ประเด็นด้านการเกษตรและสาธารณสุขที่ร้อนที่สุดในบ้านเราตอนนี้คงจะหนีไม่พ้นการที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติ 16 ต่อ 5 เสียง ยืนยันตามมติเดิมเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2561 ไม่ยกเลิกการใช้สารเคมีพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต โดยให้ใช้กับพืช 6 ประเภท คือ ยางพารา ปาล์ม มันสำปะหลัง อ้อย ข้าวโพด และไม้ผลที่ขึ้นทะเบียน และให้พิจารณาเรื่องนี้อีกครั้งใน 2 ปีข้างหน้า เว้นแต่สามารถหาสารเคมีอื่นทดแทนก่อนได้
มติคณะกรรมการครั้งนี้ได้สร้างความสงสัยให้กับภาคประชาสังคมเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเด็นผลประโยชน์ทับซ้อนของคณะกรรมการ ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้หน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา และองค์กรภาคประชาสังคมจำนวนมากก็ได้นำเสนองานวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบทางสุขภาพและสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด
ทำไมต้องเป็นพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต
พาราควอต เป็นสารเคมีกำจัดวัชพืช (ยาฆ่าหญ้า) คนทั่วไปรู้จักในชื่อทางการค้าว่า ‘กรัมม็อกโซน’ สารเคมีชนิดนี้มีพิษเฉียบพลันสูงต่อมนุษย์ ไม่มียาถอนพิษ และมีผลกระทบเรื้อรังต่อสุขภาพ เช่น ก่อโรคพาร์กินสัน สมองเสื่อม
แม้ใส่อุปกรณ์ป้องกันก็ยังสามารถผ่านเข้าสู่ร่างกายได้โดยการสัมผัสทางผิวหนังรวมทั้งบาดแผล แล้วซึมเข้าร่างกายจนเกิดอันตรายถึงชีวิต ทั้งยังพบตกค้างในอาหาร สิ่งแวดล้อม และมนุษย์จากการวิจัยของหลายสถาบัน นอกจากนี้พาราควอตยังสามารถผ่านจากมารดาไปสู่ตัวอ่อนในครรภ์
จากการศึกษาของคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พบการตกค้างของพาราควอตในซีรั่มทารกแรกเกิดและมารดาระหว่าง 17-20% และหากมีประวัติการขุดดินในพื้นที่เกษตร ยิ่งมีความเสี่ยงในการตรวจพบพาราควอต คิดเป็น 6 เท่าของหญิงตั้งครรภ์ที่ไม่มีการขุดดิน
ในปัจจุบันมี 53 ประเทศทั่วโลกที่แบนพาราควอต แม้แต่ประเทศผู้พัฒนา ประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ และประเทศเจ้าของผลิตภัณฑ์
คลอร์ไพริฟอส เป็นสารเคมีกำจัดศัตรูพืชอีกหนึ่งชนิดที่ส่งผลกระทบต่อแม่และเด็กได้ มีงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติที่ระบุว่าสารเคมีดังกล่าวส่งผลต่อพัฒนาการของเด็ก ทำให้มีอาการสมาธิสั้นไปจนถึงปัญหาด้านความบกพร่องของพัฒนาการแบบรอบด้าน นอกจากนี้ยังส่งผลต่อการทำงานของต่อมไร้ท่อ และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มอัตราการเป็นมะเร็งลำไส้ได้
งานวิจัยตรวจสารพิษตกค้างในผักและผลไม้ของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา รายงานวิจัยของมหาวิทยาลัยมหิดล และข้อมูลการตรวจสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในผักผลไม้ของเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืชให้ข้อมูลที่สอดคล้องกัน โดยพบว่าคลอร์ไพริฟอสเป็นสารเคมีที่ตกค้างมากที่สุดในกลุ่มสารกำจัดแมลง
ไกลโฟเซต เป็นสารเคมีกำจัดวัชพืช คนทั่วไปรู้จักในชื่อทางการค้าว่า ‘ราวด์อัพ’ สารเคมีชนิดนี้สามารถส่งผลกระทบต่อแม่และเด็กได้ ซึ่งสถาบันวิจัยมะเร็งนานาชาติ ภายใต้องค์การอนามัยโลก ได้เผยแพร่รายงานในปี 2558 โดยกำหนดให้ไกลโฟเซตเป็น ‘สารที่น่าจะก่อมะเร็ง’ (probably carcinogenic to humans) ในมนุษย์ เนื่องจากมีหลักฐานเพียงพอว่าก่อมะเร็งในสัตว์ทดลอง และหลักฐานที่หนักแน่นว่าก่อให้เกิดความผิดปกติของสารพันธุกรรม (ทำลายยีน-โครโมโซม)
นอกจากนี้ยังมีข้อค้นพบว่าไกลโฟเซตสัมพันธ์กับการเกิดโรคหลายชนิดเพิ่มมากขึ้น เช่น เบาหวาน โรคอ้วน อัลไซเมอร์ และทำให้เซลล์รกได้รับความเสียหายด้วยเช่นกัน
ในประเทศไทยพบไกลโฟเซตปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม โดยมหาวิทยาลัยนเรศวรพบการตกค้างของไกลโฟเซตในน้ำดื่มบรรจุขวดที่ผลิตในจังหวัดน่านเฉลี่ย 10.1 ไมโครกรัมต่อลิตร และพบในน้ำประปาเพื่อการอุปโภคบริโภค 11.26 ไมโครกรัมต่อลิตร โดยมีระดับการตกค้างในหลายตัวอย่างที่เกินค่ามาตรฐานของบางประเทศ การตกค้างของไกลโฟเซตในสิ่งแวดล้อมและในร่างกายของแม่และทารกเป็นสิ่งที่น่ากังวล เนื่องจากมีงานวิจัยชี้ว่าการตกค้างแม้เพียงเล็กน้อยก็อาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของต่อมไร้ท่อได้
แล้วองค์กรภาครัฐและภาคประชาสังคมได้ทำอะไรบ้าง
- พฤศจิกายน 2559 การประชุมวิชาการเพื่อเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ได้มีการนำเสนอข้อมูลการตกค้างของสารกำจัดศัตรูพืชในแม่และทารก รวมถึงการนำเสนอข้อเสนอยกเลิกและจำกัดการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีอันตรายร้ายแรง 3 ชนิด
- 5 เมษายน 2560 คณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนจาก 6 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข, กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กระทรวงอุตสาหกรรม, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกระทรวงมหาดไทย รวมทั้งนักวิชาการและตัวแทนจากภาคประชาสังคม เสนอให้ยกเลิกการใช้สารเคมี 2 ชนิดคือ พาราควอต และคลอร์ไพริฟอส และจำกัดการใช้ไกลโฟเซตอย่างเข้มงวด
- 19 กันยายน 2560 ท่าทีบ่ายเบี่ยงของภาครัฐนำไปสู่การเคลื่อนไหวหน้าทำเนียบรัฐบาลพร้อมกันกับที่ศาลากลางจังหวัด 48 แห่งทั่วประเทศ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลไม่ต่อทะเบียนให้กับพาราควอตและคลอร์ไพรีฟอสที่กำลังจะหมดอายุลงในวันที่ 10 ตุลาคม 2560
- 16 ตุลาคม 2560 (วันอาหารโลก) ตัวแทนเครือข่ายเกษตรได้ยื่นหนังสือขอให้บริษัทเคมีเกษตรรายใหญ่ (ซินเจนทา และเจียไต๋) ไม่ต่อทะเบียนสารเคมีร้ายแรง แต่ข้อเรียกร้องไม่เป็นผล
- ผลจากการขับเคลื่อนทำให้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการควบคุมวัตถุอันตราย พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ขึ้นมาในเดือนธันวาคม 2560 เพื่อพิจารณาการยกเลิกสารเคมีดังกล่าว
- 3 มกราคม 2561 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงพาณิชย์ หารือร่วมกันอีกครั้งตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรี โดยทั้งสามกระทรวงยังยืนยันตามมติของคณะกรรมการขับเคลื่อนฯ เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2560
- 16 พฤษภาคม 2561 ประชาคมวิชาการซึ่งมีนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำจากหลายสถาบัน เช่น สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยนเรศวร เรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกการใช้สารพิษที่มีความเสี่ยงสูงตามข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุขโดยเร็ว
- 23 พฤษภาคม 2561 ที่ผ่านมา คณะกรรมการวัตถุอันตราย มีมติอนุญาตให้ใช้สารเคมีเกษตร 3 ตัว ได้แก่ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซตต่อไปได้ โดยให้เหตุผลว่าข้อมูลผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพยังไม่เพียงพอ
- 23 พฤษภาคม 2561 เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรง 369 องค์กร ได้แถลงการณ์แสดงความเสียเสียใจต่อมติของคณะกรรมการวัตถุอันตราย โดยระบุว่าคณะกรรมการชุดนี้มีตัวแทนที่มาจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นหลัก มีการใช้เอกสารที่เป็นข้อมูลล้าสมัย ขัดแย้งกับข้อมูลเชิงประจักษ์และงานวิจัยล่าสุดเกี่ยวกับความเป็นพิษและผลกระทบจากสารพิษเหล่านี้ รวมทั้งมีกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียจากสมาคมอารักขาพืชไทย ซึ่งเป็นสมาคมการค้าของบริษัทสารพิษ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ร่วมอยู่ในกระบวนการตัดสินใจ ซึ่งอาจผิดกฎหมายวัตถุอันตราย มาตรา 12
- 5 มิถุนายน 2561 เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษร้ายแรง เชิญชวนประชาชนทั่วประเทศร่วมกันชุมนุมใหญ่คัดค้านมติกรรมการวัตถุอันตราย
- 14 กุมภาพันธ์ 2562 เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) ออกแถลงการแสดงความผิดหวัง และเศร้าสลดที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติไม่แบนพาราควอต และเตรียมรวบรวมข้อมูลเพื่อยื่นฟ้องต่อศาลปกครองต่อไป
ขณะที่เรากำลังถอยหลัง ยุโรปก็เดินหน้าไปอีกก้าว
ในขณะที่หนทางสู่การปกป้องคนและสิ่งแวดล้อมในบ้านเราให้พ้นจากภัยสารเคมีเกษตรจะดูมืดมน แต่หนทางของประเทศในยุโรปกลับดูสว่างไสว ไม่นานมานี้ ชาติสมาชิกสหภาพยุโรปได้สนับสนุนแผนการแบนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชนีโอนิโคตินอยด์ของคณะกรรมาธิการยุโรป โดยมีตัวแทนจาก 16 ประเทศได้ออกเสียงสนับสนุนการแบนในครั้งนี้
การแบนนีโอนิโคตินอยด์ 3 ตัวหลักครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวางจากสาธารณชน โดยมีคนเข้าร่วมลงชื่อสนับสนุนร่วมกับกลุ่ม Avaaz เกือบ 5 ล้านคน
“การแบนสารเคมีพวกนี้คือความหวังอันแสนหวานของผึ้ง” แอนโทเนีย สตัทส์ นักเคลื่อนไหวอาวุโสจาก Avaaz.org กล่าว “ในที่สุดรัฐบาลของพวกเราก็รับฟังพลเมืองของพวกเขาเสียที หลักฐานทางวิทยาศาสตร์และเกษตรกรรู้ว่าผึ้งไม่สามารถอยู่ร่วมกับสารเคมีพวกนี้ และเราก็ไม่สามารถมีอยู่ได้โดยปราศจากผึ้ง”
แล้วประชาชนอย่างเราจะทำอะไรได้
ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะเลือกอนาคตที่ปลอดภัยให้กับตัวเองและลูกหลาน การต่อสู้ที่เข้มแข็งของภาคประชาสังคมได้ทำให้รัฐบาลต้องกลับมาฟังเสียงของประชนชนมาแล้วหลายครั้ง ไม่ว่ารัฐบาลจะมาจากการเลือกตั้งหรือไม่ก็ตาม พวกเขาล้วนมีหน้าที่ปกป้องประชาชน ไม่ใช่ผลกำไรของบริษัทขนาดยักษ์เพียงไม่กี่รายบนหายนะของประชาชนและสิ่งแวดล้อม
ถ้าเราไม่ส่งเสียงของเราออกไป นั่นหมายความว่าเรากำลังยอมแพ้ให้กับความไม่ชอบธรรมในสังคม
อ้างอิง:
- www.facebook.com/ThaiPesticideAlertNetwork/photos/rpp.260995884002610/1482326221869564/?type=3&theater
- www.radioparliament.net/parliament/viewNews.php?nId=9032#.WpHbw-dtc2w
- news.nationalgeographic.com/2018/04/neonics-neonicotinoids-banned-european-union-protect-bees-pollinators-environment-science-spd
- www.greenpeace.org/eu-unit/en/News/2018/neonicotinoids-down-bee-killing-pesticides
- www.facebook.com/biothai.net