×

ภูลังกาถิ่นชาวเย้า (อิ้วเมี่ยน) จากสุนัขมังกรสู่การเดินทางไกล

22.07.2023
  • LOADING...
ภูลังกา

HIGHLIGHTS

  • ชาวเย้าเป็นชาวเขากลุ่มหนึ่ง อพยพเคลื่อนย้ายเข้ามาไทยเกิน 140 ปีแล้ว แต่รัฐไทยมักสร้างมายาคติว่าชาวเขาเป็นผู้อพยพเข้ามาใหม่ จึงมีปัญหาเรื่องสัญชาติจนทุกวันนี้ เพราะเหมารวมไม่จำแนกแยกแยะ
  • เรื่องของชาวเย้าเป็นเพียงหนึ่งในประวัติศาสตร์ของกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังมีกลุ่มชาติพันธุ์อีกหลายกลุ่มที่ล้วนมีประวัติศาสตร์ของตนเอง แต่พื้นที่ของประวัติศาสตร์ชาติกลับไม่ให้ความสนใจมากนัก กลับเน้นเฉพาะเรื่องราวของคนไทย/ไท ทั้งๆ ที่ประเทศนี้เป็นประชารัฐที่พลเมืองทุกคนล้วนแต่มีสิทธิมีเสียง แต่ด้วยวิธีคิดเชิงเดี่ยวแบบนี้เองที่ทำให้แม้กระทั่งประวัติศาสตร์ยังถูกผูกขาดด้วยอำนาจ

พักเรื่องการเมืองแล้วมาอ่านอะไรอย่างอื่นกันบ้างแล้วกันครับ ช่วงที่ผ่านมาไม่ค่อยได้เขียนคอลัมน์ใน THE STANDARD สักเท่าไร เพราะมัวแต่ยุ่งกับงานวิจัยและงานสารคดีประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่ได้ทุนมาจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และทางป่าใหญ่ ครีเอชั่น เป็นผู้ผลิต หนึ่งในเรื่องที่ทำมีเรื่องชาวเย้า หรืออิ้วเมี่ยน ที่ภูลังกา จังหวัดพะเยา 

 

ผมเลือกที่นี่ ไม่ใช่เพราะกาแฟอร่อย บรรยากาศดี แต่เป็นเพราะประวัติศาสตร์ความเป็นมาของชาวเย้านี้มีความยาวนานร่วมพันปี ดังนั้นจึงเป็นกรณีศึกษาที่ดีสำหรับการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ท้องถิ่นด้วยวิธีการประวัติศาสตร์บอกเล่า และเชื่อได้เลยว่าภายใต้บรรยากาศการเมืองไทยแบบนี้ที่เต็มไปด้วยการต่อสู้ด้วยวาทกรรม การที่เด็กเรียนรู้วิธีการทางประวัติศาสตร์นั้นจะเป็นหนทางหนึ่งที่ช่วยทำให้รู้สึกถึงการประเมินเรื่องเล่าต่างๆ 

 

บรรยากาศของภูลังกายามหน้าฝน

 

แรกเริ่มเข้ามาแดนสยาม

ชาวเย้าเป็นชาวเขากลุ่มหนึ่ง อพยพเคลื่อนย้ายเข้ามาไทยเกิน 140 ปีแล้ว แต่รัฐไทยมักสร้างมายาคติว่าชาวเขาเป็นผู้อพยพเข้ามาใหม่ จึงมีปัญหาเรื่องสัญชาติจนทุกวันนี้ เพราะเหมารวมไม่จำแนกแยกแยะ เอกสารเก่าสุดเท่าที่สืบค้นได้ว่าชาวเย้าที่ภูลังกาเข้ามาในชายพระราชอาณาเขตของสยามตั้งแต่เมื่อไรนั้น ปรากฏในเอกสารจากกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงการคลังเมื่อ ร.ศ. 103 หรือ ค.ศ. 1884 / พ.ศ. 2427 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5 ได้ส่งรายงานจากเมืองหลวงพระบาง ถือเป็นรายงานฉบับแรกที่ทางการสยามและเมืองน่านรับทราบว่าได้มีชาวเย้าอพยพเข้ามาใกล้กับชายแดน ความว่า 

 

“…เรื่องฮ่อเข้ามาแอบแฝงผลายเขตรแดนนี้ใช่จะมีแต่ที่เมืองหลวงพระบาง มีผู้เล่าว่าเดิมทีเมืองน่านก็มีฮ่อจำพวกหนึ่งเรียกว่า ฮ่อเย้าหยิน เข้ามาแอบแฝงอยู่ปลายแดนเหนือเมืองเชียงของ แต่เมืองน่านไม่ตกใจ เกลี้ยกล่อมไว้เปนพลเมืองแบ่งน้ำให้กิน แบ่งถิ่นให้อยู่ เป็นสุขแล้ว เก็บเอาส่วยม้าทุกปีก็เรียบร้อยมาจนทุกวันนี้…” (ร.5 ม/ 62 ข่าวทางเมืองหลวงพระบาง) ข้อมูลนี้ค้นโดย ดร.สุชล มัลลิกะมาลย์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งเป็นผู้ที่มีความสนใจเรื่องชาวเย้าเป็นอย่างมาก 

 

ชาวเย้าจากตระกูลแซ่ต่างๆ ในงานมหกรรมวัฒนธรรมอิ้วเมี่ยนโลก

 

ใจความความสำคัญของเอกสารชั้นต้นข้างต้นนี้คือ ใน พ.ศ. 2427 ทางการสยามรับทราบมาระยะหนึ่งแล้วว่ามีชาวเย้าอพยพเข้ามาในพื้นที่หลวงพระบางและน่าน ดังนั้นพวกเขาจึงเข้ามาก่อนหน้า พ.ศ. 2427 อีกเรื่องที่สำคัญ ในสายตาของทางการสยามแล้วถือว่าชาวเย้าเป็นพลเมือง เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะชาวเย้าเสียส่วยอย่างสม่ำเสมอเป็นประจำทุกปี  

มีเรื่องที่ต้องรู้เล็กน้อยเกี่ยวกับชื่อเรียกทางชาติพันธุ์ (Ethnonym) คือชื่อ ‘ฮ่อเย้าหยิน’ นี้มี 3 คำ 

 

คำแรก ‘ฮ่อ’ นี้เป็นชื่อที่คนล้านนาและสยามเรียกกลุ่มคนจีนที่อยู่แถบยูนนาน บางครั้งเรียก ‘จีนฮ่อ’ รวมกันก็มี ความเข้าใจว่าเย้าเป็นฮ่อนั้น คงเป็นเพราะมีลักษณะวัฒนธรรมที่ดูคล้ายกับคนจีน

 

คำว่า ‘เย้า’ เป็นชื่อเรียกเฉพาะ ตัวจีน 瑤 นี้ก็มีความหมายว่า สวยงาม หรือเป็นหยกอันสูงค่า เรื่องนี้คงเกี่ยวข้องกับตำนานอันเป็นที่มาชื่อที่ได้รับพระราชทานจากจักรพรรดิในตำนาน ดังนั้นเราจึงสามารถเรียกชาวเย้าว่าเย้าได้ ไม่ใช่คำดูหมิ่น 

 

คำสุดท้ายคือคำว่า ‘หยิน’ นี้มาจากคำว่า ‘เหริน’ (人) ในภาษาจีนแปลว่า ‘คน’ 

 

อย่างไรก็ดี คำเรียกว่า ‘เย้า’ ก็ยังเป็นชื่อที่จีนสมัยโบราณตั้งให้ ไม่ใช่ชื่อที่ตนเองเรียกตั้งแต่ดั้งเดิม ถ้าคิดและอธิบายแบบจิตร ภูมิศักดิ์ ปราชญ์ทางภาษาและประวัติศาสตร์ เหตุที่ชาวเย้าเรียกตนเองว่า ‘เมี่ยน’ หรือ ‘อิ้วเมี่ยน’ ก็เพื่อแสดงออกถึงความเป็นมนุษย์ ซึ่งเป็นกระบวนการต่อสู้อย่างหนึ่ง พบได้ทั่วไปหลายกลุ่มชาติพันธุ์ที่มักนิยามชื่อเรียกของตนเองว่า ‘คน’ เช่น คำว่า ‘ไท’ ก็แปลว่า ‘คน’ ก่อนจะผันผวนไปเป็นความหมายอื่นๆ 

 

สุนัขมังกร

ชาวเย้ามาจากไหน ในตำนานของชาวเย้าที่บันทึกไว้ในหนังสือเดินทางที่มีชื่อเรียกว่า ‘เกีย เซ็น ป๊อง’ ซึ่งถือเป็นหนังสือเดินทางคล้ายพาสปอร์ตที่ยาวที่สุดในโลก โดยจักรพรรดิจีนพระราชทานให้ เล่าว่า พระเจ้าผิงหวางฮ่องเต้ในสมัยราชวงศ์โจวทรงพิโรธพระเจ้าเกาอ๋องผู้เป็นกษัตริย์ต่างเมือง จึงทรงดำริที่จะกำจัดเสีย เหล่าขุนนางก็พากันปรึกษาว่าจะหาผู้ใดไปจัดการ ขณะนั้นเองสุนัขมังกรที่ชื่อว่า ‘ผันหู’ ก็พลันกระโดดออกมาจากทางด้านซ้ายของท้องพระโรง ถวายบังคมว่า ข้า (สุนัขมังกร) จะเป็นผู้จัดการเอง เมื่อพระเจ้าผิงหวางทรงได้ฟังดังนั้นก็ดีพระทัย จึงมอบสุนัขมังกรไปปราบ 

 

เกีย เซ็น ป๊อง หนังสือเดินทางที่ยาวที่สุดในโลก

 

เมื่อปราบได้แล้ว ผันหูจึงทูลขอนางในที่เปรียบเป็นเจ้าฟ้าหญิงเพื่อแต่งงานด้วย ด้วยความดีความชอบ พระเจ้าผิงหวางฮ่องเต้จึงได้จัดงานแต่งงานให้ เมื่องานแต่งแล้วเสร็จ ด้วยความรู้สึกละอายพระทัยที่เจ้าหญิงต้องแต่งงานกับสุนัขมังกร พระเจ้าผิงหวางฮ่องเต้จึงทรงมีรับสั่งให้ผันหูและนางในเดินทางไปอยู่ภูเขาค่อยจี (บางฉบับว่าภูเขาจีซาน) แต่พระองค์ก็มีความเมตตา ด้วยจัดให้มีสาวใช้สอง 2 คนทำหน้าที่ตัดฟืน หาบน้ำ นำเงิน และทำอาหารไปให้ทุกเดือน 

ต่อมาผันหูและเจ้าฟ้าหญิงมีลูกกัน 6 คน พระเจ้าผิงหวางฮ่องเต้จึงตั้งแซ่ให้ 6 แซ่ รวมถึงเนื่องจากพวกเขาเหล่านั้นกำเนิดมาจากสุนัขมังกรและครรภ์มนุษย์ จึงถือว่าเป็นมนุษย์เผ่าพันธุ์ใหม่ จึงอนุญาตให้เรียกว่า ‘คนเย้า’ (瑤人) นอกจากนี้พระองค์ทรงให้ทั้ง 6 คนแต่งงานกับครอบครัวอื่น และให้บุตรสาวของทั้ง 6 คนแต่งบุตรเขยเข้าเรือน ทั้งนี้เพื่อให้สืบตระกูลได้ 12 แซ่ ทุกวันนี้ชาวเย้าจึงมีทั้งหมด 12 ตระกูลแซ่ 

 

ภาพวาดต้นม้วนกระดาษ จะเห็นภาพของสุนัขมังกรอยู่ใกล้กับจักรพรรดิ

 

แต่แล้วผันหูได้ตายลงจากการต่อสู้กับกวาง บุตรชายและบุตรสาวต่างร้องไห้เสียใจและช่วยกันแบกศพกลับบ้าน โดยใช้เสื้อ ผ้าเช็ดหน้า กางเกง และกระโปรงที่มีลายดอกไม้ปกปิดเรือนร่าง แล้วบรรจุลงในโลงไม้ จากนั้นพระเจ้าผิงหวางฮ่องเต้ทรงอนุญาตให้ลูกหลานทั้ง 12 ตระกูลไม่ต้องถูกเกณฑ์ทหาร และมีประกาศไปทั่วสารทิศว่าให้ทั้ง 12 ตระกูลนี้ทำหน้าที่ดูแลภูเขา และเมื่อใดที่ประชากรเพิ่มมากขึ้นจนไร้ที่ทำกินแล้ว ก็อนุญาตให้ลูกหลานเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ เพื่อเลือกที่ทำกินได้ ในระหว่างเดินทางไม่ต้องคารวะผู้อื่น ข้ามแพไม่ต้องจ่ายเงิน เข้าพบขุนนางไม่ต้องคุกเข่า และเพาะปลูกบนภูเขาไม่ต้องเสียภาษี 

 

เชื่อกันว่า ‘เกีย เซ็น ป๊อง’ เป็นพระราชสาส์นพระเจ้าผิงหวางใช้ป้องกันตัวสำหรับการเดินทางข้ามภูเขา โดยคัดลอกใหม่ในสมัยฮ่องเต้เจิ้งจุง อาจตรงกับจักรพรรดิชิงเชิ่งจู่ (ค.ศ. 1661-1722) มีการคัดลอกคล้ายกันอยู่ 3 ฉบับ โดยเกีย เซ็น ป๊องฉบับนี้ชาวเย้าในประเทศไทยได้นำติดตัวมาจากประเทศจีน โดยบันทึกอยู่บนกระดาษสาที่นำมาต่อกันเป็นแผ่นยาว เขียนด้วยพู่กันและหมึกจีนสีดำ ปัจจุบันมีการทำสำเนาอีกฉบับไว้ที่อาจารย์แคะเว่น ศรีสมบัติ ที่ภูลังกา

 

แต่นอกเหนือจากการบันทึกตำนานลงในรูปของตัวอักษรแล้ว ที่โดดเด่นคือชาวเย้ายังได้บันทึกเรื่องราวดังกล่าวไว้ในลวดลายผ้าอีกด้วย ถ้าหากไปที่บ้านของชาวเย้า เหนือประตูเข้าบ้านจะมีผ้าชิ้นหนึ่งปักเป็นลาย ‘ล่มเจ่ว’ ซึ่งแปลว่า อุ้งเท้าสุนัขมังกร ทั้งนี้เพื่อใช้สำหรับการป้องกันสิ่งชั่วร้าย ที่ผ้าโพกศีรษะของผู้หญิงจะมีการปักลายล่มเจ่วไว้ด้วยเช่นกัน และที่กางเกงของผู้หญิงชาวเย้า ซึ่งปักผ้าลวดลายสวยสดงดงามเป็นอย่างมาก จะมีลวดลายที่มีความหมายเล่าสืบย้อนฉายภาพประวัติศาสตร์ของพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นลายหยิวที่แปลว่า ถนน หมายถึงการเดินทาง, ลายเหยี๊ยว ทำเป็นรูปคล้ายฟันเลื่อย ถือว่าเป็นรั้วที่ใช้ป้องกันศัตรู และลายรูปคนที่เรียกว่า ‘ซม’ หมายถึงทหารที่มาปกป้องผู้คน ดังนั้นการศึกษาประวัติศาสตร์ของกลุ่มชาติพันธุ์บางกลุ่มนั้น ข้อมูลจากประวัติศาสตร์บอกเล่าและลวดลายผ้าจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรละเลย 

 

 

ฝิ่น และผู้นำการอพยพ

เชื่อกันว่าชาวเย้ามีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมที่มณฑลหูหนาน ปรากฏตัวในหน้าประวัติศาสตร์จีนตั้งแต่ 2,000 ปีที่แล้ว แต่แล้วในจีนได้เกิดปัญหาทางการเมืองขึ้น กองกำลังชาวจีนได้รวมตัวกันภายใต้ชื่อ ‘ไท่ผิงเทียนกั๋ว’ เมื่อ พ.ศ. 2394 (ค.ศ. 1850) เพื่อต่อต้านพวกแมนจู สุดท้าย พ.ศ. 2405 (ค.ศ. 1862) พวกกบฏไท่ผิงถูกปราบปราม ทำให้หนีลงมาทางใต้ซุ่มซ่อนตัวตามป่าเขาในมณฑลต่างๆ ของจีน ทั้งในมณฑลยูนนาน ฝูเจี้ยน กวางไส กวางตุ้ง เสฉวน หูหนาน และส่วนหนึ่งหลบหนีมายังตังเกี๋ย ปัญหาทางการเมืองที่วุ่นวายทางใต้นี้เองที่ทำให้ชาวเย้าและชาวเขาอีกหลายๆ กลุ่มต้องการหาพื้นที่ที่สงบและทำมาหากินได้สะดวก 

 

ชาวเย้าที่เชียงราย ภาพถ่ายราว ค.ศ. 1900-1910
ภาพ: Album Siam et Laos

 

ในเวลานั้น ‘ต่าง จั่น ควร’ (หรือจั่นก๊วน) ผู้นำชาวเย้า จึงได้นำญาติพี่น้องและบริวารออกเดินทางลงมาทางใต้ เรื่องดังกล่าวนี้ วนัช พฤกษะศรี และคณะ ได้เก็บข้อมูลการเดินทางเข้ามาในเขตประเทศไทยด้วยวิธีการสัมภาษณ์ ฟุจ้อย ศรีสมบัติ เมื่อ พ.ศ. 2504 (ค.ศ. 1938) ในที่นี้ผมขอเคาะย่อหน้าใหม่และทำให้อ่านง่ายขึ้นด้วยการเติมหัวข้อสถานที่การเดินทางเข้าไป เรื่องเล่าดังกล่าวเล่าว่า  

 

[เริ่มอพยพจากจีน] “พวกเย้าเคยอยู่ที่เมืองนามกิ๋ง ซึ่งเป็นเป็นเมืองที่อยู่ใกล้ทะเลในประเทศจีน ต่อมาเมืองนี้ได้เสียแก่ข้าศึก ซึ่งเขาว่าคงจะเป็นพวกจีนพวกเย้าจึงอพยพมาอยู่แถวเมืองล่อขางฉวน [สุชล – ไม่สามารถระบุได้] จากเมืองนี้ก็ได้อพยพมาอยู่ที่มณฑลกวางซี จากนั้นเข้ามาอยู่ในมณฑลยูนนาน

 

[เข้าสู่เวียดนาม] จากยูนนานได้อพยพเข้ามาอยู่ที่เมืองไหลเมืองแทง [สุชล – เมืองไล เมืองแถง/เดียนเบียนฟู] เขาว่าพวกเย้ามาอยู่ที่นั่นนาน 5 ปี เมืองนี้อยู่ระหว่างประเทศจีนกับประเทศลาว

 

เจ้าเมืองไหลเมืองแทงได้เกณฑ์พวกเย้าไปรบกับพวกกวางตุ้ง ซึ่งปรากฏว่า พวกเมืองไหลฯ เป็นฝ่ายชนะ แต่แทนที่พวกเย้าจะได้รับความดีในการช่วยรบ กลับถูกพวก “เจ้านาย” ขึ้นไปเก็บเงินกันมากจนพวกเย้าได้รับความเดือดร้อนทนไม่ได้ จึงได้อพยพตามคำแนะนำของหัวหน้าเย้า

 

[เข้าสู่ พื้นที่ สปป. ลาว ปัจจุบัน] นายจั่นก๊วน แซ่เติ๋น พากันมาอยู่ที่เมืองง่อย [สุชล – เมืองงอย ใน สปป. ลาว] อยู่ที่นี่ไม่นานก็อพยพเข้าไปอพยพเข้าไปอยู่ใกล้เมืองฮุน บริเวณต้นแม่น้ำแมง [สุชล – ต้นแม่น้ำเบง] อยู่ที่นั่นนาน 12 ปี นายจั๋นก๊วนหัวหน้านำการอพยพก็ได้รับการแต่งตั้งจากทางการของประเทศลาวให้เป็นเพี้ยหลวง (เท่ากับตำแหน่งกำนัน) มีหน้าที่ปกครองดูแลพวกเย้าและแม้วในบริเวณนั้น

 

ชาวเย้ามารับเสด็จรัชกาลที่ 7 ถ่ายภาพที่จังหวัดเชียงใหม่

ภาพ: สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ

 

[เข้าสู่ น่าน-สยาม] ต่อมาปรากฏว่าไม่มีที่ทำไร่ปลูกข้าวเพียงพอเพราะตามเชิงเขามีแต่ป่าเหล่าซึ่งเป็นไร่เท่าของพวกขมุที่เคยอยู่ในบริเวณนั้นมาก่อนและได้ละทิ้งไปก่อนที่พวกเย้าจะเข้ามาอยู่ ส่วนที่บนดอยนั้นปลูกได้แต่ฝิ่นและสมัยนั้นยังราคาไม่ดี เมื่อมีพี่ปลูกข้าวไม่เพียงพอ นายจั่นก๊วนจึงได้นำพวกเย้าอพยพออกจากบริเวณเมืองฮุนเข้ามาอยู่ที่ดอยปูแว [สุชล – ภูแว] ซึ่งอยู่ในเขตอำเภอและ (อ.ทุ่งช้างปัจจุบัน) จังหวัดน่าน ที่ดอยปูแว นายจั่นก๊วน [ชื่อภาษาเมี่ยนของพญาคีรี] ก็ได้รับแต่งตั้งจากเจ้าเมืองน่าน (เจ้าราชวงศ์) ให้เป็นพญาคีรีศรีสมบัติ

 

ต่อมาเห็นว่าที่ดอยวาวมีป่าอยู่มากและอุดมสมบูรณ์กว่าดอยปูแว จึงได้ขออนุญาตเจ้าเมืองน่านย้ายหมู่บ้านไปตั้งอยู่ที่ดอยน้ำวาวและอยู่นานถึง 13 ปีก็หมดที่ทำกิน จึงได้ย้ายมาอยู่บริเวณดอยผาช้างน้อย ที่ต่อมาทางการได้ใช้ชื่อนี้เป็นชื่อของตำบลผาช้างน้อย ขณะนั้นอยู่ในอาณาเขตจังหวัดน่าน พวกเย้าอยู่ที่นั่นได้ 7 ปี ได้รับความเดือดร้อนล้มตายประมาณ 40 คน เนื่องจากโรคภัยไข้เจ็บ (พวกเย้าและแม้วเรียกโรคภัยไข้เจ็บทุกประเภทว่า พยาธิ)

 

[ถึงภูลังกา] ดังนั้นจึงได้ย้ายหมู่บ้านมาอยู่ที่บ้านภูลังกาในปัจจุบันและสืบมาจนทุกวันนี้โดยไม่ได้ย้ายหมู่บ้านไปที่อื่นเกือบ 30 ปี [สุชล – ตรวจสอบข้อมูลอื่นได้ 40 ปี] อย่างไรก็ดี นายฟุจ๋อย [สุชล – ฟุจ้อย] ซึ่งเป็นผู้เล่าประวัติเรื่องนี้ได้แจ้งว่าบริเวณบ้านภูลังกานี้ เมื่อพวกเย้าเข้ามาตั้งหมู่บ้านนั้น เคยเป็นที่ตั้งหมู่บ้านของพวกแม้วมาก่อน แต่อพยพไปที่อื่น สำหรับบริเวณบ้าน-ภูลังกาจึงกล่าวได้ว่าพวกเย้าเข้ามาตั้งหมู่บ้านอยู่ติดต่อกันมาได้ประมาณ 40 ปี…”

 

สาเหตุที่ทางการสยามต้อนรับชาวเย้านั้นเป็นเพราะชาวเขาเป็นกลุ่มที่มีความชำนาญด้านการปลูกฝิ่น ด้วยเหตุนี้จึงออกประกาศเชิญชวนให้ชาวเขาเข้ามาปลูกฝิ่น เพราะฝิ่นในเวลานั้นยังถูกกฎหมาย และเป็นที่ต้องการของตลาดจีนและตลาดโลกเป็นอย่างมาก 

 

ในบันทึกการเดินทางของเจมส์ แมคคาร์ธี (พระวิภาคภูวดล) ในช่วงที่สำรวจทำแผนที่ในเขต สปป.ลาวและภาคเหนือ ได้เล่าว่า ชาวเย้าเข้ามาปลูกฝิ่นในเขตหลวงพระบางอย่างน้อยตั้งแต่ พ.ศ. 2424 เป็นอย่างช้า และพบได้ทั่วไปในเขตน่าน ให้หลังไม่กี่ปี ในหลักฐานอื่นระบุว่าใน พ.ศ. 2455 เชียงราย น่าน และเด่นชัย เป็นพื้นที่ปลูกฝิ่นหลัก ภูลังกาที่เวลานั้นขึ้นอยู่กับเมืองน่านมีพื้นที่ปลูกฝิ่น 750 ไร่ ได้ฝิ่นดิบ 75,000 ตำลึง (สุภาภรณ์ จรัลพัฒน์, 2522) รายได้จากการค้าฝิ่นในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 ถือเป็นรายได้อันดับต้นๆ ของสยาม จนในบางแง่มุมก็อาจกล่าวได้ว่าชาวเขาคือกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีส่วนสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของสยามนั่นเอง 

 

 

ชาวเย้าที่มารับเสด็จสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ คนตรงกลางคือ พญาคีรีศรีสมบัติ และด้านข้างคาดผ้าขาวคือ นายฟุจ้อย (หลายชาย) (ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

 

ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้ทุกครั้งที่เจ้านายองค์สำคัญๆ เดินทางยังภาคเหนือ ชาวเย้าคือกลุ่มคนที่มีหน้าที่ต้องมาต้อนรับและรายงานตัวด้วย ที่สำคัญมีอยู่ 2 ครั้งด้วยกันคือ ครั้งแรก การตรวจราชการสมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช เสด็จตรวจราชการภาคเหนือ ใน พ.ศ. 2459 (ค.ศ. 1916) และครั้งที่สอง การตรวจราชการโดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต พ.ศ. 2465 (ค.ศ. 1922) ซึ่งครั้งที่สองนี้น่าสนใจ เนื่องจากได้มีการระบุในภาพถ่ายเก่าว่า “พญาคีรี (พญาเย้า) เข้าเฝ้าที่ประทับแรม” 

 

พญาคีรีศรีสมบัติ และลูกชาย (ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

 

ภาพหลังนี้ผมไปพบในสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ และส่งต่อให้กับ ดร.สุชล มัลลิกะมาลย์ ซึ่งได้ส่งต่อให้กับตระกูลศรีสมบัติที่บ้านใหม่ปางค่า อำเภอปง จังหวัดพะเยา ซึ่งนำไปสู่ความรู้สึกดีใจอย่างมากของคนในชุมชน เพราะไม่มีใครในหมู่บ้านที่ได้เคยเห็นกันมาก่อน ทุกอย่างเป็นเพียงเรื่องเล่า ฟังดูคล้ายตำนาน แต่ภาพถ่ายของพญาคีรีทำให้คนในหมู่บ้านรู้สึกถึงการมีตัวตนและภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์อันยาวนานของตน 

 

เรื่องของชาวเย้าเป็นเพียงหนึ่งในประวัติศาสตร์ของกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังมีกลุ่มชาติพันธุ์อีกหลายกลุ่มที่ล้วนมีประวัติศาสตร์ของตนเอง แต่พื้นที่ของประวัติศาสตร์ชาติกลับไม่ให้ความสนใจมากนัก กลับเน้นเฉพาะเรื่องราวของคนไทย/ไท ทั้งๆ ที่ประเทศนี้เป็นประชารัฐที่พลเมืองทุกคนล้วนแต่มีสิทธิมีเสียง แต่ด้วยวิธีคิดเชิงเดี่ยวแบบนี้เองที่ทำให้แม้กระทั่งประวัติศาสตร์ยังถูกผูกขาดด้วยอำนาจ

 

อ้างอิง:

  • พิพัฒน์ กระแจะจันทร์. การสร้างภาพลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ “ชาวเขา” ในสังคมไทย ระหว่างทศวรรษ 2420 ถึง 2520. วิทยานิพนธ์ระดับมหาบัณฑิต, ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2551.
  • วนัช พฤกษะศรี และคณะ. ดงภูผา: บันทึกการสำรวจหมู่บ้านชาวเขา จ.เชียงใหม่-เชียงราย-พะเยา พ.ศ.2504-2505. เชียงใหม่: สถาบันวิจัยชาวเขา, 2538.
  • สุชล มัลลิกะมาลย์. การทบทวนความเข้าใจในเรือนพื้นถิ่น “ชาวเขา” ในประเทศไทยผ่านกระบวนการมีส่วนร่วม: กรณีศึกษาเรือนชาวเมี่ยนในเขตหุบเขาภูลังกา. คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 2563.
  • สุภาภรณ์ จรัลพัฒน์.  ภาษีฝิ่นกับนโยบายด้านการคลังของรัฐบาลไทย พ.ศ.2367-2468.  วิทยานิพนธ์ระดับมหาบัณฑิต, ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2522.
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising