×

จากไอเดียบ้าคลั่งสู่ความจริง! เปิดโปงเบื้องหลัง ใครคืออัจฉริยะที่เนรมิตพิธีเปิดโอลิมปิกเกมส์ ปารีส 2024 ให้โลกต้องจารึก?

29.07.2024
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 MIN READ
  • ที่มาของความคิดการจัดพิธีเปิดที่แม่น้ำแซนได้มาจากการเดินเล่นริมแม่น้ำแซน ทำให้ Thierry Reboul นำเสนอไอเดียนี้ต่อคณะกรรมการจัดงาน
  • Thomas Jolly คือคนที่ได้รับการคัดเลือกมาจากคณะกรรมการให้เป็น Artistic Director ด้วยโปรไฟล์ของการเป็นผู้อำนวยการละครเวทีสร้างชื่อจากเรื่อง Starmania
  • หัวใจสำคัญที่ Jolly และ Estanguet เห็นตรงกันคือ ไม่ว่าการแสดงจะวิจิตรงดงามขนาดไหน ‘พระเอกของงานต้องเป็นนักกีฬา’
  • ข้อมูลที่สื่อภายในประเทศฝรั่งเศสรู้คืองบประมาณสำหรับจัดพิธีเปิดการแข่งขันครั้งนี้สูงถึง 120 ล้านยูโร (4,600 ล้านบาท) สูงกว่าพิธีเปิดการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ ลอนดอน 2012 ถึง 4 เท่าด้วยกัน

ปกติแล้วไฮไลต์ที่สำคัญที่สุดสำหรับพิธีเปิดการแข่งขันมหกรรมกีฬาอย่างโอลิมปิกนั้นมักจะอยู่ที่การจุดกระถางคบเพลิง ซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้ายที่เป็นสัญญาณเริ่มต้นการแข่งขัน

 

แต่สำหรับโอลิมปิกครั้งนี้ ‘ปารีส 2024’ ไฮไลต์ของพิธีเปิดการแข่งขันก็คือทั้งหมดของพิธีเลยทีเดียว

 

เหตุผลนั้นเป็นเพราะนี่เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่พิธีเปิดการแข่งขันไม่ได้จัดภายในสนามกีฬา แต่เป็นการออกมาจัดกันข้างนอก และไม่ใช่ข้างนอกธรรมดาด้วยเพราะ ‘เวที’ ที่ใช้นั้นคือแม่น้ำแซน สายน้ำที่เป็นดังหัวใจของปารีส

 

ระยะทางการแสดง 6 กิโลเมตร, นักกีฬา 10,500 คน, เรือ 85 ลำ, คนดู 320,000 คน ระยะเวลาในการแสดง 3 ชั่วโมง 45 นาที ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่รายละเอียดคร่าวๆ ที่สุดของพิธีเปิดการแข่งขันที่ถูกผู้คนทั่วโลกจับตามองตั้งแต่ยังไม่เริ่ม

 

และเมื่อถึงวันจริง ฝนก็ดันโปรยปรายลงมาอย่างหนัก ทำให้งานทุกอย่างยากขึ้นไปอีก! แต่สุดท้ายทุกอย่างก็ผ่านไปด้วยดี

 

นั่นทำให้โลกเริ่มอยากรู้ว่าคนที่ควบคุมทุกอย่างอยู่เบื้องหลังของงานระดับอภิมหาโปรเจกต์แบบนี้คือใคร?

 

แล้วใครกันที่เป็นเจ้าของไอเดียที่ฉีกทุกกฎแบบนี้?

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

แรงบันดาลใจจากการเดินเล่นริมน้ำ

 

คนแรกผู้เป็นจุดเริ่มต้นของทุกสิ่งคือ Thierry Reboul ที่นำเสนอแนวคิดแปลกใหม่ที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อนสำหรับพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก

 

ณ กรุงปารีส วันที่ 2 พฤษภาคม 2567 มีการจัดงานแถลงข่าวหลังจากการรับฟังบทเพลงสำหรับพิธีเปิดโอลิมปิกเกมส์ ปารีส 2024 ณ ห้องบันทึกเสียงแห่งหนึ่ง โดยมีผู้ร่วมงานสำคัญหลายท่าน นำโดย Victor Le Masne นักดนตรีและผู้ประพันธ์เพลงชาวฝรั่งเศส ผู้สร้างสรรค์บทเพลงเปิดงานมหกรรมกีฬาโอลิมปิกเกมส์ ปารีส 2024 พร้อมด้วย Thomas Jolly ผู้กำกับศิลป์ประจำพิธีเปิดและปิดการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์และพาราลิมปิกเกมส์ ปารีส 2024 ร่วมด้วย Thierry Reboul ผู้อำนวยการบริหารฝ่ายแบรนด์ ความคิดสร้างสรรค์ และการมีส่วนร่วมแห่งปารีส 2024 และ Tony Estanguet ประธานคณะกรรมการจัดการแข่งขันโอลิมปิกและพาราลิมปิกเกมส์ ปารีส 2024 (COJO) – (ภาพ Joel Saget / AFP)

 

เพราะปารีสไม่ได้เป็นเจ้าภาพมหกรรมกีฬาของมวลมนุษยชาติมาถึง 100 ปี Reboul ต้องการที่จะสร้างความแปลกใหม่ให้โลกต้องจารึก ซึ่งไอเดียของเขาที่นำเสนอต่อ Tony Estanguet ประธานคณะกรรมการจัดการแข่งขันก็คือ แทนที่เราจะจัดพิธีเปิดกันในสนามกีฬาเหมือนทุกที ทำไมเราไม่ไปจัดกันข้างนอก?

 

จัดกันที่แม่น้ำแซนเลย

 

ที่มาของความคิดนี้ Reboul ได้มาจากวันหนึ่งที่เขาเดินเล่นริมแม่น้ำแซน สายน้ำยาวคดเคี้ยวแห่งเดียวที่ชาวเผ่า Parisii ตัดสินใจที่จะปักหลักตั้งรกรากกันที่นี่ตั้งแต่เมื่อ 2,000 ปีที่แล้ว ซึ่งปัจจุบันแม้เมืองปารีสจะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากมายแค่ไหน ‘ลาแซน’ ก็ยังคงอยู่ปารีสตรงนี้เหมือนเดิม

 

เวลานั้นเองที่ Reboul คิดออกว่า “มันจะต้องเกิดขึ้นที่นี่ มันต้องเป็นที่นี่อย่างแน่นอน จะเป็นที่อื่นไปไม่ได้อีกแล้ว”

 

เมื่อได้รับฟังข้อเสนอจาก Reboul คนที่มีหน้าที่ในการตัดสินใจอย่าง Estanguet ถึงกับตะลึง “มันเป็นความคิดที่ทะเยอทะยาน กล้าหาญ และบ้าคลั่งอย่างยิ่ง”

 

ปฏิกิริยานี้ไม่ต่างอะไรจาก Emmanuel Macron ประธานาธิบดีฝรั่งเศส เมื่อได้ยิน แต่สุดท้ายไอเดียนี้ก็ได้รับความเห็นชอบ ซึ่งรวมถึงจากฝ่ายจัดการแข่งขันด้วยให้เดินหน้าต่อไปได้

 

เวลานั้นคือปี 2019 หรือ 5 ปีที่แล้ว

 

ผู้ถ่ายทอดจิตวิญญาณฝรั่งเศส

 

แต่ถึง Reboul จะมีชื่อเสียงในวงการในฐานะ ‘เจ้าพ่ออีเวนต์’ ที่จัดงานมาแล้วนักต่อนัก แต่เขารู้ว่าเขาจำเป็นต้องมีคนที่จะมาช่วยงาน โดยเฉพาะในเรื่องของการแสดง

 

เพราะนี่คือ ‘โอกาส’ ที่ฝรั่งเศสจะได้ประกาศอะไรก็ตามที่อยากจะบอกให้โลกได้รู้ไปทีเดียวพร้อมกัน

 

Thomas Jolly คือคนที่ได้รับการคัดเลือกมาจากคณะกรรมการให้เป็น Artistic Director ด้วยโปรไฟล์ของการเป็นผู้อำนวยการละครเวทีสร้างชื่อจากเรื่อง Starmania ซึ่งหน้าที่ของเขาที่ได้รับมอบหมายมาไม่มีอะไรมากและไม่มีอะไรยาก

 

ก็แค่การถ่ายทอดจิตวิญญาณของฝรั่งเศสทุกอย่างให้โลกได้รู้

 

จากวรรณกรรม วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์

 

“ผมเคยทำแค่การดีไซน์การแสดงบนเวที ครั้งนี้เมืองทั้งเมืองคือผืนผ้าใบของผม”

 

Jolly เองก็ไม่ต่างจาก Reboul เขาทำงานทุกอย่างไม่ได้ในคนเดียว และจำเป็นต้องมี ‘ทีม’ เข้ามาช่วยสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นผู้อำนวยการด้านดนตรี, ผู้ออกแบบท่าเต้น, ดีไซเนอร์ออกแบบชุด โดยทุกคนล้วนแต่เป็น ‘มือดี’ ในวงการ ซึ่งรวมถึง เลลา สไลมานี นักเขียน, Fanny Herrero มือเขียนบทที่สร้างละครเวทีเรื่อง Call My Agent! และอีกมากมาย

 

ทุกคนมารวมตัวกันเพื่อเนรมิตการแสดงพิธีเปิดการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ที่ปารีส ไม่ใช่แค่สวยงามที่สุด

 

แต่ 12 องก์ของการแสดงจะต้องถูกจดจำตลอดไป

 

ประวัติศาสตร์จะไม่ซ้ำ ประวัติศาสตร์จะต้องเปลี่ยน

 

ก่อนที่บทสำหรับการแสดงต่างๆ จะถูกเขียนขึ้น สิ่งที่ Jolly และทีมทำคือการทำในสิ่งเดียวกับที่ Reboul เคยทำมาก่อน

 

พวกเขาชวนกันไปเดินเล่นริมแม่น้ำแซนเพื่อหาแรงบันดาลใจ รวมถึงเพื่อศึกษาประวัติศาสตร์ที่ถูกซ่อนไว้ในแต่ละจุดแต่ละสถานที่

 

เช่น สะพาน Pont Neuf อันเก่าแก่ที่สุดของปารีส ก่อสร้างเสร็จในยุคของกษัตริย์เฮนรีที่ 4 ในปี 1607 หรือกว่า 500 ปีมาแล้ว

 

หรือสะพาน Pont d’Austerlitz ก็เป็นสะพานที่สร้างในยุคสมัยของ Napoleone Buonaparte ผู้เกรียงไกร ซึ่งต่อมากลายเป็นจุดเริ่มต้นของพิธีเปิดการแข่งขันด้วย

 

“เราดิ่งลงไปในอดีตกับเรื่องราวของแต่ละฝั่งแต่ละอนุสาวรีย์ และก็พบว่าหินแทบทุกก้อนนั้นคือตัวบอกเรื่องราวประวัติศาสตร์ของฝรั่งเศส ประวัติศาสตร์ของปารีส และประวัติศาสตร์ที่เชื่อมโยงกับโลก”

 

พวกเขาได้ต้นทุนแรงบันดาลใจสำหรับการสร้างสรรค์ผลงานในระดับมาสเตอร์พีซแล้ว พอจะนึกออกว่าจะใส่อะไรไว้ตรงไหน จะเล่าเรื่องราวของสถานที่แห่งนี้อย่างไร และจะบิดเรื่องราวเพื่อให้เข้ากับยุคสมัยได้มากน้อยแค่ไหน

 

แต่หัวใจสำคัญที่ Jolly และ Estanguet เห็นตรงกันคือ ไม่ว่าการแสดงจะวิจิตรงดงามขนาดไหน

 

พระเอกของงานต้องเป็นนักกีฬา

 

และนั่นทำให้พวกเขาเลือกให้นักกีฬาอยู่ในจุดที่ดีที่สุดสำหรับการแสดงพิธีเปิดในครั้งนี้ คือการให้อยู่บนดาดฟ้าของเรือที่ล่องไปตามแม่น้ำแซน

 

สิ่งที่ Jolly, Reboul หรือ Estanguet ทำได้ดีมากคือการปิดข้อมูลทุกอย่างเป็นความลับ ทั้งๆ ที่มีคนเข้ามาเกี่ยวข้องกับงานนี้หลายพันคน

 

การแสดงจะมีโชว์ของใครบ้าง มีศิลปินคนไหนมาสร้างสีสัน ไปจนถึงการจุดคบเพลิง ต่อให้มีกระแสข่าวแพร่งพรายออกมาบ้าง เช่น การปรากฏตัวของ Lady Gaga และ Céline Dion ที่แฟนๆ ค่อนข้างมั่นใจว่าจะมีโชว์ในพิธีเปิดการแข่งขัน แต่อย่างอื่นไม่มีอะไรหลุดออกมาอีกเลย

 

