วันนี้ (18 มีนาคม) พรเพชร วิชิตชลชัย รองประธานรัฐสภา ทำหน้าที่เป็นประธานในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 2 (สมัยวิสามัญ) ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการเข้าเสนอชื่อกฎหมาย พ.ศ. …. ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว โดยเป็นการเริ่มต้นพิจารณาในวาระที่ 2 แบบเรียงรายลำดับมาตรา
พล.ต.อ. ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ. …. กล่าวว่า ร่างพระราชบัญญัติการเข้าเสนอชื่อกฎหมาย พ.ศ. …. มีทั้งหมด 20 มาตรา โดยคณะกรรมาธิการได้เปิดรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ และนำความคิดเห็นมาประกอบการพิจารณา ซึ่งเน้นหลักการตามเจตนารมณ์ของร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ คือการส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย อีกทั้งการเข้าเสนอชื่อกฎหมายนั้นต้องเป็นไปอย่างสะดวกและเข้าถึงได้ง่าย
ทั้งนี้ มีสมาชิกรัฐสภาอภิปรายแสดงความคิดเห็นในแต่ละมาตราเกี่ยวกับถ้อยคำและหลักการอย่างกว้างขวาง อาทิ มาตรา 8 ที่ต้องการให้การเข้าชื่อเสนอกฎหมายของประชาชนทำได้สะดวกและรวดเร็วมากขึ้น
นอกจากนี้ มาตรา 8 วรรค 6 กำหนดไว้ชัดเจนว่าการเข้าชื่อผ่านทางระบบออนไลน์ ต้องเป็นระบบออนไลน์ที่มีการยืนยันตัวบุคคล และสามารถตรวจสอบตัวตนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งได้ ขณะเดียวกันยังสามารถใช้การเข้าชื่อเสนอกฎหมายผ่านหนังสือแบบเดิมร่วมกับสื่ออิเล็กทรอนิกส์และระบบออนไลน์ ขอเพียงแค่มี 4,000 รายชื่อที่เป็นแบบหนังสือ หรือ 6,000 รายชื่อ ทางระบบออนไลน์ ก็สามารถนับรวมกัน ถ้าเกิน 10,000 รายชื่อ ก็จะเข้าสู่กระบวนการของสภาต่อไปได้
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติการเข้าเสนอชื่อกฎหมาย พ.ศ. …. ด้วยคะแนนเห็นชอบ 518 งดออกเสียง 1 และไม่ลงคะแนน 3 เสียง
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล