×

สรุปประชุมผู้นำยุโรป เพิ่มงบความมั่นคง-หนุนสันติภาพยูเครน

18.02.2025
  • LOADING...
ประธานาธิบดีมาครงจัด ประชุมผู้นำยุโรปปารีส หารือประเด็นความมั่นคงและสันติภาพยูเครน

เอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส จัดการประชุมผู้นำยุโรปวาระเร่งด่วนขึ้นที่กรุงปารีส เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ท่ามกลางความกังวลจากท่าทีของสหรัฐฯ ที่เดินหน้าความพยายามเจรจาสันติภาพยุติสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน โดยการเจรจาครั้งแรกที่กรุงริยาด เมืองหลวงของซาอุดีอาระเบีย เปิดฉากในวันนี้ (18 กุมภาพันธ์) โดยไร้เงาชาติยุโรปและยูเครนเข้าร่วมโต๊ะเจรจา 

 

ผลการประชุมวาระเร่งด่วนที่เกิดขึ้น สะท้อนรอยร้าวความสัมพันธ์ระหว่างยุโรปและสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ มากแค่ไหน และจะมีผลอย่างไรต่ออนาคตของยูเครน และการยุติสงครามต่อต้านการรุกรานของรัสเซียที่ดำเนินมาเกือบ 3 ปีเต็ม

 

และนี่คือ บทสรุปสำคัญจากวงประชุมร้อนที่เกิดขึ้น

 

เพิ่มงบความมั่นคงยุโรป

 

บรรดาผู้นำประเทศยุโรปต่างเห็นพ้องที่จะเพิ่มงบด้านความมั่นคงยุโรป เพื่อรับมือกับความท้าทายต่างๆ โดยเฉพาะความไม่แน่นอนของสหรัฐฯ ภายใต้การนำของทรัมป์ที่อาจจะลดระดับความร่วมมือด้านการทหารและความมั่นคงกับยุโรปลง รวมถึงภัยคุกคามจากรัสเซีย

 

รอยร้าวในความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และยุโรปเห็นชัดยิ่งขึ้นหลังจากที่ พีต เฮกเซธ รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ได้เน้นย้ำในที่ประชุม NATO ที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียมก่อนหน้านี้ว่า สหรัฐฯ จะไม่มุ่งเน้นหรือให้ความสำคัญกับความมั่นคงของยุโรปอย่างเช่นในอดีต อีกทั้ง เจ. ดี. แวนซ์ ก็ยังกล่าวโจมตีผู้นำยุโรปว่าจำกัดเสรีภาพในการพูดของพลเมืองยุโรป โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับผู้อพยพ ซึ่งเป็น ‘ภัยคุกคามภายในภูมิภาค’ ที่อันตรายกว่าจีนและรัสเซีย 

 

ประเทศส่วนใหญ่ในยุโรป รวมถึงสหรัฐฯ ต่างเป็นสมาชิกขององค์การ NATO โดยปัจจุบันมีสมาชิกเพียง 23 จาก 32 ประเทศ หรือราว 2 ใน 3 เท่านั้นที่ใช้จ่ายด้านการป้องกันความมั่นคง อย่างน้อย 2 % ของ GDP โดย NATO ออกมาเน้นย้ำว่า 2% นี้ควรจะเป็นขั้นต่ำของการใช้จ่าย ไม่ใช่เพดานสูงสุด โดยคาดว่า NATO จะมีการปรับเป้าหมายการใช้จ่ายด้านความมั่นคงใหม่ เพิ่มเป็น 3%-3.5% ของ GDP

 

สนับสนุนสันติภาพในยูเครน

 

ผู้นำยุโรป รวมถึงประธานสภายุโรป ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป และเลขาธิการ NATO ต่างเห็นพ้องในการสนับสนุนสันติภาพในยูเครน เพราะประเทศต่างๆ เชื่อว่า ชัยชนะของรัสเซียในสงครามยูเครนอาจหมายถึงหายนะของความมั่นคงในยุโรป 

 

ทางด้าน โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน ที่ถึงแม้จะไม่ได้เข้าร่วมประชุมผู้นำยุโรปวาระเร่งด่วนในครั้งนี้เพราะต้องเดินทางเยือนสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพื่อผลักดันการเจรจาเรื่องการแลกเปลี่ยนนักโทษและการส่งเด็กยูเครนกลับจากรัสเซีย แต่เซเลนสกีก็เฝ้าติดตามการประชุมนี้ รวมถึงเวทีเจรจาหารือของสหรัฐฯ-รัสเซียที่กรุงริยาดที่จะจัดขึ้นในวันนี้ (18 กุมภาพันธ์) อย่างใกล้ชิด 

 

เซเลนสกีเน้นย้ำว่า ยูเครนจะไม่ยอมรับเงื่อนไขใดๆ ที่เจรจากันระหว่างรัสเซียและรัฐบาลทรัมป์โดยไม่มียูเครนเข้าร่วม อีกทั้งหากมีการเจรจากับรัสเซียเกิดขึ้น ยุโรปต้องอยู่บนโต๊ะเจรจาด้วย สิ่งนี้สำคัญต่อยูเครนมาก และยืนยันว่า ไม่มีผู้แทนยูเครนในที่ประชุมดังกล่าวที่ซาอุดีอาระเบีย

 

ส่งกองกำลังสันติภาพ สร้างหลักประกันให้ยูเครน

 

หลังจากที่ผู้นำยูเครนเรียกร้องให้มีการจัดตั้ง ‘กองทัพยุโรป’ เพื่อเป็นหลักประกันด้านความมั่นคงให้แก่ประเทศต่างๆ ยุโรป รวมถึงแนวคิดที่จะส่งกองกำลังรักษาสันติภาพไปยังยูเครน เพื่อสนับสนุนข้อตกลงสันติภาพใดๆ นั้น ทำให้ยุโรป ‘เสียงแตก’ โดยดูเหมือนว่าผู้นำฝรั่งเศสและสหราชอาณาจักรจะเห็นพ้องกันในประเด็นดังกล่าว ขณะที่ โอลาฟ ช็อลท์ นายกรัฐมนตรีเยอรมนีระบุว่า การส่งกองกำลังรักษาสันติภาพไปยังยูเครนนั้น ‘ยังเร็วเกินไป’ และ ‘ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง’ ในขณะที่สงครามยังคงดำเนินอยู่ ซึ่งหลายประเทศก็ยังคงสงวนท่าทีในประเด็นนี้ เพราะนั่นอาจหมายถึงการต้องแบกรับความเสี่ยงที่เพิ่มมากขึ้น 

 

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมยุโรปเห็นพ้องกันว่า การบรรลุข้อตกลงหยุดยิงในยูเครน โดยไม่มีการเจรจาสันติภาพ จะเป็นอันตรายต่อทั้งยูเครนและยุโรปในอนาคต อีกทั้งระดับการสนับสนุนของสหรัฐฯ ก็มีส่วนสำคัญต่อระดับความพร้อมของบรรดาชาติยุโรปที่จะประกันความปลอดภัยให้แก่ยูเครน

 

เคียร์ สตาร์เมอร์ นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรระบุว่า เขายินดีที่จะส่งกองกำลังรักษาสันติภาพไปยังยูเครน แต่จะต้องมีหลักประกันด้านความมั่นคงจากสหรัฐฯ สำหรับประเทศในยุโรปที่จะส่งกำลังพลไปยังยูเครนด้วย  เพราะนั่นจะเป็นเพียงหนทางเดียวที่จะป้องปรามรัสเซียจากการโจมตียูเครนอีกครั้งได้อย่างมีประสิทธิภาพ และอาจจะยังเร็วเกินไปที่เขาจะระบุว่า สหราชอาณาจักรจะส่งทหารไปจำนวนเท่าใด

 

นักวิเคราะห์มองว่า กองกำลังสันติภาพไม่เพียงแต่จะเพิ่มความเสี่ยงในการเผชิญหน้าโดยตรงกับรัสเซีย แต่ยังเพิ่มความตึงมือให้กับกำลังทหารของยุโรปด้วย เนื่องจากคลังอาวุธของกองทัพประเทศต่างๆ ในยุโรปได้ลดน้อยถอยลงจากการลำเลียงเสบียงและส่งมอบความช่วยเหลือไปยังยูเครนตลอดช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา

 

นอกเหนือไปจากประเด็นสำคัญที่กล่าวมาแล้วข้างต้น การประชุมผู้นำยุโรปครั้งนี้ยังอาจสะท้อนถึงรอยร้าวภายในยุโรปเองด้วย หลังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากประเทศแนวหน้าของยุโรปที่ไม่ได้รับเชิญเข้าร่วมประชุม แสดงความเห็นว่า การจัดประชุมครั้งนี้ของมาครงอาจทำให้ความสามัคคีของสหภาพยุโรปเกิดความแตกแยก พร้อมทั้งระบุว่า การประชุมนี้ควรจัดขึ้นโดย อันโตนิโอ กอสตา ประธานคณะมนตรียุโรป ไม่ใช่มาครง

 

ขณะที่ แมรี เอลิส ซาโรตต์ นักประวัติศาสตร์การทูตชาวอเมริกันระบุว่า ชาวยุโรปทั้งหมดจะต้องยืนหยัดร่วมกัน แต่การประชุมแบบเลือกเฉพาะ (Selective Meeting) ที่ไม่ได้เชิญทุกประเทศในยุโรปเข้าร่วม อาจไม่ใช่จุดเริ่มต้นที่ดี สำหรับยุโรปที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน โดยที่ผ่านมามาครงมักจะใช้ช่องว่างของความเป็นผู้นำในยุโรปเรียกประชุมอย่างไม่เป็นทางการ เพื่อพูดคุยหารือเกี่ยวกับการตอบสนองร่วมกันต่อการถอยห่างออกไประหว่างสหรัฐฯ และยุโรป

 

ที่ปรึกษาของมาครงเผยว่า การประชุมครั้งนี้จะเป็นการประชุมครั้งแรกในอีกหลายๆ การประชุมของบรรดาผู้นำยุโรปที่จะตามมาหลังจากนี้ ซึ่งจะดึงประเทศอื่นๆ เข้าร่วมด้วยในอนาคต

 

ภาพ: Abdul Saboor / Reuters

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising