×

เปิดประสิทธิผลและผลข้างเคียงวัคซีน Pfizer ในเด็กและวัยรุ่น

26.01.2022
  • LOADING...
เปิดประสิทธิผลและผลข้างเคียงวัคซีน Pfizer ในเด็กและวัยรุ่น

เด็กและวัยรุ่นสามารถติดเชื้อโควิดได้เหมือนผู้ใหญ่ อาจมีอาการรุนแรง มีภาวะแทรกซ้อนทั้งระยะสั้นและระยะยาว เช่น ภาวะลองโควิด (Long COVID) และกลุ่มอาการอักเสบหลายระบบในเด็ก (MIS-C) และแพร่เชื้อโควิดให้กับผู้อื่นทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน นอกจากนี้การระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนในต่างประเทศพบว่า เด็กและวัยรุ่นมีอัตราการรักษาตัวในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นกว่าระลอกก่อน

 

คำแนะนำของราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ฉบับล่าสุด (วันที่ 27 ธันวาคม 2564) ระบุว่าเด็กและวัยรุ่นที่มีความเสี่ยงต่ออาการรุนแรง จำเป็นต้องได้รับวัคซีนโควิดทุกราย ส่วนเด็กปกติที่มีสุขภาพดี ผู้ปกครองมีสิทธิ์ที่จะรับวัคซีนหรือปฏิเสธก็ได้ โดยมีการรับทราบถึงความเสี่ยงและประโยชน์ของวัคซีน ทั้งนี้ แนะนำวัคซีนชนิด mRNA ของ Pfizer-BioNTech ซึ่ง อย. รับรองแล้วเป็นลำดับแรก

 

วัคซีน Pfizer-BioNTech สำหรับเด็กและวัยรุ่นแบ่งเป็น 2 สูตร คือ สูตรสำหรับกลุ่มอายุ 12 ปี – ไม่เกิน 18 ปี (ฝาสีม่วง) ขนาด 30 ไมโครกรัม ซึ่งเป็นขนาดเดียวกับผู้ใหญ่ และสูตรสำหรับกลุ่มอายุ 5 ปี – ไม่เกิน 12 ปี (ฝาสีส้ม) ขนาด 10 ไมโครกรัม ซึ่งลดลงเหลือ 1 ใน 3 เท่าของผู้ใหญ่ วิธีการฉีดทั้ง 2 สูตรเป็นการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ 2 โดส ห่างกันอย่างน้อย 3 สัปดาห์ ถ้าฉีด 8-12 สัปดาห์จะกระตุ้นภูมิได้สูงกว่า 3-4 สัปดาห์

 

ประสิทธิผลของวัคซีน

 

ถึงแม้กลุ่มอายุ 5 ปี – ไม่เกิน 12 ปีจะใช้วัคซีนในขนาดน้อยกว่า แต่สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ไม่ต่างจากกลุ่มวัยรุ่นและผู้ใหญ่ และประสิทธิผลในการป้องกันอาการป่วยยังสูงมากกว่า 90% ใกล้เคียงกัน 

 

โดยการวิจัยระยะที่ 3 ของกลุ่มวัยรุ่น (12-15 ปี) ศึกษาในอาสาสมัครจำนวน 2,260 คนที่สหรัฐอเมริกา ระหว่างตุลาคม 2563 – มกราคม 2564 พบว่ามีประสิทธิผล 100% เนื่องจากไม่พบผู้ติดเชื้อในกลุ่มที่ฉีดวัคซีนเลย ในขณะที่กลุ่มที่ไม่ได้รับวัคซีนติดเชื้อ 16 ราย ส่วนการติดตามหลังเริ่มฉีดวัคซีนในวงกว้างที่รัฐแอริโซนา ระหว่างกรกฎาคม – ธันวาคม 2564 พบว่ามีประสิทธิผลป้องกันอาการป่วย 92% 

 

ส่วนการวิจัยระยะที่ 3 ของกลุ่มเด็ก (5 ปี – ไม่เกิน 12 ปี) ศึกษาในอาสาสมัครจำนวน 2,268 คน เมื่อเดือนมิถุนายน 2564 และติดตามไปประมาณ 2 เดือนพบว่า มีประสิทธิผลป้องกันอาการป่วย 90.7% โดยพบผู้ติดเชื้อ 3 รายในกลุ่มที่ฉีดวัคซีน และ 16 รายในกลุ่มที่ไม่ได้รับวัคซีน ส่วนการติดตามหลังเริ่มฉีดวัคซีนในวงกว้างยังไม่มีข้อมูล เนื่องจากสหรัฐฯ เพิ่งอนุมัติให้ฉีดวัคซีนเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา

 

นอกจากป้องกันอาการป่วยแล้ว วัคซีนยังสามารถลดความเสี่ยงจากภาวะ MIS-C ในวัยรุ่นได้ โดย MIS-C เป็นภาวะที่มีการอักเสบของอวัยวะหลายระบบในร่างกาย เช่น หัวใจ ปอด ไต สมอง ผิวหนัง ตา หรือทางเดินอาหาร ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน แต่มีความสัมพันธ์กับโควิด ภาวะนี้อาจมีอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต แต่เด็กส่วนใหญ่มีอาการดีขึ้นหลังจากได้รับการรักษา

 

งานวิจัยดังกล่าวศึกษาในโรงพยาบาลเด็ก 24 แห่งในสหรัฐฯ ระหว่างเดือนกรกฎาคม – ธันวาคม 2564 พบว่าเด็กส่วนใหญ่ (95%) ที่มีภาวะ MIS-C ไม่ได้ฉีดวัคซีน และวัคซีนป้องกันภาวะนี้ได้ 91% 

 

ผลข้างเคียงของวัคซีน

 

ผลข้างเคียงของวัคซีนส่วนใหญ่ไม่รุนแรง และพบในช่วง 1 สัปดาห์หลังฉีดวัคซีน เมื่อเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มอายุพบว่า กลุ่มเด็กมีผลข้างเคียงน้อยกว่า โดยมีอาการปวดบริเวณที่ฉีด 56% อ่อนเพลีย 26% ปวดศีรษะ 20% ไข้ 13% ปวดกล้ามเนื้อ 10% ในขณะที่กลุ่มวัยรุ่น มีอาการปวดบริเวณที่ฉีด 79% อ่อนเพลีย 66% ปวดศีรษะ 65% ปวดกล้ามเนื้อ 24% หนาวสั่น 28%

 

ส่วนผลข้างเคียงที่หลายคนกังวลเกี่ยวกับวัคซีนชนิด mRNA คือภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ พบมากหลังจากฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 แต่ในอัตราที่ต่ำ และส่วนใหญ่หายเป็นปกติ ข้อมูลจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค สหรัฐฯ ณ ธันวาคม 2564 พบว่า มีรายงานภาวะนี้ในกลุ่มเด็กผู้ชาย 4.3 ราย และเด็กผู้หญิง 2 ราย ส่วนวัยรุ่นชายพบ 45.7 ราย และวัยรุ่นหญิง 3.8 รายต่อการฉีดวัคซีน 1 ล้านโดส

 

ปัจจุบันในสหรัฐฯ ฉีดวัคซีนในกลุ่มเด็กมากกว่า 9 ล้านโดส (เข็มที่ 1 ครอบคลุม 29.1%) และกลุ่มวัยรุ่นมากกว่า 19 ล้านโดส (เข็มที่ 1 ครอบคลุม 65.7%) และหลายประเทศรับรองการฉีดวัคซีน Pfizer ในเด็กอายุ 5 ปี – ไม่เกิน 12 ปีแล้ว เช่น ยุโรป (เมื่อ 25 พฤศจิกายน 2564) สิงคโปร์ (เมื่อ 11 ธันวาคม 2564) สหราชอาณาจักร (เมื่อ 22 ธันวาคม 2564) และญี่ปุ่น (เมื่อ 21 มกราคม 2565)

 

 

อ่านเพิ่มเติม:

 

ภาพประกอบ: ธิดามาศ เขียวเหลือ

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising