใน CPI จะสูงขึ้นกว่าเดิมแน่นอน และประชาชนจะยิ่งเชื่อมั่นศรัทธาในระบบการเมืองการปกครองตามครรลองประชาธิปไตย” พิธากล่าว
พิธาระบุอีกว่า แก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชันต้องทำให้ ‘ระบบดี’ ด้วย เพื่อทำให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน จึงมีหลักคิดสำคัญในการออกแบบระบบ คือจะต้องเป็นระบบที่
- ไม่มีใครอยากโกง
- ไม่มีใครกล้าโกง
- ไม่มีใครโกงได้
- ไม่มีใครโกงแล้วรอด
โดยเราได้ออกแบบนโยบายที่ใช้หาเสียงเลือกตั้งและพร้อมนำไปปฏิบัติต่อไป เช่น การใช้ระบบ AI จับโกง ตรวจสอบแพตเทิร์นที่ส่อทุจริตในการบริหารจัดการภาครัฐ, การเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ Open Government และ Open Parliament รวมทั้งนโยบาย ‘คนโกงวงแตก’ คือการออกกฎหมายคุ้มครองคนที่ออกมาแฉหรือให้ข้อมูลเกี่ยวกับการสมรู้ร่วมคิดกันทุจริตก่อนให้รับการลดโทษหรือกันเป็นพยาน (Leniency Programme) โดยเป็นระบบที่ทำให้คนที่คิดจะร่วมกันโกง (เช่น คนจ่ายกับคนรับสินบน บริษัทที่จะฮั้วประมูลกัน) ระแวงกันเองจนไม่มีใครกล้าร่วมกันโกง รวมทั้งหน่วยงานที่ตรวจสอบคอร์รัปชัน อย่างเช่น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ต้องมีความยึดโยงกับประชาชนมากขึ้น เพื่อจะได้มีความรับผิดรับชอบต่อประชาชน
ด้าน วิเชียร พงศธร ประธาน ACT เปิดเผยว่า ดีใจที่พรรคก้าวไกลติดต่อเข้ามาพูดคุยหารือถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน เชื่อว่าพรรคมีความจริงจังในประเด็นนี้ เรียกว่าการมีเจตจำนงอย่างมุ่งมั่น (Political Will) และภาคการเมืองมีบทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ทำให้ประชาชนมีความหวังว่าภาคการเมืองแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อย่างจริงจังและยั่งยืน เราได้แลกเปลี่ยนบางประเด็นที่เป็นรูปธรรม สามารถจับต้องได้ โดยเฉพาะประเด็นการสร้างระบบนิเวศที่จะทำให้ทุกฝ่ายแก้ไขปัญหาร่วมกัน และมองเห็นโอกาสที่จะร่วมมือกันได้ต่อไปในอนาคต
ขณะที่ณัฐพงษ์นำเสนอในที่ประชุม โดยกล่าวว่า 100 วันแรกของรัฐบาลก้าวไกลมีโรดแมป เราสามารถเปิดประชุมสภา และใช้มติคณะรัฐมนตรีเพื่อนำร่าง พ.ร.บ.ข่าวสารสาธารณะฯ กลับมาพิจารณาต่อได้เลยทันที ระบบ AI จับโกงที่เราสามารถต่อยอดจากระบบ ACTAi ได้ทันที แต่สำหรับ 100 วันแรกคงไม่สร้างภาระให้หน่วยงานทั้งหมด เพราะเราสามารถใช้ข้อมูล ‘เท่าที่มี’ และ ‘เท่าที่เป็น’ (หมายถึงรูปแบบของข้อมูลที่มีอยู่) อย่างไรก็ตาม หากคิดว่าข้อมูลประเภทไหนที่เมื่อหน่วยงานประกาศออกมา พบว่าหายไปทั้งที่หน่วยงานมีข้อมูลนั้นอยู่แล้ว เราจะสั่งให้เปิดเผยได้ทันที
ขณะเดียวกันใน 100 วันแรกของรัฐบาลก้าวไกลก็สามารถเข้าไปตรวจสอบ แก้ไขแผนงบประมาณประจำปีถัดไป โดยเชื่อว่าจะตัดงบประมาณที่ไม่จำเป็น ไม่เหมาะสม และนำไปใช้ในโครงการที่คุ้มค่ามีประโยชน์ต่อประชาชน รวมได้กว่า 2 แสนล้านบาท
นอกจากนี้ พรรคก้าวไกลยังผลักดันหลักการ Open Parliament เบื้องต้นจะถ่ายทอดสดการประชุมกรรมาธิการทุกชุด เพื่อให้ประชาชนติดตาม ตรวจสอบได้ โดยเชื่อว่าจะทำให้การคอร์รัปชันลดน้อยลง ไม่มีเหตุการณ์การจัดซื้อจัดจ้างที่ไม่สมเหตุสมผลอีกต่อไป
“หลังจาก 100 วัน พรรคก้าวไกลผลักดันนโยบายบัตรประชาชนดิจิทัล เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการมีส่วนร่วมของประชาชนได้ เช่น การเข้าชื่อถอดถอน การเสนอร่างกฎหมาย และอาจจะต่อยอดในอนาคตได้ เช่น การเลือกตั้ง ประชามติ กระบวนการงบประมาณ ฯลฯ เพื่อให้การดำเนินการใดๆ นั้นสะดวก รวดเร็ว ผิดพลาดน้อย แต่ต้นทุนต่ำ” ณัฐพงษ์กล่าว