×

‘พีท พีรพงศ์’ คนไทยรุ่นบุกเบิก เกือบ 30 ปีในอาชีพตำรวจสหรัฐฯ และเจ้าหน้าที่หน่วย K9

01.09.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • พีท-พีรพงศ์ เพิ่มแสงงาม หนึ่งในคนไทยรุ่นบุกเบิกที่เดินทางตามความฝันของตัวเองบนเส้นทางอาชีพตำรวจสหรัฐฯ มานานเกือบ 30 ปี พีทเป็นที่รู้จักกันดีในนาม ‘P twelve’ (P12) และมีสุนัขกู้ระเบิดอย่างเจ้า LLouisa เป็นคู่หูในการปฏิบัติภารกิจเก็บกู้ระเบิด
  • จากเด็ก 9 ขวบในโรงเรียนกินนอนของอินเดียที่ถูกเพื่อนๆ รังแกในวันนั้น กลายเป็นหนึ่งในเจ้าหน้าที่ตำรวจสุนัขกู้ระเบิด ประจำหน่วย K9 ของสหรัฐฯ ผู้มากด้วยประสบการณ์ พีทยังเป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับการบรรจุเข้าเป็นครูฝึกนักเรียนตำรวจ และนำมวยไทยเข้าไปบรรจุในหลักสูตรการเรียนการสอนและได้รับการรับรองตามมาตรฐานสากล

 

     พีท-พีรพงศ์ เพิ่มแสงงาม คือหนึ่งในคนไทยรุ่นบุกเบิกที่เดินทางตามความฝันของตัวเองบนเส้นทางสายอาชีพตำรวจสหรัฐฯ มานานเกือบ 30 ปี

     จากเด็ก 9 ขวบในโรงเรียนกินนอนของอินเดียที่ถูกเพื่อนๆ รังแกในวันนั้น กลายเป็นหนึ่งในเจ้าหน้าที่ตำรวจสุนัขกู้ระเบิดประจำหน่วย K9 ของสหรัฐฯ ผู้มากด้วยประสบการณ์

 

 

     ปัจจุบันพีทเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจประจำหน่วยสุนัขกู้ระเบิด K9 ลอสแอนเจลิส (LAPD) เมืองใหญ่ในมลรัฐแคลิฟอร์เนียที่มีประชากรมากที่สุดเป็นอันดับที่ 2 ในสหรัฐอเมริกา แวดวงตำรวจเป็นที่รู้จักกันดีในนาม ‘P twelve’ (P12) และมีสุนัขกู้ระเบิดสายพันธุ์ Belgian Malinois อย่างเจ้า LLouisa เป็นคู่หูที่ออกปฏิบัติหน้าที่ด้วยกันแทบจะทุกภารกิจ นอกจากนี้ยังได้รับมอบหมายให้ดูแลความปลอดภัยให้แก่บรรดาเซเลบริตี้และบุคคลสำคัญทางการเมืองอีกมากมาย

 

 

จุดเริ่มต้นและแรงบันดาลใจที่อยากจะเป็นตำรวจ

     หลังจากถูกส่งตัวให้ไปเรียนภาษาที่โรงเรียนประจำแห่งหนึ่งในอินเดียตั้งแต่เด็กโดยไม่มีผู้ปกครองดูแล และทราบว่าบ้านที่ไทยถูกเวนคืน ครอบครัวของพีทจึงตัดสินใจย้ายไปอยู่สหรัฐฯ และเปิดร้านอาหารที่นั่น พอเข้ามหาวิทยาลัยจึงตัดสินใจเลือกเรียนการตลาด เพื่อที่จะนำความรู้มาช่วยเหลือกิจการทางบ้าน แต่ก็รู้ใจตัวเองว่าไม่ได้รักงานด้านนี้ ซึ่งโดยส่วนตัวพีทชอบบู๊ ชอบการต่อสู้ เคยฝึกเรียนมวยไทยและศิลปะการต่อสู้ต่างๆ มากมายตั้งแต่เด็ก ความสุขที่ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองรักเริ่มก่อตัวเป็นรูปเป็นร่างขึ้นภายในความคิดของพีท

     “แม้การเป็นตำรวจจะไม่ได้ตรงสายกับสิ่งที่เรียนมามากเท่าไร แต่การเลือกเรียนการตลาดในมหาวิทยาลัยก็มีประโยชน์ ทำให้ผมรู้จักการบริหารจัดการและอ่านบุคลิกลักษณะของคนที่ผมพบเจอได้ องค์ความรู้ที่ผมมีมันประสานและส่งเสริมกันและกัน

     “ประโยชน์ที่ได้จากการเรียนโรงเรียนประจำในต่างประเทศตั้งแต่เด็กคือการรู้จักใช้ชีวิตอย่างลูกผู้ชาย ตั้งแต่วัยเพียง 9 ขวบ ถ้าผมอยู่ที่เมืองไทยแล้วมีแต่พ่อแม่คอยโอ๋ ผมอาจจะไม่ได้เป็นตำรวจก็ได้ การอยู่ที่นั่นฝึกให้ผมเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตและดูแลตัวเอง จากเด็กที่พูดภาษาอังกฤษไม่ได้เลยและถูกเด็กอินเดียแกล้งต่างๆ นานา ผมเรียนรู้และเติบโตขึ้นพร้อมความรู้สึกที่อยากจะปกป้องคนอื่น ไม่อยากให้ใครถูกรังแกเหมือนที่ผมเคยโดน การเรียนโรงเรียนประจำที่อินเดียจึงเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิต เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผมอยากโตขึ้นมาเป็นตำรวจที่ดี”

 

 

‘ธรรมะ’ หนึ่งในเคล็ด (ไม่) ลับสู่ความสำเร็จ

     ในช่วงปีแรกของการเรียนมหาวิทยาลัยที่แคลิฟอร์เนีย พีทมีโอกาสเดินทางกลับมาไทยเพื่อบวชเรียนที่วัดป่าแห่งหนึ่งในจังหวัดเลย ช่วงเวลานั้นทำให้พีทได้รู้จักธรรมะ เครื่องมือที่ทำให้เขามองโลกด้วยสายตาที่เข้าใจโลกมากขึ้น เขาใช้ธรรมะและความเชื่อมั่นในการทำความดีเป็นหลักในการดำเนินชีวิตบนเส้นทางอาชีพตำรวจสหรัฐฯ เกือบ 30 ปีที่ผ่านมา

     เหตุผลสำคัญที่ทำให้พีทตัดสินใจที่จะเป็นตำรวจลอสแอนเจลิสนั้น เป็นเพราะชุมชนต่างๆ ในลอสแอนเจลิสใช้ภาษาพูดถึง 53 ภาษา หนึ่งในนั้นมีชุมชนคนไทยรวมอยู่ด้วย

     “ผมเป็นคนไทย มีพ่อแม่เป็นคนไทย เกิดในประเทศไทย แม้ตัวจะไม่ได้อยู่ในประเทศไทย แต่อย่างน้อยก็ได้ช่วยเหลือคนไทยด้วยกันในต่างแดน”

     นอกจากนี้ ความมีมาตรฐานระดับโลกและการสอบเข้าที่มีอัตราการแข่งขันค่อนข้างสูงของตำรวจ LAPD สหรัฐฯ การได้ทำงานที่นี่ถือเป็นเรื่องราวที่น่าภาคภูมิใจสำหรับผู้ชายคนนี้ ยิ่งไปกว่านั้น พีทยังเป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับการบรรจุเข้าเป็นครูฝึกนักเรียนตำรวจของที่นั่น หลังจากปฏิบัติหน้าที่เป็นตำรวจสหรัฐฯ ได้ราว 10 ปีเศษ

 

 

เพราะเป็นคนไทย เป็นคนเอเชีย จึงถูกเลือกปฏิบัติ?

     การถูกเลือกปฏิบัติในสังคมอเมริกันเป็นอีกหนึ่งอุปสรรคที่พีทพบเจอในช่วงแรกของการทำงาน เพราะความชาตินิยมสุดโต่งและความเชื่อที่ว่าคนเอเชียมักไม่มีความสามารถที่ฝังรากลึกอยู่ภายในสังคมนี้

     “มีอยู่ครั้งหนึ่ง ตำรวจอาวุโสนายหนึ่งพูดกับผมว่า จะมาเป็นตำรวจทำไม เป็นคนเอเชีย ทำไมไม่ไปเป็นคนสวน” เพราะสมัยนั้นคนเอเชียทำสวนหรือรับจ้างตัดหญ้ากันเยอะ ทำให้พีทต้องอดทนและพิสูจน์ตัวเองอย่างหนัก มุ่งมั่นที่จะทำในสิ่งที่ตัวเองรัก

     “เมื่อ 29 ปีก่อนจะค่อนข้างลำบากนิดหน่อย ก็คล้ายกับคนอินเดียที่แกล้งเรา เพราะเห็นเรามีสีผิวที่แตกต่าง รวมถึงถ้าสมัยก่อนเป็นเกย์ (LGBTQ) ก็อาจจะถูกรังแก แต่ในสมัยนี้แทบจะไม่มีแล้ว เนื่องจากมีกฎหมายรองรับให้สามารถฟ้องร้องได้ สังคมอเมริกันเปิดกว้างเรื่องความหลากหลายทางเพศมากยิ่งขึ้น ใน LAPD เองก็มีคนกลุ่มนี้ด้วยเช่นกัน และพวกเขาก็เป็นตำรวจที่เก่งและมีความสามารถ”

 

เนื่องจากพีทมีความสามารถด้านการต่อสู้และศิลปะป้องกันตัว เขาจึงได้รับมอบหมายให้ดูแลความปลอดภัยให้กับ ไช่ อิงเหวิน (Tsai Ing-wen) ประธานาธิบดีไต้หวันคนปัจจุบัน ขณะที่เดินทางหาเสียงกับพี่น้องชาวไต้หวันในสหรัฐอเมริกาก่อนช่วงการเลือกตั้งและได้รับการขู่ฆ่า

 

ความท้าทายที่สุดที่พบเจอระหว่างทาง

     พีทเล่าว่า การได้รับโอกาสให้เข้าบรรจุในหน่วยฝึกสอนของโรงเรียนตำรวจคือความท้าทายอย่างหนึ่งที่ผสมกับความภาคภูมิใจ จากสมัยก่อนที่มีแต่บรรดาครูฝึกฝรั่งที่สอนคนเอเชีย สอนคนไทย การเป็นครูฝึกให้กับโรงเรียนและสังกัดกรมตำรวจระดับเวิลด์คลาสแบบนี้ ทำให้พีทต้องพิสูจน์ตัวเองให้พวกเขาเห็นถึงประสบการณ์มากมายที่ตัวเขามี และพร้อมที่จะถ่ายทอดสิ่งต่างๆ เหล่านั้นให้กับนักเรียนตำรวจทุกคน

     “ผมได้นำมวยไทยเข้าไปสอน ซึ่งการจะทำแบบนี้ได้ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องมีการออกแบบและวางแผนหลักสูตรการสอนมาเป็นอย่างดี ซึ่งตอนนี้มวยไทยกลายเป็นหนึ่งศิลปะการป้องกันตัวที่ถูกบรรจุลงไปในหลักสูตรของโรงเรียนฝึกตำรวจ LAPD ที่ผ่านการรับรองมาตรฐานแล้ว

     “การได้เข้ามาเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจสุนัขกู้ระเบิด K9 สิ่งนี้คือโอกาสในการวัดใจตัวเอง เพราะอาชีพนี้เพิ่มความเสี่ยงในการเฉียดใกล้ความตายได้ตลอดเวลา ทำไมผมถึงกล้าที่จะทำงานที่เสี่ยงขนาดนี้ เป็นเพราะผมถูกฝึกมาเป็นอย่างดี ธรรมะช่วยทำให้ผมสงบและมีสมาธิในขณะปฏิบัติหน้าที่ และต้องคิดอยู่เสมอว่าเราทำไปเพราะอะไร เราไม่ได้ต้องการอยากจะเท่หรืออยากจะเป็นฮีโร่ แต่เราทำไปเพราะเราได้ช่วยชีวิตคน”

 

 

ความเชื่อที่อยากจะส่งต่อ

     พีทเล่าให้เราฟังถึงประสบการณ์ในการสอนนักเรียนตำรวจที่เขาภาคภูมิใจว่า ในทุกๆ คลาสที่เขาเข้าสอน เขามักจะถามนักเรียนของเขาว่า “ทำไมเราต้องเรียนรู้ทักษะการป้องกันตัวเอง” นักเรียนส่วนใหญ่ในคลาสยกมือและตอบว่า “จะได้เอาไว้ป้องกันและช่วยเหลือตัวเองในสถานการณ์ฉุกเฉิน พร้อมฝึกความมีระเบียบวินัย” แต่พีทให้คำแนะนำกับลูกศิษย์ของเขาว่า

     “สิ่งสำคัญของการเรียนทักษะการป้องกันตัวเองคือความเมตตากรุณา หรือการเห็นอกเห็นใจผู้อื่น แต่ในขณะเดียวกัน คุณก็ต้องเมตตากรุณาต่อตัวคุณเองด้วย ดังนั้นการเรียนรู้ที่จะป้องกันตัวเองให้เป็นจึงเป็นสิ่งสำคัญ พอคุณเมตตาตัวเองได้แล้ว คุณก็จะเมตตาต่อคนอื่นๆ รอบข้าง รวมถึงคนที่คุณรักได้”

 

 

     นอกจากนี้พีทยังเล่าถึงประสบการณ์ที่เขาเคยขึ้นกล่าวคำอวยพรแก่นักเรียนของเขาในวันสำเร็จการศึกษาว่า “เมื่อคุณได้ทำหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ คุณจงภูมิใจกับสิ่งที่คุณเป็น ภูมิใจในหมวก ในชุดที่คุณสวมใส่ รวมถึงรถตำรวจที่คุณขับ แต่จงอย่าลืมว่าคุณมาจากไหน และคุณเคยเป็นใครมาก่อน

     “เพราะบ่อยครั้งที่คุณขับรถยนต์ตำรวจออกตรวจตราที่ต่างๆ คนที่พบเห็นก็จะชื่นชมและให้เกียรติคุณ อาจมีคนจำนวนมากที่ฝันอยากจะเป็นแบบคุณ แต่พวกเขาอาจจะไม่ได้รับโอกาสนั้น คนที่เขาชื่นชมคุณเขาอาจจะมีข้อจำกัดบางอย่างและใช้ความพยายามทั้งชีวิตเพื่อให้ได้เป็นแบบคุณ แต่เขาก็เป็นตำรวจไม่ได้ ดังนั้นคุณจงภูมิใจในอาชีพนี้

     “เหตุผลที่ผมกล่าวเช่นนี้ เพราะผมเองก็เคยเกือบจะเป็นคนที่ได้แต่คอยชื่นชมพวกคุณมาแล้ว ตอนผมอายุได้ 8 เดือน ผมป่วยเป็นฝีในกระดูก (TB) ตระเวนหาคุณหมอมาแล้วหลายท่านก็ยังรักษาไม่หาย และเกือบจะกลายเป็นคนพิการ ถ้าไม่รักษา แขนข้างขวาของผมจะเล็กแกร็นผิดปกติ แต่โชคดีมากที่ผมได้ทำการรักษากับคุณหมอท่านหนึ่งคือ คุณหมอทวี ตันติวงศ์ ปัจจุบันท่านเสียชีวิตไปแล้ว ในตอนนั้นท่านบอกว่าจะช่วยรักษาให้อย่างสุดความสามารถจนกระทั่งผมหาย

     “ถ้าหากไม่ได้รับการช่วยเหลือในวันนั้น ผมอาจจะเป็นเพียงใครสักคนที่ทำได้แค่ชมเชยคนที่ประกอบอาชีพตำรวจเท่านั้นก็ได้ เพราะเหตุนี้ผมจึงไม่ลืมว่าการได้เป็นตำรวจ การที่ได้ทำตามความฝันมันมีค่าแค่ไหน และผมจะไม่ลืมชาติกำเนิด เพราะตอนผมเข้าใกล้ความพิการมากที่สุด คุณหมอที่ช่วยผมไว้ในวันนั้นเป็นคุณหมอคนไทย ไม่ใช่หมอฝรั่ง”

 

 

มิตรภาพที่เกิดขึ้นกับเพื่อนสี่ขา บนเส้นทางของเจ้าหน้าที่สุนัขกู้ระเบิด K9

     เดิมทีความตั้งใจแรกของพีทคืออยากเข้าสังกัดหน่วยเก็บกู้ระเบิด (EOD) ที่จะได้เป็นคนปลดชนวนระเบิดด้วยตัวเอง การสูญเสียน้องเขยในเหตุวินาศกรรม 9/11 เมื่อปี 2001 เป็นอีกหนึ่งแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้เขาอยากเข้าสังกัดหน่วยนี้ แต่การสอบคัดเลือกมีอัตราการแข่งขันที่สูงมาก เข้าสอบถึง 4 ครั้งก็ยังไม่ผ่านการคัดตัว จนกระทั่งปี 2012 หน่วยสุนัขกู้ระเบิด K9 เปิดรับสมัคร พีทจึงตัดสินใจเข้าสังกัดหน่วยนี้ ก่อนที่จะตัดสินใจขยับขยายในอนาคต

 

 

     “ความตั้งใจในตอนนั้นคือตั้งใจจะใช้ K9 เป็นสะพานข้ามไปสู่หน่วย EOD แต่พอได้มารู้จักสุนัขคู่หูอย่างเจ้า LLouisa ทำให้ความคิดของผมเริ่มเปลี่ยนไป ยิ่งเวลาที่เจ้า LLouisa หาระเบิดเจอ ผมภูมิใจในตัวสุนัขของผมมากๆ นั่นหมายความว่ามันได้ช่วยชีวิตคนอีกหลายคน มันเป็นความรักที่ไม่สามารถบรรยายออกมาได้ เจ้า LLouisa เป็นเหตุผลสำคัญที่ผมไม่อยากจะย้ายหน่วยแล้ว ผมอยากจะทำหน้าที่ตรงนี้ต่อไป

     “เวลาที่พวกเราเจอระเบิดหรือสถานการณ์ฉุกเฉิน พวกเราพร้อมที่จะเข้าแก้ไขสถานการณ์นั้นๆ เพราะพวกเราถูกฝึกมาเป็นอย่างดี พวกเราทำในสิ่งที่คนอื่นไม่กล้าทำ ‘We find what you fear’ นี่คือคติที่พวกผมถูกสอนและยึดถือมาโดยตลอด ประโยคนี้จะช่วยอธิบายว่าพวกเราเป็นตำรวจเพราะอะไร และทำไมผมถึงกล้าเสี่ยงที่จะเข้าไปเฉียดใกล้ความตายอยู่บ่อยครั้งเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น การยึดถือจรรยาบรรณของวิชาชีพตำรวจเป็นสิ่งสำคัญ แม้ว่าตัวผมอาจจะต้องเสียสละบางสิ่งบางอย่าง (แม้กระทั่งชีวิต) ก็ตาม”

 

 

     พีทกล่าวทิ้งท้ายกับ THE STANDARD ถึงสิ่งที่อยากจะบอกให้แก่คนที่กำลังค้นหาตัวเองและเดินทางตามความฝันอย่างไม่ละความพยายามว่า

     “สิ่งสำคัญคือคุณจะต้องซื่อสัตย์กับตัวเอง ถ้าคุณรู้ว่าสิ่งไหนคือความฝันที่คุณอยากจะเดินไปให้ถึง ขอแค่คุณตั้งใจและพยายามเดินตามเส้นทางนั้นให้ดีที่สุด แม้ว่าสุดท้ายแล้วคุณอาจจะผิดหวัง หกล้ม หรือเสียใจ แต่อย่างน้อยที่สุดคุณก็ได้พยายามลงมือทำตามความฝันนั้นอย่างเต็มที่ที่สุดแล้ว”

     #WhenYouFallDown #YouGetBackUp #FollowYourDream

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising