เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีก่อน Paramount Pictures หนึ่งในสตูดิโอผลิตภาพยนตร์ยักษ์ใหญ่ ได้ถูก อลัน ชวาร์ตซ์ ทายาทตามกฎหมายของ ทรูแมน คาโพตี ผู้เขียนนิยายต้นฉบับภาพยนตร์ Breakfast at Tiffany’s (1961) ยื่นฟ้องเรื่องสิทธิในการดัดแปลงภาพยนตร์ ซึ่งล่าสุดมีรายงานว่า Paramount Pictures ถูกเรียกร้องค่าเสียหายเป็นเงินกว่า 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 600 ล้านบาท
การดำเนินคดีนี้เริ่มต้นขึ้นที่ศาลสูงในเมืองลอสแอนเจลิส เพื่อพิจารณาว่าปัจจุบันสิทธิในการดัดแปลงภาพยนตร์ Breakfast at Tiffany’s นั้นเป็นของใครกันแน่ โดยชวาร์ตซ์ในฐานะผู้ดูแลมรดกของคาโพตีอ้างว่าสิทธิ์ในการดัดแปลงภาพยนตร์นั้นได้กลับมาเป็นของ Truman Capote Literary Trust (องค์กรการกุศลที่คาโพตีก่อตั้ง) ตั้งแต่วันที่คาโพตีเสียชีวิตไปในปี 1984 แล้ว
อย่างไรก็ตาม จากการพิจารณาก็ยังคงหาข้อสรุปไม่ได้ว่าเจ้าของสิทธิตัวจริงคือใคร ด้วยเหตุนี้ทาง Paramount Pictures จึงยกการดำเนินคดีนี้ไปสืบสาวเบื้องหลังของเรื่องราวทั้งหมดต่อที่ศาลรัฐบาลกลาง ซึ่งตรงนี้เองที่ทำให้ชวาร์ตซ์ตัดสินใจยื่นเรื่องเพื่อเรียกร้องสิทธิอีกครั้ง เนื่องจากทาง Paramount Pictures ได้เผยแพร่บทภาพยนตร์ Breakfast at Tiffany’s เวอร์ชันรีเมกออกมา โดยมีความตั้งใจให้มันมีลักษณะเฉพาะ และขายให้กับบริษัทสตรีมมิง
สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการฟ้องร้องแย่งชิงสิทธิในการดัดแปลงภาพยนตร์ Breakfast at Tiffany’s ขึ้นเพราะความคิดเห็นที่ไม่ลงรอยกันระหว่าง Paramount Pictures และชวาร์ตซ์ โดยทาง Paramount Pictures ต้องการสร้างเป็นเวอร์ชันภาพยนตร์ ซึ่งอาจจะเป็นภาคต่อหรือภาครีบู๊ตที่ใช้นักแสดงรุ่นใหม่ ส่วนชวาร์ตซ์นั้นต้องการสร้างเป็นซีรีส์ออกอากาศทางทีวีมากกว่า
Breakfast at Tiffany’s (1961) ถือเป็นภาพยนตร์สุดคลาสสิกอีกเรื่องหนึ่งที่ประสบความสำเร็จพอสมควร ตัวภาพยนตร์นำแสดงโดย ออเดรย์ เฮปเบิร์น นักแสดงหญิงระดับตำนานผู้ล่วงลับ ทำรายได้ทั่วโลกไป 14 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และสามารถคว้ารางวัลออสการ์มาครองได้ 2 รางวัล (เพลงประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยมและดนตรีประกอบภาพยนตร์แนวดราม่า/คอเมดี้ยอดเยี่ยม) จากการเข้าชิงทั้งหมด 5 สาขา
ภาพ: Donaldson Collection / Michael Ochs Archives / Getty Images
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง: