×

‘One size doesn’t fit all’ อ่านแนวคิด SC Asset ปั้น ‘บ้านคนโสด’ เปิดตลาดใหม่ ชูกลยุทธ์บ้านแบบ ‘Personalized’ [Advertorial]

04.03.2021
  • LOADING...
‘One size doesn’t fit all’ อ่านแนวคิด SC Asset ปั้น ‘บ้านคนโสด’ เปิดตลาดใหม่ ชูกลยุทธ์บ้านแบบ ‘Personalized’ [Advertorial]

HIGHLIGHTS

6 mins. read
  • บ้านคนโสด คือโปรเจกต์ที่เกิดขึ้นภายใต้การพัฒนาโดย SC Asset ที่มุ่งมั่นจะพัฒนาเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่มีไลฟ์สไตล์ ความเป็นอยู่ และพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปตามแต่ละยุคสมัย
  • ในอนาคต SC Asset จะเริ่มพัฒนาโครงการบ้านที่มีความเป็น Personalized เพื่อตอบสนองพฤติกรรมเฉพาะกลุ่มมากขึ้น ซึ่งไม่ใช่แค่บ้านคนโสดและบ้านเดียวกันเท่านั้น 
  • เป้าหมายต่อจากนี้ SC Asset มุ่งสู่การเป็นแบรนด์บ้านเดี่ยวอันดับหนึ่ง ทางแบรนด์จึงออกแบบฟังก์ชันเพื่อตอบโจทย์ผู้อยู่อาศัยอย่างแท้จริง

ได้ยินชื่อ ‘บ้านคนโสด’ ครั้งแรก คุณจะนึกถึงอะไร การรวมตัวกันของสมาชิกภายในบ้านที่มีสถานะเป็นคนโสด หรือบ้านที่มีพื้นที่บริเวณ ‘คาน’ ใหญ่ จุคนได้เยอะเป็นพิเศษ 

 

สารภาพตามตรงว่าเรารู้สึก ‘สะดุดหู’ มากตอนได้ยินชื่อบ้านคนโสดครั้งแรกในงานแถลงข่าว SC Asset Business Direction 2021 เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สาเหตุก็เพราะ หนึ่ง เรากล้าพูดว่าไม่เคยได้ยินแบรนด์ผู้พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์เจ้าใดกล้าตั้งชื่อบ้านของตัวเองแบบนี้มาก่อน 

 

สอง เรา ‘สงสัยใคร่รู้’ ว่ามันจะต่างจากบ้านทั่วๆ ไปอย่างไร มีส่วนไหนหรือมุมใดที่ ‘พิเศษ’ และสาม ‘อะไร’ คือสาเหตุที่ทำให้ SC Asset กล้ายืนเด่น ‘ท้าทายสูตรการตลาด’ หยิบชื่อแบบนี้มาตั้งในไลน์อัพผลิตภัณฑ์ของพวกเขา

 

บริเวณภายนอกของบ้านคนโสด

 

เพื่อล้วงลึกถึงแนวคิดเบื้องหลังการพัฒนาบ้านคนโสด และย้อนดูเส้นทางการพัฒนาโปรเจกต์บ้านหลังนี้ขึ้นมา THE STANDARD ได้ออกเดินทางไปยังโครงการบ้าน เวนิว พระราม 9 (Venue Rama 9) เพื่อสำรวจทุกซอกทุกมุมของบ้านคนโสดหลังตัวอย่าง (สุดเอ็กซ์คลูซีฟเป็นครั้งแรก) พร้อมพูดคุยกับ เขม-ณัฏฐกิตติ์ ศิริรัตน์ หัวหน้าสายงานการตลาด บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เพื่อไขข้อสงสัยทั้งหมดที่เกิดขึ้น

 

 

เริ่มต้นจาก ‘ลูกบ้าน’ เมื่อวิถีชีวิตคนยุคใหม่เปลี่ยนไป

ข้อสังเกตส่วนตัวที่เรามีโอกาสได้พบเห็นจากสื่อสังคมออนไลน์และการทำการตลาดของแบรนด์ต่างๆ ในระยะหลังๆ มานี้ คือการที่ธุรกิจที่มุ่งตอบโจทย์ความต้องการของคนเหงา ผู้บริโภคกลุ่มที่ครองสถานะเป็นโสดเริ่มเกิดขึ้นมาให้เห็นเป็นจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ และดูมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องไม่หยุดยั้ง 

 

และไม่ใช่แค่มากด้วย ‘ปริมาณ’ เท่านั้น เพราะส่วนใหญ่ก็มักจะได้รับเอ็นเกจเมนต์และกระแสความนิยมสนใจที่อยู่ในทิศทางที่ดีด้วย (ปฏิเสธไม่ได้ว่าโควิด-19 ก็เป็นอีกตัวเร่งปฏิกิริยาคนเหงาและความโสด)

 

ณัฏฐกิตติ์เริ่มต้นเล่าให้เราฟังว่า ตัวเขาเองและ SC Asset ก็เริ่มมองเห็นถึงเทรนด์พฤติกรรมผู้บริโภคคนไทยในส่วนนี้ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างชัดเจน โดยเริ่มต้นตั้งแต่เมื่อประมาณปี 2561 จากการสำรวจข้อมูลของลูกบ้านในช่วงเวลาดังกล่าว (คำนึงถึง Privacy เก็บข้อมูลแบบกว้างๆ ไม่ระบุตัวตน) ทั้งจากการทำแบบสอบถาม การพูดคุยสัมภาษณ์กับลูกบ้าน ไปจนถึงไลฟ์สไตล์ที่ปรากฏออกมา

 

จนทำให้สามารถจำแนกกลุ่มผู้บริโภคออกเป็น 4 กลุ่มกว้างๆ จากสถานะของการเป็นโสด ได้แก่

 

  1. Double Income No Kid – คู่แต่งงาน แต่ไม่มีลูก 
  2. Single Income No Kid – คนโสดของแท้ที่อาจจะตั้งใจหรือไม่ได้ตั้งใจโสด 
  3. Single with Kid – กลุ่มพ่อเลี้ยงเดี่ยว
  4. Cross Generation – ลุงป้าน้าอาอยู่กันสองคน โดยมีญาติพี่น้องหรือหลานมาร่วมอยู่อาศัย

 

“พอเรามีข้อมูลอยู่ในมือ เห็นว่าลูกบ้านส่วนใหญ่เริ่มมีสถานะครองโสดหรือไม่มีลูก เราก็เริ่มค้นข้อมูลต่อไปเรื่อยๆ แล้วก็พบว่าคนกลุ่มนี้ค่อนข้างมีกำลังซื้อสูงมาก (ไม่มีภาระค่าใช้จ่ายเลี้ยงบุตร บางครั้งก็อยู่ตัวคนเดียว) จึงตัดสินใจเริ่มรันโปรเจกต์บ้านคนโสดขึ้นมาภายใต้แนวคิด ‘One size doesn’t fit all’

 

เขม-ณัฏฐกิตติ์ ศิริรัตน์ หัวหน้าสายงานการตลาด
บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

 

“ฟีดแบ็กที่ได้รับก็คือทุกคนชอบกันมากๆ รู้สึกว้าวกับสิ่งนี้ เพราะเราพลิกโจทย์จากการที่ชีวิตคนเมือง ณ วันนี้ส่วนใหญ่ต้องใช้ชีวิตในคอนโดด้วยพื้นที่ที่จำกัด เราจึงเลือกเพิ่ม ‘พื้นที่’ (Space) ให้กับพวกเขามากขึ้นผ่านแพลตฟอร์มของ ‘บ้าน’ ทลายเพนพอยต์ของการเลี้ยงน้องหมาน้องแมวไม่ได้ หรือการที่ในบางครั้งบางคราวเราอยากให้พ่อแม่มาพักอยู่ด้วยตามแต่ละโอกาส แต่ทำไม่ได้กับที่คอนโด”

 

บ้านคนโสดจึงได้เริ่มลงเสาเข็ม เทปูน ก่อสร้างตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา โดยเริ่มจากการโปรโตไทป์ที่โครงการบ้าน เวนิว พระราม 9 ก่อนจะแล้วเสร็จในช่วงกลางปี 2563 ที่ผ่านมา 

 

ห้องรับแขกที่ออกแบบในลักษณะ Double Volume เพิ่มความสูงโปร่ง
ให้ความรู้สึกสบาย ไม่อึดอัด ขณะเดียวกันก็ยังให้ความรู้สึกอบอุ่น
เป็นมุมขายของบ้านที่สามารถถ่ายรูปอวดเพื่อนๆ ในโซเชียลมีเดียได้ (Instagramable)

 

เปลี่ยน ‘Quantity’ เป็น ‘Quality’ กับ ‘แบบแปลนบ้าน’ ที่พิเศษไม่เหมือนใคร สปอยล์ตัวเองขั้นสุดในแบบบ้านคนโสด

จุดเด่นของการออกแบบบ้านคนโสดโดย SC Asset ที่ณัฏฐกิตติ์เล่าให้เราฟัง พร้อมพาเราเดินสำรวจทุกซอกทุกมุมของตัวบ้าน คือการที่ ‘แบบแปลน’ ของบ้านหลังนี้มีความแตกต่าง พิเศษ และไม่เหมือนกับบ้านเดี่ยวทั่วๆ ไปเลยแม้แต่น้อย ประหนึ่งว่าบ้านหลังนี้ถูกออกแบบขึ้นมาพิเศษสำหรับใครสักคนเท่านั้น

 

พื้นที่บริเวณชั้นสองที่ออกแบบในลักษณะ Double Volume ทำให้เพดานสูง โปร่ง
และยังมองลงมาพื้นที่บริเวณห้องรับแขกได้ด้วย

 

เมื่อเปิดประตูบ้านเข้ามา เราจะพบว่าตัวบ้านถูกวางตำแหน่งส่วนต่างๆ ออกมาได้อย่างลงตัว เช่น บริเวณโถงห้องรับแขกจะใช้เทคนิคการออกแบบ ‘Double Volume’ ทำให้ตัวเพดานสูงโปร่ง โล่งไปถึงชั้นสองของบ้าน ทำให้เรารู้สึกไม่อึดอัด โดยพื้นที่ส่วนนี้ยังสามารถมองลงมาจากห้องนอน Master Bedroom ที่ชั้นสองได้อีกด้วย เพื่อให้รู้ว่าสมาชิกในบ้านกำลังทำอะไรอยู่ในพื้นที่ส่วนนี้ มาพร้อมกับเคาน์เตอร์บาร์ที่เราสามารถนั่งทำงานแบบ WFH ได้สบายๆ

 

โถงห้องรับแขกที่สามารถเปิดประตูบ้านออกไป
ขยายพื้นที่สำหรับการปาร์ตี้สังสรรค์ให้โอ่โถง กว้างขวางขึ้น

 

ฝั่งขวามือของห้องรับแขกยังสามารถเปิดประตูเพื่อเพิ่มพื้นที่เอาต์ดอร์สำหรับรอต้อนรับเพื่อนๆ หรือแขกที่มาร่วมสังสรรค์ที่บ้านให้กว้างขึ้นได้อีกด้วย ซึ่งถือเป็นการแบ่งพื้นที่ใช้สอยภายในบ้านให้ชัดเจน โดยไม่ต้องกังวลว่าเพื่อนๆ จะเข้ามาในพื้นที่ส่วนตัวหรือห้องนอนของเรา

 

ห้องนอน Master Bedroom ที่มีมุมนั่งพักให้ชมวิวธรรมชาติ
และระเบียงที่ยื่นออกมาสำหรับการปลูกต้นไม้

 

อีกจุดเด่นที่จะลืมพูดถึงไปไม่ได้เลยคือแนวคิดการเปลี่ยน ‘Quantity’ เป็น ‘Quality’ หรือทำให้พื้นที่ใช้สอยในบ้านเกิดคุณภาพมากที่สุด ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือจำนวนห้องนอนบนชั้นสองที่มี 2 ห้อง ได้แก่ Master Bedroom สองห้องในขนาดใหญ่และกลาง แล้วเลือกเพิ่มพื้นที่บริเวณ Walk in Closet ใน Master Bedroom ห้องใหญ่แทน

 

“ปกติบ้านเดี่ยวทั่วๆ ไปอาจจะมีห้องนอนใหญ่ 1 ห้องและห้องนอนเล็ก 2 ห้องในชั้นสอง แต่เราปรับให้เป็นห้องนอนใหญ่ 1 ห้อง และห้องนอนขนาดกลางอีก 1 ห้อง ลดปริมาณพื้นที่บางส่วนเพื่อนำไปใช้งานให้เกิดประโยชน์มากขึ้น” 

 

ทางเดินเชื่อม Walk in Closet ใน Master Bedroom ซึ่งทอดยาวไปยังห้องน้ำ

 

ณัฏฐกิตติ์เล่าต่อ “เรายังเพิ่มรายละเอียดความเป็นมนุษย์ (Human) ลงไปในบ้านหลังนี้มากขึ้น ซึ่งบ้านทั่วๆ ไปอาจจะไม่ได้ใส่ใจการออกแบบที่ลงรายละเอียดลึกซึ้งถึงพฤติกรรมของลูกบ้านสักเท่าไร แต่บ้านคนโสดจะให้ความสำคัญในส่วนนี้มาก เราเข้าใจว่าลูกบ้านของเรามีเวลาในแต่ละวันเหลือเยอะ จึงออกแบบให้ทุกๆ สัดส่วนของมุมบ้านสามารถเป็นพื้นที่ให้เจ้าของบ้านใช้เวลาดื่มด่ำกับไลฟ์สไตล์ส่วนตัว หรือสุนทรียภาพของการใช้ชีวิตมากขึ้น เช่น ฉันอยากมานั่งลูบหัวน้องหมาน้องแมวตรงนี้ก็ต้องทำได้ อยากมานั่งอ่านหนังสือตรงนี้ก็รู้สึกสบายใจ เราใส่ใจกับทุกวินาทีที่คนอาศัยอยู่ในบ้านจริงๆ

 

“ทุกๆ อย่างที่ SC Asset คิดและออกแบบมาให้ในบ้านคนโสดคือมุมมองที่เรียกว่า ‘Spoil Yourself’ ให้ผู้อยู่อาศัยสามารถสปอยล์ตัวเองได้แบบสุดๆ อย่างอ่างอาบน้ำก็เพิ่มพื้นที่บริเวณด้านนอกที่เป็นเหมือนสวนปลูกต้นไม้ ให้ผู้อยู่ได้เสพบรรยากาศความผ่อนคลายอย่างเต็มที่ เราอยากให้ลูกบ้านสปอยล์ตัวเองได้เยอะขึ้น เพราะเงินที่หามาได้จากการทำงานอย่างหนัก เขาก็ควรจะได้มอบความสุขให้กับตัวเองเวลาที่ได้ใช้ชีวิตอยู่ในบ้าน ซึ่งความสุขที่ว่ามันจะต้องไม่ใช่ระดับความสุขแบบ ‘มาตรฐาน’ แต่มันจะต้อง ‘พิเศษ’ และเหนือขึ้นอีกไประดับ”

 

บริเวณพื้นที่ซักล้าง ‘Service Area’ ที่อยู่ในส่วนชั้นสองของตัวบ้าน

 

อีกความพิเศษของบ้านคนโสดคือการที่พื้นที่ซักล้าง ‘Service Area’ ถูกยกขึ้นมาไว้บริเวณชั้นสองของบ้าน ซึ่งณัฏฐกิตติ์ให้เหตุผลว่า โดยปกติแล้วพฤติกรรมคนเวลาซักผ้าในบ้านเดี่ยวทั่วๆ ไปจะต้องลงมาซัก อบ ตาก ที่ชั้นล่าง แล้วเก็บขึ้นไปพับหรือแขวนเข้าตู้ในห้องนอนที่ชั้นสองของตัวบ้าน ซึ่งไม่สะดวกเอาเสียเลย เขาจึงแก้ปัญหาในจุดนี้ด้วยการยกพื้นที่ Service Area มาไว้ที่ชั้นสองแทน

 

พื้นที่โถงบริเวณชั้นสองของบ้านเดียวกัน

 

‘บ้านเดียวกัน’ บ้านหลังที่สมาชิกในครอบครัวสามารถใช้ชีวิตในมุมส่วนตัวของตัวเองได้ลงตัว

นอกเหนือจากบ้านคนโสดแล้ว SC Asset ยังได้พัฒนาโครงการ ‘บ้านเดียวกัน’ ขึ้นมาอีกด้วย ซึ่งความต่างคือขนาดพื้นที่ใช้สอยของตัวบ้านที่ใหญ่กว่า และการออกแบบบ้านสำหรับครอบครัวที่อาจจะมีสมาชิกมากเป็นพิเศษ เป็นครอบครัวที่มีลูก ซึ่งสาเหตุที่ใช้ชื่อนี้ก็เพื่อเป็นการแก้เพนพอยต์ของการที่สมาชิกในบ้าน ‘ไม่มีพื้นที่ส่วนตัว’ ที่แต่ละคนสามารถใช้เวลาส่วนตัว ทำกิจกรรมของตัวเองได้อย่างถนัดเท่าที่ควร

 

บริเวณภายนอกของบ้านเดียวกัน

 

“เราเริ่มโครงการบ้านเดียวกันพร้อมๆ กับบ้านคนโสดในปี 2561 จำได้ว่าตอนที่เริ่มรีเสิร์ชข้อมูล สำรวจความคิดเห็นลูกบ้าน เราไปพบกับเพนพอยต์ของเจ้าของบ้านหลังหนึ่งที่ซื้อบ้านกับ SC Asset เขาเป็นคุณพ่อที่มีลูกอยู่ระดับชั้นมัธยม เขาบอกกับเราว่าตัวเองทุ่มเทการทำงานและหาเลี้ยงลูก แต่ปรากฏว่าเวลาที่เขาอยู่ในบ้าน ซึ่งเป็นเวลาเดียวกันกับที่ลูกพาเพื่อนมาซ้อมดนตรี เขารู้สึกเหมือนตัวเองไม่มีที่อยู่ ไม่มีพื้นที่ให้อ่านหนังสือ

 

พื้นที่โถงบริเวณชั้นสองและส่วนต่อเชื่อมชั้นลอยของตัวบ้านเดียวกัน
ซึ่งสามารถดัดแปลงพื้นที่การใช้งานในส่วนนี้ได้ตามความต้องการ

 

“มันจึงนำไปสู่ไอเดียในการพัฒนาบ้านของเราให้สมาชิกในบ้านทุกคนมี ‘พื้นที่ส่วนตัวของตัวเอง’ เป็นบ้านที่สมาชิกทุกคนสามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันได้ลงตัว ปรับแต่งส่วนต่างๆ ตามความต้องการของตัวเองได้ในทุกๆ ช่วงเวลา เช่น พอลูกโตขึ้นก็อาจจะกั้นห้อง ยุบรวมห้องนอนในชั้นสองของตัวบ้านที่มีสองห้องนอนเล็กเป็นห้องนอนใหญ่ได้

 

Master Bedroom ของบ้านเดียวกัน

 

“นิยามสำหรับบ้านเดียวกันคือบ้านที่ปรับเปลี่ยนให้เป็นพื้นที่สำหรับทุกคนในทุกช่วงเวลาได้ ตาม 3 แนวคิดหลักคือ

 

  1. My Pause Moment – ช่วงเวลาที่อยากอยู่กับตัวเอง นั่งคิดไอเดียใหม่ๆ นั่งชิล ใช้เวลากับตัวเองทั้งพ่อและแม่ 
  2. Family & Creative Moment – เราทำครัวใหญ่มาก เพราะต้องการให้พื้นที่ส่วนนี้เป็น Family Moment ให้ทุกคนได้ใช้เวลาร่วมกัน
  3. Socializing Moment – ช่วงเวลาที่เพื่อนๆ มาทำกิจกรรมร่วมกันที่บ้าน

 

ห้องนอนขนาดกลางบริเวณชั้นสองของบ้านเดียวกัน

 

“เราอยากให้คุณซื้อบ้านหลังเดียวแล้วจบ อยู่ได้นานๆ จนวันหนึ่งถ้าสมมติว่าคุณอายุมากขึ้นแล้วเดินขึ้นบันไดไม่ไหว คุณก็สามารถปรับพื้นที่ข้างล่างเป็นห้องนอน ลงมานอนข้างล่างได้เลย ใช้ชีวิตหลังเกษียณได้ เราคิดทุกอย่างให้คุณหมดแล้วในบ้านหลังเดียวกัน ดังนั้นบ้านเดียวกันจึงเป็นบ้านที่มีพื้นที่สำหรับทุกคนในครอบครัวอย่างแท้จริง”

 

ห้องนอนขนาดกลางกับเทคนิคการออกแบบกำแพงบังตาแบบเจาะรู
เพื่อให้แสงลอดเข้ามาในช่วงเวลาระหว่างวัน ขณะเดียวกันก็ยังคงคำนึงถึง
ความเป็นส่วนตัวของผู้อยู่อาศัย และพื้นที่ส่วนกลางบริเวณชั้นสองของบ้านคนโสด

 

สร้างบ้านแบบ SC Asset ด้วยหลักคิด ‘Personalized Home’ บ้านที่ถูกออกแบบมาเพื่อคุณอย่างแท้จริง

จะเห็นว่าทั้งบ้านคนโสดและบ้านเดียวกันคือโครงการบ้านที่ SC Asset ออกแบบขึ้นมาผ่านแนวคิด Personalized Home หรือพัฒนาขึ้นโดยคำนึงถึงผู้อยู่อาศัย หรือออกแบบให้กับลูกบ้านที่ลงลึกรายละเอียดในทุกๆ มิติ ซึ่งในอนาคตเราก็จะได้เห็นบ้านในแบบ Personalized จาก SC Asset ออกมาอย่างต่อเนื่อง

 

ณัฏฐกิตติ์บอกว่า “มันคือบ้านที่ลงลึกไปถึง Personalize Home ไม่ใช่แค่ Personalize Marketing เราออกแบบบ้านที่ลงลึกไปถึงความต้องการของคนในแต่ละประเภท ตั้งแต่วินาทีที่เข้าก้าวลงจากรถ เปิดประตูเข้าบ้าน ทุกโมเมนต์ ทุกช่วงเวลาที่เขาได้ใช้ในบ้านหลังนี้คือความรู้สึกถึงความสุขและความภูมิใจ

 

บริเวณโถงห้องรับแขกชั้นหนึ่งของบ้านเดียวกัน ที่ห้องนั่งเล่นสำหรับเด็ก
สามารถปิดฉากกั้นหรือปรับแต่งเป็นห้องอื่นๆ เพื่อการใช้งานตามต้องการ

 

“เราอยากทำบ้านที่เหมือนเขาได้เขียนแปลนบ้านด้วยตัวเอง ที่สำคัญการพัฒนาแบบบ้านสองรุ่นนี้มีความเป็นลิมิเต็ด ดังนั้นการเปิดขายบ้านคนโสดและบ้านเดียวกัน ผู้ที่สนใจสามารถเข้าชมและจองได้ตั้งแต่วันที่ 6-7 มีนาคมนี้เป็นต้นไป

 

“ในอนาคต SC Asset วางแผนไว้แล้วว่าเราจะพัฒนาแนวคิด ‘One size doesn’t fit all’ ออกมาใหม่ในทุกๆ ปีเพื่อให้ผู้บริโภครู้สึกว้าว เราจะไม่หยุดแค่นี้แน่นอน”

 

เมื่อบวกรวมกับแพลตฟอร์มอย่าง RueJai OS และ Home Hub ไปจนถึงบริการ Subscription บ้านรู้ใจ ทั้งหมดจึงทำให้เราสามารถใช้ชีวิตในบ้านของ SC Asset ได้อย่างสบายใจ สะดวกสบาย เต็มอิ่ม และมีความสุขในทุกๆ ช่วงเวลา

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X