×

เปิดผลตรวจสารพิษผัก-ผลไม้ พบเกินมาตรฐาน 41% ผักกวางตุ้ง-ส้ม ครองแชมป์พบสารพิษบ่อยที่สุด

โดย THE STANDARD TEAM
27.06.2019
  • LOADING...
สารเคมีกำจัดศัตรูพืช

เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช แถลงผลตรวจผักและผลไม้ประจำปี 2562 โดยความร่วมมือกับองค์กรภาคีต่างๆ ทั้งหน่วยงานราชการ เช่น เจ้าหน้าที่คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัด เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล สมาชิกสภาเกษตรกรแห่งชาติ องค์กรผู้บริโภค และภาคประชาสังคมในจังหวัดต่างๆ โดยเก็บตัวอย่างทั้งหมด 286 ตัวอย่างจากห้างค้าปลีก ตลาดสดทั่วไปในกรุงเทพมหานคร, เชียงใหม่, ขอนแก่น, ยโสธร, สระแก้ว, จันทบุรี, ราชบุรี และสงขลา ครอบคลุมผัก 15 ชนิด และผลไม้ 9 ชนิดที่นิยมบริโภคทั่วไป โดยส่งตรวจที่ห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO-17025 ในประเทศสหราชอาณาจักรพบว่า ผักและผลไม้ที่ส่งตรวจมีสารพิษตกค้างเกินมาตรฐานสูงถึง 41%

 

โดยผักที่พบสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐานเยอะที่สุดคือ ผักกวางตุ้ง โดยพบมากถึง 10 ตัวอย่างจากทั้งหมด 12 ตัวอย่าง รองลงมาคือ คะน้า (9 ตัวอย่าง), กะเพรา (8 ตัวอย่าง), พริก (7 ตัวอย่าง), กะหล่ำดอก (7 ตัวอย่าง) และผักชี (7 ตัวอย่าง) ส่วนที่พบน้อยมากหรือแทบไม่เกินค่ามาตรฐานเลยคือ กระเทียมจีน (ไม่พบสารพิษตกค้าง) กะหล่ำปลี (2 ตัวอย่างมีสารพิษตกค้างต่ำกว่าค่ามาตรฐาน) และมะละกอดิบ (3 ตัวอย่างมีสารพิษตกค้างต่ำกว่าค่ามาตรฐาน) 

 

ด้านผลไม้ที่พบการตกค้างเกินค่ามาตรฐานมากที่สุดคือ ส้ม ที่พบมากถึง 12 ตัวอย่างจากการสุ่มตรวจทั้งหมด 12 ตัวอย่าง รองลงมาคือ ชมพู่ (11 ตัวอย่าง), ฝรั่ง (7 ตัวอย่าง), องุ่น (7 ตัวอย่าง) และผลไม้ที่พบสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐานน้อยที่สุดคือ กล้วยหอม, มะม่วงสุก และแอปเปิ้ล (1 ตัวอย่าง)

 

ทำให้ผลการตรวจภาพรวมพบว่า มีสารพิษตกค้างในตัวอย่างผักและผลไม้ที่สุ่มตรวจ 118 ตัวอย่าง จากทั้งหมด 286 ตัวอย่าง คิดเป็น 41.3%

 

อีกข้อมูลที่เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืชพบคือ จำนวนชนิดของสารพิษตกค้างในผักและผลไม้แต่ละชนิด โดยพบว่าผักคะน้ามีจำนวนชนิดของสารพิษตกค้างมากที่สุดถึง 27 ชนิด รองลงมาคือผักชี 25 ชนิด, พริก 23 ชนิด, มะเขือเทศ 22 ชนิด, กวางตุ้ง 18 ชนิด ส่วนผลไม้ที่มีจำนวนชนิดสารพิษมากที่สุดคือ ส้มแมนดาริน 32 ชนิด, องุ่น 31 ชนิด, ชมพู่ 18 ชนิด, ฝรั่ง 14 ชนิด

 

ข้อมูลที่น่าสนใจคือ เมื่อเปรียบเทียบผักผลไม้ที่ขายให้ห้างค้าปลีกซึ่งประชาชนต้องซื้อในราคาสูงกว่าผักผลไม้ในตลาดทั่วไปหลายเท่านั้น การเฝ้าระวังและตรวจวิเคราะห์ในปีนี้พบว่า ผักผลไม้ในห้างค้าปลีกมีสารพิษตกค้างเกินมาตรฐานมากกว่าตลาดสด โดยพบมากถึง 44% (52 ตัวอย่างจาก 118 ตัวอย่าง) ในขณะที่ในตลาดสดพบ 39% (66 จาก 168 ตัวอย่าง)

 

ทั้งนี้อัตราการตกค้างของผักและผลไม้ในปี 2562 นั้นลดลงเล็กน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับผลการเฝ้าระวังในปี 2560 ซึ่งไทยแพนพบการตกค้างเกินมาตรฐาน 46% และผักผลไม้ที่ได้ตรารับรองคุณภาพ GAP, GMP พบการตกค้างเหลือ 26% เท่านั้น ส่วนผักผลไม้ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของรัฐ ‘Organic Thailand’ ยังคงต้องปรับปรุง เพราะไทยแพนพบการตกค้างของสารพิษ 3 ตัวอย่างจาก 6 ตัวอย่าง ในขณะที่ตรารับรองเกษตรอินทรีย์อื่น เช่น USDA, EU, Bioagricert, มกท. (สำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์) สุ่มไม่พบสารพิษตกค้างเกินมาตรฐานเลย

 

ไทยแพนยังพบด้วยว่าสารพิษกำจัดศัตรูพืชที่ตกค้างมากที่สุดคือ สารฆ่าเชื้อรา คาร์เบนดาซิม (carbendazim) ซึ่งไม่ได้รับการอนุญาตให้ใช้ในสหรัฐอเมริกานานกว่าทศวรรษ เพราะมีผลต่อระบบสืบพันธุ์ แต่กลับพบการตกค้างในผักและผลไม้ถึง 57 ตัวอย่าง รองลงมาคือไซเปอร์เมทริน อิมิดาคลอร์ฟริด เอซอกซิสโตรบิน และคลอร์ไพริฟอส ซึ่งเป็นสารพิษที่ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาการสมองของเด็ก พบ 54, 41, 39 และ 38 ตัวอย่างตามลำดับ

 

นอกเหนือจากนี้ยังพบสารพิษกำจัดศัตรูพืชที่ยกเลิกการใช้ไปแล้ว เช่น เมทามิโดฟอส ถึง 8 ตัวอย่าง พบสารพิษที่ยังไม่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นทะเบียน เช่น คาร์โบฟูราน 9 ตัวอย่าง เมโทมิล 10 ตัวอย่าง และสารซึ่งไม่อยู่ในบัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย พ.ศ. 2556 มากถึง 9 ชนิด เช่น Boscalid, Ethirimol, Fenhexamid, Fluxapyroxad, Isopyrazam, Metrafenone, Proquinazid, Pyrimethanil, Quinoxyfen ซึ่งสาร 3 กลุ่มนี้ทั้งหมดล้วนผิดกฎหมายและเป็นความรับผิดชอบของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ปล่อยให้มีการใช้ และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ที่ปล่อยให้มีการตกค้าง

 

ปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานไทยแพน ได้กล่าวถึงการดำเนินการต่อไปว่า ไทยแพนจะจัดเตรียมผลการตรวจวิเคราะห์ดังกล่าวและประเด็นหารือไปเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขคนใหม่ หลังจากมีการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งแล้ว โดยจะเรียกร้องให้ทั้ง 2 กระทรวงเดินหน้ายุติการใช้สารพิษอันตรายร้ายแรง 3 ชนิด ได้แก่ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต โดยเร็วที่สุด และเสนอให้จัดการแก้ปัญหาสารพิษที่ตกค้างบ่อย และตรวจพบตกค้างเป็นอันดับต้นๆ เช่น สารคาร์เบนดาซิม รวมถึงแนวทางจัดการกับหน่วยราชการที่ปล่อยให้มีการจำหน่ายและใช้จนสามารถตรวจพบการตกค้าง

 

“ส่วนกรณีผักผลไม้ที่ขายในห้างค้าปลีก โดยเฉพาะส่วนที่พบว่ายังมีการใช้สารพิษร้ายแรงที่ประเทศไทยได้ห้ามใช้แล้ว ไทยแพนจะนำข้อมูลดังกล่าวไปมอบให้ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) เพื่อให้มีการดำเนินการกับผู้กระทำความผิดต่อไป” ผู้ประสานงานไทยแพนกล่าว

 

ทั้งนี้ จากข้อมูลขององค์การอาหารและยาระบุว่า การแก้ปัญหาความเสี่ยงจากการบริโภคผักและผลไม้ สามารถทำได้โดยการล้างผักและผลไม้ให้สะอาดก่อนนำไปบริโภค เพื่อลดการตกค้างของสารเคมีกำจัดศัตรูพืช โดยทำได้หลายวิธี เช่น การล้างผ่านน้ำไหลนาน 2 นาที จะช่วยลดการตกค้างของสารเคมีกำจัดศัตรูพืช 54-63% การลอกหรือปอกเปลือกชั้นนอกแล้วแช่น้ำสะอาดนาน 5-10 นาที แล้วล้างด้วยน้ำสะอาดอีกครั้ง จะช่วยลดการตกค้างของสารเคมีกำจัดศัตรูพืช 27-72% การใช้ความร้อนต้มหรือลวกผ่านด้วยน้ำร้อน ลดการตกค้างของสารเคมีกำจัดศัตรูพืช 48-50% การแช่ด่างทับทิมนาน 10 นาที (ด่างทับทิม 20-30 เกล็ด ผสมน้ำ 4 ลิตร) และล้างด้วยน้ำสะอาด ลดการตกค้างของสารเคมีกำจัดศัตรูพืช 35-43% และการใช้เบกกิ้งโซดา 1 ช้อนโต๊ะต่อน้ำอุ่น 20 ลิตร แช่นาน 15 นาที และล้างด้วยน้ำสะอาด ลดการตกค้างของสารเคมีกำจัดศัตรูพืช 80-95%

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X