เคยลองสังเกตกันไหมว่า หลังจากเราสไลด์หน้าจอมือถือ เลื่อนขึ้นลงดูไอจีสักพัก หรือจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์นานๆ แล้วออกไปในที่ที่มีแสงสว่างจ้า หรือจ้องวัตถุที่สะท้อนแสงมากๆ เราจะรู้สึกแสบตาจนน้ำตาแทบไหล หรือต้องหลับตาหนี เพราะรู้สึกว่าแสงจ้าเกินไปจนปวดตา อาการเหล่านี้เป็นสัญญาณเตือนว่า คุณกำลังเผชิญกับอาการตาแพ้แสง หรือ ‘Photophobia’ นั่นเอง
โดยธรรมชาติแล้ว ดวงตาของเราจะทนต่อแสงได้ในระดับหนึ่ง แต่อาการตาแพ้แสงจะทำให้ดวงตาของเราอ่อนแอกว่าปกติ ซึ่งเมื่อเจอแสงสว่างมากๆ จะมีอาการปวดดวงตา หรือรู้สึกแสบตา จนบางครั้งน้ำตาไหล ซึ่งอาการตาแพ้แสง หรือ Photophobia นั้นไม่ใช่โรคติดต่อ แต่เป็นสภาวะที่ดวงตาเกิดอาการอักเสบ ระคายเคือง เนื่องจากดวงตาขาดความชุ่มชื้น
เมื่อเราจดจ่อกับการสไลด์อ่านสเตตัสของเพื่อนบนเฟซบุ๊ก หรือแอบส่องคนที่ชอบในอินสตาแกรมไปเพลินๆ ลองสังเกตว่า เราจะกะพริบตาน้อยลง ส่งผลให้เกิดอาการตาแห้ง ซึ่งโดยปกติแล้วมนุษย์เราจะกะพริบตาประมาณ 18 ครั้งต่อนาที เพื่อทำให้ดวงตาชุ่มชื้นตามกลไกธรรมชาติ แต่เพราะเรากะพริบตาน้อยลง ดวงตาจึงขาดน้ำ ทำให้เกิดอาการระคายเคือง แสบ แดง บางครั้งอาจทำให้ตาพร่า อยู่กลางแจ้งในที่ที่มีแสงสว่างมากๆ ไม่ได้ และหากไม่รีบรักษาหรือเป็นบ่อยๆ เข้า อาจทำให้เกิดอาการน่าเป็นห่วงอื่นๆ ตามมาได้ เช่น อาการตาพร่า ปวดตา ตาอักเสบ น้ำตาไหลตลอดเวลา เวียนศีรษะ และไมเกรน ดังนั้นอย่าลืมกะพริบตาบ่อยๆ (ประมาณ 2-3 ครั้งต่อ 10 วินาที) เพื่อรักษาให้ดวงตาของเราชุ่มชื้นอยู่ตลอดเวลา
จากการศึกษาของจักษุแพทย์ ไบรอัน บ็อกเซอร์ วอชเลอร์ (Brian Boxer Wachler) บอกไว้ว่า คนส่วนใหญ่ที่มักจะมีปัญหาเรื่องดวงตาคือ กลุ่มคนทำงานหน้าจอเป็นกิจวัตร สาเหตุมาจากการจ้องหน้าจอนานๆ โดยไม่พักสายตานั่นเอง โรคนี้มีชื่อเรียกเฉพาะว่า Computer Vision Syndrome (CVS) และนอกจากการจ้องหน้าจอนานเกินไปแล้ว การจ้องหน้าจอในระดับสายตามองตรงและใกล้เกินไปเป็นเวลานานก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุเช่นกัน เพราะดวงตาของเราจะเคลื่อนไหวได้ดีที่สุดในลักษณะการมองลงข้างล่าง ดังนั้นการจ้องหน้าจอในระดับสายตาไปนานๆ อาจทำให้ดวงตาของเราล้าได้
เราพกวิธีการนั่งทำงานหน้าจอที่ดีต่อดวงตาที่สุดมาให้ดังนี้
- ขอบบนสุดของหน้าจอควรอยู่ในระดับสายตา เพื่อทำให้ดวงตาของเราเคลื่อนไหวในลักษณะมองลงได้ตามธรรมชาติ
- หากหน้าจอคอมพิวเตอร์ของคุณใหญ่หรือขยับไม่ได้ ให้ใช้วิธีนั่งให้ห่างจากจอประมาณ 1 ช่วงแขนหรือไกลกว่านั้นตามขนาดจอคอมพิวเตอร์
- ปรับจอให้เอนรับระดับสายตา การใช้จอตั้งตรงทำให้ดวงตาทำงานหนัก และทำให้เกิดอาการตาล้า
- อย่าลืมพักสายตาทุกๆ 20-30 นาที ด้วยการมองไกลๆ หรือหลับตาสัก 10-20 วินาที เพื่อเติมความชุ่มชื้นให้ดวงตา
- น้ำตาเทียมเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยในการเติมความชุ่มชื้นให้ดวงตา
แต่หากรู้สึกว่า ตัวเองมีอาการแพ้แสงรุนแรงผิดปกติ แนะนำให้เข้าพบแพทย์เฉพาะทาง เพื่อรักษาอย่างใกล้ชิด
Photos: Shutterstock
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
อ้างอิง:
- edition.cnn.com/2013/11/12/health/upwave-computer-eyes/index.html
- www.theraspecs.com/photophobia-ultimate-guide/#conditions-photophobia
- www.ccohs.ca/oshanswers/ergonomics/office/monitor_positioning.html
- www.healthycomputing.com/office/setup/monitor
- สีของดวงตามีผลต่อโอกาสในการเกิดอาการตาแพ้แสงได้ โดยผู้ที่มีดวงตาสีอ่อน (เช่น สีฟ้า) จะมีโอกาสเกิดอาการตาแพ้แสงได้ง่ายกว่าผู้ที่มีดวงตาสีเข้ม เพราะเม็ดสีของดวงตาสามารถช่วยป้องกันแสงสว่างได้