×

พีระพันธุ์เล็งรื้อโครงสร้างราคาน้ำมัน พร้อมประกาศเปิดเสรีนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปแบบไม่ต้องมีค่าการกลั่น

05.09.2023
  • LOADING...
พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค

ทันทีที่นายกรัฐมนตรี ‘เศรษฐา ทวีสิน’ ประกาศนโยบายลดราคาพลังงาน ‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ รัฐมนตรีพลังงานรับลูก เตรียมเสนอปรับลดราคาน้ำมันและค่าไฟฟ้า พร้อมประกาศชัดเตรียมเปิดนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปเสรีแบบไม่ต้องมีค่าการกลั่น ย้ำแนวทางเปิดโอกาส “หากใครสามารถนำพลังงานราคาถูกเข้ามาได้ ก็ควรเปิดโอกาสให้ทำได้ โดยภาครัฐจะเป็นผู้กำกับดูแลให้การจัดหาพลังงาน ไม่ใช่วางกฎกติกาจนทำไม่ได้”

 

วันที่ 4 กันยายน 2566 ที่กระทรวงพลังงาน พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงแนวทางการลดราคาพลังงานตามนโยบายของรัฐบาล หลังเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ออกมาประกาศนโยบายลดราคาน้ำมันและค่าไฟฟ้าเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า นโยบายดังกล่าวเป็นนโยบายหลักของพรรครวมไทยสร้างชาติด้วยอยู่แล้ว และได้แจ้งต่อที่ประชุมร่วมกับพรรคเพื่อไทยในการประชุมทำนโยบายรัฐบาลเมื่อวันที่ 30 สิงหาคมที่ผ่านมา จึงเป็นนิมิตหมายที่ดีที่จะทำให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชน ไม่ใช่เฉพาะแค่ราคาพลังงาน แต่รวมไปถึงค่าครองชีพอื่นๆ ด้วย เพราะพลังงานเป็นต้นทุนการผลิตสินค้า เครื่องอุปโภคบริโภค การปรับลดราคาพลังงานให้อยู่ในอัตราที่เหมาะสมและเป็นธรรมจึงเป็นประโยชน์กับประชาชนอย่างแท้จริง

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: 

 


 

โดยในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมจะนำนโยบายนี้แถลงต่อสภาผู้แทนราษฎร และมั่นใจว่า เมื่อนโยบายตรงกันทั้งในส่วนของนโยบายรัฐบาลและนโยบายของพรรครวมไทยสร้างชาติที่รับผิดชอบอยู่ด้วย ก็จะทำให้นโยบายนี้เกิดเป็นรูปธรรมได้มากขึ้นและเร็วขึ้น

 

พีระพันธุ์กล่าวต่อว่า สำหรับแนวทางการดำเนินการในเรื่องราคาพลังงานนั้นมีเรื่องหลักๆ ที่ต้องเร่งดำเนินการคือ ราคาน้ำมันและราคาไฟฟ้า ซึ่งมีองค์ประกอบของราคาหลายอย่าง เช่น เรื่องภาษี เรื่องค่าการตลาด เรื่องภาระการเงินและเงินกู้ และอีกหลายเรื่องที่มาประกอบกัน บางองค์ประกอบเป็นเรื่องที่ไม่สามารถควบคุมได้ เช่น ต้นทุนของก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้า หรือต้นทุนของราคาน้ำมันดิบ 

 

 

เล็งรื้อโครงสร้างราคาน้ำมัน

 

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สามารถพิจารณาดำเนินการได้คือ โครงสร้างและองค์ประกอบที่มารวมกันจนเป็นราคาขายของพลังงานเหล่านี้ จะต้องมาดูว่าส่วนไหนที่สามารถตัดทิ้งหรือปรับลดลงได้ก็จะทำทั้งหมด และเมื่อค่าใช้จ่ายลดลง ราคาของพลังงานต่างๆ ก็จะสามารถปรับลดลงได้ เพื่อให้เกิดความเหมาะสมและเป็นธรรมกับประชาชน 

 

ในขณะเดียวกันยังมองถึงเรื่องของราคาน้ำมันราคาถูกพิเศษสำหรับประชาชนบางกลุ่ม เช่น ปัจจุบันกลุ่มชาวประมงสามารถซื้อน้ำมันที่เรียกว่าน้ำมันเขียวในราคาพิเศษ จึงเห็นว่าน่าจะดำเนินการเช่นเดียวกันนี้กับกลุ่มอื่นๆ ด้วย เช่น กลุ่มเกษตรกร

 

พร้อมเปิดเสรีในการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูป 

 

นอกจากนี้ ควรจะให้โอกาสเสรีในการหาน้ำมันสำเร็จรูป ที่ไม่ใช่การนำน้ำมันดิบเข้ามากลั่นจนทำให้มีต้นทุนค่าใช้จ่ายที่ควบคุมลำบาก 

 

“แต่จะเป็นการนำน้ำมันสำเร็จรูปที่ไม่ต้องมีค่าการกลั่นหรือค่าใช้จ่ายอื่น เพราะราคาทุกอย่างคำนวณจบแล้ว และถ้าหากใครสามารถนำพลังงานราคาถูกเข้ามาได้ ก็ควรเปิดโอกาสให้ทำได้ โดยภาครัฐควรจะเป็นผู้กำกับดูแลให้การจัดหาพลังงานเป็นไปโดยสะดวกและรวดเร็ว ไม่ใช่วางกฎกติกาจนทำไม่ได้” 

 

พีระพันธุ์เปิดใจอีกว่า ที่ผ่านมาแม้ว่าจะทำงานด้านกฎหมาย แต่ก็มีความสนใจเรื่องของพลังงานของไทย และศึกษาหาข้อมูลเรื่องพลังงานมาโดยตลอด โดยเฉพาะเรื่องน้ำมันของประเทศไทยมีประวัติน่าสนใจ และได้รับรู้เรื่องราวของพลังงานมาจากบิดาคือ พล.ท. ณรงค์ สาลีรัฐวิภาค อดีตปลัดกระทรวงเศรษฐการ ปัจจุบันคือกระทรวงพาณิชย์ และเจ้ากรมการพลังงานทหาร ที่ได้รับมอบหมายจาก จอมพล ป. พิบูลสงคราม และจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ให้ไปสำรวจและขุดเจาะน้ำมันในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย

 

กระทั่งค้นพบแหล่งน้ำมันที่อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ สามารถขุดเจาะน้ำมันขึ้นมาและสร้างโรงกลั่นน้ำมันแห่งแรกของไทยขึ้นมากลั่นน้ำมันดิบจนประสบความสำเร็จ โดยนอกจากจะจัดหาน้ำมันให้กับหน่วยงานของรัฐแล้ว ยังสามารถขายน้ำมันราคาถูกให้กับประชาชนด้วย นำมาสู่การก่อตั้งปั๊มน้ำมันสามทหาร ซึ่งปัจจุบันองค์การเชื้อเพลิงของกรมการพลังงานทหารและปั๊มน้ำมันสามทหารได้ถูกแปรเป็นการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย และเป็นบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในปัจจุบัน 

 

ย้อนดูโครงสร้างราคาน้ำมันของไทยประกอบด้วยอะไรบ้าง

 

เนื่องจากประเทศไทยไม่ได้เป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันได้เอง และอาศัยนำเข้าน้ำมันเป็นหลัก ดังนั้นในโครงสร้างราคาน้ำมัน 1 ลิตรนั้น ประกอบไปด้วยต้นทุน รวมไปถึงภาษีและอื่นๆ ที่มีหลายสัดส่วนด้วยกัน ประกอบไปด้วย 4 ข้อ ได้แก่

 

  1. ต้นทุนเนื้อน้ำมัน หรือราคาหน้าโรงกลั่น ประกอบไปด้วยราคาที่คิดจากต้นทุนเนื้อน้ำมันดิบ บวกด้วยค่าใช้จ่ายต่างๆ ของโรงกลั่น เช่น ค่าการกลั่น ต้นทุนค่าขนส่ง แรงงาน

 

  1. ภาษี ที่รัฐบาลจัดเก็บเพื่อนำมาเป็นรายได้ในการพัฒนาประเทศ ประกอบไปด้วย

 

  • ภาษีสรรพสามิต เป็นภาษีที่จะมีอัตราเรียกเก็บที่แตกต่างกันไปตามชนิดของน้ำมัน
  • ภาษีมหาดไทย หรือภาษีเทศบาล คือภาษีสรรพสามิตที่จัดเก็บเพิ่มขึ้นและส่งมอบให้กระทรวงมหาดไทย
  • ภาษีมูลค่าเพิ่ม คิดเพิ่มจากราคาขายส่งและขายปลีก เช่นเดียวกับสินค้าอื่นๆ ปัจจุบันเก็บอยู่ที่ 7% และภาษีมูลค่าเพิ่มของค่าการตลาด คิดเป็น 7% ของค่าการตลาด

 

  1. เงินกองทุน ซึ่งจะนำไปใช้ในประโยชน์ที่แตกต่างกัน ดังนี้

 

  • เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นเงินสำรองที่นำมาใช้ในการพยุงราคาน้ำมันในเวลาที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกเกิดการผันผวน
  • เงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เงินส่วนนี้จะนำไปส่งเสริมด้านอนุรักษ์พลังงานและด้านพลังงานทดแทนในประเทศ โดยน้ำมันทุกชนิดถูกเก็บเท่ากันในอัตรา 0.10 บาทต่อลิตร  

 

  1. ค่าการตลาด ส่วนนี้ถือเป็นรายได้ของผู้ประกอบการสถานีบริการน้ำมัน โดยได้รวมค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการดำเนินธุรกิจ เช่น ค่าก่อสร้างคลังน้ำมัน ค่าการขนส่ง ค่าจ้างพนักงาน เป็นต้น

 

ค่าการกลั่น (Gross Refining Margin: GRM) คืออะไร?

 

ค่าการกลั่นคือส่วนต่างของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่กลั่นได้ทุกชนิด เมื่อนำมาลบกับราคาต้นทุนน้ำมันดิบที่ซื้อมา ซึ่งค่าการกลั่นนั้นจะได้มากก็ต่อเมื่อราคาน้ำมันดิบไม่สูงมาก และน้ำมันที่กลั่นออกมาสามารถขายได้ในราคาสูง ซึ่งเป็นไปได้ยาก เนื่องจากระบบตลาดเสรีมีกลไกด้านราคาเป็นเครื่องมือสำคัญในการแข่งขัน 

 

ค่าการกลั่นของโรงกลั่นในประเทศไทยจะต้องสอดคล้องกับค่าการกลั่นของโรงกลั่นอื่นๆ ทั่วโลก ดังนั้นแม้ค่าการกลั่นไม่ใช่กำไรของโรงกลั่นเสียทีเดียว แต่ก็เป็นส่วนสำคัญในการพิจารณาราคาน้ำมัน

 

ปัจจุบันประเทศไทยมีธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันรายใหญ่ 7 แห่ง ได้แก่

 

  • บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) (TOP)   
  • บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (PTTGC)  
  • บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) (IRPC)  
  • บริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (ESSO) โดยการควบรวมของบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (BCP) 
  • บริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) (SPRC) 
  • โรงกลั่นน้ำมันฝาง 
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising