×

ย้อนประวัติศาสตร์ละครใบ้ที่กำลังส่งเสียงดังขึ้นเรื่อยๆ ในงาน Pantomime in Bangkok 15

22.06.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 MINS READ
  • ละครใบ้เริ่มเป็นรู้จักแบบสุดๆ จากภาพยนตร์สัญชาติฝรั่งเศสเรื่อง Children of Paradise ในปี 1945 ที่มีตัวละครหลักเป็นนักแสดงละครใบ้ และเป็นแรงบันดาลใจของ ชาร์ลี แชปลิน และมิสเตอร์บีน รวมทั้งท่าเต้นมูนวอล์กของราชาเพลงป๊อป ไมเคิล แจ็คสัน
  • การแสดงละครใบ้ในประเทศไทยเริ่มแพร่หลายจากการแสดงของ อั๋น-ไพฑูรย์ ไหลสกุล หรือ ‘คนหน้าขาว’ ในช่วงปี 2527 และเป็นแรงบันดาลใจสำคัญที่ทำให้ ทศเทพ วงศ์หนองเตย จัดงาน Pantomime in Bangkok ครั้งแรกในเวลาต่อมา
  • งาน Pantomime in Bangkok ครั้งแรกจัดขึ้นที่สถาบันปรีดี พนมยงค์ โดยมีเพียงแค่เวทีและเก้าอี้สำหรับคนดูไม่กี่ที่นั่งเท่านั้น
  • Babymime นักแสดงละครใบ้ชาวไทยที่ได้รับการยอมรับในระดับโลกก็มีจุดเริ่มต้นจากการเป็นคนดู Pantomime in Bangkok เช่นเดียวกัน
  • ความสนุกและความสำคัญจริงๆ ของการดูละครใบ้ไม่ใช่ ‘ความเข้าใจ’ แต่เป็นการใช้จินตนาการเพื่อตีความสิ่งที่นักแสดงสื่อสารออกมาอย่างเต็มที่ โดยไม่มีข้อจำกัดของคำว่าถูกหรือผิดเข้ามาตีกรอบ

นับตั้งแต่ Pantomime in Bangkok ละครใบ้ในกรุงเทพฯ จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2540 กลุ่มนักแสดงละครใบ้มากหน้าหลายตาจากทั่วโลกได้หมุนเวียนเปลี่ยนกันแสดงพลังละครใบ้ที่สามารถเรียกเสียงหัวเราะและหยดน้ำตาให้กับผู้ชมทุกคนอย่างต่อเนื่องกันมาถึง 15 ครั้งในระยะเวลา 21 ปี

 

THE STANDARD ขอพาทุกคนย้อนไปดูประวัติศาสตร์ที่มาที่ไปของละครใบ้ทั้งในต่างประเทศและประเทศไทย รวมทั้งเหตุการณ์สำคัญและความประทับใจต่างๆ ที่เกิดขึ้น เพื่อเป็นการอุ่นเครื่องก่อนเชิญชวนให้ทุกคนเข้าไปรับชมและบริหารจินตนาการไปกับ ‘ศาสตร์ไร้เสียง’ พร้อมกันในวันที่ 6-8 กรกฎาคมนี้

 

 

ระบำหน้ากากขาว, Children of Paradise, มูนวอล์ก และชาร์ลี แชปลิน

คำว่า Pantomime ที่ใช้เรียกศาสตร์การแสดง ‘ละครใบ้’ ในปัจจุบันมีรากศัพท์มาจากภาษากรีก 2 คำคือ Panto ที่แปลว่าทั้งหมด และ Mimos ที่แปลว่านักเต้น เรียกรวมกันเป็น Pantomime ที่มีความหมายว่าการแสดงที่ผู้แสดงใช้การเต้นหรือการเคลื่อนไหวทางร่างกายเพื่อสื่อความหมายเพียงอย่างเดียว

 

จุดเริ่มต้นของละครใบ้จริงๆ นั้นไม่มีการบันทึกไว้อย่างเป็นการทางว่าเริ่มต้นตั้งแต่เมื่อไร แต่พอคาดการณ์ได้ว่ามาจากการ ‘เต้นระบำ’ ของหญิงสาวในหน้ากากสีขาวเพื่อให้ความบันเทิงกับชนชั้นปกครองตั้งแต่ยุคกรีกโบราณ

 

หลังจากนั้นได้มีการพัฒนารูปแบบของละครใบ้ให้เป็นการแสดงที่มีเรื่องราวมากกว่าการเต้น และเริ่มเป็นที่รู้จักตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 โดยเป็นส่วนหนึ่งในการแสดงของ Commedia dell’arte กลุ่มนักแสดงชาวอิตาเลียนที่กำลังมีชื่อเสียงทั่วยุโรปในขณะนั้น

 

ต่อมาละครใบ้เริ่มเป็นรู้จักแบบสุดๆ จากภาพยนตร์สัญชาติฝรั่งเศสเรื่อง Children of Paradise ในปี 1945 ที่มีตัวละครหลักเป็นนักแสดงละครใบ้ ด้วยความสำเร็จของภาพยนตร์ที่ถูกยกย่องว่ายิ่งใหญ่เทียบเท่ากับเรื่อง Gone with the Wind (1939) ของฝั่งอเมริกาก็ทำให้ความนิยมของละครใบ้เพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย ทำให้หลังจากนั้นมีการเดินสายแสดงของคณะละครใบ้ไปทั่วยุโรป และเป็นแรงบันดาลของ ชาร์ลี แชปลิน และมิสเตอร์บีน รวมทั้งท่าเต้นมูนวอล์กของราชาเพลงป๊อป ไมเคิล แจ็คสัน และท่าโรบอตของปรมาจารย์ละครใบ้อย่าง มาร์เซล มาร์โซ ที่ทำให้ละครใบ้เริ่มโด่งดังไปทั่วโลก

 

Photo:Paitoon Laisakul/Facebook

 

คนหน้าขาว สนามหลวง และ Pantomime in Bangkok

การแสดงละครใบ้ในประเทศไทยยังไม่เป็นที่แพร่หลายมากเท่าไร จนกระทั่งมีการแสดงของ อั๋น-ไพฑูรย์ ไหลสกุล หรือ ‘คนหน้าขาว’ ในช่วงปี 2527 ที่ได้แรงบันดาลใจจากการแสดงของ ครูช่าง-ชลประคัลภ์ จันทร์เรือง และมีโอกาสได้เรียนรู้ศาสตร์ละครใบ้อย่างแท้จริงกับ มิลาน สลาเด็ค นักการละครชาวสโลวาเกีย ที่เริ่มทำให้คนในประเทศไทยเริ่มสนใจกันมากขึ้นว่าสิ่งที่คนหน้าขาวกำลังพยายามนำเสนออยู่คืออะไร

 

รวมทั้งความสนใจในช่วงมัธยมปลายของ ทศเทพ วงศ์หนองเตย ที่ได้เห็นการแสดงของคนหน้าขาวที่สนามหลวง เกิดเป็นความประทับใจตั้งแต่แรกเห็นจนถึงกับขอไปช่วยงานครูอั๋น และค่อยๆ บ่มเพาะความรักและความหลงใหลในศาสตร์ไร้เสียงตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

 

กระทั่งเขาได้รับการติดต่อจาก โยชิสะวะ โคอิจิ โปรดิวเซอร์ละครใบ้ชื่อดังของญี่ปุ่น ถามถึงความเป็นไปได้ที่จะพาทีมนักแสดงละครใบ้จากเอเชียมาเปิดการแสดงที่เมืองไทย และแน่นอนว่าทศเทพรีบคว้าโอกาสนั้นไว้ และกลายเป็นที่มาของ Pantomime in Bangkok หรือเทศกาลละครใบ้ ครั้งที่ 1 ในปี 2540 และดำเนินมาอย่างต่อเนื่องถึงครั้งที่ 15 ในระยะเวลา 21 ปี

 


 (ตัวอย่างการแสดงจากงาน Pantomime in Bangkok พ.ศ.2546

 

การบอกเล่ากันปากต่อปากของคนดูไม่กี่สิบคน และคนดูไม่กี่กลุ่ม

งาน Pantomime in Bangkok ครั้งแรกจัดขึ้นที่สถาบันปรีดี พนมยงค์ โดยมีนักแสดงละครใบ้จากญี่ปุ่น-เกาหลี 8 กลุ่ม และมีเพียงแค่เวทีและเก้าอี้สำหรับคนดูไม่กี่ที่นั่งเท่านั้น บางครั้งก็มีคนเข้ามาดูจริงๆ ไม่ถึง 50 คน บางวันอาจจะโชคดีมีคนดูถึงหลักร้อย ซึ่งในแง่ตัวเลขอาจจะดูไม่มาก แต่อย่างน้อยทุกคนที่มาดูในวันนั้นก็ได้รู้แล้วว่า ‘ละครใบ้’ คืออะไร และละครใบ้ก็ไม่ได้ถูกจำกัดแค่การแสดงของคนทาหน้าสีขาวอย่างเดียวเท่านั้น  

 

สองในหลายคนที่ได้ร่วมบันทึกประวัติศาสตร์ละครใบ้ในประเทศครั้งนั้นคือ โหน่ง-วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์ ที่ไปดูตั้งแต่ครั้งแรกและหลงเสน่ห์ของ Pantomime in Bangkok ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา รวมทั้ง ก้อง-ทรงกลด บางยี่ขัน ที่ประทับใจงานครั้งนั้นถึงขนาดออกค่าตั๋วพาเพื่อนๆ ไปดู และบอกว่าถ้ามีคนไม่ชอบก็ไม่ต้องเอาเงินมาคืนเขา ผลปรากฏว่าเขาได้รับเงินค่าตั๋วคืนจากทุกคน และหลายคนก็กลายมาเป็นแฟนประจำของละครใบ้จนถึงทุกวันนี้

 

หลังจากนั้น Pantomime in Bangkok ก็ยังคงทำหน้าที่คัดสรรนักแสดงละครใบ้จากประเทศต่างๆ ทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่มาเปิดการแสดงที่ประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับความสนใจละครใบ้ในประเทศไทยที่เพิ่มขึ้นตามไปด้วย ถึงขนาดที่บางปีบัตรขายหมดตั้งแต่ 2 สัปดาห์ก่อนเริ่มแสดง และมีคนดูเต็มจำนวนทั้งที่นั่งปกติ หรือยอมนั่งพื้นเพื่อให้ได้ดูการแสดงก็มี

 

 

จุดเริ่มต้นจากคนดูสู่นักแสดงระดับโลกของ Babymime

รวมทั้ง 3 หนุ่ม เกลือ-ทองเกลือ ทองแท้, ธา-ณัฐพล คุ้มเมธา และงิ่ง-รัชชัย รุจิวิพัฒนา หนึ่งในคนดูของ Pantomime in Bangkok ที่ไม่ได้เสพแต่เพียงความสนุก แต่พวกเขายังได้รับแรงบันดาลใจในการเป็นนักแสดงละครใบ้ และเริ่มฝึกฝนพัฒนาตัวเองจนในปี 2548 พวกเขาได้ขึ้นไปยืนบนเวทีนี้ในฐานะ ‘ผู้แสดง’ ร่วมกับนักแสดงละครใบ้ชั้นแนวหน้า และทำให้ชื่อเสียงของ Babymime ได้รับการยอมรับบนเวทีระดับโลก และแน่นอนว่าพวกเขาจะกลับมาสร้างความประทับใจบน ‘เวทีแจ้งเกิด’ ให้กับคนดูทุกคนอีกครั้งเช่นเดียวกัน

 

 

Pantomime in Bangkok 15 การรวมตัวของนักแสดงละครใบ้ที่ดีที่สุดในทวีปเอเชีย  

นับจากการแสดงครั้งที่ 14 ในปี 2557 Pantomime in Bangkok ก็เงียบหายไปนานถึง 4 ปีเต็ม และด้วยเสียงเรียกร้องของกลุ่มคนดูผู้หลงใหลในความเงียบ ทำให้ Pantomime in Bangkok ต้องกลับมาทำหน้าที่ของตัวเองอีกครั้ง โดยรวบรวมนักแสดงชั้นนำที่ดีและเหมาะกับจริตของคนไทยมากที่สุดมาอยู่บนเวทีเดียวกันอีกเช่นเคย

 

AYUKOJI การจับคู่ครั้งใหม่ของนักแสดงระดับปรมาจารย์ละครใบ้ของญี่ปุ่นที่เปลี่ยนมาสร้างเสียงหัวเราะกับนักแสดงหญิงอายูมิ คลื่นลูกใหม่ที่น่าจับตามองมากที่สุดในขณะนี้

 

ยามาโมโตะ โคโย อีกหนึ่งรุ่นเก๋าแห่งวงการละครใบ้แนวสตรีทโชว์ที่เล่นกับพร็อพแค่ไม่กี่ชิ้น แต่สามารถเล่าเรื่องราวได้อย่างไร้ขีดจำกัด

 

อินากาคิ คาโฮรุ ถ้าหนึ่งในมุกตลกที่คนดูมักจะขำได้มากที่สุดคือเวลาเห็นผู้ชายออกมาแซวถึงด้านร้ายๆ ของผู้หญิง คาโอรุคือนักแสดงละครใบ้ที่นำเสนอด้านอ่อนโยนของผู้หญิงที่ทั้งน่ารัก เศร้า ขำขัน อบอุ่น จนคุณต้องเปลี่ยนความคิด

 

Empty Hands นักแสดงละครใบ้รุ่นใหม่ชาวเกาหลีที่คนอาจจะยังไม่เคยเห็นผลงานของเขามากเท่าไร แต่บอกได้เลยว่าเขาคือหนึ่งในคนที่จิกกัดสังคมได้เจ็บแสบจริงๆ

 

Guri Guri Girl เจ้าประจำของงาน Pantomime in Bangkok ที่พาหญิงอ้วนสวมหน้ากากออกมาเรียกเสียงหัวเราะให้กับคนดูได้ในทุกครั้งที่ปรากฏตัว

 

ยาโนะ คาสุกิ นักแสดงสัญชาติญี่ปุ่นแท้ๆ แต่มีหัวใจรักและเข้าใจในความเป็นคนมากที่สุด

 

PANTOMANGA NEO อีกหนึ่งนักแสดงรุ่นใหม่ที่มีสไตล์ไม่เหมือนใคร ด้วยการนำเอกลักษณ์เฉพาะตัวของ ‘มังงะ’ หรือการ์ตูนญี่ปุ่นมาช่วยในการเล่าเรื่อง

 

 

ละครใบ้ไม่ได้เข้าใจยากอย่างที่คิด

หลายคนพร้อมจะเบือนหน้าหนีทันทีเมื่อได้ยินคำว่า ‘ใบ้’ เพราะคิดไปก่อนว่าการแสดงที่ไร้คำพูดจะสามารถสื่อสารสิ่งที่นักแสดงต้องการพูดถึงให้คนอื่นเข้าใจได้อย่างไร

 

แต่ถ้าเราคิดว่า ‘ดนตรี’ คือภาษาสากลที่ทุกคนเข้าถึงได้แม้ว่าจะไม่รู้ความหมายของภาษานั้นๆ ก็ตาม ในมุมนี้ ‘ละครใบ้’ ที่ใช้ ‘ภาษากาย’ ที่ทุกคนสื่อสารเหมือนกันหมดอาจจะเป็น ‘ภาษาสากล’ ที่เข้าใจได้ง่ายกว่าภาษาใดๆ บนโลกนี้ด้วยซ้ำ

 

และอย่าเพิ่งตั้งเป้าว่าเราจะสามารถเข้าใจเมสเสจที่นักแสดงต้องการสื่อสารออกมาได้ทั้งหมด เพราะความสนุกและความสำคัญจริงๆ ของการดูละครใบ้ไม่ใช่ ‘ความเข้าใจ’ แต่เป็นการใช้จินตนาการเพื่อตีความสิ่งที่นักแสดงสื่อสารออกมาอย่างเต็มที่โดยไม่มีข้อจำกัดของคำว่าถูกหรือผิดเข้ามาตีกรอบ

 

เพราะฉะนั้นยิ่งเข้าไปดูละครใบ้ด้วยจินตนาการที่เปิดกว้างมากเท่าไรก็จะยิ่งสนุกไปกับการรับชมมากขึ้นเท่านั้น เหมือนที่ผู้จัดงานอย่างทศเทพ วงศ์หนองเตย บอกกับเราว่ามีผู้ชมที่มาดู Pantomime in Bangkok ตั้งแต่ครั้งแรกตอนอายุ 7 ขวบ และกลายเป็นแฟนคลับขาประจำที่ต้องมาดู Pantomime in Bangkok แทบทุกครั้งที่เป็นไปได้ ถ้ามองเรื่องจินตนาการที่ไม่มีขีดจำกัด เด็กน้อยคนนั้นอาจจะเป็นคนที่ดูละครใบ้ได้สนุกที่สุดแล้ว

 

 

และสำหรับผู้ใหญ่ที่ต้องใช้ ‘ตรรกะ’ ในการดำเนินชีวิตจนเผลอลืม ‘จินตนาการ’ ที่เคยมี การมาชมละครใบ้ด้วยหัวใจที่เป็นเด็กอาจช่วยปลดปล่อยจินตนาการที่ถูกฝังลงไปให้ฟื้นขึ้นมาอีกครั้งก็ได้

 

ตัวอย่างการแสดงจากงาน Pantomime in Bangkok ครั้งที่ 14

 

อ้างอิง:

FYI
  • Pantomime in Bangkok ครั้งที่ 15 นี้จะจัดขึ้นทั้งหมด 4 รอบ ในวันที่ 6-8 กรกฎาคมนี้ ที่โรงละครอักษรา คิง เพาเวอร์ บัตรราคา 900 / 1,200 / 1,500 บาท เปิดให้จองบัตรแล้วที่ www.thaiticketmajor.com
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising