×

ป้องกันเดลตาได้ไหม ภูมิคุ้มกันอยู่นานแค่ไหน ผลข้างเคียงเป็นอย่างไร 10 คำถามกับวัคซีน Pfizer

18.08.2021
  • LOADING...
Pfizer

ผมเคยเขียนถึงวัคซีน Pfizer-BioNTech ไปแล้วรอบหนึ่งเมื่อปลายเดือนเมษายน 2564 ในบทความ ประสิทธิภาพสูง แต่คนไทยยังต้องรอ รวม 10 คำถามไขข้อสงสัยเกี่ยวกับวัคซีน Pfizer  ตอนนั้นไทยยังไม่ได้นำเข้าวัคซีนนี้ (คณะรัฐมนตรีเพิ่งอนุมัติเมื่อ 6 กรกฎาคม 2564) ตัดกลับมาที่ปัจจุบันไทยเริ่มฉีดวัคซีนนี้แล้ว แต่เป็นล็อต 1.5 ล้านโดสที่ได้รับการบริจาคมาจากสหรัฐอเมริกา 

 

ซึ่งจัดสรรให้ทั้งบุคลากรทางการแพทย์ ประชาชนทั่วไป และชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศ อาจมีความสงสัยก่อน-หลังฉีดวัคซีนชนิดนี้ ประกอบกับมีข้อมูลด้านประสิทธิผลและผลข้างเคียงออกมามากขึ้นจากการติดตามการฉีดวัคซีนในประชากรจำนวนมาก เฉพาะในสหรัฐฯ มีการฉีดวัคซีนนี้ไปแล้วมากกว่า 200 ล้านโดส ผมจึงขออัปเดตเกี่ยวกับวัคซีน Pfizer ในบทความนี้

 

  1. วัคซีน Pfizer สามารถฉีดให้ใครได้บ้าง

 

วัคซีน Pfizer มีชื่อการค้าว่า ‘โคเมอร์เนตี’ (Comirnaty) ถ้าใครไปฉีดวัคซีนแล้วเอกสารรับรองการฉีดวัคซีนระบุชื่อนี้ไม่ต้องกังวลว่าจะได้รับวัคซีนผิดแต่อย่างใด ได้รับการขึ้นทะเบียนในประเทศไทยให้ใช้ในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป เพราะมีข้อมูลการศึกษาในเด็กอายุระหว่าง 12-16 ปี พบว่ามีความปลอดภัยและประสิทธิผลป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการ 100% จึงสามารถฉีดให้กับเด็กวัยรุ่นได้ 

 

นอกจากนี้ยังมีรายงานว่ามีความปลอดภัยในหญิงตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร สำหรับผู้ที่กำลังวางแผนว่าจะตั้งครรภ์ก็สามารถฉีดได้เช่นกัน โดยผลเบื้องต้นจากการติดตามความปลอดภัยในหญิงตั้งครรภ์พบว่าส่วนใหญ่ตั้งครรภ์จนทารกคลอดมีชีวิต ความผิดปกติระหว่างตั้งครรภ์หรือที่เกิดขึ้นกับทารกไม่แตกต่างจากประชากรทั่วไป แต่ยังคงต้องติดตามผลในระยะยาว

 

  1. วัคซีนยังมีประสิทธิผลต่อสายพันธ์ุเดลตาหรือไม่

 

วัคซีนทุกชนิดมีประสิทธิผลลดลงในการป้องกันสายพันธุ์เดลตา แต่ลดลงมาก-น้อยต่างกัน โดยวัคซีน Pfizer มีข้อมูลจากการติดตามผลในอังกฤษ/สกอตแลนด์ พบว่ามีประสิทธิผลใน

  • การป้องกันการติดเชื้อ 79% 
  • การป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการ 88% 
  • การป้องกันอาการรุนแรงจนต้องรักษาในโรงพยาบาล 96% 
  • เทียบกับสายพันธุ์อัลฟาที่มีประสิทธิผลมากกว่า 90% ในทุกกรณี

 

ในขณะที่ข้อมูลจากอิสราเอล ประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อลดลงเหลือเพียง 39% ป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการ 41% แต่ป้องกันอาการรุนแรงได้ 91% คล้ายกับผลการติดตามในการ์ตาร์ ที่การป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการ 54% แต่ป้องกันอาการรุนแรงหรือเสียชีวิตได้ 90% ดังนั้น ผู้ที่ฉีดวัคซีน Pfizer ครบแล้วยังมีโอกาสติดเชื้อสายพันธุ์ใหม่ได้ แต่อาการจะรุนแรงน้อยกว่าผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีน

 

  1. ภูมิคุ้มกันจากวัคซีนอยู่ได้นานเท่าไร

 

ข้อมูลเท่าที่มีอยู่ในปัจจุบันพบว่า แอนติบอดี (Antibody) ที่สร้างขึ้นหลังจากการฉีดวัคซีนชนิด mRNA จะคงอยู่อย่างน้อย 6 เดือน โดยประสิทธิผลของวัคซีน Pfizer เมื่อติดตามไป 6 เดือนพบว่าป้องกันการติดเชื้อ 91% และป้องกันอาการรุนแรง 97% เทียบกับวัคซีน Moderna มีประสิทธิผลป้องกันการติดเชื้อ 93% ส่วนวัคซีน Johnson & Johnson มีรายงานว่าแอนติบอดีคงอยู่อย่างน้อย 8 เดือน

 

ในขณะที่แอนติบอดีที่สร้างขึ้นหลังจากการติดเชื้อตามธรรมชาติจะคงอยู่อย่างน้อย 8 เดือน อย่างไรก็ตาม ภูมิคุ้มกันจะลดลงหลังการติดเชื้อไปแล้วในระดับเดือน ผู้ที่ติดเชื้อแล้วยังควรได้รับการฉีดวัคซีน โดยในสหรัฐฯ แนะนำว่าการฉีดวัคซีนควรเลื่อนไปจนกว่าจะครบกำหนดแยกกักตัว ส่วนในอังกฤษแนะนำให้ฉีดวัคซีนหลังอาการดีขึ้นจนถึง 4 สัปดาห์หลังการติดเชื้อ

 

  1. ฉีดวัคซีนไขว้ด้วยวัคซีน Pfizer ได้หรือไม่

 

วัคซีนสูตรผสมหรือสูตรไขว้ที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ยอมรับในขณะนี้คือเข็มที่ 1 เป็นวัคซีน AstraZeneca และเข็มที่ 2 เป็นวัคซีน Pfizer หรือ Moderna โดยระบุว่ามีความปลอดภัยและประสิทธิภาพภายใต้ความขาดแคลนวัคซีน ซึ่งมีงานวิจัยพบว่าสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้เทียบเท่าหรือดีกว่าการฉีดวัคซีน AstraZeneca หรือวัคซีนชนิด mRNA ทั้ง 2 เข็ม 

 

แต่ผู้ที่ได้รับวัคซีนสูตรผสมจะมีอาการข้างเคียงมากกว่า หลายประเทศยอมรับวัคซีนสูตรนี้ เช่น แคนาดา (แนะนำให้ฉีดห่างกัน 4-12 สัปดาห์) อังกฤษ เกาหลีใต้ ส่วนไทยที่เพิ่งได้รับการบริจาควัคซีนมาได้นำมาฉีดให้บุคลากรทางการแพทย์เป็นเข็มที่ 3 สำหรับผู้ที่ได้รับวัคซีน Sinovac หรือ Sinopharm หรือเป็นเข็มที่ 2 สำหรับวัคซีนใดก็ตาม ซึ่งควรมีการศึกษาระดับภูมิคุ้มกันและประสิทธิผลสูตรนี้ต่อไป

 

  1. วัคซีนมีผลข้างเคียงอะไรบ้าง

 

วัคซีนทุกชนิดมีผลข้างเคียง อาการหลังจากฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 มักพบมากกว่าเข็มที่ 1 ส่วนใหญ่ไม่รุนแรงและเป็นเพียงไม่กี่วัน โดยอาการปวดหรือไข้สามารถรับประทานยาแก้ปวดลดไข้ เช่น พาราเซตามอล เพื่อบรรเทาอาการได้ เอกสารกำกับยาในอังกฤษระบุผลข้างเคียงของวัคซีน Pfizer ไว้ดังนี้ 

 

อาการที่พบบ่อยมาก (มากกว่า 1 ใน 10 คน) 

  • ปวด บวมบริเวณที่ฉีดวัคซีน
  • อ่อนเพลีย
  • ปวดศีรษะ
  • ปวดกล้ามเนื้อ
  • หนาวสั่น
  • ปวดข้อ
  • ถ่ายเหลว
  • ไข้ 

 

อาการที่พบบ่อย (ประมาณ 1 ใน 10 คน)

  • แดงบริเวณที่ฉีดวัคซีน
  • คลื่นไส้
  • อาเจียน

 

อาการที่พบไม่บ่อย (ประมาณ 1 ใน 100 คน)

  • ต่อมน้ำเหลืองโต
  • รู้สึกไม่สบาย
  • ปวดแขน
  • นอนไม่หลับ
  • คันบริเวณที่ฉีดวัคซีน
  • อาการแพ้ เช่น ผื่น คัน

 

อาการที่พบน้อย (ประมาณ 1 ใน 1,000 คน)

  • ใบหน้าอัมพาตครึ่งซีกชั่วคราว
  • อาการแพ้ เช่น บวมบริเวณใบหน้า

 

อาการที่ไม่สามารถประเมินได้จากข้อมูลที่มีอยู่

  • ภาวะแพ้รุนแรง
  • กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหรือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ
  • อาการบวมของแขนข้างที่ฉีดวัคซีน
  • ใบหน้าบวม (อาจเกิดขึ้นในผู้ที่เสริมความงามด้วยการฉีดยา)

 

  1. วัคซีนมีผลต่อสารพันธุกรรมในร่างกายหรือไม่

 

เอ็มอาร์เอ็นเอ (mRNA) เป็นสารพันธุกรรมที่ทำหน้าที่เป็นชุดคำสั่งในการถอดรหัสเป็นโปรตีนในร่างกาย หรือถ้าเปรียบเทียบกับการทำอาหาร mRNA จะเปรียบเสมือนตำราอาหาร เมื่อฉีดวัคซีน Pfizer ร่างกายก็จะประกอบโปรตีนหนาม (Spike Protien) ของไวรัสตามตำราที่ฉีดเข้าไป แล้วแสดงโปรตีนหนามไว้บนผิวเซลล์ เมื่อเซลล์เม็ดเลือดขาวตรวจพบก็จะสร้างภูมิคุ้มกันต่อไวรัสขึ้นมาในทีสุด

 

เมื่อ mRNA เป็นสารพันธุกรรม จึงมีผู้กังวลว่าเมื่อฉีดเข้าไปแล้วจะมีผลต่อสารพันธุกรรมของร่างกาย ประเด็นนี้ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ อธิบายว่า mRNA จะไม่เข้าไปในนิวเคลียสซึ่งเป็นแหล่งเก็บสารพันธุกรรม (DNA) ของเซลล์ได้ และเซลล์จะทำลายและกำจัด mRNA เมื่อสร้างโปรตีนเสร็จ เพราะฉะนั้น วัคซีนจึงไม่มีผลต่อสารพันธุกรรมของร่างกาย

 

  1. ผลข้างเคียงกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบน่ากังวลหรือไม่

 

ในสหรัฐฯ มีรายงานผู้ป่วยภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบเพิ่มขึ้นหลังได้รับวัคซีนชนิด mRNA โดยไม่มีรายงานในผู้ที่ได้รับวัคซีน Johnson & Johnson เลย ข้อมูลจากการเฝ้าระวังอาการหลังได้รับวัคซีนพบว่าส่วนใหญ่เกิดขึ้นหลังวัคซีนเข็มที่ 2 ด้วยความเสี่ยง 3.5 รายต่อ 1 ล้านโดส และพบมากในเด็กวัยรุ่นและผู้ใหญ่อายุน้อย อายุ 18-29 ปี (24.3 รายต่อ 1 ล้านโดส)

 

เมื่อชั่งน้ำหนักระหว่างประโยชน์ในการป้องกันโรคกับความเสี่ยงของผลข้างเคียงจากวัคซีนแล้ว คณะกรรมการที่ปรึกษาด้านการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคสหรัฐฯ (ACIP) เห็นว่าวัคซีนมีประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงในทุกกลุ่มอายุ จึงยังคงแนะนำให้ฉีดวัคซีน Pfizer และ Moderna ตามเกณฑ์อายุเดิม และจะมีการติดตามผลข้างเคียงรุนแรงต่อไป ซึ่งอาจมีการประเมินความเสี่ยงใหม่หากมีข้อมูลเพิ่มเติม

 

  1. วัคซีน Pfizer ทำให้เกิดมะเร็งต่อมน้ำเหลืองหรือไม่

 

ต่อมน้ำเหลืองโตเป็นผลข้างเคียงจากวัคซีน และเกิดได้กับวัคซีนทุกชนิด โดยปกติจะยุบเองภายใน 1-2 สัปดาห์ และไม่เกิน 1 เดือน ส่วนกรณีวัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกันสูงมากจนทำให้เกิดมะเร็งต่อมน้ำเหลือง (Lymphoma) มีความเป็นไปได้น้อย เพราะโรคมะเร็งเป็นผลมาจากปัจจัยทางพันธุกรรม หรือการสัมผัสสารก่อมะเร็งเป็นเวลานาน และปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลว่าวัคซีน Pfizer ทำให้เกิดมะเร็งต่อมน้ำเหลือง

 

ส่วนผู้ป่วยโรคมะเร็งทุกชนิดเป็นกลุ่มเสี่ยงต่ออาการป่วยเป็นโควิดรุนแรง จึงควรได้รับการฉีดวัคซีน เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2564 ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค สหรัฐฯ เพิ่งออกคำแนะนำให้ผู้มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ผู้ป่วยโรคมะเร็ง ผู้ติดเชื้อไวรัสเอชไอวี ผู้รับประทานยากดภูมิคุ้มกันเป็นประจำ ควรได้รับวัคซีนชนิด mRNA กระตุ้นเป็นเข็มที่ 3 โดยห่างจากเข็มที่ 2 อย่างน้อย 4 สัปดาห์

 

  1. หลังจากฉีดวัคซีนต้องงดออกกำลังกายหรือไม่

 

ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค สหรัฐฯ ไม่ได้แนะนำให้งดออกกำลังกาย แต่ภายหลังจากฉีดวัคซีนอาจมีอาการปวดบริเวณที่ฉีดหรือปวดแขนได้ แนะนำให้ใช้ผ้าสะอาดประคบเย็น หรือออกกำลังแขนได้ ส่วนอาการไข้ แนะนำให้ดื่มน้ำปริมาณมากและสวมเสื้อผ้าโปร่งระบายความร้อน สามารถปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเพื่อซื้อยาพาราเซตามอล ยาแก้ปวดชนิดแรง หรือยาแก้แพ้ได้

 

  1. ฉีดวัคซีน Pfizer แล้ว ยังติดเชื้อได้หรือไม่

 

อย่างที่กล่าวไปในข้อ 2. ว่าวัคซีน Pfizer ‘กันติด’ ได้ลดลง แต่ยัง ‘กันป่วย/ตาย’ ได้ใกล้เคียงเดิม ในสหรัฐฯ มีรายงานการติดเชื้อหลังได้รับวัคซีนครบแล้ว และมีโอกาสแพร่เชื้อต่อให้กับสมาชิกในครอบครัวหรือผู้สัมผัสใกล้ชิดได้ เพราะจากการศึกษาในสิงคโปร์พบว่า ในระยะแรกผู้ติดเชื้อสายพันธุ์เดลตาจะมีปริมาณไวรัสในทางเดินหายใจสูง ไม่ว่าจะเคยได้หรือไม่ได้รับวัคซีนชนิด mRNA แล้วก็ตาม

 

ก่อนหน้านี้ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค สหรัฐฯ เคยอนุญาตให้ผู้ที่ได้รับวัคซีนครบแล้วไม่ต้องสวมหน้ากากทำกิจกรรมทั้งในและนอกอาคาร แต่ในปัจจุบันได้เปลี่ยนคำแนะนำให้สวมหน้ากากเมื่ออยู่ภายในอาคาร เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของสายพันธุ์เดลตา ส่วนในอนาคตมีความเป็นไปได้ที่จะต้องฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นหรือวัคซีนรุ่นใหม่ (ซึ่งบริษัทกำลังทำการศึกษาอยู่) คล้ายกับวัคซีนไข้หวัดใหญ่

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising