สถานีโทรทัศน์ CNN เปิดเผยรายงานการวิจัยล่าสุดของ Pew Research Center ที่พบว่า ในปี 2022 ที่ผ่านมา ผู้หญิงสหรัฐฯ โดยเฉลี่ยมีรายได้ประมาณ 82 เซนต์ต่อทุกๆ 1 ดอลลาร์ที่ผู้ชายคนหนึ่งได้รับ จากการวิเคราะห์รายได้เฉลี่ยต่อชั่วโมงของพนักงานทั้งประจำและพาร์ตไทม์
แม้จะถือเป็นการขยับขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากค่าแรงที่ผู้หญิงเคยได้รับเพียง 65 เซนต์ในปี 1982 แต่ค่าตอบแทนที่ 82 เซนต์ในปี 2022 ก็แทบจะไม่ขยับเลยนับตั้งแต่ปี 2002 หรือ 20 ปีที่แล้ว ซึ่งอยู่ที่ 80 เซนต์
ทั้งนี้ บทวิเคราะห์ของ Pew ระบุว่า การเรียนจบมหาวิทยาลัย การได้ทำงานในอาชีพที่ได้รับค่าแรงสูงขึ้น และประสบการณ์ในตลาดแรงงานที่มากขึ้น ช่วยให้ผู้หญิงลดช่องว่างค่าจ้างระหว่างเพศลงได้ตั้งแต่ปี 1982 แต่ในขณะที่ผู้หญิงยังคงแซงหน้าผู้ชายในด้านการศึกษา ช่องว่างรายได้ระหว่างผู้หญิงกับผู้ชายกลับยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงให้สอดคล้องกับศักยภาพของผู้หญิงที่มีมากขึ้นเลย
รายงานระบุว่า ก่อนที่จะไปถึงสาเหตุว่าทำไมช่องว่างรายได้ระหว่างชายกับหญิงจึงไม่แคบลงเลยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ต้องมาทำความเข้าใจก่อนว่า แม้กระทั่งระหว่างผู้หญิงด้วยกันเองก็มีความเหลื่อมล้ำในเรื่องของรายได้ เพราะทัศนคติความลำเอียง
โดยผลการศึกษาพบว่า เชื้อชาติและอายุล้วนมีผลกระทบต่ออัตราค่าแรงที่ผู้หญิงได้รับ โดยหญิงอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันหรือสเปนมักจะได้ค่าแรงน้อยกว่า ขณะที่ผู้หญิงที่อายุมากขึ้นก็จะได้รับการประเมินค่าแรงน้อยลง แม้ว่าในช่วงวัย 25-34 ปีจะสามารถทำรายได้ได้มากใกล้เคียงกับผู้ชายก็ตาม
นอกจากนี้ ปัจจัยการตั้งครรภ์ยังเป็นสาเหตุสำคัญต่อการประเมินค่าแรงของผู้หญิง เนื่องจากเมื่อมีลูกผู้หญิงต้องแบ่งเวลามาดูแลลูก ทำให้เวลาในการทำงานลดลง ซึ่งตรงข้ามกับฝ่ายชายที่เมื่อมีลูก ตัวอย่างเช่น สำหรับคุณพ่อที่มีงานทำที่มีอายุระหว่าง 35-44 ปี การมีลูกที่บ้านเป็นช่วงเวลาที่มักจะเกิดขึ้นพร้อมกับการที่คุณพ่อได้รับค่าจ้างที่สูงขึ้น ซึ่งสวนทางกับผู้หญิงที่แม้เงินเดือนจะไม่ลดลง แต่ก็ไม่เพิ่มขึ้นเช่นกัน
รายงานของ Pew Research ชี้ว่า ในปี 2022 แม่อายุ 25 -34 ปี มีรายได้เท่ากับพ่อถึง 85% แต่ผู้หญิงวัยดังกล่าวที่ไม่มีลูกที่บ้านมีรายได้เท่ากับฝ่ายพ่อถึง 97% ในทางตรงกันข้าม ผู้หญิงทำงานอายุ 35-44 ปี ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีลูก ล้วนมีรายได้เท่ากับพ่อประมาณ 80%
ขณะเดียวกัน รายงานยังชี้ว่า เมื่อถึงจุดจุดหนึ่ง ช่องว่างของค่าจ้างระหว่างเพศจะแตกต่างกันไปตามเชื้อชาติและชาติพันธุ์ โดยปีที่แล้วผู้หญิงผิวสีมีรายได้เพียง 70% เมื่อเทียบกับผู้ชายผิวขาว ขณะที่ผู้หญิงชาวสเปนมีรายได้มากถึง 65% ส่วนผู้หญิงผิวขาวที่ 83% และผู้หญิงเอเชียมีความเท่าเทียมกันมากที่สุดที่ 93%
นอกจากนี้ นักวิจัยได้ค้นพบหลักฐานใหม่ที่บ่งชี้ว่าการแบ่งแยกและการเลือกปฏิบัติในการจ้างงานต่อกลุ่มเชื้อชาติและชาติพันธุ์ต่างๆ รวมถึงการเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มอื่นๆ เช่น LGBTQIA+ และคนงานพิการ มีผลต่อความเหลื่อมล้ำทางรายได้ และกีดกันพนักงานจากโอกาสต่างๆ
และปัจจัยสุดท้ายที่ส่งผลต่อค่าแรงก็คือประเภทของอาชีพ ซึ่งอาชีพที่ค่าตอบแทนต่ำ เช่น งานดูแล งานบริการ ยังคงเป็นอาชีพของผู้หญิงส่วนใหญ่ เมื่อเทียบกับอาชีพในสายการบริหารจัดการ และสาย STEM (วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์) โดยรายงานพบว่า ไม่ว่าจะเป็นเพศใดก็ตาม แต่หากสามารถทำงานในสายอาชีพที่ได้ค่าตอบแทนสูง ตัวชี้วัดรายได้จะอยู่ที่การศึกษา ระดับตำแหน่ง และชั่วโมงการทำงาน มากกว่าเพศสภาพ
อย่างไรก็ตาม ในท้ายที่สุดแล้ว Pew Research สรุปว่าการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนมากขึ้นในการปิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางรายได้ระหว่างผู้ชายกับผู้หญิงก็คือ การเปลี่ยนแปลงเชิงลึกของบรรทัดฐานทางสังคมและวัฒนธรรมและความยืดหยุ่นในที่ทำงาน ซึ่งส่งผลต่อความสมดุลของอาชีพการงานและชีวิตครอบครัวของผู้ชายและผู้หญิง ซึ่งอาจต้องอาศัยระยะเวลายาวนาน เพราะแม้แต่ในเดนมาร์กที่เป็นผู้นำในการดำเนินนโยบายที่เป็นมิตรต่อครอบครัว ความเป็นพ่อแม่ยังคงขับเคลื่อนรายได้ของผู้ชายและ ผู้หญิงอยู่ดี
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- เงินเดือน มากสุดอาจไม่ใช่พนักงานที่ฉลาดที่สุด! งานวิจัยในสวีเดนชี้ ความสำเร็จในอาชีพเกิดจาก ‘ต้นทุนชีวิต’ หรือ ‘โชค’ มากกว่าความสามารถ
- บริษัทแม่ของ Uniqlo ประกาศเพิ่มค่าจ้างของพนักงานในญี่ปุ่นขึ้น 40% ทำให้ผู้จบใหม่จะมีเงินเดือนเริ่มต้นที่ 76,000 บาท
- คาดการณ์นายจ้างในไทยจะปรับเพิ่มค่าตอบแทน เงินเดือน 4.5% ในปี 66 แต่น้อยกว่าเวียดนามที่คาดปรับเพิ่ม 7.1%
อ้างอิง: