ฉากหน้าถนนคนเดินเมืองเก่าภูเก็ตอาจจะแออัดเกินไป แต่ใครจะรู้ว่าปีนังกลับกลายเป็น ‘ดาวดวงใหม่’ ของคู่รักคนไทยในช่วงสงกรานต์ปีนี้
จากข้อมูลล่าสุดที่ AirAsia MOVE เปิดเผย พบว่ายอดจองทริปแบบคู่ไปปีนังพุ่งสูงขึ้นถึง 80% ทำเอาเมืองเก่าแก่ริมทะเลของมาเลเซียขึ้นแท่นเป็นหนึ่งในสามจุดหมายปลายทางยอดฮิตของคู่รักไทย นั่งเรียงหน้ากระดานกับกัวลาลัมเปอร์และโตเกียว
แม้ประเทศไทยยังครองตำแหน่งจุดหมายปลายทางยอดนิยมอันดับหนึ่งของคนไทย โดยกรุงเทพฯ นำโด่งด้วยยอดจองที่พักสูงถึง 35% ของการจองทั้งหมด ด้วยราคาเฉลี่ยที่พัก 3,800 บาทต่อการจอง ตามมาด้วยเชียงใหม่ที่ 10% (ราคาเฉลี่ย 4,500 บาท) และภูเก็ตที่ 6% (ราคาเฉลี่ย 6,600 บาท) แต่ที่น่าสนใจคือการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของปีนังในกลุ่มคู่รัก
ไม่เพียงแค่นั้น ในภาพรวมของพฤติกรรมการจองทริปช่วงสงกรานต์ เผยให้เห็นว่าคนไทยมีการปรับตัวที่น่าสนใจ โดยนิยมจองแพ็กเกจที่รวมตั๋วเครื่องบินและโรงแรมสูงถึง 45% เพิ่มขึ้นถึง 30% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า สะท้อนให้เห็นการให้ความสำคัญกับความคุ้มค่าของราคาที่มากขึ้น
นอกเหนือจากประเทศไทยแล้ว คนไทยยังนิยมเดินทางไปญี่ปุ่นมากที่สุด ซึ่งไม่น่าแปลกใจเพราะเป็นช่วงซากุระบาน โดยเฉพาะในเมืองยอดฮิตอย่างโตเกียว ฟุกุโอกะ และโอซาก้า ด้วยราคาโรงแรมเฉลี่ย 6,100 บาทต่อการจอง
แต่เวียดนามก็ไม่น้อยหน้า เพราะยอดจองห้องพักเติบโตสูงถึง 30% ในปีนี้ โดยเฉพาะในเมืองโฮจิมินห์ ดานัง และเกาะฟู้ก๊วก
ที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือพฤติกรรมของนักท่องเที่ยว 3 กลุ่มหลัก โดยคู่รัก (Couple Traveler) ครองสัดส่วนมากที่สุดถึง 77% ขณะที่นักท่องเที่ยวคนเดียว (Solo Traveler) มี 10% ซึ่งนิยมจุดหมายปลายทางอย่างกัวลาลัมเปอร์ โตเกียว และโกตากีนาบาลู
โดยเลือกที่พักราคาประหยัดเฉลี่ย 2,400 บาทต่อการจอง และส่วนใหญ่มุ่งเน้นกิจกรรมผจญภัยและพักผ่อน เช่น ปีนเขา ดำน้ำ หรือทัวร์ธรรมชาติ
อีกกลุ่มที่น่าจับตามองคือนักท่องเที่ยวแบบกลุ่ม (Group Traveler) ที่มี 3 คนขึ้นไป ซึ่งมีสัดส่วน 8% โดยนิยมเดินทางไปดานัง กัวลาลัมเปอร์ และไทเป ที่น่าสนใจคือมีการเดินทางไปไทเปเพิ่มขึ้นถึง 33% ในสงกรานต์นี้ และกลุ่มนี้มักเลือกที่พักหรูหรือรีสอร์ตขนาดใหญ่ถึง 90%
ในด้านการเตรียมตัว นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ 60% นิยมจองตั๋วเครื่องบินและที่พักล่วงหน้า 1-3 เดือน แต่ก็ยังมีกลุ่ม Millennials ที่ยังคงชอบจองนาทีสุดท้ายอยู่ที่ 13% และที่น่าสนใจคือการใช้สมาร์ทโฟนในการจองที่เพิ่มขึ้น สังเกตได้จากยอดดาวน์โหลดแอปพลิเคชันที่เพิ่มขึ้นกว่า 20%
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกอย่างจะเป็นบวก เพราะพฤติกรรมการใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวของคนไทยกลับลดลง 10% โดยเฉพาะค่าที่พัก โดยนักท่องเที่ยวหันไปให้ความสำคัญกับการจองที่ให้ราคาคุ้มค่ามากขึ้น เช่น จองช่วงโปรโมชัน Flash Sales หรือบริการ Buy Now, Pay Later
นอกจากนี้ ยังมีแนวโน้มที่น่าสนใจเกี่ยวกับการหลีกเลี่ยงความวุ่นวาย โดยนักท่องเที่ยวมักเข้าพักก่อนหรือหลังวันหยุดยาว 1-3 วัน เพื่อหลีกเลี่ยงที่พักเต็มและความแออัดในสถานที่ท่องเที่ยวหรือการจราจร
เม็ดเงินท่องเที่ยวอาจไม่ได้พุ่งพรวดเหมือนจำนวนนักท่องเที่ยว แต่การปรับตัวของคนไทยยุคนี้ตอกย้ำว่า ‘ทริปในฝัน’ ไม่จำเป็นต้องแพง แค่ฉลาดจองก็เที่ยวได้ ไกลกว่าที่คิด