×

ไฟเขียวบูรณะซ่อมแซมสะพานพุทธฯ ใช้เวลา 2 ปี ต้องแจ้งประชาชนล่วงหน้า 3 เดือน วางแผนจราจรทางบก-ทางน้ำ

โดย THE STANDARD TEAM
07.12.2022
  • LOADING...
สะพานพระพุทธยอดฟ้า

วันนี้ (7 ธันวาคม) พล.ท. พัชร์ชศักดิ์ ปฏิรูปานนท์ ผู้ช่วยโฆษกรองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า ครั้งที่ 2/2565 ณ ห้องประชุมมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์

 

ที่ประชุมได้รับทราบความคืบหน้าการดำเนินงานโครงการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการอนุรักษ์และพัฒนาบริเวณเมืองเก่า 12 เมือง โดยมีการจัดทำร่างขอบเขตงาน (TOR) โครงการจัดทำแผนปฏิบัติการฯ ให้ทั้ง 12 จังหวัดแล้ว

 

จากนั้นได้พิจารณาเห็นชอบ โครงการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้แห่งชาติ ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์ชั้นนอก ประกอบด้วยโครงการ Ratchadamnoen Center 1 (ห้องสมุดมีชีวิต, พื้นที่เรียนรู้และพัฒนาทักษะ, พื้นที่แสดงออก เป็นต้น) และโครงการ Ratchadamnoen Center 2 (พื้นที่อเนกประสงค์เพื่อการเรียนรู้, พื้นที่บริการลูกค้า เป็นต้น)

 

ที่ประชุมยังได้เห็นชอบในหลักการให้บูรณะสะพานพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ซึ่งใช้เวลา 2 ปีเพื่อเสริมความแข็งแรง ความปลอดภัย สะดวกสัญจร และคงรูปแบบทางสถาปัตยกรรม รักษาสมบัติของชาติไว้ให้ลูกหลานอย่างยั่งยืนนาน โดยจะต้องมีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับรู้และเข้าใจถึงความจำเป็นอย่างน้อย 3 เดือนก่อนดำเนินการ เพราะต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อการจราจรทั้งทางน้ำและทางบกเป็นวงกว้าง 

 

ที่ประชุมเห็นชอบในหลักการให้ดำเนินโครงการอาคารรักษาพยาบาลและสถานีศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ซึ่งมีรูปแบบอาคารและสิ่งก่อสร้าง ที่เชื่อมต่อของระบบรถไฟฟ้ากับอาคารของโรงพยาบาล โดยอยู่ภายใต้การบริหารและกำกับดูแลของคณะแพทยศาสตร์ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) รวมทั้งเห็นชอบโครงการปรับปรุงอาคารศาลากลางจังหวัดน่าน (หลังเก่า) ให้เป็นหอศิลปวัฒนธรรมเมืองน่าน เพื่อใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมล้านนาตะวันออก และศูนย์การศึกษาความเป็นน่าน ให้กับประชาชนต่อไป

 

พล.อ. ประวิตร ได้เน้นย้ำให้คณะกรรมการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เร่งรัดดำเนินการตามมติที่ประชุม และขับเคลื่อนโครงการให้บรรลุผลเป็นรูปธรรม ตามกรอบเวลาอย่างเคร่งครัด โดยคำนึงถึงการอนุรักษ์เอกลักษณ์วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมของท้องถิ่นและประเทศชาติ เพื่อเก็บรักษาไว้ให้ลูกหลานคนไทยสืบไป

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising