เป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์กันมาอย่างต่อเนื่องกับกรณีนักร้องนำวง Yes Indeed วงดนตรีมัธยมเปิดหมวกที่โด่งดังชั่วข้ามคืนอย่าง พอร์ส-นรากร อิสระวรางกูร ได้ขอยกเลิกสัญญากับทางค่ายต้นสังกัด EXP Entertainment แต่ทางค่ายกลับปฏิเสธการยกเลิกสัญญา อีกทั้งยังจ่อฟ้องนักร้องหนุ่มฐานที่รับงานจ้างต่างๆ ด้วยตัวเอง และไม่แจ้งตารางงานของตนเองที่ทำกิจกรรมกับวง Yes Indeed ตามที่ได้ตกลงกันไว้ ทำให้เกิดเป็นการฟ้องร้องและดำเนินการทางกฎหมายกันไปมาระหว่างพอร์สและต้นสังกัด
เพื่อให้ทุกคนเข้าใจเรื่องราวนี้มากขึ้น THE STANDARD POP ได้สรุป 10 ประเด็นสำคัญเกี่ยวกับกรณีที่เกิดขึ้นดังต่อไปนี้
- พอร์ส-นรากร อิสระวรางกูรร เป็น Trainee ในสังกัดค่าย EXP Entertainment ตั้งแต่วันที่ 11 มิถุนายน 2564 โดยมีสัญญาทั้งหมด 3 ปี พอร์สได้ร่วมทำกิจกรรมร่วมกับทางค่ายมาตลอด และมีรายการวาไรตี้ชื่อว่า มพร. ร่วมกับรุ่นพี่ในค่ายอย่าง มีน-ณภัทร เศรษฐยุกานนท์ และ รีวอร์ด-จิรัฏฐ์ อาคาสุวรรณ ซึ่งทางต้นสังกัดได้มีการเตรียมการเปิดตัวพอร์สเป็นศิลปินเดี่ยวภายในเดือนสิงหาคม 2565
- ต่อมา พอร์สได้ขอทางค่ายไปเล่นดนตรีเปิดหมวกกับกลุ่มเพื่อนในนามวง Yes Indeed เพื่อหารายได้ โดยทาง EXP Entertainment ก็ได้ยินยอมและไม่ได้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องแต่อย่างใด เพียงแต่ต้องแจ้งตารางงานและการรับงานต่างๆ ให้ทางค่ายทราบ
- วง Yes Indeed เกิดเป็นกระแสโด่งดังชั่วข้ามคืนในโลกโซเชียลหลังจากการไปแสดงโชว์ที่ลานหน้าสยามสแควร์วัน ทำให้วงมีงานอื่นๆ เข้ามามากมาย ทั้งงานแสดงโชว์ งานอีเวนต์ และงานพรีเซนเตอร์ ผู้ปกครองของพอร์สจึงได้เข้ายื่นขอยกเลิกสัญญากับทางค่าย EXP Entertainment ในวันที่ 21 มิถุนายน 2565
- ในวันที่ 23 มิถุนายน 2565 ผู้ปกครองของพอร์สได้ติดต่อเข้ายกเลิกสัญญากับทางค่าย EXP Entertainment อีกครั้ง แต่ทางค่ายยังคงปฏิเสธการขอยกเลิกสัญญา และได้กล่าวว่าพอร์สได้ทำผิดสัญญาจากการรับงานจ้างต่างๆ ด้วยตัวเอง และไม่แจ้งตารางงานของตนเองที่ทำกิจกรรมกับวง Yes Indeed ตามที่ได้ตกลงกันไว้ จึงได้เริ่มการดำเนินคดีตามกฎหมาย
- วันที่ 15 กรกฎาคม 2565 ทางค่าย EXP Entertainment ได้ออกมาประกาศถึงหนังสือสัญญาจ้างของ พอร์ส-นรากร อิสระวรางกูร จากกรณีที่ผู้ปกครองได้เข้ามาขอยกเลิกสัญญากับทางค่าย โดยมีใจความว่า พอร์สได้ทำผิดสัญญาจากการรับงานจ้างต่างๆ ด้วยตัวเอง และไม่แจ้งตารางงานของตนเองที่ทำกิจกรรมกับวง Yes Indeed ตามที่ได้ตกลงกันไว้ และพอร์สจะยังคงเป็นศิลปินในสังกัด EXP Entertainment ต่อไป หากมีความประสงค์ในการจ้างศิลปินสำหรับงานต่างๆ ยังคงติดต่อได้ผ่านทางต้นสังกัดเช่นเคย
- วันที่ 18 กรกฎาคม 2565 พอร์ส-นรากร อิสระวรางกูร และสมาชิกวง Yes Indeed ได้เข้าปรึกษาทนายความ ษิทรา เบี้ยบังเกิด หรือ ทนายตั้ม ทนายความชื่อดัง ให้เข้าช่วยเหลือในกรณีที่พอร์สยังคงมีสัญญาอยู่กับทางค่าย EXP Entertainment ซึ่งอาจจะทำให้พอร์สเสียโอกาสในการรับงานต่างๆ และได้รับความไม่เป็นธรรมจากทางค่ายต้นสังกัด
- วันที่ 20 กรกฎาคม 2565 พอร์สและทนายตั้ม ได้ออกมาแถลงข่าวถึงการขอยกเลิกสัญญาที่ไม่เป็นธรรมกับทางค่าย EXP Entertainment อีกครั้ง โดยได้อ้างถึงสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ที่ทางค่ายไม่เคยสนับสนุนส่งเสริมพอร์สในการเป็นศิลปินอย่างเต็มที่ และการปฏิบัติกับผู้เยาว์อย่างไม่ถูกต้องของทางค่าย และในสัญญานั้นล้วนมีแต่ค่ายที่ได้รับประโยชน์อยู่ฝ่ายเดียว ซึ่งทนายตั้มได้ออกมาโพสต์ข้อความลงใน Faccbook แฟนเพจของตนเอง ใจความว่า
“ตลอดระยะเวลาหลายเดือนหลังจากทำสัญญากับค่าย ทางค่ายไม่เคยให้คนมาเทรนการร้องเพลง และไม่ได้มีการประสานกับมหาวิทยาลัยสักที่เดียวตามที่ได้มีการตกลง แถมทางค่ายยังได้พยายามให้พอร์สถ่ายคลิปนุ่งกางเกงในบ็อกเซอร์ จนทางบ้านเริ่มรับไม่ได้ คุณพ่อจึงเริ่มไปคุยกับทางค่ายเรื่องยกเลิกสัญญา แต่ค่ายก็ปฏิเสธเช่นเดิม
พอร์สกับเพื่อนเล่นดนตรีไปเรื่อยๆ จนวันที่ 3 มิถุนายน 2565 สื่อทุกสื่อให้ความสนใจแก๊งมัธยมเปิดหมวกวงนี้ หลังจากนั้นค่ายจึงเริ่มแชร์ข่าว และโพสต์เรื่องพอร์สในช่องทางของตน โดยแจ้งกับสื่อหลายสำนักว่าเป็นศิลปินของค่ายตน ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยพูดถึงพอร์สมาก่อน โดยทุกครั้งคุณพ่อจะบอกตอนขอยกเลิกสัญญาว่าเพราะทางค่ายไม่เคยส่งเสริมพอร์สจริง ไม่เคยสนับสนุนอุปกรณ์ดนตรี หรือเครื่องแต่งกายใดๆ ให้พอร์ส แต่ค่ายกลับได้ประโยชน์จากพอร์ส
สัญญาลักษณะนี้จึงเข้าลักษณะของสัญญาที่ไม่เป็นธรรม มีลักษณะเอาเปรียบเด็ก จึงทำให้พอร์สซึ่งเป็นผู้เยาว์นั้นเสียหาย เสื่อมเสีย เสียโอกาส และเสียรายได้ รวมถึงเป็นอุปสรรคต่อการเจริญก้าวหน้าในอาชีพนักดนตรี จึงเข้าลักษณะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 27 วรรค 3 ที่คุณพ่อซึ่งเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมสามารถบอกเลิกความยินยอมในการที่ผู้เยาว์ทำสัญญาได้ และผมได้ทำหนังสือไปถึงค่ายเพลงดังกล่าวบอกเลิกความยินยอมไปเรียบร้อยแล้ว”
- ต่อมาในวันที่ 20 กรกฎาคม 2565 ทางค่ายต้นสังกัดอย่าง EXP Entertainment ได้ออกมาประกาศผ่าน Facebook แฟนเพจ ถึงการแถลงข่าวในกรณีที่ พอร์ส-นรากร อิสระวรางกูร และ ทนายตั้ม-ษิทรา เบี้ยบังเกิด ได้กล่าวพาดพิงถึงทางบริษัทจนได้รับความเสียหาย โดยเป็นการกล่าวอ้างที่บิดเบือนความจริง ทางบริษัทจึงประกาศเรียนเชิญสื่อมวลชนเข้าร่วมฟังการแถลงข่าวในวันที่ 22 กรกฎาคม 2565 ที่บริษัท เอ็กซ์พีเรียนซ์ เอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด พร้อมกับทนายความ ศรันยา หวังสุขเจริญ หรือ ทนายนิด้า เพื่อชี้แจงความจริงพร้อมหลักฐานทั้งหมดเกี่ยวกับการถูกกล่าวหาทุกประการ
- 22 กรกฎาคม 2565 วงศพัทธ์ รติพัชรพรกุล ผู้บริหารค่ายเพลง EXP Entertainment พร้อมด้วย ทนายนิด้า ได้ร่วมแถลงข่าวชี้แจงข้อกล่าวหา เกี่ยวกับสัญญาของ พอร์ช-นรากร อิสระวรางกูร ว่าไม่ได้ให้ความไม่เป็นธรรมแก่ตัวศิลปินแต่อย่างใด และยืนยันว่าพอร์สยังคงเป็นศิลปินในสังกัด โดยมีใจความสำคัญว่า
“วันที่ 11 มิถุนายน 2564 พอร์สได้ทำการเซ็นสัญญาจ้างขับร้องเพลงและนักแสดง ในขณะนั้นพอร์สเป็นเยาวชนอายุ 17 ปี มีบิดาเซ็นเป็นพยานในเอกสารดังกล่าว และมีหนังสือยินยอมให้ทำนิติกรรมของบิดาอยู่ในนี้ด้วย พอร์สและบิดาได้อ่านรับทราบและเข้าใจถึงเนื้อหาสัญญาทั้งหมดจึงได้ทำสัญญา
การเล่นดนตรีปิดหมวกทางค่ายอนุญาตมาโดยตลอด แต่ค่ายจะห้ามในเรื่องของภาคธุรกิจ เพราะมันคือสิ่งเดียวกับที่เราจะทำ มันอาจจะเกิดการทับซ้อนในเรื่องงาน เว้นแต่จะได้รับการยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรจากเรา นั่นคือเนื้อหาในสัญญาที่พอร์สอาจจะมองว่าทางค่ายไปจำกัดสิทธิ์ของเขา
ในส่วนของผลตอบแทน ทุกอย่างที่เข้ามาในนามบริษัท พอร์ชได้ 80% บริษัทได้ 20% การเปิดตัวพอร์สเป็นศิลปินเดี่ยวทางค่ายก็ยังคงดำเนินการมาตลอดก่อนที่ตัวพอร์สจะดังชั่วข้ามคืนกับวง Yes Indeed รวมไปถึงการบังคับให้ใส่กางเกงบ็อกเซอร์ก็ไม่เป็นความจริง โดยรายได้จากการอัดคลิปลงช่อง YouTube ทางค่ายให้ครั้งละ 1,500 บาทจริง ด้วยจำนวนผู้ติดตามที่ยังไม่มากพอของศิลปิน”
LIVE ย้อนหลังงานแถลงข่าว
- ในวันที่ 26 กรกฎาคม 2565 ทางค่าย EXP Entertainment ได้ออกมาประกาศผ่าน Facebook แฟนเพจ ถึงสัญญาของ พอร์ส-นรากร อิสระวรางกูร อีกครั้ง โดยกล่าวว่าบริษัทไม่เคยขัดขวางการเจริญก้าวหน้าในอาชีพการทำงานของพอร์สแต่อย่างใด และพร้อมสนับสนุนพอร์สในเส้นทางนี้อย่างเต็มที่ต่อไป โดยพอร์สยังคงเป็นศิลปินในสังกัด และหากสนใจติดต่องานของพอร์สก็ยังคงต้องติดต่อผ่านทาง EXP Entertainment เช่นเดิม ก่อนที่ในวันที่ 27 กรกฎาคม 2565 ทนายตั้มจะได้ออกมาโพสต์ข้อความลงใน Faccbook แฟนเพจของตนเองใจความว่า
“เอกสารฉบับนี้ไม่มีผลแล้ว เพราะพอร์สได้บอกเลิกสัญญา และบิดาได้บอกเลิกการให้ความยินยอมที่เคยให้ไปแล้ว จึงถือว่าในเบื้องต้นสัญญาสิ้นสุดลงแล้ว และคู่สัญญาไม่มีพันธะใดๆ ต่อกันอีกแล้ว หากค่ายต้องการบังคับตามสัญญา จึงมีทางเดียว คือต้องนำคดีไปยื่นฟ้องต่อศาลเพื่อใช้อำนาจเท่านั้น
ดังนั้น ณ ปัจจุบัน พอร์สสามารถรับงานเองโดยอิสระได้ และบุคคลภายนอกที่จ้างพอร์สก็จ้างต่อไปได้โดยถือเอาเหตุยกเลิกสัญญาของพอร์สเป็นที่ตั้ง”
โดยทนายตั้มยังกล่าวอีกว่า ให้ฝ่ายค่ายต้นสังกัดดำเนินการต่อในเรื่องของกฎหมายได้ ซึ่งเจ้าตัวพร้อมเสมอในเรื่องนี้ ทำให้ผู้ที่ติดตามข่าวในกรณีดังกล่าวก็ยังคงต้องติดตามบทสรุปของเรื่องนี้กันต่อไป และก็เชื่อแน่ว่าถ้าต่างฝ่ายต่างยังคงเชื่อมั่น ‘ความถูกต้อง’ บนเส้นทางของตัวเอง บทสรุปของเรื่องนี้ก็อาจจะยังต้องใช้เวลาพิสูจน์กันต่ออีกหลายยกนับจากนี้
อ้างอิง:
- https://web.facebook.com/EXPent.Official/photos/pcb.821259049284385/821258922617731/
- https://web.facebook.com/sittra/photos/a.516538428416541/7708649182538727/
- https://web.facebook.com/HKS2017/photos/a.141725656388634/1229419267619262/?_rdc=1&_rdr
- https://web.facebook.com/EXPent.Official/photos/pcb.817199416357015/817245893019034/
- https://www.youtube.com/watch?v=WwPlMxrGtlU