×

ย้อนดูไทม์ไลน์ ‘พาราควอต’ จะถูกแบน-ยกเลิกใช้ในปี 2562 ได้ไหม

26.09.2019
  • LOADING...
พาราควอต

HIGHLIGHTS

6 Mins. Read
  • สารพาราควอต หรือสารกำจัดวัชพืช เป็นหนึ่งในสารที่ให้ประสิทธิภาพค่อนข้างดีในอุตสาหกรรมการเกษตร แต่ในทางกลับกันก็พบข้อเสียจำนวนไม่น้อยเช่นกัน
  • นับตั้งแต่ปี 2560 หลายองค์กรในไทยมองเห็นข้อเสียของ ‘สารพาราควอต’ พ่วงด้วย ‘คลอร์ไพริฟอส’ และ ‘ไกลโฟเซต’ จนเกิดการเดินหน้าเรียกร้องให้หน่วยงานในไทยแบนและยกเลิกใช้อย่างจริงจัง

‘สารพาราควอต’ ตอนนี้กำลังเป็นที่พูดถึงอย่างมากในภาคอุตสาหกรรมการเกษตรและภาคสังคมเป็นวงกว้างถึงข้อเสียต่างๆ ของสารพิษชนิดดังกล่าว พ่วงด้วยอีก 2 ชนิดคือ ‘คลอร์ไพริฟอส’ และ ‘ไกลโฟเซต’ แต่สิ่งที่เป็นประเด็นและทุกคนกำลังให้ความสนใจคือความพยายามของรัฐบาลที่จะเลิกใช้สารพิษเหล่านี้จะเกิดขึ้นจริงภายในปี 2562 ได้หรือไม่

 

‘สารพาราควอต’ คืออะไร ร้ายแรงแค่ไหน

เดิมทีสารพาราควอตเป็นสารกำจัดวัชพืชที่นิยมใช้กันในอุตสาหกรรมภาคการเกษตรทั่วไป เนื่องจากสารพาราควอตถือเป็นหนึ่งในยากำจัดวัชพืชที่มีราคาไม่แพง ออกฤทธิ์เร็ว แถมสร้างผลลัพธ์ต่อวัชพืชได้เป็นอย่างดี มักใช้กับการปลูกพืชจำพวกยางพารา มันสำปะหลัง อ้อย ข้าวโพด รวมถึงผลไม้ชนิดต่างๆ ตามที่ถูกกำหนดไว้

 

อย่างไรก็ตาม แม้ประสิทธิภาพของสารที่มีต่อผลผลิตทางการเกษตรจะกลายเป็นผลลัพธ์ที่ทำให้เกษตรกรหลายคนพึงพอใจ แต่ทว่าสารชนิดนี้ก็ส่งผลเสียสวนทางกลับมาถึงตัวผู้ผลิตและผู้บริโภคอย่างมาก เพราะสารพาราควอตขึ้นชื่อเรื่องมีผลที่อันตรายต่อสุขภาพ โดยเฉพาะในต่างประเทศที่มีกรณีตัวอย่างให้เห็นจำนวนมาก

 

วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี หนึ่งในมูลนิธิที่เรียกร้องให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายลงมติทบทวนการใช้พาราควอต ได้กล่าวถึงปัญหาที่น่ากังวลจากสารพาราควอตอย่างน้อย 3 เรื่องคือ 1. พาราควอตเป็นสารเคมีที่มีความเป็นพิษเฉียบพลันสูง 2. ก่อให้เกิดโรคพาร์กินสัน และ 3. มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว 

 

พาราควอต

 

นอกจากนี้ข้อมูลของสำนักงานสิ่งแวดล้อมสหรัฐฯ (EPA) ยังระบุว่าพาราควอตเป็นสารที่มีพิษสูง แค่กินเพียงจิบเดียวก็ทำให้เสียชีวิตได้โดยไม่มียาถอนพิษ อีกทั้งงานวิจัยของมหาวิทยาลัยมหิดลยังพบการตกค้างของพาราควอตในขี้เทาทารกมากถึง 50% และพบในซีรั่มของมารดาและทารกแรกคลอด 17-20%

 

อย่างไรก็ตาม เสียงเรียกร้องให้แบนพาราควอตไม่ได้มีแค่ในประเทศไทยเท่านั้น หากแต่ระยะเวลาที่ผ่านมา หลายประเทศระดับโลกหรือแถบเพื่อนบ้านฝั่งเอเชียเองก็ได้มีการสั่งแบนหรือประกาศจำกัดการใช้ไปบ้างแล้ว

 

พาราควอต

 

ย้อนดูเส้นทางสำคัญการแบนสารพาราควอต 

สำหรับจุดเริ่มต้นการแบน ‘สารพิษพาราควอต’ และสารพิษอีก 2 ชนิดอย่าง ‘คลอร์ไพริฟอส’ และ ‘ไกลโฟเซต’ ทางเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) ได้ลำดับเหตุการณ์ทั้งหมดออกมาในรูปแบบของไทม์ไลน์ให้เข้าใจง่ายๆ ดังนี้

 

5 เมษายน 2560

จุดเริ่มต้นเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2560 โดยคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง อันเป็นคณะกรรมการร่วมระหว่างกระทรวงสาธารณสุข, กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีมติให้ดำเนินการออกประกาศยกเลิกการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ‘พาราควอตและคลอร์ไพริฟอส’ 

 

โดยคณะกรรมการสั่งให้ยุติการนำเข้าภายในเดือนธันวาคม 2561 และยุติการใช้ทั้งหมดภายในเดือนธันวาคม 2562 และจำกัดการใช้ไกลโฟเซตอย่างเข้มงวด โดยห้ามใช้ในพื้นที่ต้นน้ำ แหล่งน้ำ พื้นที่สาธารณะและชุมชน โดยเฉพาะบริเวณโดยรอบศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียน และโรงพยาบาล

 

19 พฤศจิกายน 2560 

กรมวิชาการเกษตรต่อทะเบียนพาราควอตให้กับ บริษัทซินเจนทา, เอเลฟองเต้ และดาว อะโกรไซแอนส์ ไปอีก 6 ปีนับตั้งแต่ช่วงเดือนตุลาคม โดยอ้างว่าหากล่าช้าจะทำให้ภาคเอกชนเสียหายและรัฐอาจถูกฟ้องได้ ซึ่งสวนทางกับข้อเสนอกระทรวงสาธารณสุข

 

พาราควอต

 

30 มกราคม 2561 

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีข้อสั่งการให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานหลักร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงอุตสาหกรรม ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับพาราควอตและผลกระทบของการใช้สารดังกล่าวให้ชัดเจน

 

15 กุมภาพันธ์ 2561 

กระทรวงสาธารณสุขประชุมหารือเรื่องพาราควอตและผลกระทบจากการใช้ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งที่ประชุมยืนยันตามมติคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันและกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ให้ยกเลิกการใช้ภายในเดือนธันวาคม 2562

 

23 พฤษภาคม 2561 

คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติไม่ยกเลิกการใช้สารเคมีทั้ง 3 รายการ โดยให้กรมวิชาการเกษตรดำเนินการยกร่างแผนการจำกัดการใช้สารทั้ง 3 ชนิด

 

พาราควอต

 

5 มิถุนายน 2561 

ตัวแทนเครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรง 686 องค์กร ชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาลและยื่นจดหมายถึงนายกรัฐมนตรีผ่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมตั้งข้อสังเกตต่อกระบวนการพิจารณาของคณะกรรมการวัตถุอันตรายและการทำงานของคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจฯ ดังนี้

 

1. การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการควบคุมวัตถุอันตรายฯ เลือกตัวแทนจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และอดีตข้าราชการกระทรวงเกษตรฯ ถึง 4 คน และอีก 4 คนเลือกจากผู้ที่แสดงจุดยืนสนับสนุนกระทรวงเกษตรฯ จากคณะกรรมการที่มีจำนวน 12 คน ซึ่งล้วนแต่ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านผลกระทบต่อสุขภาพ

 

2. อนุกรรมการเฉพาะกิจฯ ดังกล่าวใช้ข้อมูลเก่าและล้าสมัยเพื่อโน้มน้าวให้มีการใช้สารพิษร้ายแรงดังกล่าวต่อไป โดยเพิกเฉยต่อข้อมูลเชิงประจักษ์และรายงานใหม่ๆ เป็นจำนวนมาก จนกระทั่งเครือข่ายนักวิชาการจากหลายสถาบัน เช่น สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยนเรศวร ต้องจัดเวทีให้ข้อเท็จจริงทางวิชาการ

 

3. กระบวนการพิจารณาของคณะกรรมการวัตถุอันตรายในวันที่ 23 พฤษภาคม 2561 ควรมีกรรมการอย่างน้อย 3 คนที่มีส่วนได้เสียกับสมาคมค้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืช แต่กลับไม่มีการแสดงการมีส่วนได้เสียและไม่มีการสละสิทธิ์ลงคะแนน ซึ่งอาจขัด พ.ร.บ. วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 มาตรา 12 วรรค 2 พร้อมทั้งเรียกร้องให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายทบทวนมติและพิจารณายกเลิกพาราควอตและคลอร์ไพริฟอสในเดือนธันวาคม 2562 ตามกรอบเวลาที่กระทรวงสาธารณสุขได้เสนอไว้ และให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินการศึกษาหาวิธีการทดแทนตามมติของสภาเกษตรกรแห่งชาติ

 

16 กรกฎาคม 2561

ในเวลาต่อมา พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงนามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง โดยมีหน้าที่หลักในการรวบรวม วิเคราะห์ และสรุปข้อมูลทางวิชาการชุดใหม่ เพื่อเสนอต่อผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อเร่งรัดและติดตามการดำเนินการของส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งรายงานผลต่อสำนักนายกรัฐมนตรี

 

23 พฤศจิกายน 2561 

ผู้ตรวจการแผ่นดินมีคำวินิจฉัยให้ยกเลิกการใช้พาราควอตภายใน 1 ปี ก่อนยกเลิกให้มีการจำกัดการใช้ สร้างการรับรู้กับประชาชน และพัฒนาวิธีการทดแทน และเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 120 วันหลังจากได้รับหนังสือ และให้พัฒนาสารชีวภัณฑ์หรือหาวิธีการอื่นที่ปลอดภัยกว่าให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน

 

14 กุมภาพันธ์ 2562 

ตัวแทนเครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรง 686 องค์กร เดินทางไปยื่นข้อเรียกร้องต่อประธานกรรมการวัตถุอันตรายให้พิจารณาควบคุมพาราควอตเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ภายในเดือนธันวาคม 2562 และให้เป็นการลงมติแบบเปิดเผย โดยไม่มีกรรมการที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน

 

ในวันเดียวกันนี้ อภิจิณ โชติกเสถียร รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการวัตถุอันตราย เปิดเผยว่าที่ประชุมมีมติ 16 ต่อ 5 เสียง สนับสนุนให้มีการใช้สารพาราควอต ส่วนที่เหลืออีก 5 เสียงงดออกเสียง โดยเสียงส่วนใหญ่ให้ยืนตามมติเดิมที่ระบุว่ายังไม่มีการยกเลิกการใช้วัตถุอันตรายพาราควอตตามเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2561 โดยให้ใช้เฉพาะพืช 6 ชนิด ได้แก่ ยางพารา, ปาล์ม, มันสำปะหลัง, อ้อย, ข้าวโพด และไม้ผลที่ขึ้นทะเบียนเท่านั้น ทั้งนี้ระหว่างนี้ให้กรมวิชาการเกษตรดำเนินตามมาตรการ 5 ข้อที่เสนอมา เช่น ทำโครงการศึกษาวิจัยเพื่อลดการใช้สารเคมีและหาวิธีทดแทนการใช้สารเคมี รวมทั้งศึกษาผลกระทบของสารที่มีต่อสิ่งแวดล้อม ผู้ผลิต และผู้บริโภค จัดอบรมให้ความรู้โครงการนำร่องทดสอบหลักสูตรผู้พ่นสารพาราควอตเพื่อกำจัดวัชพืช คาดจะมีความชัดเจนภายใน 2 ปีว่าประเทศไทยจะเลิกหรือไม่เลิกใช้สารดังกล่าว

 

พาราควอต

 

9 สิงหาคม 2562 

มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ย้ำต้องยกเลิกสารเคมีกำจัดศัตรูพืชความเสี่ยงสูง 3 ชนิดให้ได้ก่อนสิ้นปี 2562 พร้อมสั่งกรมวิชาการเกษตรชะลอร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการอนุญาตหรือต่อทะเบียนทั้งหมดเพื่อพิจารณาทบทวนใหม่ ลั่นเห็นพ้อง อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขแล้ว ยกเลิกแน่

 

13 กันยายน 2562 

สภาผู้แทนราษฎรลงมติด้วยเสียง 399 ต่อ 0 เสียง ตั้งกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาควบคุมการใช้สารเคมีการเกษตร โดย ส.ส. จากทุกพรรคล้วนอภิปรายไปในแนวทางเดียวกันถึงการเรียกร้องให้มีการยกเลิกการใช้สารเคมีที่มีความเสี่ยงสูง

 

18 กันยายน 2562 

กรมการวัตถุอันตรายอ้างคำสั่ง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ว่าได้มอบหน้าที่ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์หารือ 4 กลุ่ม รวมถึงผู้นำเข้าเพื่อตัดสินใจเกี่ยวกับการแบน 3 สารพิษ 

 

พาราควอต

 

23 กันยายน 2019

อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เรื่องความคืบหน้าในการแบนสารพิษทางการเกษตรว่า ทางกระทรวงสาธารณสุขได้เข้ามามีบทบาทในการดูแลสุขภาพ โดยเฉพาะเรื่องของสารพิษและยาฆ่าหญ้า ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงอุตสาหกรรม ไม่สนับสนุนการใช้ต่อไป เนื่องจากได้ผลเป็นที่ชัดเจนว่ามีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาจากการสัมผัสสารพิษเหล่านั้น ทำให้ยากต่อการรักษาและกลับมาเป็นปกติ หากได้รับการสัมผัสมากอาจเสียชีวิตได้

 

“ได้เห็นอาการเจ็บป่วยของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสารพิษทางการเกษตร มันเป็นไปไม่ได้เลยที่กระทรวงสาธารณสุขจะให้ใช้ต่อ โดยได้หารือกับกับรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันที่จะทำให้สารเคมีเหล่านั้นหมดไป เรื่องแบนเราต้องเดินหน้า แต่ก็ต้องหาสารมาทดแทนด้วย” อนุทินกล่าว

 

พาราควอต

 

อย่างไรก็ตาม ถึงตอนนี้สารพิษทั้ง 3 ชนิดจะยังไม่ถูกแบนและยกเลิกอย่างเป็นรูปธรรมในเวลานี้ แต่ทางกรมอนามัยก็ได้ออกคำแนะนำถึงวิธีหลีกเลี่ยงสารกำจัดวัชพืชที่มีความเสี่ยงว่าอาจติดกับพืชผักมาได้ โดยระบุว่าก่อนที่จะนำผักมารับประทานหรือปรุงอาหาร จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องล้างให้สะอาดทุกครั้งเพื่อป้องกันสารเคมีตกค้างหรือการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรค 

 

ซึ่งให้ล้างผ่านน้ำก๊อกที่ไหลนาน 2 นาที หรือแช่ในน้ำผสมเกลืออัตราส่วน 2 ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 4 ลิตร หรือน้ำผสมน้ำส้มสายชูอัตราส่วนครึ่งถ้วยตวงต่อน้ำ 4 ลิตร หรือน้ำผสมโซเดียมไบคาร์บอเนต (เบคกิ้งโซดา) อัตราส่วน 1 ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 4 ลิตร แช่ทิ้งไว้ 10-15 นาที จากนั้นให้ล้างด้วยน้ำเปล่า 2 ครั้ง สำหรับผักบางชนิด เช่น คะน้า กะหล่ำ ถั่วฝักยาว หากมีคราบขาวจับที่กาบใบหรือฝักมากเกินไป ควรล้างน้ำหลายๆ ครั้งและคลี่ใบเพื่อถูหรือล้างด้วยการเปิดน้ำไหลผ่านอย่างน้อย 2 นาที เพื่อความปลอดภัยและลดการปนเปื้อนของสารเคมีต่างๆ ที่ไม่ใช่แค่เพียงสารพาราควอต

 

ทั้งนี้หากนับตั้งแต่วันที่ 5 เมษายน 2560 จนถึงวันนี้ เป็นเวลาร่วม 2 ปีกว่าๆ ที่แผนและนโยบายการยกเลิกและแบนสารทั้ง 3 ชนิด (สารพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเสต) ยังคงดำเนินการต่อไป ท่ามกลางสายตาจากนานาองค์กรที่จับจ้องอยู่

 

ในฐานะผู้บริโภค เราคงติดตามดูว่าภายในสิ้นปี 2562 สารเหล่านี้จะถูกยกเลิกแบบที่ 51 ประเทศทั่วโลกทำกันได้หรือไม่ หรือมาตรการดังกล่าวยังคงเป็นที่ถกเถียงกันต่อไป ก่อนเดินเข้าสู่ปีที่ 3 และปีต่อๆ ไปแบบไม่มีที่สิ้นสุด

 

ภาพ: กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กระทรวงสาธารณสุข

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising