สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กระทรวงการคลัง ยืนยันว่า แม้ พ.ร.บ.งบประมาณ 2567 จะประกาศใช้ล่าช้า ไม่ทันวันที่ 1 ตุลาคมนี้ ก็จะไม่กระทบกับอุปทานหรือการออกพันธบัตรรัฐบาลไทย
วันนี้ (1 กันยายน) แพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ระบุว่า แม้พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จะประกาศใช้บังคับไม่ทันในวันที่ 1 ตุลาคม 2566 เนื่องจากอยู่ระหว่างขั้นตอนการจัดตั้งรัฐบาล แต่อุปทานของพันธบัตรรัฐบาลไทย (Bond Supply) จะไม่ขาด โดย สบน. จะออกพันธบัตรหล่อเลี้ยงเรื่อยๆ เพื่อทำให้มั่นใจว่าอุปทานจะมีต่อเนื่อง โดยในจำนวนนี้รวมไปถึงพันธบัตรที่ออกมาเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ (Refinance)
โดยตามข้อมูลจากเว็บไซต์ Wall Street Journal แสดงให้เห็นว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 10 ปี อยู่ที่ 2.750% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากช่วงต้นปีที่ 2.485% นับว่ามีเสถียรภาพ เมื่อเทียบกับหลายประเทศที่เร็วๆ นี้เผชิญกับความผันผวนอย่างมาก รวมถึงสหรัฐอเมริกาที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุยาวเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากราคาที่ลดลงจากอุปทาน (Supply) ที่เพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ แพตริเซียยังเปิดเผยว่า การจัดเก็บรายได้ในปีงบประมาณ 2566 ที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าและดีกว่าประมาณการ ทำให้การออกพันธบัตรของรัฐบาลในปีนี้น้อยลงจากปีก่อน อย่างไรก็ตาม การกู้ยืมเงินของรัฐบาลในปี 2566 ไม่ได้ลดลง โดย สบน. ยังกู้เต็มอยู่ นับรวมเงินกู้เหลื่อมอีก 4 หมื่นล้านบาท เพื่อรองรับต้นปีงบประมาณ 2567 ที่อาจล่าช้าด้วย
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังได้เผยผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในช่วง 10 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2566 (ตุลาคม 2565 – กรกฎาคม 2566) พบว่า รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิจำนวน 2,148,820 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 150,899 ล้านบาท หรือ 7.6% และสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า 5.2%