ความลังเลใจของชาวเกาหลีใต้ในการมีลูก กำลังกระตุ้นให้มีเกิดความพยายามครั้งใหม่ในการป้องกันวิกฤตด้านประชากรศาสตร์ ที่กำลังเป็นปัจจัยคุกคามและสร้างผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและระบบสวัสดิการสังคมของประเทศ
ปีที่แล้วเกาหลีใต้คว้าตำแหน่งประเทศที่มีภาวะเจริญพันธุ์ที่ต่ำสุดในโลก ถึงขนาดที่มีการประเมินว่าจำนวนประชากรจะลดลงครึ่งหนึ่งภายในสิ้นศตวรรษ ซึ่งแม้แต่ อีลอน มัสก์ ก็ยังมองว่าสถานการณ์ของเกาหลีนั้น ‘เลวร้าย’
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- เมื่อการมีครอบครัวไม่ใช่ตัววัดความสำเร็จ ‘ชาว Gen Z’ โดยเฉพาะ ‘ผู้หญิง’ ในแดนมังกร จึงไม่อยาก ‘แต่งงานและมีลูก’ มากขึ้น
- ผลสำรวจเผย 1 ใน 4 ของคนโสดในวัย 30 ปีของญี่ปุ่น ‘ไม่ต้องการแต่งงาน’ เพราะไม่อยากสูญเสียเสรีภาพ การทำงานบ้าน และภาระทางการเงิน
- ไม่น้อยหน้าคนมีคู่! บริษัทเกาหลีใต้ให้ ‘เงินอุดหนุนและวันหยุด’ สำหรับ ‘คนโสด’ รวมถึงผู้ที่มีสัตว์เลี้ยง ส่วนกรุงโซลทุ่มเงิน 1.5 แสนล้าน เพื่อพัฒนาความเป็นอยู่
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นถึงขั้นเป็น ‘ภัยพิบัติระดับชาติ’ ประธานาธิบดียุนซอกยอลวางแผนที่จะเพิ่มการจ่ายเงินสดให้กับผู้ปกครองที่กำลังจะมีลูก แต่ก็อาจช่วยไม่ได้มากนัก
สำหรับผู้หญิงที่คิดจะมีลูก เงินอุดหนุนชั่วคราวอาจช่วยบรรเทาความกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายในช่วงหลายปีได้เพียงเล็กน้อย การมีลูกในประเทศเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้วนั้นมีราคาแพง แต่ในเกาหลีมีหลักฐานว่าพ่อแม่ทุ่มเงินให้กับอนาคตของลูกมากกว่าประเทศอื่นๆ
ครอบครัวชาวเกาหลีใช้จ่ายประมาณ 6,000 ดอลลาร์ หรือราว 225,000 บาท สำหรับลูกที่กำลังเรียนในช่วงมัธยมต้นหรือมัธยมปลายแต่ละคน การประเมินพบว่าส่วนใหญ่แล้วถูกใช้ในโรงเรียนกวดวิชา
ก่อนจะถึงวัยเรียน ค่าใช้จ่ายที่ใหญ่ที่สุดที่ปูทางไปสู่การมีบุตรคือการหาที่พักอาศัยที่เหมาะสม ซึ่งสำหรับครอบครัวหนุ่มสาวในเกาหลีต้องใช้เงินจำนวนมากหรือเงินกู้ ซึ่งราคาที่อยู่อาศัยเพิ่มสูงขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
หากไม่ใช้เงินกู้ คนเกาหลีต้องมีเงินสะสมเทียบเท่ารายได้เฉลี่ยต่อปีต่อเนื่อง 18 ปีหากจะซื้อบ้านในโซล จำนวนเงินที่น่าสยดสยองเหล่านี้เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คู่รักไม่ได้เร่งรีบในการมีบุตร
ขณะเดียวกันเกาหลีใต้มีสัดส่วนของผู้หญิงที่ต้องออกจากงานในช่วง 25-39 ปี สูงที่สุดในบรรดาองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากภาระในการดูแลเด็กและงานบ้าน
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การดูแลเด็กอาจเป็นเรื่องยุ่งยาก จากข้อมูลล่าสุดของรัฐบาลพบผู้ปกครอง 44.7% ต้องรอให้ลูกเข้าสถานรับเลี้ยงเด็กถึงจะมีเวลาทำอย่างอื่น และใช้เวลารอโดยเฉลี่ย 6.9 เดือนกว่าจะหาสถานที่ได้ ดังนั้น การสร้างสถานรับเลี้ยงเด็กให้มากขึ้นเป็นหนึ่งในมาตรการที่ผู้ปกครองต้องการมากที่สุด
นอกจากนี้ เมื่อผู้หญิงพยายามที่จะกลับมาทำงานอีกครั้ง ตำแหน่งที่ได้รับมักจะไม่ค่อยแน่นอนเท่าไร ซึ่งทำให้เกาหลีใต้มีช่องว่างค่าจ้างทางเพศที่เลวร้ายที่สุดในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว และการต่อสู้เพื่อฟื้นฟูอาชีพการงานยังทำให้ผู้หญิงไม่สามารถมีลูกได้มากกว่าหนึ่งคน
ผู้หญิงรู้สึกว่าถูกกีดกันและมีบทบาทน้อยในสังคมปิตาธิปไตยอย่างต่อเนื่องของเกาหลี ผู้ชายรู้สึกไม่ค่อยชื่นชมและมีภาระกับความคาดหวังทางการเงิน ซึ่งนี่อาจเป็นคำอธิบายได้ว่าทำไมการแต่งงานถึงลดลง สำนักงานสถิติระบุว่า คู่รัก 192,500 คู่จดทะเบียนสมรสกันเมื่อปีที่แล้ว ลดลง 42% จากเมื่อ 10 ปีก่อน
กลุ่มผู้ชายเองยังไม่พอใจเกี่ยวกับข้อกำหนดการรับราชการทหารที่ยาวที่สุดข้อหนึ่งในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว กองกำลังติดอาวุธของเกาหลีใต้คิดเป็น 2.1% ของกำลังแรงงานทั้งหมด ซึ่งสูงเป็นอันดับ 4 ในกลุ่มประเทศ OECD ตามข้อมูลจากเว็บไซต์ธนาคารโลก โดยผู้ชายเกือบทุกคน รวมทั้งดาราดังที่ใหญ่ที่สุดของประเทศจะต้องเข้ากรมเป็นเวลา 18 เดือน
นอกจากนี้ยังพบด้วยว่า เด็กเกาหลีมีความสุขกับตัวเองน้อยกว่าประเทศ OECD อื่นๆ ตามรายงานของทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยยอนเซในกรุงโซล วัยเด็กที่ไม่มีความสุขอาจทำให้ผู้คนไม่อยากจะมีลูกเมื่อโตขึ้น
“สภาพแวดล้อมทั้งหมดต้องเปลี่ยนไป เพื่อให้ผู้หญิงสามารถเลี้ยงลูกได้อย่างมีความสุข” ฮอมินซุก จากสำนักวิจัยสมัชชาแห่งชาติเกาหลีกล่าว “มันไม่มีประโยชน์ที่จะนำเงินไปอุดหนุนอย่างไม่ยั่งยืน มีเพียงประเทศที่มีความเท่าเทียมทางเพศสูงเท่านั้นที่จะมีอัตราการเกิดที่สูงได้”
อ้างอิง:
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
- Twitter: twitter.com/standard_wealth
- Instagram: instagram.com/thestandardwealth
- Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP