×

‘Indian Summer ประวัติศาสตร์ลับปิดฉากจักรวรรดิอังกฤษ’ การเมืองระดับโลก และเรื่องโป๊ในรักสามเส้า

23.02.2022
  • LOADING...
Indian Summer

HIGHLIGHTS

  • สุภัตรา ภูมิประภาส ผู้แปลหนังสือ กล่าวว่า ต้นฉบับหนังสือภาษาอังกฤษเล่มนี้ได้มาระหว่างเดินทางไปอินเดีย พลิกอ่านโปรย พลิกอ่านสิ่งที่คนเขียนถึง ปรากฏว่ามีเรื่องฉาวคนดังและมีเรื่องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์โลกช่วงที่จักรวรรดิอังกฤษล่มสลาย จึงคิดว่าน่าสนใจมาก เพราะตัวเองก็สนใจประวัติศาสตร์แนวนี้อยู่แล้ว
  • ชาญวิทย์ เกษตรศิริ บอกว่า หนังสือเล่มนี้เป็นเรื่องของสงครามและสันติภาพ โดยมีสงครามมากกว่าสันติภาพ อ่านได้เหมือนนิยายอิงประวัติศาสตร์หรือประวัติศาสตร์อิงนิยาย แล้วคนเขียนเรียนสูง เรียนออกซ์ฟอร์ด อีกแง่หนึ่งเรื่องทั้งเรื่องเป็นโศกนาฏกรรมแบบคลาสสิก ใครชอบละครโอเปราเรื่อง Tragedy โศกนาฏกรรม จะชอบเล่มนี้มากๆ

วานนี้ (21 กุมภาพันธ์) หลักสูตรอินเดียศึกษา วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ (PBIC) และสำนักพิมพ์ยิปซี ร่วมจัด PBIC PINTO TALK ครั้งที่ 6 เปิดตัวหนังสือ Indian Summer: The Secret History of the End of an Empire ‘ประวัติศาสตร์ลับปิดฉากจักรวรรดิอังกฤษ’ ถ่ายทอดสดผ่านแฟนเพจ PBIC Thammasat โดยหลังเสวนา ผู้เข้าร่วมงานร่วมดื่มชาและขนมแบบอินเดีย แฮปปี้ทีไทม์ ในบรรยากาศภารตะ ที่ลานหน้าวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ พบปะผู้แปลพร้อมแจกลายเซ็นและร่วมเล่นเกมรับของที่ระลึกจากผู้แปล

 

วิทยากรประกอบด้วย สุภัตรา ภูมิประภาส ผู้แปลหนังสือ Indian Summer: The Secret History of the End of an Empire ‘ประวัติศาสตร์ลับปิดฉากจักรวรรดิอังกฤษ’, ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ศาสตราจารย์รับเชิญแห่งวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์, สมฤทธิ์ ลือชัย ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมอุษาคเนย์ ดำเนินรายการโดย อัครพงษ์ ค่ำคูณ คณบดีวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ (PBIC)

Indian Summer

 

หนังสือแปลที่ผู้แปลหาข้อมูลเพิ่มเติม ใช้อ้างอิงได้

อัครพงษ์ ค่ำคูณ กล่าวว่า การจัดงานใช้ชื่อว่า ปิ่นโตทอล์ก ครั้งที่ 6 งานปิ่นโตทอล์ก จัดขึ้นเพื่อสร้างบรรยากาศทางวิชาการเช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศจัด Brown Bag ที่ถืออาหารใส่ถุงสีน้ำตาลไปนั่งกินนั่งคุยกัน 

 

ตั้งใจจัดงานวันนี้ 21 กุมภาพันธ์ เพราะตัวละครหลักในหนังสือเล่มนี้เสียชีวิตตรงกับวันนี้ 21 กุมภาพันธ์ 1960 วันเสียชีวิตของ เลดี้เอ็ดวินา ภริยา ลอร์ดหลุยส์ เมานท์แบตเทน โดยก่อนหน้านั้น 13 ปีคือ วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 1947 อังกฤษแต่งตั้ง ลอร์ดหลุยส์ เมานท์แบตเทน มาเป็นผู้สำเร็จราชการแห่งบริติชอินเดีย

 

ทำความเข้าใจมหาอำนาจในภารตภิวัตน์ หนังสือเล่มนี้ชื่อว่า Indian Summer เขียนและพิมพ์ในวาระครบรอบ 70 ปีอิสรภาพอินเดีย ชื่อรองคือ The Secret History of the End of an Empire ‘ประวัติศาสตร์ลับปิดฉากจักรวรรดิอังกฤษ’

 

ผู้แปลไม่ได้แปลตามตัวบทเท่านั้น แต่มีการหาข้อมูลเพิ่มเติม แปลแล้วเห็นภาพประวัติศาสตร์ สามารถนำไปใช้อ้างอิงได้ เป็นประวัติศาสตร์การเมืองที่มีเรื่องฉาวและมีข้อมูลที่หนักแน่น

 

Indian Summer

 

ประวัติศาสตร์ช่วงจักรวรรดิอังกฤษล่มสลาย

สุภัตรา ภูมิประภาส ผู้แปลหนังสือ กล่าวว่า ต้นฉบับหนังสือภาษาอังกฤษเล่มนี้ได้มาระหว่างเดินทางไปอินเดีย พลิกอ่านโปรย พลิกอ่านสิ่งที่คนเขียนถึง ปรากฏว่ามีเรื่องฉาวคนดังและมีเรื่องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์โลกช่วงที่จักรวรรดิอังกฤษล่มสลาย 

 

ส่วนตัวสนใจประวัติศาสตร์ที่จับต้องได้ในยุคไม่ไกลเกินไป ตอนนั้นอ่านแล้วอยากรู้เรื่องเลดี้เอ็ดวินา สาวไฮโซชาวอังกฤษ เป็นผู้หญิงที่สวยและรวยมากในยุคของเธอ มีความเกี่ยวพันกับราชสำนักเพราะแต่งงานกับ ลอร์ดหลุยส์ เมานท์แบตเทน ผู้สำเร็จราชการคนสุดท้ายแห่งบริติชอินเดีย เป็นเหลนของ พระนางวิกตอเรีย ลอร์ดหลุยส์ เมานท์แบตเทน อยู่วงในของราชสำนักอังกฤษ 

 

ในปี 1947 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในหนังสือเล่มนี้คือ ลอร์ดหลุยส์ เมานท์แบตเทน ได้รับการแต่งตั้งให้มาเป็นผู้สำเร็จราชการแห่งบริติชอินเดีย อาณานิคมที่ใหญ่ที่สุดของอังกฤษ พร้อมเลดี้เอ็ดวินา ภริยาผู้สำเร็จราชการ มีภารกิจชัดเจน เพื่อส่งมอบอิสรภาพให้อินเดีย 

 

ตอนนั้นยังไม่ได้แบ่งอินเดียกับปากีสถาน เป็นภารกิจที่กำหนดมาวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 1947 เป็นวันแต่งตั้งให้มาเป็นผู้สำเร็จราชการ ซึ่งอังกฤษกำลังถังแตก ลอร์ดหลุยส์ เมานท์แบตเทน เป็นผู้บัญชาการในเอเชียอาคเนย์ กองกำลังสัมพันธมิตร 

 

พออ่านแล้ววางไม่ลง ด้วยลีลาคนเขียนซึ่งเป็นนักประวัติศาสตร์ ขณะที่นักวิชาการส่วนใหญ่จะเขียนไม่สนุกเท่าไร แต่คนนี้เป็นนักค้นคว้าที่ลุยมาก แค่เขียนเปิดตัวแต่ละบุคคลก็สนุกแล้ว ไม่ปราณีใคร มีทั้งด้านมืด ด้านสว่าง และมีหลักฐานรองรับ เล่มนี้สามารถใช้อ้างอิงสำหรับคนเรียนอินเดียศึกษาได้ ไม่มีอะไรเป็นเรื่องมโนเลย       

 

ทั้งเปิดตัว ลอร์ดหลุยส์ เมานท์แบตเทน ผู้สำเร็จราชการคนสุดท้ายแห่งบริติชอินเดีย และเลดี้เอ็ดวินา ภรรยา เปิดตัว ชวาหะร์ราล เนห์รู นายกรัฐมนตรีคนแรกหลังอินเดียได้อิสรภาพ และ มหาตมะ คานธี

 

เขาอ้างถึงอะไรเราก็ตามไปหาต้นฉบับ จึงมีหนังสือเกี่ยวกับ 4 คนนี้เกือบทุกเล่ม เป็นความรู้ที่ไม่เห็นในหนังสือภาษาไทยเล่มไหนที่เป็นความรู้เกี่ยวกับอินเดียช่วงที่แยกระหว่างอินเดียกับปากีสถานอย่างลึกซึ้ง ให้ข้อมูล และสนุกขนาดนี้ 

 

 

จุดเริ่มต้นของผู้เขียน พบภาพจับมือระหว่างเนห์รูกับเลดี้เอ็ดวินา ซึ่งไม่ใช่สามีภรรยาตามกฎหมาย 

สุภัตราเล่าว่า นักเขียนชื่อ อเล็กซ์ ฟาน ทันซัลมานน์ เป็นผู้หญิง จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด สาขาประวัติศาสตร์สมัยใหม่ เล่มนี้เป็นหนังสือเล่มแรกของผู้เขียน เธอเป็นนักวิจัยและนักค้นข้อมูล ก่อนเขียนเล่มนี้เธอทำข้อมูลเกี่ยวกับ ลอร์ดหลุยส์ เมานท์แบตเทน ที่อินเดีย แล้วไปเจอรูปที่เนห์รูกับเลดี้เอ็ดวินาควงแขนกันเดินในค่ายผู้ลี้ภัย จริงๆ สองคนนี้มีเรื่องซุบซิบข้ามโลกอยู่แล้ว   

 

 

ความยากของนักแปล 

ความยากคือ เนื่องจากเป็นเหตุการณ์ในอดีต สถานที่บางที่ไม่ได้มีอยู่จนถึงปัจจุบัน ไม่มีอยู่ในความรับรู้ของใครเลย เช่น สำนักงานการถ่ายโอนปากีสถาน เราไม่เคยรู้เลย 

 

ใช้เวลาค้นคว้านานมาก สถานที่บางแห่งก็ไม่มีแล้ว ต้องค้นคว้าเพิ่มเติมเยอะมาก บางอย่างไม่เคยมีในภาษาไทย เราก็ต้องแปลตั้งต้นขึ้นมา เป็นความยาก เช่น สำนักงานการถ่ายโอนปากีสถาน เราไม่เคยรู้เลย เครือจักรภาพช่วงนั้นก็มีตำแหน่งเยอะแยะ บางตำแหน่งตอนเป็นอาณานิคมใช้คำว่าผู้สำเร็จราชการ พออินเดียได้เอกราชเป็นอิสรภาพเป็นเครือจักรภพเรียกตำแหน่งว่าข้าหลวงใหญ่ ซึ่งจะมีประจำเมืองแทนผู้สำเร็จราชการ  

 

ทางอินเดียเชิญ ลอร์ดหลุยส์ เมานท์แบตเทน ให้อยู่ต่ออีกระยะในตำแหน่งข้าหลวงใหญ่ ซึ่งการแปลก็ได้ทำฟุตโน้ตไว้ให้

 

ส่วนความประทับใจ มีความประทับใจทั้งเล่ม มีคุณค่าทั้งเล่ม เรื่องราวเรียงร้อยจนไม่รู้จะแยกอย่างไร 

 

ตอนแบ่งเป็น 2 ประเทศ อินเดียกับปากีสถานตัดสินอนาคตประชากร 400 ล้านคนด้วยคนไม่ถึง 20 คน เป็นชนชั้นนำ ปัญญาชน แน่นอนเป็นตัวแทนประชาชนบางกลุ่ม แต่การขีดเส้นแบ่งสองประเทศนำมาซึ่งโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ที่สุดของโลก อาณานิคมอินเดียใหญ่มาก ใหญ่ที่สุด อังกฤษเรียกว่าเพชรยอดมงกุฎของอังกฤษ มีประชากร 400 ล้านคน 

 

นอกจากนั้นประทับใจบทบาทนักการเมืองอินเดียในยุคนั้นทำเพื่ออิสรภาพเบื้องหน้า ถ้าทะเลาะก็ทะเลาะทีหลัง รวมถึง โมฮัมหมัด อาลี จินนาห์ ผู้ก่อตั้งปากีสถานแยกจากอินเดีย 

 

เป็นหนังสือที่ผู้นำไทยควรอ่าน รวมถึงฝ่ายประชาธิปไตยและฝ่ายใดๆ ก็ตาม เล่มนี้มีบทเรียนการต่อสู้แบบอหิงสา ส่วนจะอโหสิหรือเปล่านั้นไม่ทราบ มีบทเรียน เช่น การประท้วงเงียบ ซึ่งในยุคนี้เราจะเห็นที่พม่า 

 

การประท้วงเงียบในหนังสือ Indian Summer เช่น ประท้วงราชสำนักอังกฤษระหว่างมีขบวนเสด็จของรัชทายาทอังกฤษ การประท้วงของคนอินเดียคือ อยู่ในบ้าน ปิดร้าน บนถนนไม่มีใครเลย รถขบวนเสด็จมาก็จะมีแต่คนผิวขาวและทหารยืนยาม 

 

เวลาถูกจับซึ่งสถานการณ์บางอย่างจะคล้ายๆ ไทยตอนนี้คือ ห้ามชุมนุมเกินเท่านั้นเท่านี้ แค่เนห์รูเดินนำคนออกมาก็ถูกจับแล้ว ประชาชนก็จะบุกขึ้นไปรถตำรวจ ไปเรือนจำให้จับ จนเจ้าหน้าที่รับมือไม่ได้ 

 

ความคาดหวังต่อการแปลหนังสือเล่มนี้ หวังว่าจะเป็นความรู้ของสังคมไทย สำหรับแวดวงคนสนใจอินเดียเล่มนี้จะอ่านได้ตลอดรอดฝั่ง เพราะมีเรื่องเซ็กซี่ เรื่องฉาวเยอะ อ่านแล้วซาบซึ้งประทับใจ เป็นเรื่องฉาวที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนประวัติศาสตร์โลก

 

 

เข้าใจการเมืองระหว่างบรรทัดและโศกนาฏกรรมรักสามเส้า 

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ กล่าวว่า ถ้าเราไม่เรียนรู้จากประวัติศาสตร์ เราจะทำผิดพลาดได้ตลอดเวลา ประวัติศาสตร์เป็นวิชาที่คนเอามาพูดมากที่สุด แต่กลับเป็นวิชาที่ไม่ได้รับการให้ความสำคัญในเมืองไทย ไม่ให้ความสำคัญเท่ามหาวิทยาลัยในโลกเกรดเอที่วิชาประวัติศาสตร์มีความยิ่งใหญ่ เราส่วนใหญ่จึงไม่เรียนรู้ประวัติศาสตร์  

 

อ่านหนังสือแปล Indian Summer ด้วยความสนใจมากๆ แต่ไม่ได้เขียนคำนำเหมือนที่เคยเขียนให้หนังสือ จิบพม่า เล่มนั้นเขียนคำนำและเป็นอีกเล่มที่สุภัตราแปลดีมากๆ อ่านแล้วเห็นภาพ

 

เมื่ออ่าน Indian Summer ก็พยายามหลีกเลี่ยงเรื่องโป๊ แต่ในที่สุดเลี่ยงยากมาก แม้ว่าสุภัตราจะแปลได้อย่างแนบเนียนซ่อนเอาไว้ แต่ถ้าเราทันเกมสุภัตราเราก็จะรู้ว่ามันกำลังเกิดอะไรขึ้น 

 

หนังสือเล่มนี้แปลดีมากๆ แต่คนอ่านจะต้องมีแบ็กกราวด์เยอะมาก ต้องมีความรู้เสริม คนอ่านภาษาอังกฤษมีแบ็กกราวด์แล้วเพราะเป็นโลกของเขา แต่โลกของเราที่พยายามออกจากกะลาจะไม่มีข้อมูลเหล่านี้ ฉะนั้นเราจะนึกไม่ออก เช่น บางประโยคนี้ซึ่งยาวและซับซ้อนกำลังหมายถึงอะไร 

 

หนังสือเล่มนี้เป็นเรื่องของสงครามและสันติภาพ โดยมีสงครามมากกว่าสันติภาพ อ่านได้เหมือนนิยายอิงประวัติศาสตร์หรือประวัติศาสตร์อิงนิยาย แล้วคนเขียนเรียนสูง เรียนออกซ์ฟอร์ด 

 

อีกแง่หนึ่ง เรื่องทั้งเรื่องเป็นโศกนาฏกรรมแบบคลาสสิก ใครชอบละครโอเปราเรื่อง Tragedy โศกนาฏกรรม จะชอบเล่มนี้มากๆ   

 

เลดี้เอ็ดวินาสิ้นชีวิตในปี 1960 ซึ่งก็อายุไม่มาก เธอเกิดปี 1901 ส่วน ลอร์ดหลุยส์ เมานท์แบตเทน เกิดปี 1900 ถ้าเทียบอายุคือเกิดปีเดียวกับ ปรีดี พนมยงค์ ปี 1900 (พ.ศ. 2443) ซึ่งเป็นปีเกิดของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีด้วย 

 

ขณะที่ปัจจุบัน นักศึกษาปี 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เกิดปี 2000-2002 นักศึกษาที่มาเรียนจะทราบว่าอาจารย์ปรีดีเกิดก่อนเขา 100 ปี เพราะบอกให้เขาเทียบ Common Era แทนการจำเหตุการณ์เป็น พ.ศ.      

 

ส่วน ชวาหะร์ราล เนห์รู เกิดก่อนเลดี้เอ็ดวินา ประมาณ 12 ปี แปลว่า เลดี้เอ็ดวินาโน้มเอียงไปชอบผู้ชายอายุสูงกว่ามาก รักสามเส้าสี่เส้าของเขาถ้าพลิกประวัติ เนห์รูก็เป็นคนชั้นสูงชนชั้นนำมาจากแคชเมียร์ การศึกษาสูงมาก ตอนหนุ่มๆ อายุน้อยๆ ถึงไม่ได้เข้าเรียนอีตัน (Eton College) อย่างลูกผู้ดี แต่เนห์รูเข้าโรงเรียนที่รองลงมา ส่วนเลดี้เอ็ดวินาเป็นผู้หญิงเก่ง อาจจะชอบผู้ชายอายุมากกว่า   

 

หนังสือเล่มนี้รวมความแล้วอ่านได้สนุก ตื่นเต้น แต่ผู้อ่านต้องการแบ็กกราวด์ที่จะเข้าใจระหว่างบรรทัด โดยเฉพาะถ้าอ่านภาษาไทย จะทำให้เราเกิดความอยากรู้อยากเห็น ก่อนได้รับเชิญให้มาวิจารณ์เรื่องนี้ก็ไปค้นข้อมูล ไปคลิกดูชื่อสามคนนี้ ลอร์ดหลุยส์ เมานท์แบตเทน, เลดี้เอ็ดวินา, ชวาหะร์ราล เนห์รู เห็นข้อมูลแล้วอาจจะนั่งอ่านอย่างไม่ได้นอนทั้งคืน เพราะบางประโยคเห็นแล้วก็จะตกใจ เช่น ลอร์ดหลุยส์ เมานท์แบตเทน พูดเอง “เอ็ดวินาและข้าพเจ้าใช้ชีวิตการแต่งงานทั้งหมดในการไปขึ้นเตียงของคนอื่น”

 

มีบางตอนเขาอยู่ด้วยกันสามคน ลอร์ดหลุยส์ เมานท์แบตเทน, เลดี้เอ็ดวินา และผู้หญิงอีกคน เป็นเรื่องที่อ่านสนุก 

 

มีเอกสารฝ่ายความมั่นคงของสหรัฐอเมริกาบอกว่า ลอร์ดหลุยส์ เมานท์แบตเทน เป็น Homo Sexual สมัยนั้นยังไม่มีคำว่าเกย์ ยังไม่มีธงรุ้ง ซึ่งปัจจุบันเราอาจจะเรียก Bisexual หรือ Tri ก็ไม่แน่ แต่มีหลักฐานเยอะแยะว่าไปเที่ยวบาร์ที่ไหน บาร์ที่พวกทหารเรืออังกฤษชอบไปมั่วสุมและมีเซ็กซ์หมู่ แถมยังบอกว่า ลอร์ดหลุยส์ เมานท์แบตเทน ชอบเด็กผู้ชายอายุประมาณ 8-12 ปี เราเป็นนักประวัติศาสตร์ก็ไม่อยากยุ่งเรื่องส่วนตัว แต่ถ้าเราไม่รู้เรื่องส่วนตัวของเขา เราก็ไม่รู้ว่าเขาเป็นคนอย่างไร  

 

 

ลอร์ดหลุยส์ เมานท์แบตเทน มีความสัมพันธ์อันดีกับ ปรีดี พนมยงค์

ชาญวิทย์กล่าวว่า เนื่องจากเป็นคนรุ่นก่อนเบบี้บูมเมอร์ เกิดปี 1941 ปีสงครามโลก ซึ่งใกล้ๆ ปีที่ ลอร์ดหลุยส์ เมานท์แบตเทน จะมาเป็นผู้บัญชาการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงให้ความสนใจเรื่องนี้เป็นพิเศษ

 

ในบรรยากาศก่อนและหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ่งที่เป็นประเด็นสำคัญมากของโลกสมัยใหม่สมัยนั้นคือ Nationalism ลัทธิชาตินิยมที่ก่อตัวขึ้นมาในอินเดียและปากีสถานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ไปถึงสุดแล้ว 

 

แล้วเจ้าอาณานิคมไม่ว่าจะเป็นอังกฤษ ฮอลันดา หรือฝรั่งเศส ก็รู้ว่ากระแสนี้มาแรงมาก ทำอย่างไรจะปรับตัวเข้ากับกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีการศึกษาสมัยใหม่จากโรงเรียน จากมหาวิทยาลัย ไม่ใช่กบฏผีบุญ ไม่ใช่ใช้ไสยศาสตร์มาสู้ แต่ใช้ Nationalism มาสู้ ฉะนั้นประเทศทั้งหลายก็พยายาม 

 

อังกฤษตอนแรกจะให้เสรีภาพระดับหนึ่งกับอาณานิคม ไม่ว่าจะเป็นอินเดียหรือพม่า แต่กระแส Nationalism แรงมากๆ สุดท้ายอังกฤษเล่นเกมประชาธิปไตย เมื่อถึงเวลาเลือกตั้งก็ต้องเลือกตั้ง ไม่ใช่ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ไม่ใช่ดึงไปมา ปรากฏว่าผลเลือกตั้งในอังกฤษ พรรคแรงงานชนะ และบอกว่าต้องให้เอกราชกับอาณานิคม ไม่ใช่ยึกยักแบบพรรคคอนเซอร์เวทีฟแบบ เซอร์วินสตัน เชอร์ชิล 

 

แล้วเกมที่รัฐบาลอังกฤษเล่น คนที่ได้รับมอบหมายให้มาทำก็ทำตามนโยบาย ไม่เอามาบิดพลิ้วหรือมั่วนิ่ม ฉะนั้นความสำเร็จของ ลอร์ดหลุยส์ เมานท์แบตเทน และเลดี้เอ็ดวินา ก็คือการปฏิบัติตามนโยบายรัฐบาลอังกฤษ

 

แต่บังเอิญเนห์รูเป็นคนที่มีเสน่ห์มากๆ ตั้งแต่หนุ่มไปเรียนกฎหมายที่อังกฤษ การที่เลดี้เอ็ดวินาเจอคนแบบเนห์รูก็ประทับใจ จึงเป็นเรื่องทั้งความรักและโศกนาฏกรรม

 

หนังสือเล่มนี้ดีมาก แปลจบแล้วยังมีภาคผนวกคำอธิบายอ้างอิง น่านำมาพิมพ์อีกเล่ม 

 

ส่วนการเมืองมีคำว่า South East Asia Command (SEAC) ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มีการแบ่งกันคุม อังกฤษคุมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ลอร์ดหลุยส์ เมานท์แบตเทน ถูกส่งมาคุมที่นี่ ยกเว้นฟิลิปปินส์ที่คุมโดยสหรัฐฯ 

 

ตอนจะส่ง ลอร์ดหลุยส์ เมานท์แบตเทน มากระทรวงกลาโหมอังกฤษก็ปวดหัว เพราะลอร์ดหลุยส์คนนี้เพลย์บอย จะส่งไปคุมได้อย่างไร ในหนังสือก็มีบอก แต่ปรากฏว่าเขาปฏิบัติงานได้ดีตามที่รัฐบาลต้องการ 

 

ส่วนประเทศไทยก็อยู่ภายใต้การคุมของ ลอร์ดหลุยส์ เมานท์แบตเทน เช่นกัน แต่เขามีความสัมพันธ์อันดีกับ ปรีดี พนมยงค์ 

 

สหรัฐฯ คุมสงครามในแปซิฟิก ประกอบด้วยญี่ปุ่น จีน และฟิลิปปินส์

 

 

ลอร์ดหลุยส์ เมานท์แบตเทน จากอังกฤษ ชนะสงครามแล้ว ต้องมารับการจำนนการยอมแพ้ของญี่ปุ่นที่สิงคโปร์ นอกจากนั้น ลอร์ดหลุยส์ เมานท์แบตเทน เข้ามาในไทย เป็นผู้ส่งเครื่องบินไปรับรัชกาลที่ 8 พร้อมพระมารดาและพระอนุชากลับจากสวิตเซอร์แลนด์ ส่วนพระพี่นางไม่ได้มาด้วย รัชกาลที่ 8 กลับถึงเมืองไทยวันที่ 5 ธันวาคม 1945 (พ.ศ. 2488) ก่อนเอกราชที่อินเดีย ได้มาสวนสนามที่ราชดำเนิน สนามหลวง ทหารที่มาด้วยกับ ลอร์ดหลุยส์ เมานท์แบตเทน เป็นทหารอินเดีย 

 

ลอร์ดหลุยส์ เมานท์แบตเทน มีความสัมพันธ์อันดีกับ ปรีดี พนมยงค์ ดังนั้นวันที่ 15 สิงหาคม 2488 จักรพรรดิญี่ปุ่นยอมแพ้ วันที่ 16 สิงหาคม 2488 ปรีดีในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ของรัชกาลที่ 8 ซึ่งยังกลับมาไม่ถึง ปรีดีได้ประกาศสันติภาพ และบอกว่า การประกาศสงครามของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นโมฆะ ตรงนี้เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของประวัติศาสตร์ไทย เป็นเรื่องต้องปลุกขึ้นมาให้รับรู้ 

 

ต่อมารัชกาล 8 กลับมาถึงไทยวันที่ 5 ธันวาคม มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ พอวันที่ 9 มิถุนายน ก็สวรรคต เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ ซึ่งหนังสือเล่มนี้เกี่ยวกับการเมืองไทย ลอร์ดหลุยส์ เมานท์แบตเทน เกี่ยวกับเมืองไทยมากๆ 

 

สุดท้ายเมื่อแบ่งอินเดียและปากีสถานโดยใช้ศาสนาเป็นตัวกำหนด ทันทีที่แบ่งเสร็จคนฆ่ากันตายอย่างน้อย 1 ล้านคน คนพลัดที่นาคาที่อยู่ อพยพในอินเดีย ปากีสถาน 10 ล้านคน มีทั้งคนตาย คนทุกข์ทรมาน อดอยาก เป็นโศกนาฏกรรม 

 

Indian Summer

 

อ่านการเมืองอินเดีย คิดถึงการเมืองไทย 

สมฤทธิ์ ลือชัย กล่าวว่า ปีนี้ครบรอบ 111 ปีการประกาศใช้พุทธศักราช (พ.ศ.) ในสมัยรัชกาลที่ 6 ทำให้เราจะใช้ พ.ศ. แต่ อ.ชาญวิทย์ บอกให้ใช้ ค.ศ. ส่วนตัวเมื่อก่อนก็ใช้ พ.ศ. แต่พออ่านหนังสือมากๆ ในที่สุดเชื่อ อ.ชาญวิทย์ และหนังสือแปล Indian Summer ก็ใช้ ค.ศ. 

 

เคยไปสัมผัสซัมเมอร์ในอินเดียจึงรู้ว่าร้อนมาก เข้าใจว่าทำไมชื่อนี้ เพราะไม่มีอะไรจะร้อนเท่าฤดูร้อนในอินเดีย แล้วความร้อนของเล่มนี้ หมายถึงร้อนทั้งการเมืองและการมุ้ง ถ้าอ่านทั้งเล่ม เป็นเรื่องการเมืองยุคเปลี่ยนผ่านจากอาณานิคมไปเป็นเอกราช อังกฤษมอบเอกราชให้อินเดีย พร้อมความแตกแยกของอินเดียและปากีสถาน เลือด และน้ำตาของประชาชน 

 

คนเขียนค้นคว้าเยอะมาก ยกตัวอย่าง ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 1960 เวลา 07.30 น. พนักงานโรงแรมเปิดประตูเข้าไปในห้องของเลดี้เอ็ดวินา พบว่าเธอเสียชีวิตแล้วที่บอร์เนียว ซาบาห์ แต่ผู้เขียนไปค้นต่อมาว่าวันเดียวกันเนห์รูเป็นอย่างไร ปรากฏว่าไปพบบันทึกของคนที่ได้พบเนห์รูในวันนั้นบันทึกว่า วันนั้นเนห์รูไม่ยอมพูดกับใครเลย สะท้อนว่าอยู่ในภาวะเสียใจมาก เขารู้ข่าวการเสียชีวิตของเลดี้เอ็ดวินาแล้ว 

 

เมื่อคนเขียนจับประเด็นจะไปตามเหตุการณ์จนจบ อ่านแล้วรู้ว่าการต่อสู้เพื่อเอกราชมีใครบ้าง มีปัญหาอะไร บุคคลสำคัญมีใครบ้าง มีเบื้องหลังอย่างไร เหมือนคู่มือประวัติศาสตร์อินเดียและปากีสถาน

 

ที่สำคัญบทบาทของสตรีกับการเมืองเล่มนี้ การเมืองเป็นเรื่องของสตรีหลายคน การเมืองจึงไม่ใช่เพียงเรื่องของบุรุษ  

 

เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว ไปอินเดียกับ อ.ชาญวิทย์ ตามรอยรัชกาลที่ 5 จึงได้ทราบว่า การเสด็จอินเดียเป็นเหตุให้สร้างสยามอารยะขึ้นมา ไม่ใช่ตอนเสด็จยุโรป ซึ่งเป็นช่วงเกือบปลายรัชกาลแล้ว ตอนนั้นอินเดียไม่ใช่เมืองที่จะถูกมองว่าสกปรก 

 

เหตุการณ์อินเดียช่วงนั้น เนห์รูเป็นที่สนใจในการเมืองไทย คนแปลประวัติเนห์รูคือ เลียง ไชยกาล นักการเมืองไทยในยุคนั้น เหตุการณ์เปลี่ยนผ่านตอนนั้น นักการเมืองไทยสนใจมาก 

   

อ่าน Indian Summer เล่มนี้แล้วทำให้เรามองตัวเราเองด้วย เช่น เดือนมีนาคม 1916 กฎหมายความมั่นคงแห่งอินเดียให้อำนาจพิเศษแก่ศาลในการกักขังผู้ต้องสงสัย โดยไม่มีการพิจารณาคดี และให้จำคุก เนรเทศ หรือประหารชีวิต ผู้ปลุกปั่นทางการเมืองในปัญจาบและเบงกอลได้ 

 

อำนาจศาลมีลักษณะแบบนี้ เราคุ้นไหม นี่คือเหตุการณ์ที่เกิดก่อนอินเดียจะได้รับเอกราช 

 

ฉะนั้นคนที่เป็นบุคคลสำคัญทั้งหมดจึงถูกจำคุก รวมถึงเนห์รู ภรรยาเนห์รู และครอบครัวของเนห์รู 

 

อินเดียใช้อำนาจศาลเป็นเครื่องมืออันหนึ่งของเผด็จการ อ่านแล้วทำให้คิดว่าตอนนี้มีประเทศที่กำลังไล่จับประชาชน นี่คือการต่อสู้เพื่อเอกราชประชาชนหรือเปล่า อ่านเรื่องอินเดียแล้วคิดถึงบ้านเราด้วย 

 

ภาพ: สำนักพิมพ์ยิปซี

FYI
  • สำหรับใครที่สนใจหนังสือ Indian Summer ประวัติศาสตร์ลับปิดฉากจักรวรรดิอังกฤษ สามารถสั่งซื้อได้ที่ https://www.gypsygroup.net/landing
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising