×

คุยกับ ‘พีระพันธุ์’ รัฐมนตรีพลังงาน กับภารกิจรับมือ สงคราม-ลดราคาน้ำมัน-ทางออกแหล่งก๊าซ OCA และ EV

19.10.2023
  • LOADING...
พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค

HIGHLIGHTS

  • เปิดใจ ‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ หลังจากรับตำแหน่ง 1 เดือน สามารถลดค่าไฟฟ้าให้เหลือ 3.99 บาท และลดราคาน้ำมันดีเซลให้ไม่เกิน 30 บาท รื้อโครงสร้างลดผูกขาด พร้อมวางแผนวิกฤตพลังงานจากภาวะสงคราม ตลอดจนหาแนวทางผลักดันพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา ‘OCA’
  • ภารกิจถัดมาคือการเดินหน้านโยบายพลังงานสะอาด และส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ควบคู่ไปกับแผนบริหารจัดการพลังงาน คาดปีหน้าคนไทยหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าทะลุล้านคัน ซึ่งอาจกระทบน้ำมันและการสำรองไฟฟ้า 
  • ขณะที่ความท้าทายยังคงมีอยู่ คือสถานะกองทุนน้ำมันที่ยังติดลบ 68,000 ล้านบาท ท่ามกลางความตึงเครียดตะวันออกกลาง หากรัฐบาลลดราคาน้ำมันเบนซิน 2.50 บาทต่อลิตร รัฐอาจต้องควักเงินอุดหนุนเพิ่ม 1,500 ล้านบาท

เวลาเกือบ 2 เดือน การขับเคลื่อนนโยบายภายใต้รัฐบาลใหม่ นำโดย เศรษฐา ทวีสิน หนึ่งในเรื่องเร่งด่วนของรัฐบาลคือการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน ที่เป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตและเศรษฐกิจ ซึ่งรัฐบาลย้ำว่าจะลดราคาพลังงาน ทั้งค่าไฟฟ้า ค่าก๊าซหุงต้ม และค่าน้ำมันเชื้อเพลิงให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมทันที

 

THE STANDARD WEALTH มีโอกาสร่วมพูดคุยกับ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน​ ถึงแผนการทำงานด้านพลังงาน โดยพีระพันธุ์กล่าวว่า ตามนโยบายพลังงานได้วางกรอบไว้ 3 ระยะ ระยะสั้น คือ การลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานเพื่อช่วยเหลือประชาชน ซึ่งจากที่ผ่านมา หลังจากรับตำแหน่งได้เพียง 1 เดือน ก็ได้ดำเนินนโยบายจนสามารถลดค่าไฟฟ้าให้เหลือ 3.99 บาท และใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงลดราคาน้ำมันดีเซลให้ไม่เกิน 30 บาท 

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง: 


 

รวมถึงอยู่ระหว่างปรับลดราคาขายปลีกน้ำมันเบนซิน 2.50 บาทต่อลิตร เป็นเวลา 3 เดือน คาดว่าเร็วๆ นี้จะเห็นความชัดเจน ซึ่งเบื้องต้นจะเป็นการปรับลดเฉพาะในส่วนของแก๊สโซฮอล์ 91 เนื่องจากเป็นน้ำมันที่มีต้นทุนเนื้อน้ำมันราคาถูกที่สุด จากปัจจุบันอยู่ที่ 37.58 บาทต่อลิตร ซึ่งน้ำมันกลุ่มนี้เป็นน้ำมันที่กลุ่มรถจักรยานยนต์ใช้เป็นส่วนใหญ่ ส่วนน้ำมันเชื้อเพลิงชนิดอื่นต้องรอการปรับโครงสร้างราคาน้ำมันทั้งระบบให้เรียบร้อยก่อน

 

ทำไมสงครามอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสอาจกระทบราคาน้ำมัน

 

จริงๆ แล้วการลดราคาน้ำมันเบนซินก็เพื่อต้องการให้เกิดความยุติธรรมกับประชาชนทุกกลุ่ม 

 

“แต่ทุกคนต้องไม่ลืมว่าเรื่องราคาน้ำมันจะต้องคำนึงถึงหลายปัจจัย ทั้งปัจจัยจากต้นทาง เช่น ราคาในตลาดโลก โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่มีความผันผวนเนื่องจากสงครามระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส ส่วนปลายทางก็คือค่าการกลั่น ค่าการตลาด ที่จะต้องมีการตรวจสอบให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม”

 

 

เนื่องจากสงครามเป็นสิ่งที่ไม่อาจคาดเดาได้ แต่เมื่อเข้ามารับหน้าที่นี้ ก็ได้เตรียมแผนรับมือกับสถานการณ์ราคาพลังงานทุกสถานการณ์ ซึ่งยังคงเชื่อว่าการสู้รบดังกล่าวจะส่งผลต่อราคาพลังงานในกรอบที่ไม่น่ากังวล โดยล่าสุดได้มอบหมายให้ปลัดหารือกับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เพื่อประเมินสถานการณ์ ซึ่งเบื้องต้นเรียกผลกระทบว่า War Premium หรือราคาพรีเมียมที่เกิดจากสงครามที่ส่งผลให้ราคาน้ำมันกระโดดช่วงสั้น ไม่เหมือนสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่เป็นผู้ส่งออกน้ำมัน ซึ่งอิสราเอลเป็นประเทศนำเข้า 90% อาจส่งออกบ้างในประเทศใกล้เคียงแต่ยังไม่มาก และยังไม่มีประเด็นปิดเส้นทางการเดินเรือ

 

อย่างไรก็ตาม กระทรวงพลังงานเฝ้าระวังราคาน้ำมันและราคาเชื้อเพลิงประเภทต่างๆ อย่างใกล้ชิด เบื้องต้นเพื่อรับมือวิกฤตพลังงานจะมีแนวทางพิจารณา 2 ส่วน

 

  • ความมั่นคงของเชื้อเพลิงน้ำมัน โดยจะมีน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองใช้ได้ 2 เดือน แบ่งเป็น น้ำมันดิบ 33 วัน อยู่ระหว่างขนส่งอีก 14 วัน และน้ำมันสำเร็จรูป 20 วัน ส่วนก๊าซหุงต้ม (LPG) สำหรับภาคครัวเรือนใช้ได้ 21 วัน และปัจจุบันไทยมีปริมาณสำรองน้ำมันดิบ 3,910 ล้านลิตร ปริมาณสำรองน้ำมันดิบที่อยู่ระหว่างขนส่งอีก 1,637 ล้านลิตร น้ำมันสำเร็จรูป 2,180 ล้านลิตร
  • การดูแลราคาพลังงาน โดยปัจจุบันกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงดูแลราคาน้ำมันขายปลีกและก๊าซหุงต้มสำหรับครัวเรือน ซึ่งปัจจุบันคงราคาน้ำมันดีเซลไว้ที่ลิตรละ 30 บาท และก๊าซหุงต้มที่ 423 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม 

 

ปริมาณการจัดการน้ำมันดิบ ไทยนำเข้าจากตะวันออกกลางมากสุดเฉลี่ยร้อยละ 56)

 

งัดกฎหมายคุมค่าการตลาด-พ.ร.บ.น้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อเกษตรกร 

พีระพันธุ์กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมากระทรวงพลังงานอาจถูกมองว่าเป็นกระทรวงที่ดำเนินนโยบายเอื้อกลุ่มทุน แต่ด้วยกฎหมายที่อาจจะไม่ได้แก้ไขมานาน จึงทำให้อำนาจหน้าที่ในการปฏิบัติงานอาจไม่เอื้ออำนวย ดังนั้นการปรับแก้กฎหมายต่างๆ ก็จะเป็นทางออกที่ช่วยให้เกิดการปรับโครงสร้างด้านพลังงาน

ไม่ว่าจะเป็นนโยบายค่าการตลาดน้ำมันเหลือไม่เกินลิตรละ 2 บาท ที่มีข้อติดขัดทางกฎหมายที่ไม่เอื้อให้สั่งการผู้ค้าน้ำมันได้ 

 

“ตอนนี้กำลังยกร่างกฎหมาย รวมทั้งจะพิจารณากฎหมายในภาพรวมทั้งหมด และล่าสุดได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุด เพื่อพิจารณาแล้ว โดยมีตัวแทนจากคณะกรรมการกฤษฎีกาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และมี อธึก อัศวานันท์ เป็นประธาน และที่ผ่านมาได้ประชุมไปแล้วถึง 2 ครั้ง และผมจะกำหนดให้มีรายงานความคืบหน้าทุก 30 วัน” 

 

ขณะเดียวกัน กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างยกร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อเกษตรกรและชาวประมง เพื่อจัดหาน้ำมันราคาถูกให้กลุ่มเกษตรกรใช้ ในลักษณะคล้ายน้ำมันเขียวของชาวประมง (ถูกกว่าลิตรละ 6 บาท) จะพยายามดำเนินการให้เร็วที่สุดเพื่อให้เกษตรกรได้ใช้น้ำมันราคาถูกภายในปี 2566 เช่นกัน

 

 

หาทางออกปัญหา OCA ไทย-กัมพูชา

 

ส่วนแผนระยะยาวเพื่อความมั่นคงด้านพลังงาน กรณีพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา OCA รัฐบาลอาจต้องปรับแนวทางการเจรจากับกัมพูชา ให้เดินหน้าเฉพาะเรื่องการเข้าไปใช้ประโยชน์ทางด้านพลังงานในพื้นที่ทับซ้อนที่ไม่เกี่ยวกับการแบ่งเขตแดน 

ทั้งนี้ อาจเสนอรูปแบบการตั้งองค์กรหรือบริษัทร่วมกันที่ทั้งฝ่ายไทยและกัมพูชาเข้าไปมีหุ้นส่วน และได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลของทั้งสองประเทศ เนื่องจากการนำเรื่องการเจรจาเพื่อแบ่งเขตแดนไปผูกติดกับการใช้ประโยชน์เรื่องพลังงานที่อยู่ใต้ดินจะไม่มีทางประสบความสำเร็จ

 

“ผมคงไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลจะทุ่มเทงบประมาณ ขีดความสามารถของภาครัฐไปเจรจาเรื่องนี้ เพื่อให้เอกชนที่รออยู่เฉยๆ ได้ประโยชน์ แต่เป็นเรื่องที่ควรให้ภาคส่วนอื่นๆ เป็นผู้เจรจาเฉพาะเรื่องพลังงานที่ไม่ต้องไปเกี่ยวข้องกับเรื่องของเส้นเขตแดน ดังนั้นจึงต้องคุยกันเฉพาะเรื่องพลังงาน ตราบใดที่เอาสองเรื่องนี้มาผูกกันก็จะไม่มีวันได้ใช้พลังงาน ส่วนจะจัดสรรผลประโยชน์ทางพลังงานอย่างไร สมมติว่าไทยกับกัมพูชาร่วมกันตั้งบริษัทหรือองค์กรใดขึ้นมา ถือหุ้นร่วมกันแล้วไปคุยกับรัฐบาล เมื่อรัฐบาลทั้งสองฝ่ายต่างเห็นชอบ องค์กรที่ตั้งขึ้นมาก็ย่อมเข้ามาใช้ประโยชน์ได้โดยที่ไม่ต้องเกี่ยวกับเรื่องเส้นเขตแดน สิ่งนี้พอจะเป็นไปได้หรือไม่” พีระพันธุ์กล่าว

 

 

หนุนนโยบายพลังงานสะอาด

 

“ผมจะพยายามมุ่งเน้นการใช้พลังงานสะอาดมากระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (EV) แต่เรื่องดังกล่าวอาจจะมีผลกระทบต่อพลังงานไฟฟ้า แม้ว่าจะช่วยประหยัดน้ำมัน แต่ก็จะเพิ่มความต้องการใช้ไฟฟ้ามากขึ้น โดยประเด็นการส่งเสริมดังนี้จะต้องดูเรื่องไฟฟ้าเสถียร ควบคู่ไปกับการผลิตไฟฟ้าให้มีความเพียงพอ 

 

“ขณะนี้แนวโน้มการใช้ไฟฟ้าในอนาคตจะเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก เพราะคนหันมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น และคาดว่าปี 2567 ไทยจะมีรถยนต์ไฟฟ้ารวมถึง 1 ล้านคัน ในส่วนนี้อาจมีผลต่อน้ำมันและปริมาณการใช้ไฟเพิ่มขึ้นหรือไม่ ก็ต้องมาดูและค่อยเป็นค่อยไป”

 

นอกจากนี้ เร็วๆ นี้ได้ประกาศใช้น้ำมันตามมาตรฐานยุโรประดับ 5 (ยูโร 5) ซึ่งเดิมจะเริ่มวันที่ 1 มกราคม 2567 คงต้องมาศึกษาดูว่าจะยังเป็นไปตามนั้นหรือไม่ หากประกาศใช้แล้วทำให้ต้นทุนน้ำมันเพิ่มขึ้น 15 สตางค์ต่อลิตร ซึ่งยอมรับว่าที่ผ่านมามีโรงกลั่นได้ลงทุนไปแล้ว แต่คงต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมด้วย หรือหากหน่วยงานอื่นที่มากดดันให้เร่งใช้น้ำมันมาตรฐานยูโร 5 แต่ไม่มีมาตรการดูแลสิ่งแวดล้อมใดๆ เลยก็คงไม่ได้เช่นกัน

 

“การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่กระทรวงพลังงานจะดำเนินการเพียงหน่วยงานเดียว และน้ำมันเป็นเพียงภาคส่วนหนึ่งเท่านั้น” พีระพันธุ์กล่าว

 

เปิดสถานะกองทุนน้ำมัน

 

THE STANDARD WEALTH สำรวจสถานะกองทุนน้ำมัน พบว่าสถานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 8 ตุลาคม 2566 ยังคงติดลบ 68,327 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมัน ติดลบ 23,322 ล้านบาท และบัญชีก๊าซหุงต้ม ติดลบ 45,005 ล้านบาท 

 

ดังนั้นหากรัฐเข้ามาสนับสนุนน้ำมันเบนซิน 2.50 บาทต่อลิตร ที่มีกลุ่มผู้ใช้น้ำมันเบนซิน แก๊สโซฮอล์ 91 อยู่ที่ประมาณ 7 ล้านลิตรต่อวัน รัฐจะต้องใช้เงินอุดหนุนอยู่ที่วันละประมาณ 18 ล้านบาท เฉลี่ยเดือนละ 500 ล้านบาท 

 

หมายความว่าระยะเวลา 3 เดือน รัฐต้องควักเงินมาอุดหนุนเพิ่มจากดีเซลอีกถึง 1,500 ล้านบาท 

 

ดังนั้นแนวทางที่ดีที่สุดคือการลดภาษีน้ำมันเบนซิน ซึ่งก่อนหน้านี้นโยบายของเศรษฐา ในฐานะเจ้ากระทรวงการคลัง มองว่าการลดภาษีน้ำมันเบนซินร่วมด้วยไม่น่าจะมีปัญหา เพราะจากปัจจุบันแก๊สโซฮอล์ 91 เรียกเก็บภาษีอยู่ที่ 5.8 บาทต่อลิตร และเก็บเข้ากองทุนน้ำมันที่ 2.80 บาทต่อลิตร 

 

อย่างไรก็ตาม จากนี้ไปยังต้องติดตามแนวทางลดราคาพลังงานทุกชนิด เพราะแม้สงครามอิสราเอลและฮามาสไม่กระทบกับไทยโดยตรง แต่หากบานปลายอาจเกิดความตึงเครียดต่อตลาดน้ำมัน เนื่องจากพื้นที่เหล่านี้อยู่ในพื้นที่ตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นแหล่งผลิตและส่งออกน้ำมันโลก อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อสถานะกองทุนที่คาดการณ์กันว่าจะมีแนวโน้มติดลบแตะแสนล้านบาท

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X