เช่นกันกับเรื่องของงบประมาณในการจัดพิธีเปิดครั้งนี้ ยังไม่มีการเปิดเผยออกมาแต่อย่างใด

 

ข้อมูลที่สื่อภายในประเทศฝรั่งเศสรู้คืองบประมาณสำหรับจัดพิธีเปิดการแข่งขันครั้งนี้สูงถึง 120 ล้านยูโร (4,600 ล้านบาท) สูงกว่าพิธีเปิดการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ ลอนดอน 2012 ถึง 4 เท่าด้วยกัน ซึ่งก็เป็นตัวเลขที่ไม่น้อยสักเท่าไร

 

ภาพบรรยากาศอันน่าตื่นตาตื่นใจของพิธีเปิดโอลิมปิกเกมส์ที่จัดขึ้นกลางแม่น้ำแซน โดยมีจัตุรัสทรอ Trocadéro อันโด่งดังเป็นฉากหลัง ผู้คนมากมายต่างมารวมตัวกันเพื่อชมขบวนเรือของนักกีฬาเจ้าบ้าน สะท้อนให้เห็นถึงความตื่นเต้นและการมีส่วนร่วมของประชาชนในเทศกาลกีฬาระดับโลกครั้งนี้ (ภาพ: Richard Heathcote / POOL / AFP)

 

แต่เมื่อคิดถึงจำนวนนักแสดง 3,000 คน และหากรวมช่างเทคนิคต่างๆ จะมีคนทำงานรวมกันแล้วมากกว่า 15,000 คน โดยยังไม่ได้นับกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจอีกกว่า 45,000 คน ที่ต้องดูแลความปลอดภัยตลอดเส้นทาง ก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ โดยจะมีรายได้บางส่วนกลับมาจากการจำหน่ายตั๋วชมริมสองฝั่งแม่น้ำที่มีจำนวนกว่า 320,000 คน โดยค่าตั๋วเข้าชมมีตั้งแต่ 90-2,700 ยูโร (3,500-105,000 บาท)

 

อย่างไรก็ดี มูลค่าการลงทุนตรงนี้ยากที่จะคำนวณหาจุดคุ้มทุนได้ และกับบางเรื่องบนโลกใบนี้ ตัวเลขก็ไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุดเสมอไป

 

สิ่งสำคัญที่สุดตอนนี้คือการทำให้โชว์ออกมาดีที่สุดทุกฉาก ทุกตอน ทุกองก์

 

และ Jolly ก็ไม่ทำให้ทุกคนผิดหวัง

 

ติดตรึงในความทรงจำ

 

จากการปรากฏตัวของ Zinedine Zidane ตำนานนักฟุตบอลทีมชาติฝรั่งเศส ที่เป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราว

 

‘พระเอก’ ของงานคือนักกีฬา 10,500 คนจาก 206 ชาติบนเรือ 85 ลำ เริ่มต้นเดินทางจากสะพาน Pont d’Austerlitz โดยระหว่างทาง 6 กิโลเมตรนั้นมีโชว์มากมายเกิดขึ้น

 

บทเพลงของ Lady Gaga ที่ขับร้องเพลง Mon Truc en Plumes ผลงานของ Zizi Jeanmaire ในแบบภาษาฝรั่งเศสทั้งหมด สู่การเต้น Cancan Dance ในตำนานที่สืบทอดมาตั้งแต่ปี 1820 จากโรงละคร Mourin Rouge

 

การปรากฏตัวของผู้เชิญคบเพลิงปริศนาที่ปีนป่าย (Parkour) ไปทั่วเมืองปารีส ลำนำเพลงปฏิวัติ Ça Ira ที่ระเบิดออกมาด้วยพลังเฮฟวีเมทัลของ Gojira พร้อมกับพระนางมารี อองตัวเน็ตต์

 

สู่สีสันจัดจ้านของ Aya Nakamura ในบทเพลง ‘Pookie, Djadja’, La Bohème’ โดยใช้สะพาน Pont des Arts เป็นแคตวอล์ก และการเดินแฟชั่นผสมผสานการเต้นรำของกลุ่มแดร็กควีน Nicky Doll (แม้จะเจอประเด็นเรื่องการล้อเลียนภาพ The Last Supper ก็ตาม)

 

ความทรงจำสีจางๆ จากฉากในเรื่อง ‘L’Arrivée d’un train en gare de La Ciotat’ ภาพยนตร์สั้นของพี่น้องลูมิแยร์ที่จุดประกายให้แก่โลกภาพยนตร์, จรวดที่ปักบนหน้าพระจันทร์จากเรื่อง ‘Le Voyage dans la Lune’ โดย Georges Méliès ภาพยนตร์ที่เป็นต้นกำเนิดของการสร้างสเปเชียลเอฟเฟกต์

 

รอยยิ้มอ่อนๆ จากการได้เห็น Le Petit Prince หรือเจ้าชายน้อย ไปสู่รอยยิ้มกว้างและเสียงหัวเราะลั่นไปกับเหล่า Minions ตัวแสบที่หลายคนเพิ่งจะรู้ว่าเป็นผลงานของคนฝรั่งเศส

 

บทเพลงแห่งสันติภาพ ‘Imagine’ โดยนักเปียโน Sofiane Pamart และนักร้อง Juliette Armenet บนแม่น้ำแซน ก่อนที่อัศวินหญิงเกราะสีเงินที่เป็นเหมือนตำนาน Joan de Arc จะเป็นผู้เชิญธงโอลิมปิกมาส่งให้

 

การกลับมาอีกครั้งของ Zidane บนเวทีที่ลาน Trocadéro เพื่อรับมอบคบเพลิง ก่อนจะส่งคบเพลิงโอลิมปิกไปสู่ Rafael Nadal ที่แม้จะไม่ใช่คนฝรั่งเศส แต่คนฝรั่งเศสก็รักเพราะเป็นราชาของเฟรนช์โอเพน

 

สู่การส่งมอบให้แก่ตำนานโอลิมปิกผู้ยิ่งใหญ่ในอดีตของฝรั่งเศสจากรุ่นสู่รุ่น โดยระหว่างนั้นหอไอเฟลเปล่งประกายอย่างเจิดจ้าสวยงาม ด้วยการแสดงแสงสีเสียงที่ตระการตาที่สุดครั้งหนึ่งของโลก

 

คบเพลิงโอลิมปิกอยู่ที่สวน Jardin des Tuileries ถูกจุดแบบฉีกกฎเกณฑ์อีกครั้ง เมื่อถูกจุดบนบอลลูนร้อนอีกหนึ่งสิ่งประดิษฐ์ที่ชาวฝรั่งเศสภาคภูมิใจในอดีต ทำให้ทุกคนในปารีสมองเห็นคบเพลิงโอลิมปิกได้จากทุกมุมของเมือง

 

และปิดท้ายด้วยเสียงอันทรงพลังของ Céline Dion ที่หายป่วยจากโรคร้ายหายาก Stiff Person Syndrome กลับมาขับขานเพลง ‘Hymne à L’Amour’ เป็นภาษาฝรั่งเศสที่ไพเราะบนหอไอเฟล สถานที่ที่ครั้งหนึ่งเธอเคยบอกไว้ว่าอยากจะร้องเพลงบนนี้ดูสักครั้ง และเธอทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์แบบ

 

ภาพนี้บันทึกช่วงเวลาอันน่าประทับใจของพิธีเปิดโอลิมปิกเกมส์ โดยมีศิลปินระดับโลกอย่าง Céline Dion ร่วมขับกล่อมบทเพลงบนสัญลักษณ์อันโด่งดังของกรุงปารีสอย่างหอไอเฟล นับเป็นภาพที่สะท้อนถึงความยิ่งใหญ่และความงดงามของพิธีเปิดการแข่งขันครั้งนี้ (ภาพ: POOL / Olympic Broadcasting ServicesAFP)

 

Jolly, Reboul และทุกคนก็เช่นกัน พวกเขาทำได้อย่างสมบูรณ์แบบที่สุดเท่าที่จะทำได้แล้ว

หาก ‘เซอร์ไพรส์’ คือสิ่งเดียวที่ Artistic Director หวังไว้ว่าทุกคนจะรู้สึกเมื่อได้ชมโชว์ทั้งหมดจากพวกเขา

 

งานของพวกเขาสำเร็จแล้ว และสำเร็จอย่างงดงาม พวกเขาถ่ายทอดจิตวิญญาณ เรื่องราว ประวัติศาสตร์ ศิลปะ วัฒนธรรม ตำนาน วิถีชีวิต ทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นฝรั่งเศสออกมาให้โลกได้รู้

 

มันอาจจะไม่ได้เป็นพิธีเปิดที่ดีที่สุด แต่จะเป็นพิธีเปิดที่ไม่มีใครลืมอย่างแน่นอน

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising