×

Pfizer และ BioNTech ยื่นขออนุญาตใช้วัคซีนต้านโควิด-19 เป็นการฉุกเฉินต่อ FDA แล้ว

โดย THE STANDARD TEAM
22.11.2020
  • LOADING...
Pfizer และ BioNTech ยื่นขออนุญาตใช้วัคซีนต้านโควิด-19 เป็นการฉุกเฉินต่อ FDA แล้ว

Pfizer บริษัทยายักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ และ BioNTech บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพสัญชาติเยอรมัน ได้ยื่นขออนุญาตใช้วัคซีนโควิด-19 เป็นการฉุกเฉิน (Emergency Use Authorization) ต่อองค์การอาหารและยา (FDA) ของสหรัฐฯ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา

 

หากคำขออนุญาตของ Pfizer ได้รับการอนุมัติ การแจกจ่ายวัคซีนอาจจะยังคงมีจำนวนจำกัดในช่วงแรก และการฉีดวัคซีนจะแบ่งเป็นระยะ โดยบุคลากรทางการแพทย์ ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีปัญหาด้านสุขภาพจะได้รับการฉีดวัคซีนเป็นกลุ่มแรก ตามด้วยกลุ่มแรงงานที่มีความจำเป็นต้องฉีดวัคซีน ครู และผู้ที่อาศัยอยู่ตามศูนย์พักพิงคนไร้บ้าน รวมถึงนักโทษที่ต้องขังในเรือนจำ และจากนั้นจึงเป็นกลุ่มเด็กและวัยรุ่น

 

สำหรับขั้นตอนการพิจารณาของ FDA อาจต้องใช้เวลาราว 2-3 สัปดาห์ ขณะที่การประชุมของคณะกรรมการที่ปรึกษาเพื่อพิจารณาทบทวนวัคซีนนั้นมีกำหนดการที่ยังไม่แน่นอนว่าอาจเป็นช่วงต้นเดือนธันวาคมนี้ จึงมีความเป็นไปได้ที่ชาวอเมริกันจำนวนหนึ่งจะได้รับวัคซีนเข็มแรกในอีก 1 เดือนโดยประมาณ

 

ดร.อัลเบิร์ต บูร์ลา ซีอีโอของ Pfizer กล่าวในแถลงการณ์ว่า “การยื่นขออนุญาตใช้วัคซีนในสหรัฐฯ นับเป็นหมุดหมายที่สำคัญในการเดินทางของเราเพื่อส่งมอบวัคซีนโควิด-19 ไปทั่วโลก และบัดนี้เรามีภาพที่สมบูรณ์มากยิ่งขึ้นของวัคซีนทั้งในแง่ของประสิทธิภาพและความปลอดภัย ซึ่งทำให้เรามั่นใจในศักยภาพของวัคซีนของเรา”

 

การประกาศดังกล่าวของ Pfizer มีขึ้นหลังจากที่เมื่อ 2 วันก่อนหน้านั้นบริษัทเพิ่งเปิดเผยว่า จากการวิเคราะห์ข้อมูลในขั้นสุดท้ายพบว่าวัคซีนที่บริษัทพัฒนาร่วมกับ BioNTech มีประสิทธิภาพถึง 95% ในการป้องกันโควิด-19 ทั้งยังมีความปลอดภัย และไม่พบผลข้างเคียงรุนแรง

 

ผลการวิเคราะห์ดังกล่าวได้จากการประเมินผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 170 ราย ในบรรดาผู้เข้าร่วมการทดลองวัคซีนระยะสุดท้ายมากกว่า 43,000 คน โดยบริษัทเผยว่าได้ทำการสังเกตผู้ป่วยโควิด-19 จำนวน 162 รายซึ่งอยู่ในกลุ่มที่ใช้ยาหลอก เทียบกับ 8 รายในกลุ่มที่ได้รับวัคซีนต้านโควิด-19 จำนวน  2 โดส จึงส่งผลให้ประเมินประสิทธิภาพของวัคซีนได้ที่ 95%

 

Pfizer ถือเป็นบริษัทพัฒนาวัคซีนต้านโควิด-19 รายแรกที่ยื่นขออนุญาตใช้วัคซีนเป็นการฉุกเฉินต่อ FDA วัคซีนของบริษัทประกอบด้วยสารพันธุกรรมที่เรียกว่า messenger RNA หรือ mRNA ซึ่งนักวิทยาศาสตร์คาดว่าช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันเพื่อต่อสู้กับไวรัส อย่างไรก็ตาม ด้วยเหตุที่วัคซีนของ Pfizer ต้องเก็บในอุณหภูมิ -94 องศาฟาเรนไฮต์ จึงทำให้การแจกจ่ายวัคซีนเป็นวงกว้างนั้นเป็นเรื่องที่ท้าทาย เมื่อเทียบกับวัคซีนของบริษัทคู่แข่งอย่าง Moderna ที่ต้องเก็บในอุณหภูมิ -4 องศาฟาเรนไฮต์

 

ไฟเซอร์ประกาศเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคมว่าสหรัฐฯ ตกลงที่จะซื้อวัคซีนของบริษัทเป็นจำนวน 100 ล้านโดส คิดเป็นมูลค่าสูงถึง 1.95 พันล้านดอลลาร์ ข้อตกลงดังกล่าวซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการวัคซีน Operation Warp Speed โดยคณะบริหารของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ยังเปิดทางให้สหรัฐฯ ซื้อวัคซีนเพิ่มได้อีก 500 ล้านโดส ซึ่งซีอีโอของ Pfizer เผยเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายนว่าบริษัทกำลังเดินหน้าผลิตวัคซีนสูงสุด 50 ล้านโดสในปีนี้ และสูงสุด 1.3 พันล้านโดสในปีหน้า

 

โดยก่อนหน้านี้ Pfizer ได้เริ่มดำเนินการยื่นขออนุญาตใช้วัคซีนต่อหน่วยงานกำกับดูแลมาแล้วหลายแห่งทั่วโลก ซึ่งรวมถึง European Medicines Agency ของยุโรป และ Medicines & Healthcare Products Regulatory Agency ในสหราชอาณาจักร

 

ดร.แอนโทนี เฟาซี ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อชั้นนำของสหรัฐฯ กล่าวว่าวัคซีนน่าจะเข้าถึงชาวอเมริกันทุกคนได้ภายในเดือนเมษายนหรือกรกฎาคมปีหน้า

 

นักลงทุนและเจ้าหน้าที่กำหนดนโยบายต่างมองว่าวัคซีนที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัยเป็นทางออกที่จะนำเศรษฐกิจโลกฟื้นกลับคืนมา หลังจากที่ถูกโรคระบาดเล่นงานเสียหายในเกือบทุกประเทศ รวมถึงสหรัฐฯ ที่ยังคงเผชิญกับการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วทั่วประเทศ ซึ่งข้อมูลที่รวบรวมโดยมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ ระบุว่า ณ วันศุกร์ที่ 20 พฤศจิกายน สหรัฐฯ มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 สะสมมากกว่า 11.71 ล้านราย และเสียชีวิตอย่างน้อย 252,564 ราย 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X