×

“ทุกวันคือการเริ่มต้นใหม่” สัมภาษณ์พิเศษกับ Paul Smith ในวาระครบรอบ 50 ปีของแบรนด์ระดับตำนาน

19.10.2020
  • LOADING...
“ทุกวันคือการเริ่มต้นใหม่” สัมภาษณ์พิเศษกับ Paul Smith ในวาระครบรอบ 50 ปีของแบรนด์ระดับตำนาน

หากต้องหยิบยกหนึ่งในแบรนด์แฟชั่นจากเกาะอังกฤษที่มีบทบาทสำคัญมายาวนานหลายทศวรรษและสามารถสร้างฐานแฟนคลับลูกค้าทั่วทุกมุมโลก ชื่อของ Paul Smith ก็ต้องติดอันดับต้นๆ อย่างแน่นอน พร้อมกับดีไซน์อันเป็นเอกลักษณ์ที่มาพร้อมความขี้เล่น สวมใส่ง่าย และลวดลายสีสันสุดไอคอนิกที่สามารถสร้างพลังบวกในเวลาเดียวกัน

 

ล่าสุดเพื่อเป็นการฉลองความสำเร็จและการอยู่ในวงการมายาวนานครึ่งศตวรรษ ทาง THE STANDARD POP ก็ได้มีโอกาสต่อสายตรงพูดคุยกับผู้ก่อตั้ง พอล สมิธ จากลอนดอน เกี่ยวกับหลากหลายประเด็น ตั้งแต่ความยั่งยืน (Sustainability), ความหลากหลาย (Inclusivity), จุดเริ่มต้นของแบรนด์, ผลกระทบจากช่วงโควิด-19 จนถึงเรื่องราวประเทศไทยที่ดีไซเนอร์ระดับตำนานคนนี้ชื่นชอบ

 

 

คุณรู้สึกอย่างไรบ้างที่กำลังฉลอง 50 ปีในวงการแฟชั่น?

 

มันสามารถมองได้สองด้าน ด้านแรกก็รู้สึกดีใจกับความสำเร็จที่เราได้มา แต่อีกด้านหนึ่งก็แปลว่าเราอายุมากกว่า 50 ปีแล้ว ซึ่งก็น่าเศร้า (หัวเราะ) ผมแค่ล้อเล่นนะ ผมชอบบอกคนอื่นว่าตัวเองเริ่มแบรนด์ตอนอายุ 3 ขวบ แต่เอาจริง ปีนี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะฉลองอะไรเพราะเจ้าไวรัส แต่ก็รู้สึกดีที่เรายังอยู่ตรงนี้ เพราะอย่างที่รู้กัน หลายแบรนด์ก็อาจได้รับความนิยมแค่ไม่กี่ปีแล้วก็หายไป แต่สำหรับ Paul Smith หลังจาก 50 ปีเราก็ยังมีบทบาทในวงการนี้ พร้อมกับร้านค้าในอีกกว่า 73 ประเทศ

 

ถ้าย้อนกลับไปตั้งแต่จุดเริ่มต้น คุณก็ตั้งใจอยากจะเป็นนักปั่นจักรยานมืออาชีพใช่ไหม แต่เกิดอะไรขึ้นถึงได้มาทำงานในวงการแฟชั่น?

 

ใช่ผมอยากเป็นนักปั่นจักรยาน แต่ผมคงไม่เก่งพอหรอก มันเป็นความฝัน แต่หลังจากนั้น คุณก็น่าจะเคยอ่านมาว่าผมประสบอุบัติเหตุที่ค่อนข้างรุนแรงและต้องพักรักษาอยู่ในโรงพยาบาลนานถึงสามเดือน พอผมออกมาก็มีเพื่อนคนหนึ่งที่ได้รู้จักกันในโรงพยาบาลชวนให้มาแฮงเอาต์ที่ผับแห่งหนึ่งชื่อ เดอะ เบลล์ อิน ในเมืองน็อตติงแฮม บ้านเกิดของผม ซึ่งที่นั่นก็บังเอิญเป็นสถานที่ที่เหล่านักเรียนศิลปะและแฟชั่นจากโรงเรียนศิลปะท้องถิ่นจะชอบไปเจอกัน ซึ่งพวกเขาก็ช่วยเปิดโลกและทำให้ผมอยากรู้ว่าคนเราสามารถทำมาหากินจากงานในแวดวงครีเอทีฟได้ไหม โดยต่อมาผมก็เจอภรรยาของผม พอลลีน ที่ตอนนั้นเธอเป็นนักเรียนแฟชั่นที่ Royal College of Art ซึ่ง พอลลีน ก็ได้ย้ายมาอยู่ที่น็อตติงแฮมกับผม และเราก็ได้เปิดร้านเสื้อผ้าเล็กๆ ด้วยกัน ก่อนที่จะเริ่มทำคอลเล็กชันเล็กๆ แต่ทุกอย่างก็ค่อยเป็นค่อยไป เหมือนกับเส้นทางชีวิตของผม

 

Sir Paul Smith ตั้งแต่เด็กจนถึงช่วงเริ่มแบรนด์ของตัวเองที่ลอนดอน

 

รถ Mini Cooper สุดคลาสสิกที่ พอล สมิธ ดีไซน์เมื่อปี 1997 ด้วยการนำ 86 ลายทางใน  24 สีมาสกรีนบนตัวรถ

 

คุณจำไอเท็มชิ้นแรกที่คุณกับ พอลลีน ดีไซน์ด้วยกันได้ไหม?

 

ตอนที่เราเปิดร้านเสื้อผ้าช่วงแรกๆ มันเป็นแค่ล็อกเล็กๆ เปิดวันศุกร์กับเสาร์เท่านั้น ซึ่ง พอลลีน ก็จะตัดเย็บพวกเสื้อเชิ้ตเองจากที่บ้านเพื่อเอาไปขาย แต่เราก็ทำได้แค่นั้นเพราะไอเท็มอื่นๆ ต้องใช้เครื่องตัดเย็บจริงจัง แต่พอกิจการเราเริ่มเติบโต เราก็เริ่มทำงานกับพวกโรงงานเล็กๆ เพื่อให้เขาช่วยผลิตสินค้าอื่นๆ โดยต่อมาเราถึงค่อยทำพวกชุดสูทที่เป็นสินค้านิยมของแบรนด์เรา ซึ่งก็ไม่ใช่แค่สูทคลาสสิกธรรมดา แต่พวกเวอร์ชันสีสันสนุกและพวกโค้ทสำหรับทั้งผู้หญิงและผู้ชายที่กลายเป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์ Paul Smith

 

คุณมองว่าการเติบโตของแบรนด์ Paul Smith ตลอด 50 ปีเป็นอย่างไร?

 

มันไม่เคยเป็นเหมือนจรวดที่ไปไกลอย่างรวดเร็ว และเราก็ไม่ได้ทำเพื่อผลตอบแทนด้านการเงินอย่างเดียว สำหรับผมแล้ว มันแค่คือการมีไลฟ์สไตล์ที่ดีและยังสามารถมีอิสระ ซึ่งก็เป็นสิ่งที่แปลกในวงการนี้ เพราะหลายแบรนด์ใหญ่ก็มักเป็นส่วนหนึ่งของเครืออย่าง Richemont หรือ LVMH แต่เราก็ไม่เคยอยู่

 

โมเมนต์ไหนที่คุณคิดว่าทำให้คนรู้จักแบรนด์ Paul Smith?

 

ถ้าให้พูดตามตรง เราไม่เคยมีโมเมนต์แบบตู้มแจ้งเกิดชั่วข้ามคืน แต่ถ้าโมเมนต์สำคัญก็คงเป็นตอนเราเปิดร้านแรกที่ลอนดอนเมื่อปี 1979 ซึ่งก็เป็นก้าวสำคัญ หลังจากนั้นเราก็ได้ไปเปิดร้านที่ประเทศญี่ปุ่นในปี 1982 ซึ่งทุกวันนี้เราก็มีกว่า 200 ร้านที่นั่น

 

คอลเล็กชัน Fall/Winter 2020

 

คุณทำอย่างไรให้แบรนด์สดใหม่และร่วมสมัยอยู่ตลอดเวลา?

 

คุณคงสัมผัสได้จากการพูดคุยของเราผ่านโทรศัพท์ว่าผมเป็นคนที่มีเอเนอร์จี้เยอะมากและเป็นคนกระตือรือร้นอยู่ตลอดเวลา ผมเป็นคนมาออฟฟิศทุกวัน เป็นคนอยากเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา เพราะมีแพสชันกับสิ่งที่ตัวเองทำมาก ผมชอบถ่ายรูป ชอบไปพิพิธภัณฑ์ ชอบใช้ความคิดสร้างสรรค์อยู่ตลอดเวลา

 

นอกจากนั้น หลายคนในทีมผมที่ทำงานกับผมโดยตรงก็ยังเด็ก อายุระหว่าง 22 ถึง 30 ปี ไม่ว่าจะเป็นผู้ช่วยดีไซเนอร์ฝ่ายต่างๆ, Visual Merchandiser จัดร้าน, อาร์ตไดเร็กเตอร์ หรือ บายเออร์ ซึ่งพวกเขาก็ทำให้ผมรู้สึกสดใหม่และตามทันวงการอยู่ตลอดเวลา

 

มีดีไซเนอร์รุ่นน้องชาวอังกฤษที่คุณติดตามผลงานบ้างไหม?

 

แน่นอน เพราะผมเชื่อมาเสมอว่าลอนดอนเป็นจุดศูนย์กลางของความคิดสร้างสรรค์ มิลานกับปารีสอาจสำคัญด้านการจัดแฟชั่นวีกและแฟชั่นโชว์สเกลใหญ่ๆ ระดับโลก แต่ที่อังกฤษคุณก็คงรู้ว่าเรามีมหาวิทยาลัย เช่น เซ็นทรัล เซนต์ มาร์ติน, มหาวิทยาลัยคิงส์ตัน และก็ Royal College of Art ซึ่งแต่ละที่ก็ผลิตดีไซเนอร์ที่เก่งมาก คนหนึ่งก็คือ มอลลี กอดดาร์ด ที่ผมคิดว่าเก่งมากตอนนี้ อีกคนก็คือ เกรซ เวลส์ บอนเนอร์ส รวมถึง Simone Rocha ด้วย ซึ่งทุกคนก็มาจากการเรียนมหาวิทยาลัยที่ลอนดอน

 

แต่ตอนนี้หากมองไปในภูมิทัศน์ดีไซเนอร์รุ่นใหม่ ปัญหาคงไม่ได้อยู่ที่เรื่องดีไซน์ เรื่องเอเนอร์จี้ หรือเรื่องตัวตนของแต่ละดีไซเนอร์หรอก แต่มันเกี่ยวกับเรื่องธุรกิจมากกว่า และการจะอยู่รอดอย่างไร เพราะการแข่งขันสูงมาก และเราก็มีหลายเครือบริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีกำลังสูงมาก แต่ก็นั่นแหละ มอลลี กอดดาร์ด, เกรซ เวลส์ บอนเนอร์ส และ Simone Rocha ซึ่งพวกเขากำลังไปได้ดีและผมก็โชคดีที่รู้จักทุกคนเป็นการส่วนตัว

 

ร้าน Paul Smith ที่ลอนดอน

 

โควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างไรบ้างต่อแบรนด์ Paul Smith?

 

ผมคิดว่าถ้าแบรนด์ไหนบอกว่าไม่โดนผลกระทบเขาก็กำลังโกหก ซึ่งแม้แต่แบรนด์ใหญ่ๆ ก็โดนหมดเพราะเขามีร้านค้าทั่วทุกมุมโลกที่ต้องปิดไปนาน แต่ก็โชคดีที่บริษัทเรายังคงมั่นคงอยู่ เพราะได้ความเชื่อมั่นจากร้านที่สั่งเสื้อผ้าของเราไปขายหรือจากลูกค้าโดยตรงเอง 

 

เพราะวิกฤตโควิด-19 ที่เกิดขึ้น คุณต้องปรับรูปแบบธุรกิจของ Paul Smith ไหม?

 

สิ่งที่น่าสนใจคือตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาก่อนจะเจอวิกฤตโควิด-19 พอเรารู้ว่าจะฉลอง 50 ปีของแบรนด์ ผมก็ได้ตั้งหลายคำถามกับตัวเองว่าจะใช้โมเดลธุรกิจอย่างไรสำหรับปีนี้และปีหน้า แม้กิจการเราจะไปได้ดีอยู่แล้ว ผมนั่งคิดว่าเราจะทำคอลเล็กชันเพิ่มขึ้นหรือน้อยลง จัดแฟชั่นมากขึ้นหรือน้อยลง ซึ่งพอโควิด-19 มาเยือน มันก็ทำให้ทุกอย่างชัดเจนขึ้นว่าเราควรจะทำอย่างไรต่อไป โดยปีหน้าเราก็คงทำจำนวนคอลเล็กชันให้น้อยลง และคงต้องพักการเปิดร้านใหม่ชั่วคราวไปก่อน แต่ก็ต้องรุกตลาดอีคอมเมิร์ซเหมือนที่ทุกแบรนด์ได้ทำกัน

 

คุณให้ความสำคัญด้านความยั่งยืน (Sustainability) มากน้อยขนาดไหน?

 

ผมโฟกัสเรื่องนี้มาหลายปีแล้ว และคิดว่าเพราะบริษัทของเราไม่ได้อยู่ภายใต้เครือใหญ่เราก็จะสามารถควบคุมทุกอย่างได้ง่ายขึ้น อย่างเช่นเราใส่ใจเรื่องการต้องรีไซเคิลพวกแพ็กเกจจิ้งของเราทั้งหมด และเกือบทุกร้านของเราในอังกฤษใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ส่วนถ้ามาดูในส่วนของเสื้อผ้า ด้านสเวตเตอร์และเสื้อโปโลกว่า 85% ของเราก็ทำมาจากเส้นใยออร์แกนิกทั้งหมด ซึ่งเราก็ทำมากว่า 25 ปีแล้ว นอกเหนือจากนั้นเรายังมีพนักงาน 1 คนที่ดูแลเรื่องความยั่งยืนทั้งหมดของแบรนด์ ซึ่งก็ไม่ใช่ทุกแบรด์จะมีและให้ความสำคัญ

 

แคมเปญ Fall/Winter 2015 โดย วิเวียน ซัสเซน

 

 

แคปซูลคอลเล็กชันสำหรับครบรอบ 50 ปีของแบรนด์

 

ส่วนด้านความหลากหลาย (Inclusivity)  คุณได้สนใจประเด็นนี้ไหม?

 

สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับการฉลอง 50 ปีในวงการคือ พอเราได้กลับไปดูภาพในอาร์ไคฟ์ของแฟชั่นโชว์ครั้งแรกของเราเมื่อปี 1977 หรือ 1978 ผมจำไม่ได้ชัวร์ๆ แต่เรามีนายแบบผิวสี 2 คน นางแบบผิวสี 1 คน และต่อมาเราก็มีนางแบบนายแบบจากทั้งประเทศคุณ (ประเทศไทย), ญี่ปุ่น และก็เกาหลี ซึ่งตั้งแต่แรกมันก็เป็นเรื่องธรรมชาติสำหรับผมที่จะเปิดกว้างด้านความหลากหลายและร่วมงานกับคนทุกพื้นหลัง

 

คุณบาลานซ์ด้านการเป็นประธานบริษัทและดีไซเนอร์ของแบรนด์ Paul Smith อย่างไร?

 

นี่น่าจะเป็นสิ่งที่ซับซ้อนมากที่สุดในหน้าที่การงานของผม โดยผมจะชอบเปรียบเทียบตัวเองเหมือนนักแสดงกายกรรมที่ละครสัตว์ที่ต้องทำโชว์หมุนจานบนแท่งไม้พร้อมกันทั้งหมด ซึ่งด้านหนึ่งก็คือการต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์อยู่ตลอดเวลาสำหรับการทำเสื้อผ้า แต่อีกด้านก็ต้องดูแลพนักงาน 1,600 คนใน 70 กว่าประเทศ โดยสิ่งที่ผมได้เรียนรู้ตลอดหลายปีที่ผ่านมาคือการที่เราต้องบาลานซ์ทุกอย่างและสามารถเปลี่ยนสวิตช์ได้ตลอดเวลาทั้งวัน อย่างเช่นอีกครึ่งชั่วโมงผมก็มีประชุมกับทีมดีไซน์รอบๆ โต๊ะที่ผมกำลังคุยกับคุณอยู่ ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องเสื้อผ้า แต่เกี่ยวกับรองเท้า, กระเป๋า, แว่นสายตา และแว่นตากันแดดด้วย และพอห้าโมงเย็นผมก็มีสัมภาษณ์กับอีกสื่อหนึ่ง

 

หันมาคุยเรื่องส่วนตัวบ้าง คุณชอบทำอะไรในเวลาว่าง?

 

สิ่งที่ผมคิดถึงมากช่วงล็อกดาวน์คือการได้ไปพิพิธภัณฑ์ แกลเลอรี และโรงหนัง ซึ่งทุกอย่างก็ปิดมานานที่ลอนดอนจนถึงสองสามอาทิตย์ที่ผ่านมา ผมเลยตื่นเต้นที่จะได้กลับไปแกลเลอรี Royal Academy of Arts และ Tate Modern อีกครั้ง แต่ถ้าช่วงล็อกดาวน์ตอนรถไม่ค่อยติด ผมก็ได้ไปปั่นจักรยานที่ทำเป็นประจำและไปเดินยาวๆ นับชั่วโมงกับภรรยาของผม

 

และคุณคุ้นเคยกับประเทศไทยบ้างไหม?

 

ผมชอบไปโรงแรมอมันปุรีที่ภูเก็ต โรงแรมแรกของเครืออมัน รีสอร์ต ซึ่งผมโชคดีมากที่เป็นแขกคนแรกๆ ของโรงแรม เพราะเพื่อนผมเป็นเจ้าของหนึ่งในบ้านพาวิลเลียนที่นั่นและจะไปกันเป็นประจำ ส่วนถ้าที่กรุงเทพฯ ผมก็ชอบไปช้อปปิ้งที่สยามพารากอน และก็ชอบอาหารไทยมาก แม้จะต้องระวังว่ารสชาติจะเผ็ดเกินไป มากไปกว่านั้นผมก็โชคดีที่มีกลุ่มคนติดตามแบรนด์ของเรา ซึ่งพวกเขาก็จะคอยส่งของขวัญเล็กๆ น้อยๆ มาให้เป็นประจำ

 

พอล สมิธ, เอ็ดเวิร์ด เอ็นนินฟูล และ โซฟี ฮิกส์

 

โลโก้สุดคลาสสิกของแบรนด์

 

อะไรที่ทำให้ผู้ชายชื่อ พอล สมิธ อยากจะเดินหน้าต่อไปและหาแรงบันดาลอยู่ตลอดเวลา?

 

ผมเป็นคนที่รักชีวิตและทุกวันก็เป็นเหมือนการเริ่มต้นใหม่ นั่นคือสิ่งที่คุณควรจดไว้และนำไปใช้ “ทุกวันคือการเริ่มต้นใหม่” วันนี้คุณอาจเศร้า มันอาจฝนตกด้านนอก หรือคุณอาจรู้สึกไม่สบายใจ แต่พรุ่งนี้ก็เป็นวันใหม่ ซึ่งการได้แรงบันดาลใจจากการใช้ชีวิตอาจฟังดูคลิเชมาก แต่มันคือความจริงสำหรับผม

 

อนาคตของ Paul Smith จะเป็นอย่างไรต่อ?

 

สิ่งที่ผมภูมิใจมากที่สุดตั้งแต่เราคุยกันวันนี้คือแบรนด์ Paul Smith แม้จะอายุครบ 50 ปีแล้ว แต่เราก็ไม่ล้าหลัง เรายังมีร้านทั่วโลกที่บางสาขาติดกับร้าน Cartier หรือ Louis Vuitton ผมเพิ่งคุยกับเพื่อนเมื่อสองวันก่อนที่มาเก๊า ร้านเราก็ติดกับ Louis Vuitton ซึ่งแม้เราจะอยู่มานานแต่บทบาทของเราก็ยังมีอยู่ โดยถ้าให้พูดถึงอนาคต มันอาจฟังดูงี่เงา แต่ผมก็แค่หวังว่าเราจะยังคงอยู่แบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ มีความติดดิน เป็นบริษัทที่ดีต่อสังคม ให้เกียรติพันธมิตรร้านค้าที่นำสินค้าเราไปขาย และกับลูกค้าโดยตรง ซึ่งช่วงล็อกดาวน์ผมก็ได้ไปสำนักงานใหญ่ของเราทางตอนเหนือของประเทศอังกฤษเพื่อประชุมพูดคุยกับหน่วยต่างๆ ที่ดูแลเรื่องอีคอมเมิร์ซ เรื่องแวร์เฮาส์ และเรื่องหน้าร้านที่ต้องพบปะกับลูกค้า ซึ่งทุกคนก็มีแต่ความรู้สึกดีๆ เกี่ยวกับแบรนด์ของเรา ซึ่งถ้าอนาคต Paul Smtih ยังคงประคองสิ่งนี้ได้อยู่ก็จะเป็นสิ่งที่งดงามมาก 

 

ภาพ: Courtesy of Paul Smith

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising