×

หลายชาติในยุโรปไม่พอใจ Pfizer ส่งมอบวัคซีนล่าช้า ไม่เป็นไปตามเป้า

โดย THE STANDARD TEAM
16.01.2021
  • LOADING...
หลายชาติในยุโรปไม่พอใจ Pfizer ส่งมอบวัคซีนล่าช้า ไม่เป็นไปตามเป้า

หลายประเทศของสหภาพยุโรป (EU) ออกมาแสดงความไม่พอใจที่ได้รับมอบวัคซีนต้านโควิด-19 ของบริษัท Pfizer ในจำนวนน้อยกว่าที่คาดว่าจะได้รับมาก หลังจากที่บริษัทยาสหรัฐฯ ชะลอการจัดส่ง

 

6 ชาติสมาชิก EU ได้แก่ สวีเดน เดนมาร์ก ฟินแลนด์ ลิทัวเนีย ลัตเวีย และเอสโตเนีย ระบุว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนั้น “ไม่สามารถยอมรับได้” และเตือนว่าเรื่องนี้จะ “ลดความน่าเชื่อถือของขั้นตอนการให้วัคซีน” พร้อมเรียกร้องให้ EU กดดันบริษัท Pfizer ซึ่งพัฒนาและผลิตวัคซีนโควิด-19 ร่วมกับบริษัท BioNTech

 

ด้าน Pfizer กล่าวว่า การจัดส่งวัคซีนที่ลดลงเป็นปัญหาเพียงชั่วคราว โดยบริษัทผู้ผลิตยาสหรัฐฯ กล่าวในแถลงการณ์เมื่อวันศุกร์ (15 มกราคม) ว่า การจัดส่งได้รับผลกระทบจากการที่บริษัทเปลี่ยนแปลงกระบวนการผลิตโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มการผลิต 

 

การเปลี่ยนแปลงกระบวนการผลิต “จะส่งผลกระทบชั่วคราวต่อการจัดส่งวัคซีนในช่วงปลายเดือนมกราคมถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์ แต่จะช่วยเพิ่มปริมาณวัคซีนอย่างมากในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม” Pfizer ระบุ

 

บริษัทกล่าวด้วยว่า การยกระดับการผลิตจะ “ส่งผลกระทบในระยะสั้น” ต่อการส่งมอบวัคซีนไปยังอังกฤษด้วยเช่นกัน

 

แม้เกิดสถานการณ์เช่นนี้ แต่รัฐบาลอังกฤษยังคงวางแผนที่จะทำให้ได้ตามเป้าหมายในการฉีดวัคซีนให้กลุ่มที่มีความจำเป็นทุกกลุ่มภายในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์นี้ รวมประมาณ 15 ล้านคน

 

วัคซีนจาก Pfizer ไม่ใช่วัคซีนโควิด-19 ตัวเดียวที่ใช้ในอังกฤษ โดยยังมีวัคซีนจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดและ AstraZeneca ที่อยู่ระหว่างการแจกจ่ายเพื่อฉีดให้แก่ประชาชนในประเทศด้วย

 

เช่นเดียวกับ EU ที่ไม่ได้หวังพึ่งเฉพาะวัคซีนจาก Pfizer เท่านั้น โดยมีวัคซีนจากบริษัท Moderna ของสหรัฐฯ เป็นวัคซีนตัวที่สองที่ได้รับการอนุมัติให้ใช้ในสหภาพยุโรป 

 

กระทรวงสาธารณสุขของเยอรมนีแสดงความประหลาดใจกับการประกาศของ Pfizer พร้อมทั้งระบุว่า เป็นเรื่องน่าเศร้า เนื่องจากบริษัทได้ให้คำมั่นว่าจะส่งมอบวัคซีนตามวันที่กำหนดไปจนถึงช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ 

 

ด้าน อูร์ซูลา ฟอน แดร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ เธอได้รับการยืนยันจากซีอีโอของ Pfizer ว่าคำสั่งซื้อทั้งหมดที่มีการรับประกันการจัดส่งในไตรมาสแรกของปีจะส่งถึง EU ตามกำหนด 

 

โดยสัปดาห์ที่แล้วฟอน แดร์ เลเยนกล่าวว่า Pfizer ตกลงที่จะจัดส่งวัคซีนให้กับ EU เป็นจำนวน 600 ล้านโดสในปีนี้ ซึ่งเพิ่มขึ้นสองเท่าจากยอดสั่งซื้อเบื้องต้น

 

แต่ถึงกระนั้นการให้คำมั่นดังกล่าวแทบไม่ได้ช่วยปลอบประโลมรัฐบาลหลายชาติของยุโรปที่กำลังต่อสู้เพื่อสกัดการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วของโควิด-19 กลายพันธุ์ที่มีการตรวจพบเป็นครั้งแรกในอังกฤษ

 

สำนักข่าว Reuters รายงานโดยอ้างผู้เข้าร่วมประชุมรายหนึ่งว่า ประมาณ 1 ใน 3 ของรัฐบาล 27 ประเทศที่เป็นสมาชิกของ EU รายงานในระหว่างการประชุมเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่ามีวัคซีน “ไม่เพียงพอ”

 

ลิทัวเนียรายงานว่า อาจจะได้รับวัคซีน Pfizer เพียงครึ่งหนึ่งของจำนวนที่บริษัทให้คำมั่นว่าจะจัดส่งให้จนถึงช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ 

 

ด้านเบลเยียมคาดว่าจะได้รับวัคซีนในประมาณครึ่งหนึ่งของที่วางแผนไว้ในเดือนมกราคม นอกจากนี้แคนาดาก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน เพราะวัคซีนที่จะจัดส่งให้แคนาดามาจากโรงงานของ Pfizer ในประเทศเบลเยียม

 

ขณะที่นอร์เวย์ ซึ่งไม่ได้เป็นสมาชิกของ EU เปิดเผยวานนี้ว่า Pfizer ลดจำนวนวัคซีนที่จะส่งให้นอร์เวย์เป็นการชั่วคราวจนถึงสัปดาห์หน้า 

 

สถาบันสาธารณสุขนอร์เวย์กล่าวในแถลงการณ์ว่า ทางสถาบันอาจเสริมปริมาณวัคซีนที่หายไปด้วยการใช้ “สต๊อกฉุกเฉิน” 

 

“สต๊อกที่เรามีอยู่ตอนนี้จะสามารถชดเชยการจัดส่งที่ลดลงจากที่วางแผนไว้ในช่วง 2-3 สัปดาห์ข้างหน้า” แถลงการณ์ระบุ

 

สำหรับประเทศในภูมิภาคอื่นๆ ของโลกนั้น ตุรกีเปิดเผยว่าได้ฉีดวัคซีนให้กับประชาชน 5 แสนคนใน 2 วัน โดยใช้วัคซีนที่พัฒนาโดยบริษัท Sinovac Biotech ของจีน

 

ตัวเลขดังกล่าวบ่งชี้ว่าตุรกีฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนในวันแรกเป็นจำนวนมากกว่าที่ฝรั่งเศสฉีดให้แก่ประชาชนในเวลาเกือบ 3 สัปดาห์

 

รัฐบาลฝรั่งเศสเผชิญกับกระแสวิพากษ์วิจารณ์ที่ถาโถมหลังจากปรากฏว่ามีประชาชนเพียง 500 คนที่ได้รับวัคซีนในสัปดาห์แรกของการฉีดวัคซีนโควิด-19 ซึ่งเริ่มต้นขึ้นเมื่อช่วงปลายเดือนธันวาคมที่ผ่านมา แม้หลังจากนั้นได้มีการเพิ่มความพยายามในการฉีดวัคซีน แต่ข้อมูลของ CovidTracker ระบุว่า จนถึงตอนนี้มีประชาชนเพียง 388,730 คนที่ได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 โดส

 

ขณะที่ในสหรัฐฯ ว่าที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน เปิดเผยเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาถึงแผนการที่จะยกระดับการให้วัคซีนแก่ประชาชน เมื่อเขาเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการในวันที่ 20 มกราคมที่จะถึงนี้

 

ไบเดนกล่าวว่า รัฐบาลภายใต้การนำของเขาจะจัดตั้งศูนย์บริการฉีดวัคซีนเป็นวงกว้าง และจะว่าจ้างเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเพิ่มเติมเพื่อบรรลุเป้าหมายฉีดวัคซีนให้ชาวอเมริกัน 100 ล้านคนภายใน 100 วันแรกของการดำรงตำแหน่ง

 

การประกาศของไบเดนมีขึ้นในขณะที่ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) ของสหรัฐฯ ได้ออกประกาศเตือนเกี่ยวกับไวรัสกลายพันธุ์ที่สามารถแพร่กระจายได้สูงในสหรัฐฯ 

 

ส่วนในอินเดีย ได้มีการเปิดตัวโครงการรณรงค์ฉีดวัคซีนที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยอินเดียอยู่ระหว่างการฉีดวัคซีนให้ประชาชน 1.3 ล้านคน เริ่มจากบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่แนวหน้า โดยใช้วัคซีนสองตัว ได้แก่ Covishield (ซึ่งเป็นชื่อที่ใช้ในอินเดียสำหรับวัคซีนจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด และ AstraZeneca) และอีกตัวหนึ่งคือ Covaxin 

 

ภาพ: Claudio Reyes / AFP

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X