×

เผยผล PISA 2018 คะแนนการอ่านเด็กไทยลดวูบ แม้ใช้เวลาเรียนมากกว่า

04.12.2019
  • LOADING...
PISA 2018

เมื่อวานนี้ (3 ธันวาคม) นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ ประธานคณะกรรมการ PISA แห่งชาติ และ ศ.ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) และรองประธานกรรมการสภาบริหารโปรแกรม PISA ร่วมกันแถลงข่าวเกี่ยวกับผลการประเมิน PISA 2018 พบนักเรียนไทยมีคะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของ OECD ในทุกด้าน ทั้งด้านการอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ แม้จากรายงาน PISA 2015 จะพบว่าเด็กไทยใช้เวลาเรียนรู้ทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียนถึง 55 ชั่วโมง สูงกว่าประเทศที่ได้คะแนนอันดับต้นๆ อย่างฟินแลนด์ (36 ชั่วโมง) หรือเกาหลีใต้ (50 ชั่วโมง) 

 

PISA คือการประเมินนักเรียนอายุ 15 ปี จำนวน 32 ล้านคนทั่วโลก จาก 79 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจ โดยมีการประเมิน 3 ด้านคือ ความฉลาดรู้ด้านการอ่าน ความฉลาดรู้ด้านคณิตศาสตร์ และความฉลาดรู้ด้านวิทยาศาสตร์ 

 

สำหรับประเทศไทย สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ทำหน้าที่เป็นศูนย์แห่งชาติ (National Center) ได้ดำเนินการจัดสอบเมื่อเดือนสิงหาคม 2561 ที่ผ่านมา มีนักเรียนกลุ่มตัวอย่างจำนวน 8,633 คน จาก 290 โรงเรียนในทุกสังกัดการศึกษาเข้าร่วมการประเมินในรอบนี้ โดยนักเรียนได้ทำแบบทดสอบและแบบสอบถามทางคอมพิวเตอร์ผ่านแฟลชไดรฟ์ข้อสอบ นอกจากนี้ยังมีการเก็บข้อมูลจากผู้บริหารโรงเรียนผ่านทางแบบสอบถามออนไลน์ด้วย

 

PISA 2018

 

โดยผลการประเมินของประเทศไทย นักเรียนไทยมีคะแนนเฉลี่ยดังนี้ 

 

  • ด้านการอ่าน 393 คะแนน (ค่าเฉลี่ย OECD 487 คะแนน)
  • คณิตศาสตร์ 419 คะแนน (ค่าเฉลี่ย OECD 489 คะแนน)
  • วิทยาศาสตร์ 426 คะแนน (ค่าเฉลี่ย OECD 489 คะแนน)

 

ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับผลประเมิน PISA 2015 พบว่าด้านการอ่านของเด็กไทยมีคะแนนลดลง 16 คะแนน ส่วนด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์มีคะแนนเพิ่มขึ้น 3 คะแนนและ 4 คะแนน ตามลำดับ ซึ่งในการทดสอบทางสถิติถือว่าด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับรอบการประเมินที่ผ่านมา

 

เมื่อวิเคราะห์แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของคะแนนตั้งแต่การประเมินรอบแรกจนถึงปัจจุบัน พบว่าผลการประเมินด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ของไทยไม่เปลี่ยนแปลง แต่ผลการประเมินด้านการอ่านมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง สำหรับประเทศไทย กลุ่มโรงเรียนเน้นวิทยาศาสตร์มีคะแนนเฉลี่ยอยู่ในระดับเดียวกับกลุ่มประเทศ/เขตเศรษฐกิจที่มีคะแนนสูงสุด 5 อันดับแรก และกลุ่มโรงเรียนสาธิตของมหาวิทยาลัยมีคะแนนสูงกว่าค่าเฉลี่ย OECD ส่วนกลุ่มโรงเรียนอื่นๆ ยังคงมีคะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ย OECD ทั้งนี้คะแนนด้านวิทยาศาสตร์ของนักเรียนทุกกลุ่มโรงเรียนมีคะแนนเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับ PISA 2015

 

เมื่อพิจารณาความแตกต่างของคะแนนระหว่างนักเรียนกลุ่มที่มีคะแนนสูง (เปอร์เซ็นไทล์ที่ 90) กับนักเรียนกลุ่มที่มีคะแนนต่ำ (เปอร์เซ็นไทล์ที่ 10) ของไทย ในภาพรวมพบว่ามีช่องว่างของคะแนนประมาณ 200 คะแนน โดยแนวโน้มความแตกต่างในด้านการอ่านและวิทยาศาสตร์ยังคงที่ ส่วนด้านคณิตศาสตร์มีช่องว่างของคะแนนกว้างขึ้น เนื่องจากนักเรียนกลุ่มที่มีคะแนนสูงมีคะแนนเฉลี่ยสูงขึ้น ในขณะที่นักเรียนกลุ่มที่มีคะแนนต่ำมีคะแนนเฉลี่ยลดลง 

 

OECD แบ่งระดับความสามารถของนักเรียนในแต่ละด้านเป็น 6 ระดับ โดยระดับ 2 ถือเป็นระดับพื้นฐานที่นักเรียนสามารถใช้ทักษะและความรู้ในชีวิตจริงได้ พบว่าในด้านการอ่าน ค่าเฉลี่ย OECD มีนักเรียน 77% ที่มีความสามารถด้านการอ่านตั้งแต่ระดับ 2 ขึ้นไป โดยในประเทศ/เขตเศรษฐกิจที่มีคะแนนสูงอย่างจีน 4 มณฑล, แคนาดา, เอสโตเนีย, ฟินแลนด์, ฮ่องกง, ไอร์แลนด์, มาเก๊า, โปแลนด์ และสิงคโปร์ มีนักเรียนมากกว่า 85% ที่มีความสามารถตั้งแต่ระดับ 2 ขึ้นไป ส่วนประเทศไทยมีนักเรียนที่มีความสามารถตั้งแต่ระดับ 2 ขึ้นไปประมาณ 40%

 

ในด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ นักเรียนไทยที่มีความสามารถตั้งแต่ระดับ 2 ขึ้นไปมีประมาณ 47% และ 56% ตามลำดับ (ค่าเฉลี่ย OECD คณิตศาสตร์ 76% และวิทยาศาสตร์ 78%) ทั้งนี้ในสองด้านนี้มีสัดส่วนของนักเรียนไทยที่มีความสามารถระดับสูง (ระดับ 5 และ 6) เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับ PISA 2015

 

อย่างไรก็ตาม จากการประเมิน PISA ที่ผ่านมา มีข้อสังเกตที่สำคัญ 3 ประการคือ ประการแรก ผลการประเมินชี้ว่าระบบการศึกษาไทยมีส่วนหนึ่งที่มีคุณภาพและสามารถพัฒนานักเรียนให้มีความสามารถในระดับสูงได้ หากระดับนโยบายสามารถสร้างความเท่าเทียมกันทางการศึกษา โดยขยายระบบการศึกษาที่มีคุณภาพไปให้ทั่วถึง ประเทศไทยก็จะสามารถยกระดับคุณภาพการเรียนรู้ของนักเรียนให้ทัดเทียมกับนานาชาติได้ ประการที่สอง นักเรียนไทยทั้งกลุ่มที่มีคะแนนสูงและกลุ่มที่มีคะแนนต่ำมีจุดอ่อนอยู่ที่ด้านการอ่าน 

 

ซึ่งใน PISA 2018 เป็นการประเมินการอ่านเนื้อหาสาระที่มาจากทั้งแหล่งข้อมูลเดียวและหลายแหล่งข้อมูล อีกทั้งสื่อที่นักเรียนได้อ่านส่วนใหญ่อยู่ในรูปแบบดิจิทัล ซึ่งสะท้อนถึงธรรมชาติของการอ่านที่เปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ของโลก และสอดคล้องกับการใช้ข้อมูลในชีวิตจริงของผู้คนทั่วโลก 

 

ดังนั้นระบบการศึกษาไทยจึงควรส่งเสริมการเรียนรู้ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลเข้าไปในการเรียนการสอนเพื่อสร้างความคุ้นเคยและยกระดับความสามารถด้านการอ่านของนักเรียนในยุคดิจิทัลต่อไป และประการที่สาม แนวโน้มคะแนนการอ่านของไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง และความฉลาดรู้ด้านการอ่านมีความสัมพันธ์กับความฉลาดรู้ด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ระบบการศึกษาไทยจึงต้องยกระดับความสามารถด้านการอ่านของนักเรียนอย่างเร่งด่วน

 

ทั้งนี้จากการประเมินของ PISA 2018 ที่เน้นในด้านทักษะการอ่าน พบว่าประเทศที่ได้คะแนน 10 อันดับแรกคือ จีน (เฉพาะในปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ เจียงซู และเจ้อเจียง), สิงคโปร์, มาเก๊า, ฮ่องกง, เอสโตเนีย, แคนาดา, ฟินแลนด์, ไอร์แลนด์, เกาหลีใต้ และโปแลนด์ 

 

ส่วนประเทศที่มีคะแนนรั้งท้ายด้านการอ่านคือฟิลิปปินส์, สาธารณรัฐโดมินิกัน, โคโซโว, เลบานอน, โมร็อกโก, อินโดนีเซีย, ปานามา, จอร์เจีย, คาซัคสถาน, บากู, มาซิโดเนียเหนือ และไทย 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising