วันที่ 24 ธันวาคมนี้ ยานอวกาศ Parker Solar Probe ของ NASA เตรียมสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ เป็นภารกิจที่เดินทางเข้าไปเฉียดใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด นับตั้งแต่ที่มนุษย์เคยส่งยานอวกาศเดินทางไปสำรวจตลอดช่วงเกือบ 70 ปีที่ผ่านมา
ด้วยระยะห่างเพียง 6,160,000 กิโลเมตรจากพื้นผิวดวงอาทิตย์ หรือชั้นบรรยากาศโพโตสเฟียร์ (Photosphere) ยาน Parker Solar Probe จะเผชิญกับอุณหภูมิสูงกว่า 930 องศาเซลเซียส ขณะพุ่งเข้าไปสำรวจในชั้นโคโรนาของดวงอาทิตย์ เพื่อเพิ่มความเข้าใจที่เรามีเกี่ยวกับดาวฤกษ์หนึ่งเดียวในระบบสุริยะดวงนี้
ก่อนที่ยาน Parker Solar Probe จะเริ่มออกเดินทางไปสำรวจในวันที่ 12 สิงหาคม 2018 สถิติเดิมของยานอวกาศที่เข้าไปเฉียดใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุด ตกเป็นของยาน Helios 2 ที่ทำไว้ 42,730,000 กิโลเมตร ในเดือนเมษายน 1976 ส่วนการเฉียดใกล้ครั้งก่อนหน้านี้ของยาน Parker Solar Probe อยู่ที่ระยะห่าง 7,260,000 กิโลเมตรด้วยกัน
ในเวลาเดียวกัน ยาน Parker Solar Probe จะทุบสถิติเป็นยานอวกาศที่เดินทางได้เร็วที่สุดในประวัติศาสตร์ ด้วยความเร็วสูงถึง 690,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หรือสามารถเดินทางจากกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ได้ใน 3 วินาที
ยานอวกาศลำนี้ใช้เทคนิค Gravity Assist หรือการบินเฉียดผ่านดาวศุกร์ เพื่อนำแรงโน้มถ่วงของดาวเคราะห์ฝาแฝดโลกช่วยลดจุด Perihelion หรือจุดใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดลง โดยหลังการเฉียดใกล้ในวันคริสต์มาสอีฟ 2024 NASA มีแผนให้ Parker Solar Probe บินเฉียดใกล้ดวงอาทิตย์อีกอย่างน้อย 2 ครั้ง ได้แก่ วันที่ 22 มีนาคม และ 19 มิถุนายน 2025
หลังการเฉียดใกล้ดวงอาทิตย์ครั้งสุดท้าย คาดการณ์ว่าภารกิจของยานอวกาศลำนี้จะสิ้นสุดลง เนื่องจากไม่เหลือเชื้อเพลิงให้ใช้ในการปรับตำแหน่งของ Parker Solar Probe ให้แผ่นกันความร้อนคอยปกป้องยานได้อีกต่อไป จนถูกแรงดันและความร้อนจากดวงอาทิตย์หลอมละลายไปจนเกือบหมดในท้ายที่สุด
ภาพ: NASA / Johns Hopkins APL / Steve Gribben
อ้างอิง:
- https://secwww.jhuapl.edu/Parker-Solar-Probe-Closest-Flyby/final-three-approaches
- https://news.engin.umich.edu/2018/08/part-7-the-end-of-the-mission/