วารสาร Proceeding of the National Academy of Science (PNAS) ตีพิมพ์งานวิจัยจากองค์การบริหารสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (NOAA) และทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติ ซึ่งพบว่าในบางกรณีพบพลาสติกปริมาณมากกว่าลูกปลาวัยอ่อนในมหาสมุทรหลายเท่า
ผลการศึกษาพบว่าลูกปลาวัยอ่อนจำนวนมากเติบโตใกล้กับผิวน้ำมหาสมุทร ซึ่งถือเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์ที่สำคัญ เนื่องจากมีแพลงก์ตอนที่เป็นอาหารของลูกปลาในปริมาณที่เข้มข้น
แต่จากตัวอย่างคราบบนผิวน้ำทะเลนอกชายฝั่งฮาวาย ทีมนักวิจัยยังพบความหนาแน่นของอนุภาคพลาสติกมากกว่าที่พบในแพขยะใหญ่แปซิฟิก (Great Pacific Garbage Patch) ถึง 8 เท่า และโดยเฉลี่ยพวกเขาพบพลาสติกบนคราบผิวน้ำมากกว่าบนผิวน้ำส่วนอื่นถึง 126 เท่า และในกลุ่มคราบบนผิวน้ำนี้ยังพบพลาสติกมากกว่าจำนวนลูกปลาวัยอ่อนถึง 7 เท่า โดยลูกปลาเหล่านี้กินอนุภาคพลาสติกที่ลอยบนผิวน้ำเข้าไปด้วย ซึ่งลูกปลาจำนวนมากมีโอกาสตกเป็นเหยื่อของปลาใหญ่
สำหรับพลาสติกที่พบบนผิวน้ำมีขนาดเล็กกว่า 1 มิลลิเมตร ซึ่งนักวิจัยตรวจพบอนุภาคพลาสติกชิ้นเล็กๆ ในท้องของปลาตัวอย่าง รวมถึงปลาน้ำลึกและปลาที่อาศัยอยู่ในแนวปะการังด้วย
อย่างไรก็ตาม ทีมนักวิจัยยังไม่แน่ใจถึงผลกระทบจากการกินพลาสติกของปลา แต่มีความกังวลว่าพลาสติกสามารถดูดซึมสารเคมีและนำไปสู่การสะสมทางชีวภาพได้
โจนาธาน วิตนีย์ หนึ่งในนักวิจัยระบุว่า “เพราะมันเกิดขึ้นบนห่วงโซ่อาหาร ดังนั้นจึงสามารถส่งผลกระทบเป็นโดมิโนได้”
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง: