×

ย้อนไทม์ไลน์การก่อตัวของกลุ่ม ‘ราษฎร’ จากปี 2563 และการต่อสู้ที่ยังไม่จบ

โดย THE STANDARD TEAM
24.06.2021
  • LOADING...
ราษฎร

วันที่ 24 มิถุนายน ปี 2475 ‘คณะราษฎร’ ที่มี ปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้นำฝ่ายพลเรือน เข้าเปลี่ยนแปลงการปกครอง กลายเป็นการปฏิวัติอันเลื่องชื่อและเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองครั้งใหญ่ของสยามประเทศ ก่อนที่ในอีก 89 ปีต่อมา ประเทศไทยก็มีคณะราษฎรกลุ่มใหม่ที่ก่อกำเนิดขึ้นมาด้วยความตั้งใจจะสานต่อเจตนารมณ์ของกลุ่มเดิม โดยมีข้อเรียกร้อง 3 ประการ นั่นคือ 

 

  1. พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา และองคาพยพ ต้องลาออก 
  2. ต้องร่างรัฐธรรมนูญที่มีที่มาจากประชาชนและเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง
  3. ต้องปฏิรูปสถาบัน

 

หากยังจำกันได้ คณะราษฎรหรือกลุ่มราษฎรรุ่นหลังนี้ถือกำเนิดขึ้นมาเมื่อปี 2563 ภายหลังการรวมตัวกันของกลุ่มคนที่ไม่พอใจนโยบายและการปกครองของ พล.อ. ประยุทธ์ ในชื่อ ‘กลุ่มเยาวชนปลดแอก’ ซึ่งในระยะแรกนั้นเป็นการชุมนุมของเหล่านักเรียนและนักศึกษาที่เรียกร้องประชาธิปไตย จากนั้นจึงค่อยๆ ขยับขยายมาสู่การชุมนุมที่มีประชาชนจำนวนมากเข้าร่วม และก่อตั้งเป็นกลุ่มราษฎรขึ้นมาอีกครั้ง ทั้งยังมีการตอกหมุดเช่นเดียวกับที่กลุ่มก่อนหน้าเคยทำไว้เมื่อปี 2479 อีกด้วย

 

ในวาระครบรอบ 24 มิถุนายนนี้ เราอยากชวนมาเรียบเรียงการถือกำเนิดของ ‘ราษฎร 2563’ กันอีกสักครั้ง

 

  1. การประท้วงในระยะแรกเริ่มนั้นก่อตัวขึ้นเมื่อต้นปี 2563 ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่ได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่นักเรียนและนักศึกษา ทำให้หลังจากนั้นเกิดการเดินขบวนและการชุมนุมเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้พรรคอนาคตใหม่ขึ้นในสถานศึกษาแต่ละแห่ง เช่น ในโรงเรียนและในมหาวิทยาลัย แต่การประท้วงจำต้องชะงักไป เมื่อหลังจากนั้นราวหนึ่งเดือนโควิด-19 ระบาดเข้ามาในประเทศไทย จนจำเป็นต้องกักตัวและห้ามไม่ให้มีการรวมตัวกันในพื้นที่สาธารณะ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อเป็นวงกว้าง

 

  1. หลังจากนั้นสถานการณ์ความไม่พอใจของประชาชนหลายๆ กลุ่มที่มีต่อรัฐบาลก็ไม่ดีขึ้น และสะท้อนออกมาอย่างชัดเจนในเดือนกรกฎาคมปีเดียวกัน เมื่อ พล.อ. ประยุทธ์ เดินทางไปยังจังหวัดระยองเพื่อตรวจดูสภาพการณ์และปัญหาโควิด-19 ในตัวจังหวัด ไมค์-ภาณุพงศ์ จาดนอก กับ นน-ณัฐชนน พยัฆพันธ์ แกนนำกลุ่มเยาวชนภาคตะวันออกเพื่อประชาธิปไตย ออกมาชูป้ายประท้วงการทำงานของ พล.อ. ประยุทธ์ และโดนจับกุม ทำให้เกิดความไม่พอใจขึ้นมาในกลุ่มประชาชน โดยเฉพาะในหมู่คนรุ่นใหม่ จึงมีการเรียกร้องให้ปล่อยตัวไมค์และนนในนามของกลุ่มเยาวชนปลดแอก (Free Youth)

 

  1. ต่อมากลุ่มเยาวชนปลดแอกได้ชุมนุมพร้อมยื่นข้อเรียกร้อง 3 ประการ ได้แก่ ยุบสภาผู้แทนราษฎร, หยุดคุกคามประชาชน และต้องให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมา โดยในระยะเวลานั้นได้เกิดกระแสการชุมนุมขึ้นมาในอีกหลายจังหวัด หลายพื้นที่ เช่น จังหวัดเชียงใหม่, อุบลราชธานี และมหาสารคาม ตลอดจนคนไทยในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ และคนไทยในนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ก็จัดการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยด้วย

 

  1. ภายหลังมีผู้เข้าร่วมชุมนุมที่เป็นวัยทำงานและผู้สูงอายุมากขึ้น กลุ่มเยาวชนปลดแอกจึงเปลี่ยนเป็นคณะประชาชนปลดแอก โดยไม่จำกัดให้ผู้เข้าร่วมการชุมนุมเป็นเพียงวัยเรียนหรือนิสิต/นักศึกษาเท่านั้น และในวันที่ 3 สิงหาคม 2563 หรือราว 2 สัปดาห์หลังเกิดเหตุการณ์แกนนำกลุ่มเยาวชนภาคตะวันออกเพื่อประชาธิปไตยชูป้ายประท้วง พล.อ. ประยุทธ์ ที่จังหวัดระยอง กลุ่มมหานครเพื่อประชาธิปไตยและกลุ่มมอกะเสดจัดการชุมนุม ‘เสกคาถาปกป้องประชาธิปไตย’ ในธีมวรรณกรรมเยาวชน แฮร์รี่ พอตเตอร์ ที่มี ทนายอานนท์ นำภา เสนอแนวทางการปฏิรูปสถาบันอย่างเป็นทางการ

 

  1. วันที่ 10 สิงหาคม 2563 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมจัดกิจกรรม ‘ธรรมศาสตร์จะไม่ทน’ ที่มีผู้มาเข้าร่วมงานหลายพันคน พร้อมทั้งประกาศข้อเสนอ 10 ข้อเพื่อปฏิรูปสถาบัน โดยมี รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล และ เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์ เป็นผู้นำในการกล่าวข้อเสนอ และได้มีการวิดีโอคอลกับ ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักรัฐศาสตร์ที่ลี้ภัยอยู่ต่างแดนด้วย

 

  1. ต่อมาได้มีการยื่นข้อเสนอเป็นแนวทางการต่อสู้อีกรูปแบบหนึ่ง คือ มี 3 ข้อเรียกร้อง นั่นคือ รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ ต้องหยุดคุกคามประชาชน, ต้องให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และต้องยุบสภา ภายใต้ 1 ความฝัน คือ มีระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ

 

  1. วันที่ 19 กันยายน กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมจัดการชุมนุมหัวข้อ ‘19 กันยา ทวงอำนาจคืนราษฎร’ ที่สนามหลวง ซึ่งประมาณการกันว่ามีผู้เข้าร่วมการชุมนุมมากถึงหลายหมื่นถึงหนึ่งแสนคน และในเช้าวันที่ 20 กันยายน ได้มีการทำพิธีฝังหมุดคณะราษฎรหมุดที่ 2 ซึ่งถูกนำออกไปภายในเวลาไม่ถึง 24 ชั่วโมง

 

  1. ต่อมาในวันที่ 14 ตุลาคม ซึ่งเป็นวันสำคัญทางประวัติศาสตร์ เนื่องจากเป็นวันครบรอบ 47 ปี เหตุการณ์ปราบผู้ประท้วงในรัฐบาล จอมพล ถนอม กิตติขจร ได้มีการนัดชุมนุมใหญ่ภายใต้ชื่อคณะราษฎร และมีการตั้งเวทีปราศรัยที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จากนั้น พล.อ. ประยุทธ์ ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร มีคำสั่งห้ามชุมนุมและจำกัดการนำเสนอข่าว และจัดตั้งกลุ่ม กอร.ฉ. เพื่อให้มาดูแลประเด็นนี้โดยเฉพาะ ทั้งนี้ ในวันที่ 16 ตุลาคม ได้มีการจัดแฟลชม็อบโดยปราศจากอาวุธที่แยกปทุมวัน และถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจสลายการชุมนุมโดยใช้ปืนฉีดน้ำแรงดันสูงกับน้ำผสมสารเคมีและแก๊สน้ำตา ซึ่งทำให้ผู้ชุมนุมหลายคนไม่พอใจอย่างมาก และมองว่าเป็นการทำเกินกว่าเหตุ

 

  1. วันที่ 14 พฤศจิกายน มีการจัดประท้วงจากหลากหลายกลุ่ม โดยทั้งหมดมีเป้าหมายเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน เช่น นักกิจกรรมสิทธิสตรีและ LGBTQ, กลุ่มนักเรียนเลวที่ตั้งคำถามถึงสถาบันการศึกษา เป็นต้น

 

  1. วันที่ 25 พฤศจิกายน คณะราษฎรได้มีการนัดชุมนุมที่สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ แล้วเปลี่ยนไปชุมนุมที่หน้าธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่แทน 

 

  1. อย่างไรก็ตาม นับจากนั้นได้มีการประท้วงอีกหลายครั้ง และจำต้องพักการชุมนุมไปก่อน เนื่องจากการแพร่ระบาดอีกระลอกของโควิด-19 ในช่วงต้นปี 2654 ที่ผ่านมา ขณะที่ผู้ชุมนุมที่เป็นหัวแถวและโดนคดียังต้องต่อสู้และเข้ารายงานตัวต่อศาลอยู่เป็นระยะ
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X