×

Paradise Papers และเล่ห์กลคนรวยผ่านบริษัทออฟชอร์

06.11.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • ทั่วโลกสั่นสะเทือนอีกรอบจาก Paradise Papers ที่พบข้อมูลกว่า 13 ล้านไฟล์ เปิดโปงข้อมูลของเหล่าผู้มีชื่อเสียงในหลายวงการ
  • ข้อมูลจาก The Boston Consulting Group (BCG) ระบุว่า เม็ดเงินที่กระจายอยู่ใน Tax Haven เหล่านี้อาจสูงถึง 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐเลยทีเดียว
  • สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินแจ้ง ยังไม่มีการเรียกร้องให้ตรวจสอบในขณะนี้

     สะเทือนทั้งโลกอีกครั้ง เมื่อเอกสารลับภายใต้ชื่อ ‘Paradise Papers’ ถูกเผยแพร่ออกมา และมีรายชื่อของบุคคลสำคัญระดับโลกปรากฏชัดเจน รวมถึงธุรกรรมและเส้นทางการเงินที่บรรดานักข่าวรวมตัวกันขุดคุ้ยและรวบรวมข้อมูลออกมาเป็นเอกสารมากกว่า 13 ล้านไฟล์

     ปีที่ผ่านมา โลกยังฮือฮากับ ‘Panama Papers’ ไม่จบจนถึงทุกวันนี้ นี่เป็นอีกครั้งที่ ‘ข้อมูลรั่ว’ พวกนี้กลับมาเขย่าขวัญบรรดาผู้มีอันจะกินที่วางแผนกันทั้งลับและไม่ลับเพื่อปกป้องและสร้างเสริมความมั่งคั่งของตน โดยวิธีการสำคัญก็คือการหลบหลีกภาษีนั่นเอง จึงน่าคิดว่าทุกวันนี้สถานการณ์เป็นเช่นไร และเราจะทำอะไรกับเรื่องนี้ได้บ้าง

 

 

สำรวจดินแดนแห่งการหลบหลีกภาษี

     เราอาจจะคุ้นเคยกับคำว่า ‘Tax Haven’ และเข้าใจความหมายคร่าวๆ ว่าเป็นสถานที่ ดินแดน หรือประเทศที่ไม่ได้มีการเก็บภาษีโดยตรง หรือบางกรณีก็เก็บภาษีเฉพาะกับรายได้ที่เกิดในประเทศ และเลือกไม่เก็บภาษีกับรายได้ที่มาจากต่างประเทศ หรือเลือกเก็บในอัตราที่ต่ำมาก

     พื้นที่เหล่านี้จะไม่มีการเก็บภาษีจากรายได้ กำไร หรือเงินปันผล โดยสามารถเคลื่อนย้ายเงินเข้าออกได้อิสระ ให้กรรมสิทธิ์การถือครองที่ดินกับชาวต่างชาติ และเก็บข้อมูลทุกอย่างเป็นความลับ

     ชื่อที่มักถูกพูดถึงหนีไม่พ้นเกาะเคย์แมน เกาะบริติช เวอร์จิน หรือประเทศอย่างปานามา ลักเซมเบิร์ก ไอร์แลนด์ หรือเนเธอร์แลนด์ก็ตาม วิธีการโดยทั่วไปคือไปจดทะเบียนเปิดบริษัทตัวแทนในประเทศเหล่านี้ ซึ่งมีบริษัทตัวกลางและสำนักงานกฎหมายจำนวนมากคอยบริการให้เสร็จสรรพ แทบไม่ต้องเดินทางหรือติดต่อส่วนงานไหนให้ยุ่งยาก เพียงจ่ายเงินให้ตามเงื่อนไขก็พอ โดยจะจ้าง ‘ตัวแทน’ เป็นผู้บริหารงาน นี่เป็นจุดเริ่มต้นกระบวนการของบริษัทการค้านอกประเทศ หรือบริษัทออฟชอร์

 

 

     กระบวนการที่สำคัญคือการหลีกเลี่ยงไม่ให้ปรากฏชื่อของตนเองในธุรกรรมหรือส่วนที่เกี่ยวข้องกับบริษัทตัวแทนนี้ โดยอาจจะเปิดบัญชีธนาคารไว้ในอีกประเทศที่เป็น Tax Haven เช่นกัน ซึ่งจะเป็นบัญชีสำหรับรับเงินจากบริษัทตัวแทน เป็นต้น และยังมีวิธีการที่สลับซับซ้อนอีกมากที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน

     นอกจากการหลบหลีกภาษีแล้ว สิ่งที่สร้างความกังวลคือกระบวนการฟอกเงินที่ผิดกฎหมายก็สามารถทำได้จากวิธีการเหล่านี้ด้วย เพราะจุดสำคัญคือจับมือใครดมไม่ได้ ไม่มีอำนาจหรือกฎหมายรองรับถ้าจะเข้าไปตรวจสอบ จึงเป็นเรื่องของ ‘เงินที่มาจากใครก็ไม่รู้’ และ ‘เงินที่โอนไปให้ใครก็ไม่รู้’

     ข้อมูลจาก The Boston Consulting Group (BCG) บริษัทให้คำปรึกษาระดับโลก ระบุว่าเคยมีผู้ที่ประเมินไว้ว่าเม็ดเงินที่กระจายอยู่ใน Tax Haven เหล่านี้อาจสูงถึง 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐเลยทีเดียว

     หากย้อนกลับไปพิจารณากรณี Panama Papers ในปี 2016 จะพบว่า

     มีผู้ที่มีที่พำนักในประเทศไทยและมีส่วนเชื่อมโยงกับบริษัทออฟชอร์กว่า 719 ราย ประกอบด้วยคนไทย 411 รายชื่อ ชาวต่างชาติ 262 รายชื่อ และนิติบุคคล 46 รายชื่อ โดยมีกลุ่มคนที่ต้องถูกตรวจสอบในทางลับ 16 คน ที่เชื่อว่ามีทั้งอดีตนักการเมืองและนักธุรกิจชื่อดัง ท้ายที่สุดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ชี้แจงว่าไม่มีหลักฐานยืนยันที่ชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องนี้

 

 

สินทรัพย์จากต่างประเทศที่เกาะเคย์แมนสูงกว่าแสนล้านเหรียญสหรัฐ

     สำนักข่าว THE STANDARD ตรวจสอบรายงานประจำปีจากเว็บไซต์ธนาคารกลางของเกาะเคย์แมน ซึ่งข้อมูลล่าสุดยังเป็นปี 2015 พบข้อมูลที่น่าสนใจคือมีสถาบันการเงินที่ไปเปิดสาขาที่เกาะเคย์แมน 196 แห่ง (ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2015) โดยมาจากอเมริกาเหนือ 28% ยุโรป 25% อเมริกาใต้ 18% แคริบเบียน อเมริกากลาง และเม็กซิโก 14% เอเชียและออสเตรเลีย 12% ตะวันออกกลางและแอฟริกา 3%

     ในที่นี้มีสินทรัพย์จากนอกประเทศ (Cross Border Asset) ถึง 1.37 แสนล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อพิจารณาเฉพาะการโอนเงินระหว่างประเทศ (Remittance) พบว่ามีการโอนเงินออกจากเกาะเคย์แมนไปประเทศจาเมกามากที่สุดถึง 59% รองลงมาคือฟิลิปปินส์และฮอนดูรัส ขณะที่เงินโอนจากต่างประเทศมาที่เกาะเคย์แมนมาจากสหรัฐอเมริกาถึง 50% รองลงมาคือจาเมกาและแคนาดา

     สำหรับธนาคารพาณิชย์ชั้นนำของไทยเกือบทุกแห่งที่มีสาขาที่เกาะเคย์แมนคือ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารทหารไทย

 

 

กระทรวงการคลังร่วมมือเวทีโลกสกัดหลบหลีกภาษี

     จากการตรวจสอบกับแหล่งข่าวกระทรวงการคลังทราบว่า เรื่องการหลบหลีกภาษีนี้เป็นสิ่งที่ทุกรัฐบาลทั่วโลกต่างพยายามหาทางจัดการร่วมกัน แม้กระบวนการผ่านบริษัทออฟชอร์เหล่านี้จะไม่ใช่เรื่องที่ผิดกฎหมายและได้รับการรับรองด้วยความเต็มใจจากบรรดา Tax Haven ทั้งหลายก็ตาม แต่นั่นหมายถึงรายได้ของภาครัฐที่จะนำไปใช้ในการพัฒนาประเทศจะลดลงจากมูลค่าภาษีที่หายไปจากกระบวนการเหล่านี้

     ปัจจุบันประเทศไทยเข้าร่วม Base Erosion and Profit Shifting Project หรือ BEPS ซึ่งริเริ่มโดยองค์กรเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ในปี 2013 โดยร่วมมือกันวางแผนจัดการกับการหลบหลีกภาษี

     ต่อมาในปี 2015 ได้ตกลงเป็นแผนปฏิบัติการ BEPS 15 แผน รวมทั้งได้จัดทำและเผยแพร่รายงานข้อเสนอแนะ ครอบคลุมตั้งแต่มาตรการป้องกันการหลบเลี่ยงภาษี มาตรการเพื่อเสริมสร้างความโปร่งใส และความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยกรมสรรพากรของทุกประเทศก็จะแชร์ข้อมูลร่วมกันเพื่อการตรวจสอบที่รัดกุมขึ้นด้วย

 

 

สตง. เผย ยังไม่มีใครติดต่อให้ตรวจสอบ Paradise Papers

     สำนักข่าว THE STANDARD ตรวจสอบไปที่ นายพรชัย จำรูญพานิชย์กุล ผู้รักษาการแทนผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เกี่ยวกับกรณี Paradise Papers โดยให้ข้อมูลว่า ขณะนี้ยังไม่มีหน่วยงานหรือองค์กรใดติดต่อทาง สตง. เพื่อให้ตรวจสอบเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว หากมีการยื่นเรื่องเข้ามาก็พร้อมจะตรวจสอบตามกระบวนการดังเช่นกรณีของ Panama Papers เมื่อปีที่ผ่านมา

     นี่อาจเป็นการเริ่มต้นของหนังฟอร์มยักษ์เรื่องใหม่ที่ทุกคนฮือฮา หากแต่ตอนจบของหนังประเภทนี้ดูท่าจะเดาได้ไม่ยากเหมือนกับหลายสิบหลายร้อยเรื่องที่เคยเกิดขึ้นบนโลกนี้

 

Photo: BEN STANSALL, JUSTIN TALLIS/AFP

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising