×

“ไทยเหมือนเสือหลับ ต้องออกไปปลุกเสือให้ตื่น” นี่อาจเป็นปีทองของอุตสาหกรรม EV แบตเตอรี่ และฮาลาล

24.01.2024
  • LOADING...

วันนี้ (24 มกราคม) ที่โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพ (รางน้ำ) พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวเสวนาในหัวข้อ ‘เปิดโฉมอุตสาหกรรม-การทูตยุคใหม่ ในมุมมอง รมต. New Gen’ จัดโดยหนังสือพิมพ์มติชน ภายใต้งานสัมมนา Thailand 2024: The Great Challenges ว่า นโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรมคือส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการ ซึ่งการขับเคลื่อนนโยบายปัจจุบันนั้นตระหนักดีว่ากระทรวงอุตสาหกรรมเป็นกระทรวงที่สำคัญ “เป็นเหมือนเสือหลับอยู่ เพราะฉะนั้นวันนี้คือการไปกระตุ้นเสือให้ตื่น” 

 

โดยที่ผ่านมา เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ขยันทำงาน เดินทางไปต่างประเทศ ให้นักลงทุนได้มั่นใจว่าประเทศไทยมีความพร้อมขนาดไหน 

 

“เราบอกเสมอว่า เราจะต้องไม่เป็นอุปสรรค เพราะทุกวันนี้เอกชนก้าวหน้ารัฐบาลไปมากแล้ว อะไรก็ตามที่เป็นอุปสรรค ต้องลด เลิกให้ได้ ซึ่งวันนี้ไทยเราพร้อมจริงๆ ทั้งโครงสร้างพื้นฐาน กลไกต่างๆ ที่รัฐบาลพยายามขับเคลื่อนด้วยกัน เราต้องทำงานด้วยกัน เพราะอยู่ภายใต้รัฐบาลเดียวกัน” พิมพ์ภัทรากล่าว

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง: 


 

นอกจากที่จะต้องดึงนักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามา อีกสิ่งที่ทำคือดึงผู้ประกอบการในประเทศให้อยู่ให้ได้ เพราะสิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลไปยังซัพพลายเชนทั้งหมด โดยเฉพาะรายย่อย ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) 

 

“วันนี้โลกเปลี่ยน อุตสาหกรรมก็เปลี่ยน มีกติกาใหม่ที่เข้ามาบังคับ ข้อกีดกันทางการค้า ซึ่งยุคอุตสาหกรรมขณะนี้ ผู้ประกอบรายใหญ่ไม่ค่อยมีปัญหา มีพร้อมด้วยกำลังทรัพย์และความรู้ แต่ที่น่ากังวลคือรายย่อย SME และซัพพลายเชนอ่อนแรง” 

 

จากใช้รถน้ำมันเปลี่ยนเป็นรถยนต์ไฟฟ้า (EV)

 

โดยเฉพาะการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมใหม่หรือเทรนด์การบริโภคของคนก็เปลี่ยน ชัดเจนที่สุดคือเปลี่ยนจากรถยนต์สันดาป รถน้ำมัน ไปเป็นรถยนต์ไฟฟ้า (EV) แม้จะไม่ได้เปลี่ยนมากหรือเปลี่ยนทันที แต่แนวโน้มเทรนด์ก็กำลังไปทางนั้น และความยากที่สุดคือการทำอย่างไรให้ซัพพลายเชนยังอยู่ได้ หรือปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมเดิมที่กำลังถูกกระทบให้เป็นอุตสาหกรรมใหม่ให้ได้ 

 

สำหรับประเภทอุตสาหกรรมที่จะต้องเร่งผลักดัน คงหนีไม่พ้นอุตสาหกรรม S-Curve อาทิ EV ที่เริ่มเข้ามาในไทยแล้ว ส่วนอุตสาหกรรมที่ต้องมีการยกเครื่อง เช่น อุตสาหกรรมสิ่งทอ การ์เมนต์ และที่กำลังมีคู่แข่งเยอะ เช่น อุตสาหกรรมเหล็ก ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมพยายามคัดกรอง และส่งสัญญาณเตือนผู้ประกอบการให้ปรับเปลี่ยนให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลง

 

“แม้ว่าอุตสาหกรรมสิ่งทออาจจะกำลังเผชิญผลกระทบการเปลี่ยนแปลงอยู่ แต่ก็ยังมีนโยบายของรัฐหลายอย่างเข้ามาช่วย อาทิ นโยบายซอฟต์พาวเวอร์ ที่เข้ามาช่วยเสริมกลุ่มผู้ประกอบการรายเล็กให้มีโอกาสปรับตัวได้” 

 

รุกอุตสาหกรรมหมุนเวียน (Circular Hub) 

 

แน่นอนว่าอุตสาหกรรม S-Curve ที่มีโอกาสมากที่สุดวันนี้ คงหนีไม่พ้นอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ต่อเนื่องจากนโยบาย EV 3.0 จนมาถึง EV 3.5 ซึ่งนายกรัฐมนตรีก็มองไปทั้งซัพพลายเชน 

 

คือเรื่องของแบตเตอรี่ที่เอาเข้ามาใช้แล้ว เมื่อเสื่อมสภาพก็ไม่รู้ต้องทำอย่างไรต่อ สามารถทำอย่างอื่นได้หรือไม่ รีไซเคิลอย่างไร ที่ไหน หรือจะพัฒนาประเทศไทย นอกจากเป็นฐานผลิตยานยนต์ไฟฟ้า ก็สามารถทำฐานอุตสาหกรรมหมุนเวียน (Circular Hub) เพื่อทำรีไซเคิลในอนาคต 

 

โอกาสของอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ 

 

อีกอุตสาหกรรมที่เป็นโอกาสแต่เอ่ยชื่อไปหลายคนอาจจะตกใจคือ อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ หมายถึงการผลิตยุทโธปกรณ์ เช่น รถถัง เรือรบ ปืน หรือแม้แต่กระสุน แล้วส่งออกได้จำนวนมาก จึงเป็นอุตสาหกรรมอีกประเภทที่ควรจะต้องส่งเสริม 

 

ทั้งนี้ หลังจากนี้ต้องหารือกับกรมสรรพากร กรมสรรพสามิต รวมไปถึงกระทรวงกลาโหม ในประเด็นมาตรการทางภาษี อาทิ รถถังนำเข้าทั้งคัน ภาษีถูกกว่าการนำเข้ามาประกอบ ดังนั้นจึงต้องไปดูเพื่อให้เกิดความเท่าเทียม หรือเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ผู้ผลิตในประเทศจะได้มีโอกาสแข่งขันกับผู้นำเข้าได้ 

 

ปลดล็อก FTA เจาะตลาดซาอุ

 

อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงการค้าเสรี หรือ FTA เองก็เป็นเรื่องสำคัญ โดยก่อนหน้านี้รัฐบาลรวมถึงกระทรวงอุตสาหกรรมได้เดินทางไปเยือนประเทศซาอุดีอาระเบีย แต่ไทยก็ยังไม่มีข้อตกลง FTA กับซาอุ ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ 

 

หากปลดล็อกเงื่อนไขนี้ได้จะเป็นโอกาสของประเทศ เช่น เรื่องสาธารณสุข เฮลท์แคร์ การส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ ปศุสัตว์ และผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ ที่ซาอุมีความต้องการซื้อสูง รวมถึงอุตสาหกรรมสินค้าฮาลาลที่ไทยก็มี แต่อยู่แบบกระจัดกระจายในความรับผิดชอบของหลายกระทรวงและหลายกรม 

 

ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมมองเห็นว่า “ตลาดสินค้าฮาลาล 1.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยที่ไทยส่งออกสินค้าฮาลาลได้กว่า 6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 2-3% เท่านั้น” 

 

ตั้งกรมอุตสาหกรรมฮาลาล 

 

“เมื่อเห็นขนาดตลาดแล้ว เราก็มองเห็นโอกาส เพราะประเทศไทยเป็นประเทศที่มีทรัพยากรและกำลังการผลิต เพียงแต่จะต้องมีการสนับสนุนผู้ประกอบการให้ไปถึงโอกาสในการขายในประเทศที่เขาต้องการอย่างมาก” 

 

ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมได้เสนอไปยังนายกรัฐมนตรีในการตั้งกรมอุตสาหกรรมฮาลาล รวมไปถึงนโยบายดึงดูดต่างชาติที่มีความสามารถเข้ามาในประเทศ ตลอดจนการปรับตัวและรับมือกับข้อกีดกันทางการค้าที่เข้มข้น อาทิ มาตรการภาษีคาร์บอน 

 

“ท้ายที่สุด แม้ว่าผู้ประกอบการรายใหญ่เป็นเสาหลักสำคัญก็จริง แต่ถ้า SME อยู่ไม่ได้ เสาหลักก็มีปัญหาแน่นอน” 

 

 

ภาพจาก : มติชน

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X