×

ปิ๊น-อนุพงศ์ คุตติกุล จากวันแรกของ Carnival สู่การเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมปัจจุบัน

15.11.2021
  • LOADING...
ปิ๊น-อนุพงศ์ คุตติกุล

ไม่น่าเชื่อว่าในปีนี้จะก้าวเข้าสู่ปีที่ 11 ของร้านขายสนีกเกอร์ใจกลางย่านสยามสแควร์อย่าง Carnival (คาร์นิวัล) หมุดหมายที่ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมวัยรุ่นชาวไทย ที่ไม่ว่าใครมีความคิดอยากจะซื้อสนีกเกอร์สักคู่ หรืออัปเดตเสื้อผ้าสายสตรีท ชื่อของ Carnival ก็มักจะเป็นชื่อแรกๆ ที่ทุกคนนึกถึงอย่างแน่นอน  

 

จากจุดเริ่มต้นด้วยความชอบเรื่องราวของรองเท้าของ ปิ๊น-อนุพงศ์ คุตติกุล ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Carnival กล่าวว่า “สินค้าแฟชั่นมีอยู่ไม่กี่อย่างที่ออกแบบเมื่อร้อยปีที่แล้ว ตอนนี้คนก็ยังใส่อยู่เลย” 

 

จนเกิดเป็นการพัฒนาเปลี่ยนแปลงจากร้านที่ขายเพียงรองเท้า Converse สู่หนึ่งในร้านที่มีตัวเลือกสนีกเกอร์มากที่สุด ทั้งรุ่นหายาก ไปจนถึงการร่วมงานกับแบรนด์ต่างๆ มากมาย ที่มักจะสร้างความประหลาดใจและเกิดเป็นกระแสแทบทุกครั้ง 

 

 

อย่างเช่นล่าสุดกับ CDGRE ร้านอาหาร คาเฟ่ และไลฟ์สไตล์ช็อปที่จับมือร่วมกับ เชฟ Gaggan Anand จาก (อดีต) ร้าน Gaggan และร้านอาหาร Gaggan Anand Restaurant, เชฟ Thomas และเชฟ Mathias จากร้านอาหาร Sühring ที่เป็นสถานที่ให้เราได้นั่งพูดคุยกันในครั้งนี้ 

 

โปรเจกต์ CDGRE ถือเป็นการตอกย้ำการเติบโตไปอีกขั้นในตัวตนของ Carnival ที่สะท้อนออกมาได้อย่างชัดเจนผ่านการปรากฏของโลโก้แบรนด์บนเสื้อ หมวก รองเท้า เฟอร์นิเจอร์ ไปจนถึงจานบนโต๊ะอาหารและอีกมากมาย

 

คุณได้ร่วมงานกับหลายแบรนด์มากในช่วงที่ผ่านมา อยากให้เล่าให้ฟังว่าตอนนี้ Carnival ทำอะไรอยู่บ้าง 

ในส่วนของ Carnival เราเริ่มมาจากการเป็นร้านสนีกเกอร์ ผ่านการขายรองเท้ามาหลากหลายแบรนด์ แต่ช่วง 3-4 ปีหลัง เราเริ่มจริงจังกับการทำแบรนด์ของตัวเอง อย่างที่เห็นกับการทำคอลลาบอเรชันมากมาย แต่เราก็ยังคงคาแรกเตอร์ของความสนุก ที่เราอยากจะไปลองจับอะไรใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น เราอยากจะไปลองคุยกับผู้คน แล้วสร้างอะไรออกมาในแบบที่ยังไม่เคยทำมาก่อน ก็เลยออกมาเป็นความสนุกที่ทุกคนได้เห็นผ่านคอลลาบอเรชัน ผ่านการร่วมมือที่เราได้ทำมาตลอดในช่วงหลัง

 

ขณะเดียวกัน ในมุมสนีกเกอร์เราก็ยังนำเข้าสนีกเกอร์รุ่นที่ดีที่สุด รุ่นที่หายาก รุ่นที่เป็นที่พูดถึงและคนต้องการ ก็ยังมีสนีกเกอร์อยู่เหมือนเดิม และจะมีคอลเล็กชันของเรามากขึ้น 

 

ปีนี้ก็ถือว่าเป็นปีที่เราทำคอลลาบอเรชันหลากหลายมาก และหลายอันที่เป็นสิ่งที่คนไม่คิดว่าเราจะได้ทำ ปลายปีนี้ก็จะทำอีกสองคอลลาบอเรชัน ที่ทำให้เราก็ยังคงสนุกกับการทำสิ่งนี้อยู่

 

 

ความสนใจของคนเราเกิดขึ้นได้มากมาย ทำไมสนีกเกอร์ถึงเป็นจุดเริ่มต้นในความสนใจ

เราก็เป็นเหมือนวัยรุ่นคนหนึ่ง ที่แต่งตัว ชอบแฟชั่น ชอบกางเกงยีนส์ ชอบเสื้อ ชอบรองเท้า แต่สำหรับรองเท้า เราไม่ใช่คนที่จะซื้อรองเท้าแค่คู่เดียวแล้วใส่จนพังถึงเปลี่ยนใหม่ เราอยากมีรองเท้าหลายคู่ เหมือนที่บางคนอาจจะเก็บกางเกงยีนส์ บางคนก็อาจจะเก็บเสื้อผ้า 

 

แต่เราเลือกที่จะศึกษาเรื่องของรองเท้า เพราะเรามองว่ารองเท้าเป็นอะไรที่มีประวัติความเป็นมา มีเรื่องราวของตัวเองที่เราอ่านแล้วประทับใจ ทำให้เรารู้สึกอินไปกับรองเท้า 

 

สิ่งที่ทำให้เราชอบรางเท้าเป็นพิเศษด้วยประวัติความเป็นมา อย่างรองเท้า Converse จริงๆ คือรองเท้าบาส รองเท้าที่คนใส่เล่นบาสจริงๆ แต่ทุกวันนี้คนเอามาใส่เป็นแฟชั่นแล้ว ดีไซน์ของรองเท้าออกแบบไว้เมื่อ 100 ปีที่แล้ว ตอนนี้ก็ยังไม่เชยเลย คนยังใส่อยู่เลย สินค้าแฟชั่นมีอยู่ไม่กี่อย่างที่ออกแบบเมื่อร้อยปีที่แล้ว ตอนนี้คนก็ยังใส่อยู่เลย 

 

เพราะฉะนั้นรองเท้าสำหรับผมเป็นอะไรที่มหัศจรรย์ เป็นอะไรที่เป็นตำนาน แล้วเป็นของที่เป็นมาสเตอร์พีซ เราก็เลยมองว่ารองเท้ามีจุดที่น่าสนใจ พอมาเริ่มศึกษารองเท้าจริงจัง ก็เริ่มมาเก็บรองเท้า พอเริ่มเก็บก็เลยทำให้เราเกิดความคิดว่าน่าจะลองทำธุรกิจที่เราได้อยู่กับของที่เราชอบ 

 

สามารถพูดได้ไหมว่า Carnival เป็นแบรนด์ที่มีความคิดสร้างสรรค์เป็นพื้นฐาน และถูกต่อยอดด้วยความหลงใหลในสิ่งที่ชอบ

แบรนดิ้งคือแกนหลักของ Carnival เราไม่ได้ขายสินค้าเพียงอย่างเดียวเป็นตัวหลัก เพราะถ้าขายแค่สินค้า คนจะซื้อที่ไหนก็ได้ คนเดินเข้าไปที่ห้าง ไปร้านไหนก็ซื้อได้ แต่เราขายแบรนด์ เราขายเรื่องราวการนำเสนอภาพลักษณ์ของเรา ทุกอย่างที่เราทำไม่ว่าจะเป็น Facebook, Instagram รูปที่เราถ่าย แคปชันที่เราเขียน สิ่งที่เราโพสต์ คือตัวตนของเราทั้งหมด เราขายตัวตนว่าเราเป็นคนแบบนี้ ถ้าลูกค้าถูกใจตัวตนของเรา เขาชอบการนำเสนอของเรา เขาก็มาซื้อของที่เรา 

 

 

ในการทำธุรกิจที่ขายความคิดสร้างสรรค์แต่ก็ต้องคำนึงถึงการทำเงินในรูปแบบธุรกิจด้วย คุณมีวิธีการบาลานซ์สองสิ่งนี้อย่างไรบ้าง

 

สำหรับผมทุกวันนี้แกนหลักของ Carnival เรายังคงเหมือนเดิม ก็คือการทำสิ่งที่ชอบ บางคอลเล็กชันทำแล้วเรารู้ว่าอาจจะไม่ได้เงินมากแต่เราก็ทำ เพราะเรามองว่านี่คือสิ่งที่เราอยากทำ คือความฝันของเรา เราอยากนำเสนอแบบนี้ เราอยากจะถ่ายแบบนี้ แกนหลักของเราเป็นเรื่องความชอบ การนำเสนอด้วยความอยากเล่าเรื่อง แต่กำไรก็คือส่วนที่เราต้องบาลานซ์ด้วย คอลเล็กชันนี้เราได้กำไร คอลเล็กชันต่อไปเรายอมลดลงหน่อย ให้เกิดความบาลานซ์อยู่ 

 

แต่ผมเชื่อว่าที่เรามาได้ถึงทุกวันนี้ เพราะแกนหลักของเราคือไม่ใช่เรื่องเงิน ถ้าเราเอาเรื่องเงินเป็นหลัก ผมไม่ต้องถ่ายรูป ไม่ต้องถ่ายวิดีโอ ไม่ต้องนำเสนอก็ได้ ผมรู้อยู่แล้วว่าเสื้อนี้ขายได้แน่นอน แต่นั่นไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่สิ่งที่เราอยากจะเล่า เพราะเรายังโฟกัสกับการบอกเล่าตัวตนของเรามากกว่าเรื่องของเงิน

 

‘GU TING YANG WA’ เอ็กซ์คลูซีฟคอลเล็กชันระหว่าง Netflix และ Carnival 

 

สิ่งที่ทำให้ Carnival เป็นที่พูดถึงในสังคมอยู่ตลอดคือการคอลลาบอเรชัน ซึ่งมักจะเต็มไปด้วยความประหลาดใจสร้างสีสันให้ไม่ใช่แค่เพียงของวงการสตรีทแฟชั่น แต่รวมไปถึงวงการสินค้าอื่นๆ ด้วยเช่นกัน อย่างเช่นล่าสุดก็เป็นการทำกับแบรนด์ Netflix และอีกมากมายก่อนหน้า การเลือกงานคอลลาบอเรชัน มีวิธีการหรือขั้นตอนอย่างไรบ้าง ที่ทำให้สามารถดึงดูดความสนใจจากคนที่แม้จะไม่ได้ตามวงการสตรีทแฟชั่นก็ยังรู้ได้ว่าเราทำอะไร


สำหรับการทำแบรนด์มีทางเลือกหลากหลายทาง บางคนอาจจะไม่ทำคอลลาบอเรชันเลย ทำแต่ของตัวเองนำเสนอออกมา แต่เรามองว่าการที่เราทำแบรนด์ของเราเองคือแกนหลักอยู่แล้ว การที่เราออกไปจับกับใคร ผมมองว่าเหมือนการที่เราเป็นที่อยู่ในสังคม ที่ไม่สามารถอยู่ตัวคนเดียวได้ บางทีเราอยากจะไปต่างประเทศ ไปดูงานศิลปะ ไปดูหนัง ฟังเพลง 

 

แบรนด์เราก็เหมือนตัวเรา ที่เราต้องออกไปข้างนอก ไปเจอผู้คน หนัง เพลงใหม่ๆ เพราะฉะนั้นพอเราออกไปจับมือกับใคร เหมือนเราอยากนำเสนออะไรที่สนุกนอกเหนือจากคอลเล็กชันหลักที่ทำปีละ 2 ครั้งอยู่แล้ว คือ Spring/Summer และ Autume/Winter แต่ระหว่างนั้นคือการนำเสนออะไรที่เราไปเจอมาแล้วเราชอบมาก เราอยากเล่า 

 

อย่างเช่นเราไปดูการ์ตูนเรื่องนี้มา หรือเรากลับไปอ่านการ์ตูนเรื่องนี้มา เราก็อยากจะนำเสนอมุมมองของการ์ตูนเรื่องนี้ผ่านแบรนด์ของเรา 

 

หลังจากที่เราออกไปเจอผู้คนมากขึ้น ก็มีคนเข้ามาหาเราเองเยอะมากขึ้นด้วย เลยทำให้เกิดการทำคอลลาบอเรชันที่คนคาดไม่ถึงเยอะมาก เช่น Carnival มาทำกับ KFC เปลี่ยนร้าน Carnival เป็นร้าน KFC ที่ต่อยอดเป็นคอลเล็กชันที่มีเสื้อผู้พันแซนเดอร์ส หรือแม้กระทั่งมีชุดอาหาร Carnival ที่ร้าน KFC เลย

 

ซึ่งทั้งหมดที่เกิดขึ้นผ่านการคิดว่า ‘ถ้าสิ่งนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนแล้วเราจะทำจะได้ไหม’ และทำไมเราถึงต้องทำกับแบรนด์หรือคนนี้ เลยออกมาเป็นคอลลาบอเรชันที่หลากหลาย อย่างเช่นเราทำกับการ์ตูนหลายเรื่อง มีทั้ง One Piece, Naruto และ Dragon Ball ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านั้นคือสิ่งที่อยู่ในชีวิตเรามาตั้งแต่สมัยเด็กตั้งแต่ประถม เรามองว่าเราอยากนำเสนอเรื่องนี้กับลูกค้าที่โตมาพร้อมกับเรา หรืออาจจะเป็นรุ่นหลังเราที่มีโอกาสได้ซึมซับสิ่งเหล่านี้ ที่เราเอามาเล่าในแบบฉบับของเรา ก็เป็นอะไรที่น่าสนุกและน่าตื่นเต้น 

 

ปิ๊น-อนุพงศ์ คุตติกุล

 

ในทุกงานคอลลาบอเรชัน หรือที่ใดก็ตามที่มีโลโก้ของ Carnival ไปปรากฏอยู่ ความเป็นตัวตนของแบรนด์ยังคงชัดเจน ที่เพิ่มเติมอาจจะสีสันกับของสิ่งนั้นด้วยหรือเปล่า

ตัวตนของเรานี่แหละคือสิ่งหลักในการชูโรง ไม่ว่า Carnival จะไปทำกับใครแล้วจะออกมาอย่างไร สิ่งที่เราคำนึงถึงอีกอย่างคือการเล่าเรื่อง เช่น ยกตัวอย่างการทำกับการ์ตูน Dragon Ball 

 

ถ้าคุณไปที่ญี่ปุ่นแล้วไปที่ช็อปไหนก็ตาม โอกาสที่คุณจะเห็นเสื้อการ์ตูน Dragon Ball มีอยู่แล้วแน่นอน แต่จะเป็นแบบเสื้อพระเอก แต่เราเลือกที่จะหยิบเอาคาแรกเตอร์ที่คนอื่นไม่ใช้ เช่น Oolong, Mr.Satan, Yamcha ทำให้เป็นสตรีทแฟชั่น 

 

เพราะเรามองว่าการที่คุณเดินไปแล้วเห็นเสื้อ Goku หรือ Vegeta เป็นเรื่องธรรมดา แต่เราเห็นเสื้อ Mr.Satan เราจะรู้สึกว่าเป็นคาแรกเตอร์ที่เราจำได้ เราชอบเพราะเราอาจจะไม่ได้อยากใส่เสื้อตัวพระเอก แต่เป็นเสื้อที่คนเห็นแล้วนึกถึงทันทีว่ามาจากเรื่อง Dragon Ball ผมว่าตรงนี้แหละคือคอนเซปต์ในการทำงานของเรา 

 

ปิ๊น-อนุพงศ์ คุตติกุล

สินค้าในร้าน CDGRE

 

Carnival ก่อตั้งครั้งแรกเมื่อปี 2010 ผ่านจุดที่เป็นร้านขายรองเท้า Converse จนมาเป็นร้านที่ปลุกกระแสการตั้งแคมป์ การจับฉลากซื้อสนีกเกอร์หรือเสื้อผ้า เป็นร้านที่แบรนด์เลือกให้วางขายของรุ่นหายากและอะไรอีกหลายอย่าง สิ่งที่ Carnival โฟกัสในตอนนี้คืออะไร

สำหรับผม จุดที่เราโฟกัสยังคงเหมือนเดิมตั้งแต่วันแรก คือการสร้างแบรนด์พร้อมกับการเล่าเรื่องในแบบของเรา เรายังคงสร้างแบรนด์ของเราต่อไป แต่เราสร้างผ่านอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ อย่างเราสร้างผ่านร้านอาหาร เฟอร์นิเจอร์ อุปกรณ์แคมปิ้ง หรืออะไรอื่นๆ ที่ขยายออกไปในชีวิตประจำวันของผู้คน 

 

เราไม่ได้จำกัดว่า Carnival จะต้องเป็นแค่เสื้อผ้าและรองเท้า ที่ผ่านมาเราได้เห็นอุปกรณ์แคมปิ้ง โทรศัพท์มือถือ แล็ปท็อป ของ Carnival แล้ว ที่ผมมองว่าตรงนี้คือความสนุกที่ว่า ‘แล้วเราจะทำอะไรต่อ’ ซึ่งยังมีอีกหลายอย่างมากที่เราไม่มีโอกาสได้ทำ วันหนึ่งเราอาจจะได้ทำกาแฟ น้ำอัดลม หรือแม้กระทั่งรถยนต์ มอเตอร์ไซค์ ของ Carnival โดยตรงนี้ก็คือสิ่งที่เรายังคงโฟกัสไปพร้อมกับการเดินทางต่อไปเรื่อยๆ กับโอกาสว่าเราจะทำอะไรได้บ้าง 

 

แสดงว่านอกจาก Carnival จะได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมยุคปัจจุบันแล้ว ยังมีความตั้งใจให้แบรนด์เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันเราทุกคนด้วยหรือเปล่า

เราไม่ได้ขนาดว่าจะเข้าไปแทรกซึม อยู่ในทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตของคนขนาดนั้น ไม่ใช่นะครับ เรารู้อยู่แล้วว่าคนเราไม่ได้ว่าทั้งบ้านจะต้องมีแต่ของ Carnival เพียงแต่ว่าเราสนุกกับการได้ออกไปจับมือ ไปทำอะไรที่คนไม่คาดคิดว่าเราจะทำ อาจจะเป็นของที่เราใช้อยู่แล้วก็อาจจะนึกภาพตามว่า ถ้าวันหนึ่งเราอยากจะใช้ของนั้นที่เป็นรุ่นของเราเองบ้างเป็นอย่างไร

 

ปิ๊น-อนุพงศ์ คุตติกุล

 

คิดว่าตอนนี้เราสามารถพา Carnival ไปอยู่ในจุดที่เราอยากให้เป็นตั้งแต่แรกได้แล้วหรือยัง

ผมคิดว่าเราไปเกินกว่าจุดที่เราคิดไว้นานมากแล้ว ผมคิดว่า Carnival เหมือนเป็นที่เราออกเดินทาง ตอนอายุ 15 ปี เราอาจจะคิดว่าเราอยากไปเที่ยวฮ่องกง พอเราได้ไปฮ่องกงแล้วเราขอไปญี่ปุ่น เราขอไปเกาหลี เราขอไปอเมริกา เราขอออกไปเดินทางท่องเที่ยวไปเรื่อยๆ ไม่ได้มีจุดที่ว่าเราไปถึงประเทศนี้แล้ว เราจะไม่เดินทางไปที่ไหนอีกแล้ว 

 

เวลามีคนถามผมว่า ‘เราคิดว่าเราประสบความสำเร็จแล้วหรือยัง’ ผมก็จะบอกว่าเราพอใจกับปัจจุบันที่เราเดินทางมาเยอะมากแล้ว แต่ก็ยังมีอีกหลายเป้าหมายที่เรายังไม่เคยได้ทำแล้วเราก็ยังคงสนุกกับการทำสิ่งนั้นต่อ 

 

อย่างเช่นเราใช้เวลา 11 ปี กับการได้คอลลาบอเรชันกับ Adidas ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนที่ใครในประเทศไทยจะได้ออกแบบรองเท้า Adidas แล้วเป็นแบรนด์ไทย ที่สามารถเปิดตัวออกมาวางขายได้ พอเราได้ทำแล้วก็รู้สึกว่านี่เป็นหนึ่งในเป้าหมายสูงสุดของ Carnival มาโดยตลอด 

 

แต่ถ้าถามว่าพอได้ทำแล้วเราจะหยุดไหมก็ไม่ใช่ ถ้ามีโอกาสได้ทำกับแบรนด์อื่นๆ หรือแม้กระทั่งแบรนด์ Nike ที่เรายังไม่เคยได้ทำ เราก็ยังคงที่จะเดินทางต่อไปด้วยความสนุกที่จะทำ

 

ปิ๊น-อนุพงศ์ คุตติกุล

 

มีโอกาสที่เราจะได้เห็น Carnival วางขายในที่อื่นๆ ทั่วโลกไหม

จริงๆ เราก็มีเป้าหมายว่าเราอยากให้มีสินค้าเราเป็นที่ยอมรับในต่างประเทศด้วย แต่ตอนนี้ยังไม่ใช่สิ่งที่เราโฟกัสเป็นหลัก สิ่งที่เราโฟกัสหลักยังคงเป็นประเทศไทย เพราะว่าคนที่จะเข้าใจคาแรกเตอร์ของเราแล้วก็อินไปกับเราได้คือคนที่อยู่กับเรา โตมาพร้อมกับเรา อยู่ในสภาพแวดล้อมแบบเดียวกับเรา แต่ว่าถ้าสิ่งที่เรานำเสนอแล้วถูกใจคนต่างชาติ สามารถนำไปขายที่ต่างประเทศได้ ผมว่าเป็นเหมือนโบนัสมากกว่า เพราะว่าเรายังคงโฟกัสที่ความชอบ ความเป็นลูกค้าคนไทยเป็นหลักมากกว่า

 

ตัวตนของปิ๊นเองก็ถือว่าสะท้อนออกมาผ่าน Carnival ด้วยเช่นกัน และไม่ใช่เรื่องบ่อยที่เราจะได้เห็นความเป็นตัวตนชัดเจนในทุกองศาเช่นนี้ 

ผมมองว่าเพราะเราใช้แพสชันนำทางธุรกิจ ซึ่งสิ่งนี้เองก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย แต่เมื่อคนสัมผัสได้ว่าเราทำสิ่งนี้เพราะความชอบจริงๆ เราคือคนที่ทำจริง ออกแบบเองจริง ใส่จริง คนก็จะเข้าใจและรักในสินค้าของเรา 

 

ปิ๊น-อนุพงศ์ คุตติกุล

 

ภาพ: ภควรรษ ประเสริฐศักดิ์ 

FYI
  • ปัจจุบัน Carnival เปิดหน้าร้านอยู่ทั้งหมด 6 สาขา และออนไลน์สโตร์ที่คุณสามารถช้อปได้ผ่าน https://www.carnivalbkk.com/cms   
  • ปี 2021 Carnival ได้ร่วมงานกับหลากหลายแบรนด์ รวมถึงล่าสุดกับคอลเล็กชัน ‘GU TING YANG WA’ ระหว่าง Netflix และ Carnival 
  • ไม่ใช่แค่เสื้อผ้าหรือข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ แต่การร่วมงานกับเชฟ Gaggan Anand, เชฟ Thomas และเชฟ Mathias จากร้านอาหาร Sühring เพื่อสร้างสรรค์ร้านอาหารและไลฟ์สไตล์ช็อปอย่าง CDGRE ถือเป็นอีกหนึ่งก้าวของ Carnival ที่สร้างความตื่นเต้นให้กับทั้งคนรักอาหารและสตรีทแวร์ได้อย่างมาก 
  • ที่สำคัญ Carnival กำลังจะเปิดตัวคอลลาบอเรชันของพวกเขาและแบรนด์ระดับโลกอย่าง Adidas อีกด้วย 
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising