×

มุมมองเศรษฐกิจไทยปี 67 และความท้าทายที่ไม่อาจมองข้าม

14.12.2023
  • LOADING...
เศรษฐกิจไทย

หากติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจมาตั้งแต่ต้นปีจนถึงช่วงโค้งสุดท้ายของปีนี้ ในภาพรวมจะเป็นการทยอยฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ด้วยแรงขับเคลื่อนจากการบริโภคในประเทศและการท่องเที่ยว ขณะที่ภาคการส่งออกเผชิญความท้าทายค่อนข้างหนักในปีนี้ มองไปในปี 2567 เครื่องยนต์ด้านต่างๆ มีแนวโน้มขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้มากขึ้น ทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจดูสดใสกว่าปีนี้ อย่างไรก็ดี ยังคงมีโจทย์ความท้าทายหลายด้านที่ไม่อาจมองข้าม จะมีประเด็นอะไรบ้าง ชวนมาติดตามไปพร้อมๆ กัน 

 

เศรษฐกิจไทยโค้งสุดท้ายปี 2566 มีโมเมนตัมขยายตัวดีขึ้น และมีแรงส่งต่อเนื่องไปยังปีหน้า จากตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 3/66 ขยายตัวต่ำกว่าคาด ทำให้ใน 9 เดือนแรกของปี 2566 เศรษฐกิจไทยขยายตัวเพียง 1.9% เท่านั้น อย่างไรก็ดี ในไตรมาส 4 เห็นสัญญาณบวกจากเครื่องยนต์การท่องเที่ยวและการส่งออก โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มเร่งขึ้นในไตรมาสสุดท้าย หลังเริ่มเข้าสู่ช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งปี 2566 อยู่ที่ราว 28 ล้านคน จากช่วง 10 เดือนแรกของปี 2566 อยู่ที่ 22 ล้านคน อีกทั้งการส่งออกสินค้าที่เริ่มฟื้นขยายตัวเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน โดยในเดือนตุลาคมเติบโต 8% ทำสถิติสูงสุดในรอบ 13 เดือน สอดคล้องกับการฟื้นตัวของการค้าโลก 

 

อย่างไรก็ดี แม้จะเห็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจดีขึ้นในไตรมาส 4 แต่ในภาพรวมแล้วเครื่องยนต์เศรษฐกิจแทบทุกด้านยังทำงานได้ไม่เต็มศักยภาพ ทำให้ปี 2566 เศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ต่ำกว่าประมาณการเดิมที่ 2.8% หรือขยายตัวในระดับต่ำกว่าปี 2565

 

กิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศและทิศทางการค้าโลกที่ปรับตัวดีขึ้น หนุนเศรษฐกิจไทยปี 2567 เติบโตเร่งขึ้น เริ่มจากการบริโภคภาคเอกชนคาดขยายตัวได้ต่อเนื่องจากปี 2566 ที่ทำสถิติสูงสุดในรอบ 20 ปี หรือมากกว่า 2 เท่าของค่าเฉลี่ย 10 ปี หนุนด้วยตลาดแรงงานที่เติบโตดี โดยเฉพาะรายได้นอกภาคเกษตรที่ฟื้นตัวได้มากกว่าระดับก่อนวิกฤตโควิด รวมทั้งอาจมีปัจจัยบวกเพิ่มจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น หรือนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติกู้เงิน วงเงิน 5 แสนล้านบาท ของคณะกรรมการกฤษฎีกา 

 

สำหรับภาคการส่งออก คาดกลับมาขยายตัวเป็นบวกที่ราว 2-3% สอดคล้องกับองค์การการค้าโลก (WTO) คาดปริมาณการค้าโลกเติบโต 3.3% จากที่ชะลอตัวลงที่ 0.8% ในปี 2566 โดยขณะนี้เริ่มมีสัญญาณของการฟื้นตัว สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคอุตสาหกรรม สำหรับยอดคำสั่งซื้อใหม่และแนวโน้มขาขึ้นของวัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ 

 

อีกทั้งแม้เศรษฐกิจตลาดหลักทั้งสหรัฐฯ และยุโรปจะชะลอตัว แต่เศรษฐกิจเอเชีย (ไม่รวมจีน) ได้แก่ อาเซียน (5 ประเทศ) เกาหลีใต้ และไต้หวัน มีแนวโน้มขยายตัวได้ดีขึ้นเฉลี่ยมากกว่า 3% ตลอดจนเศรษฐกิจประเทศตะวันออกกลางและอินเดียที่มีแนวโน้มเติบโตได้ในระดับสูง สามารถเป็นปัจจัยสนับสนุนการส่งออกของไทย โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมรถยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ และอาหาร ในทำนองเดียวกัน ภาคการท่องเที่ยวคาดเติบโตต่อเนื่องจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ คาดอยู่ที่ราว 33 ล้านคน หรือคิดเป็น 82% ก่อนเกิดวิกฤตโควิด 

 

อย่างไรก็ตาม แม้มีปัจจัยบวกหลายประการที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้มีโอกาสเติบโตได้มากกว่า 3% ซึ่งจะเป็นปีแรกในรอบ 5 ปี แต่ยังมีหลายความท้าทายที่อาจฉุดรั้งการเติบโต เช่น

 

  • การส่งออกของไทยยังต้องเผชิญความท้าทายจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลัก โดยเฉพาะสถานการณ์เศรษฐกิจจีนที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประเมินว่าสามารถเติบโตได้ 5% ในปี 2566 ตามเป้าหมายที่รัฐบาลจีนได้ตั้งไว้ แต่การเติบโตของจีนจะชะลอตัวอยู่ที่ 3.5% ในระยะกลาง อีกทั้งล่าสุด Moody’s สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ได้ปรับลดแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือของรัฐบาลจีนสู่เชิงลบ สะท้อนถึงมุมมองการชะลอตัวของเศรษฐกิจในระยะกลาง (GDP ปี 2567-2568 เฉลี่ยที่ 4%) และความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤตในภาคอสังหาริมทรัพย์ 
  • ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์โลกในภูมิภาคต่างๆ ซึ่งอาจเป็นข้อจำกัดต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทย ผ่านช่องทางการส่งออกและความผันผวนในตลาดการเงิน อาทิ สงครามอิสราเอล-กลุ่มฮามาสชาวปาเลสไตน์ ที่เกิดขึ้นตั้งแต่เดือนตุลาคม 2566 แม้ ณ ขณะนี้พื้นที่การสู้รบยังอยู่ในวงจำกัด แต่หากสถานการณ์ยืดเยื้อ ลุกลามนำไปสู่ความไม่สงบภายในภูมิภาคตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทย และเป็นภูมิภาคที่มีแนวโน้มเศรษฐกิจเติบโตดี รวมทั้งเป็นแหล่งผลิตน้ำมัน อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกและราคาพลังงานโลกให้ปรับตัวสูงขึ้น 
  • สภาวะเอลนีโญที่ทำให้ปริมาณน้ำฝนน้อยกว่าค่าเฉลี่ยปกติ อาจทำให้เกิดภัยแล้งในปี 2567 ส่งผลต่อผลผลิตทางการเกษตร และเป็นความเสี่ยงที่ทำให้ต้นทุนราคาสินค้าเกษตรและอาหารอาจปรับสูงขึ้น ซึ่งกดดันต่อการขยายตัวของการบริโภคในประเทศ
  • ความเปราะบางของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ SMEs สะท้อนจากหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูงแตะ 90% ต่อ GDP และคุณภาพสินเชื่อของธุรกิจ SMEs ทรงตัวที่ระดับ 6% ซึ่งเป็นแรงกดดันต่ออำนาจซื้อ 

 

จากภาพรวมเศรษฐกิจข้างต้น อาจกล่าวได้ว่าในปี 2567 จะเป็นปีที่เศรษฐกิจไทยมีทิศทางฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยขยายตัวในอัตราเร่งขึ้นจากปี 2566 แม้จะมีความไม่แน่นอนจากปัจจัยภายนอกเป็นโจทย์ท้าทาย อันเนื่องจากโครงสร้างเศรษฐกิจที่ยังคงพึ่งเศรษฐกิจโลกมาก ทั้งการส่งออกและการท่องเที่ยว 

 

อย่างไรก็ดี เมื่อมองปัจจัยภายในทั้งสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ บรรยากาศการค้าการลงทุนที่ปรับตัวดีขึ้น รวมทั้งหากภาครัฐเร่งสร้างแต้มต่อทางการค้า เช่น การบุกตลาดศักยภาพ การเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่ค้างอยู่ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมด้านการส่งออก รวมทั้งเร่งผลักดันมาตรการสนับสนุนการท่องเที่ยว คาดว่าจะมีส่วนเกื้อหนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศและต่างประเทศให้เติบโตได้ต่อไป ท่ามกลางความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X
Close Advertising