×

ผลศึกษาเบื้องต้นชี้ วัคซีน Pfizer-BioNTech อาจมีประสิทธิภาพในการรับมือการกลายพันธุ์แบบหนึ่งที่พบในไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์อังกฤษ-แอฟริกาใต้

08.01.2021
  • LOADING...
วัคซีน Pfizer-BioNTech

ผลการศึกษาวัคซีนของบริษัท Pfizer-BioNTech ที่ Pfizer ร่วมศึกษากับทีมนักวิทยาศาสตร์จากสาขาการแพทย์ มหาวิทยาลัยเท็กซัส โดยการใช้เลือดของผู้ที่เคยได้รับวัคซีน Pfizer-BioNTech มาทดสอบ บ่งชี้ว่าวัคซีนดังกล่าว ‘มีประสิทธิภาพ’ แม้ไวรัสก่อโรคโควิด-19 จะมีการกลายพันธุ์แบบ N501Y ที่บริเวณปุ่มโปรตีน (สไปก์) ซึ่งเป็นการกลายพันธุ์แบบที่พบทั้งในไวรัสสายพันธุ์สหราชอาณาจักรและสายพันธุ์แอฟริกาใต้ และยังมีประสิทธิภาพแม้ไวรัสจะมีการกลายพันธุ์ในแบบอื่นๆ อีก 15 แบบ ซึ่งทางบริษัทได้ทดสอบไปแล้วก่อนหน้า

 

ทั้งนี้ ผลการศึกษาดังกล่าวยังรอกระบวนการพิจารณาตรวจสอบ (Peer Review) โดยผู้เชี่ยวชาญอยู่

 

ฟิล ดอร์มิตเซอร์ นักวิทยาศาสตร์ของ Pfizer ระบุว่าการกลายพันธุ์แบบ N501Y ดังกล่าวทำให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสได้มากขึ้น และเคยมีความกังวลว่ามันสามารถหลบหลีกการทำงานของแอนติบอดี้ที่ถูกสร้างขึ้นหลังการฉีดวัคซีนได้

 

อย่างไรก็ตาม ไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์สหราชอาณาจักรและสายพันธุ์แอฟริกาใต้ก็ยังมีการกลายพันธุ์ในแบบอื่นๆ ที่รอการทดสอบประสิทธิภาพของวัคซีนอยู่อีก ซึ่งทางนักวิจัยได้วางแผนที่จะทำการทดสอบไว้แล้ว และหวังว่าจะทราบผลในไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า

 

ก่อนหน้านี้นักวิทยาศาสตร์หลายรายแสดงความกังวลว่าวัคซีนที่มีการแจกจ่ายกันอยู่ในขณะนี้อาจไม่สามารถป้องกันไวรัสก่อโรคโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ๆ ได้ โดยเฉพาะสายพันธุ์แอฟริกาใต้ โดย ไซมอน คลาร์ก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านจุลชีววิทยาระดับเซลล์ของมหาวิทยาลัยเรดดิ้งในสหราชอาณาจักร กล่าวว่าทั้งสายพันธุ์สหราชอาณาจักรและสายพันธุ์แอฟริกาใต้มีบางคุณสมบัติร่วมที่เหมือนกัน แต่สายพันธุ์ที่พบในแอฟริกาใต้นั้นมีการกลายพันธุ์เพิ่มเติมอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งรวมถึงการเปลี่ยนแปลงที่กว้างขวางมากขึ้นในส่วนปุ่มโปรตีน (สไปก์) ซึ่งไวรัสใช้จับกับเซลล์ของมนุษย์

 

วัคซีนของ Pfizer-BioNTech และวัคซีนของ Moderna นั้นเป็นวัคซีนชนิด mRNA ที่สามารถปรับปรุงให้รองรับกับการกลายพันธุ์แบบใหม่ๆ ได้หากจำเป็น โดยนักวิทยาศาสตร์ระบุว่าการปรับปรุงดังกล่าวสามารถทำได้โดยใช้เวลาเพียง 6 สัปดาห์

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์ 

อ้างอิง:

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising