×

‘เฝอหม้อไฟ วงเวียนใหญ่’ ปิดให้บริการ 14 วัน หลังแบกต้นทุนไม่ไหว จี้รัฐสั่ง ‘Landlord-แบงก์’ หยุดพักชำระหนี้ ค่าเช่า เพื่อความเท่าเทียม

30.04.2021
  • LOADING...
‘เฝอหม้อไฟ วงเวียนใหญ่’ ปิดให้บริการ 14 วัน หลังแบกต้นทุนไม่ไหว จี้รัฐสั่ง ‘Landloard-แบงก์’ หยุดพักชำระหนี้ ค่าเช่า เพื่อความเท่าเทียม

แม้จะไม่สามารถให้บริการลูกค้าที่เดินทางมานั่งทานในร้านอาหารได้เป็นระยะเวลา 14 วัน แต่ปัญหาหลักที่สำคัญที่สุดคือ ‘ค่าเช่าที่’ และ ‘ดอกเบี้ย’ จากเงินกู้ต่างๆ ยังคงเป็น ‘ภาระ’ ที่ผู้ประกอบการต้องแบกรับต่อไปสวนทางกับรายได้ 

 

ซ้ำร้ายส่วนแบ่งรายได้หรือ GP ที่พวกเขาจะต้องจ่ายให้กับแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรีเจ้าต่างๆ ที่เริ่มต้นที่ 30% ก็ถือเป็นเงินจำนวนที่สูงพอสมควร ยิ่งเมื่อคำนวณดูแล้ว รายได้ที่พวกเขาจะได้รับเข้ากระเป๋าสตางค์ตัวเองก็เป็นส่วนต่างเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

 

ประสิทธิ์ จิตฤทธิไกร เจ้าของร้านอาหารเฝอหม้อไฟ วงเวียนใหญ่ ร้านสุกี้สไตล์เวียดนามชื่อดังให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD WEALTH ว่า ร้านของเขาจำใจต้องปิดให้บริการในช่วงที่มาตรการห้ามให้นั่งทานในร้านประกาศใช้ 14 วัน เนื่องจากไม่สามารถแบกรับต้นทุนต่างๆ ได้ เช่นเดียวกันกันช่องทางเดลิเวอรีที่จะถูกหักส่วนแบ่งรายได้ไปมากถึง 30% ซึ่งเขาประเมินไว้แล้วว่า ‘ได้ไม่คุ้มกับต้นทุนที่ต้องจ่ายออก’

 

“รอบที่แล้ว ผมมีบทเรียนนมาแล้ว เราเปิดทุกวัน (ให้บริการแบบเดลิเวอรีหรือสั่งกลับบ้าน) เจ็บทุกวัน เข้าเนื้อทุกวัน อย่างถ้าคิดแบบโดยเฉลี่ย ร้านอาหารทุกร้านจะมียอดขายแบบ Take Away และเดลิเวอรีประมาณ 10-20% จากยอดขายรวมทั้งหมด ยิ่งโดนหัก GP อีก 30% จากแพลตฟอร์มต่างๆ อีกด้วย กำไรผมแทบไม่มีเลย รายได้ยังไม่พอค่าแรงลูกน้องด้วยซ้ำ

 

“ตอนนี้ที่ผมทำได้จึงต้องเยียวยาลูกน้องของเราให้ดีที่สุด ให้ที่พักฟรี อยู่ฟรี ให้กินฟรี ช่วยได้มากที่สุดเท่านี้ ค่าแรงไม่มีให้เขา เราประชุมกับพนักงานทุกคนแล้ว เขาเข้าใจผมหมด บอกผมว่า “ถ้าลูกพี่ไหว ผมก็ไหว” ซึ่งผมก็บอกเขาไว้ว่า หากผลกระทบรุนแรง เราอาจจะต้องปิดนานกว่าที่ประกาศไว้ที่ 14 วันด้วยซ้ำ

 

“แต่ผมมองแบบนี้ ถ้ารัฐบาลจะออกมาตรการแบบนี้ ก็ต้องสั่งปิดให้หมดทุกสถานที่ อาจจะยกเว้นซูเปอร์มาร์เก็ต เนื่องจากคนยังต้องไปจับจ่ายใช้สอยซื้อสินค้าอุปโภค บริโภค แล้วก็ต้องสั่งกลุ่ม Landlord (ผู้ให้เช่าที่) และธนาคารด้วยว่าให้ผ่อนปรนการเก็บค่าเช่าที่และดอกเบี้ยจากการกู้ยืม ให้มันเกิดความเท่าเทียมกันในทุกฝ่าย

 

“อย่างของผม ค่าเช่าที่ก็ยังต้องจ่ายต่อไป ดอกเบี้ยก็หมุนไปเรื่อยๆ สวนทางกับรายได้ (ปิดกิจการชั่วคราว 14 วัน) หรืออาจจะออกเป็นนโยบายลดค่าเช่าที่ 50% รวม 2 เดือน หรือให้ฟรี 1 เดือนก็ได้ ผมมองว่าพอมาตรการมันออกมาแบบนี้ (คุมแต่ฝั่งร้านอาหาร) มันไม่ยุติธรรมนะ 

 

“เรามีค่ายใช้จ่ายที่ยังเดินต่อไป แต่รายได้ไม่เดินตามไปด้วย มันก็เดือดร้อน ลำบาก พวกผมคนทำร้านอาหาร และผู้ประกอบการ SMEs นี่แหละที่จะตายกันหมด พวกเขาไม่ตายกันหรอก (กลุ่มผู้ให้เช่าที่และผู้ปล่อยสินเชื่อ)”

 

ทั้งนี้ ในมุมมองของประสิทธิ์ เขาเชื่อว่าหากรัฐบาลไม่ออกคำสั่งห้ามนั่งทานในร้าน  14 วัน ผลลัพธ์ก็คงจะไม่ต่างกันหากปล่อยให้นั่งทานในร้านได้ต่อไป เนื่องจากบรรยากาศในช่วงที่เกิดการระบาดของโควิด-19 ระลอกสามก็ค่อนข้างเงียบเหงา และคนค่อนข้างระมัดระวังตัวอยู่แล้ว ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาที่เกิดการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ขึ้นนั้น ร้านของเขามีสัดส่วนลูกค้าที่เดินทางมานั่งทานในร้านหายไปถึง 60-70% เลยทีเดียว ขณะที่เพื่อนผู้ประกอบการร้านอาหารบางราย มีลูกค้าหายไปมากถึง 90% 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

 


 

ไม่พลาดข่าวไฮไลต์ประจำวัน มาเป็นเพื่อนกับ THE STANDARD WEALTH ในไลน์ คลิก https://lin.ee/xfPbXUP 

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising