ในการจัดการเลือกตั้ง ส.ส. ที่กำลังจะมาถึงในวันที่ 14 พฤษภาคมนี้ ตลอดช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ถูกวิพากษ์วิจารณ์การทำหน้าที่ว่าจะทำให้การแข่งขันทางการเมืองเป็นไปอย่างสุจริต โปร่งใส และเป็นธรรม ได้หรือไม่
ทั้งๆ ที่การจัดการเลือกตั้งครั้งนี้นับเป็นการจัดการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 2 ของ กกต. ชุดนี้
อย่างไรก็ตาม กระแสวิพากษ์วิจารณ์ กกต. ยังมีมาต่อเนื่องโดยตลอด โดยเฉพาะล่าสุดภายหลังการเลือกตั้งล่วงหน้าเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม กระทั่งติดเทรนด์ทวิตเตอร์ #กกตมีไว้ทำไม #กกตต้องติดคุก และ #เลือกตั้งล่วงหน้า
THE STANDARD รวบรวมหลากหลาย ‘ปัญหา’ ที่ประชาชน รวมถึงเหล่าผู้สมัคร ส.ส. และพรรคการเมืองสงสัย และ กกต. รวมถึงเจ้าหน้าที่ได้ให้ ‘คำตอบ’ ไว้ แต่จะคลายข้อสงสัยหรือไม่ ประชาชนต้องลองพิจารณาจากข้อมูลเอง
1. จังหวัด ‘พระเยา’ ทำไมข้อมูลถึงคลาดเคลื่อน ไม่ตรวจสอบ
“ตรงนี้ไม่ใช่ประเด็นสำคัญสำหรับเรา โดยคนที่ด่าว่าต่างๆ ฝากด้วยว่าใช้ความคิดนิดหนึ่งในการจะด่าว่าอะไรใคร เพราะต้องดูด้วยว่ามีผลกับการเลือกตั้งขนาดไหน เรื่องพวกนี้เป็นเรื่องที่ทางเราไม่อยากให้เกิด แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็เป็นเหตุการณ์ปกติ ก็คือมีเสื้อขาวอยู่ตัวหนึ่ง มองที่จุดดำที่เป็นน้ำหมึกอยู่จุดเดียว แต่ทั้งหมดถูกต้องหมด โดยจะมาดูจุดที่ผิดอยู่จุดเดียว ซึ่งไม่เกิดประโยชน์”
กิตติพงษ์ ดรุมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดพะเยา
7 พฤษภาคม 2566
2. เจ้าหน้าที่สับสน เขียนซองใส่บัตรเลือกตั้งนอกเขตผิด
“ก็อยากให้สบายใจนะครับว่าเราออกแบบมาเพื่อใช้เวลามีปัญหาอย่างนี้แหละครับ การผิดพลาดจากคนเกิดขึ้นได้ แต่ระบบสามารถแก้ไขตรงนี้ได้ อาจจะต้องเสียเวลา ใช้เวลา เป็นหน้าที่ของ กกต. ต้องทำอยู่แล้ว อยากให้สบายใจว่าไม่ว่าจ่าหน้าซองผิดอย่างไร เรามีระบบตรวจสอบ สามารถนำซองทั้งแบบแบ่งเขตหรือแบบบัญชีรายชื่อที่มีบัตรอยู่ในนั้นส่งไปที่เขตได้อย่างถูกต้อง”
แสวง บุญมี
เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง
7 พฤษภาคม 2566
3. พิมพ์บัตรเลือกตั้งเกิน 7 ล้านใบ เกินไปไหม
“ทำในลักษณะนี้ทุกปี ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 52 ล้านกว่า พิมพ์ 57 ล้าน เกินมา 4 ล้านกว่า สิ่งที่เกินมาเป็นเรื่องของทางเทคนิค เราจ่ายบัตรเป็นเล่ม ไม่ได้จ่ายเป็นฉบับ เล่มสุดท้ายสำรองให้ทุกหน่วยเลือกตั้ง บางหน่วยอาจจะใช้ 1 หรือ 2 ก็ต้องใช้ทั้งเล่มไปแล้ว”
แสวง บุญมี
เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง
1 พฤษภาคม 2566
4. การนำคนที่ไม่มีสัญชาติไทยมานับรวมในจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งด้วย จะทำให้การแบ่งเขตเกิดความผิดพลาดหรือไม่
“คนไทยก็ไม่ได้มีสิทธิเลือกตั้งทุกคน ถ้าไม่เข้าเกณฑ์หรือมีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมาย ราษฎรมี 2 ประเภท คือราษฎรตามกฎหมาย ไม่ใช่ราษฎรตามความรู้สึกนึกคิดของใคร เราทำตามกฎหมาย ไม่ได้บอกว่าแบ่งเพื่อให้คนพอใจ ยิ่งครั้งนี้เราแบ่งมีเกณฑ์ให้จำนวนราษฎรในแต่ละเขตใกล้เคียงกันมากที่สุด ทุกคนมีฐานเสียงตัวเอง เราแบ่งตามกฎหมาย แต่ไม่รู้ว่าใครจะได้ประโยชน์ ไม่ทราบ จะบอกว่าใครพอใจ ผมตอบไม่ได้ แต่ตอบได้ว่าเราทำตามกฎหมาย”
แสวง บุญมี
เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง
9 กุมภาพันธ์ 2566
5. ใช้ ‘บัตรโหล’ ไร้ชื่อ-โลโก้พรรค ทำสับสน
“บัตรเลือกตั้งปี 2566 แบบแบ่งเขตเลือกตั้งและแบบบัญชีรายชื่อ จะใช้บัตรมาตรฐานเหมือนการเลือกตั้งทุกครั้งที่ผ่านมา เว้นปี 2562 ที่ใช้บัตรเฉพาะตามรัฐธรรมนูญ โดยข้อดีของบัตรมาตรฐานแบบแบ่งเขตเลือกตั้งมีความชัดเจน ทำให้ประชาชนสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจน ไม่สับสน เพราะบัตรประเภทหนึ่งมีเพียงหมายเลข ไม่มีตัวหนังสือและสัญลักษณ์ใด ทั้งยังประหยัดงบประมาณเป็นจำนวนมาก ทำให้สามารถนำเวลาที่เหลือจากงานธุรการไปทำงานอื่นให้เกิดประโยชน์คุ้มค่ามากกว่า”
แสวง บุญมี
เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง
1 เมษายน 2566
6. เว็บล่ม ทำไมไม่ขยายเวลาลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้า
“ศักยภาพของระบบสามารถรองรับคนลงทะเบียนได้ 4,000 คนต่อ 1 วินาที เหตุที่เกิดน่าจะมากกว่านั้น ทำให้ระบบหน่วงตั้งแต่ 3 ทุ่ม ในฐานะเจ้าของงานก็ต้องรับผิดชอบแทนสำนักทะเบียน ถ้าเขาค้างในระบบ สำนักทะเบียนจะให้สิทธิดูแล นั่นคือสิ่งแรกที่คุยกับสำนักทะเบียน ตอนนี้ก็ยังไม่ได้คุยกันต่อ”
แสวง บุญมี
เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง
10 เมษายน 2566
7. กกต. บินไปดูงานต่างประเทศ ท่ามกลางปัญหาระบบลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าล่มที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข
“การเดินทางไปดูงานของ กกต. เป็นไปตามโครงการเตรียมการและตรวจติดตามการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรในการเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศได้มีหนังสือเชิญ กกต. เดินทางไปเข้าร่วมโครงการ กกต. พิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นประโยชน์ จึงได้พิจารณาช่วงเวลาที่เหมาะสม ไม่กระทบกับงานตามแผนปฏิบัติการที่กำหนดไว้แล้ว แม้เดินทางไปต่างประเทศก็ยังมีการนัดประชุม กกต. ตามปกติ”
สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง
เผยแพร่เอกสารชี้แจง
13 เมษายน 2566
8. เอกสารแนะนำตัวผู้สมัครสำหรับการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร สลับคนสลับพรรค
“ไม่กระทบกับวันเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรที่จะเริ่มวันแรกวันที่ 25 เมษายน 2566 เพราะแก้ไขข้อผิดพลาดแล้ว ทราบว่าแก้ไขตั้งแต่เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2566 แจ้งสถานทูต โดยเฉพาะสถานทูตที่พบเรื่องนี้ก่อนคือที่ลอนดอน และได้ให้สำนักงาน กกต. สอบถามไปยังกระทรวงการต่างประเทศว่ายังมีกรณีคล้ายๆ แบบที่ลอนดอนอีกหรือไม่ เราทำทุกขั้นตอนให้ครบถ้วนมากที่สุด พยายามตรวจสอบข้อเท็จจริงต่างๆ ยืนยันเรื่องความโปร่งใสตรวจสอบได้”
อิทธิพร บุญประคอง
ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง
24 เมษายน 2566
9. เจ้าหน้าที่ไม่กรอกตัวเลขทั้ง 5 หลักหน้าซอง บัตรเลือกตั้งจะไปอยู่ที่ใด
“ซองใส่บัตรเลือกตั้งที่ไม่มีการกรอกตัวเลขทั้ง 5 หลักที่พบจากเหตุการณ์นี้ จะยังไม่สามารถกระจายกลับไปยังเขตเลือกตั้งทั้ง 400 เขตได้เหมือนบัตรที่มีรายละเอียดครบถ้วน ซองบัตรกลุ่มนี้เข้าเกณฑ์ต้องวินิจฉัย ฉะนั้นหากซองบัตรดังกล่าวมาถึงจุดคัดแยก คณะกรรมการจะต้องแยกออกมาพิจารณารายซอง”
แสวง บุญมี
เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง
8 พฤษภาคม 2566
ภาพประกอบ: พิชามญชุ์ วรรณสาร