×

ปานปรีย์ พหิทธานุกร กับโจทย์หินนำไทยกลับสู่จอเรดาร์โลก

09.02.2024
  • LOADING...
ปานปรีย์ พหิทธานุกร

ปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ ณัฏฐา โกมลวาทิน ผู้อำนวยการฝ่ายข่าว THE STANDARD ในรายการ THE STANDARD NOW วานนี้ (8 กุมภาพันธ์) ถึงประเด็นความท้าทายและโจทย์สำคัญด้านการต่างประเทศของไทย โดยเฉพาะปัญหาเรื่องพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา, วิกฤตการณ์เมียนมา, การช่วยเหลือตัวประกันไทยในสงครามอิสราเอล-ฮามาส รวมถึงจุดยืนของไทยท่ามกลางการแข่งขันของรัฐมหาอำนาจ และแนวทางการทูตไทยภายใต้การนำของรัฐมนตรีต่างประเทศคนปัจจุบัน

 

📍 พื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา หยิบยกหารือ แต่ยังไม่ลงรายละเอียด

 

หนึ่งในประเด็นที่คนไทยให้ความสนใจและมีการเจรจามายาวนานกว่า 20 ปีคือ ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนขนาด 26,000 ตารางกิโลเมตร ซึ่งปัจจุบันยังไม่สามารถตกลงกันในเรื่องดินแดนได้ แต่เป็นแหล่งขุมทรัพย์ปิโตรเลียมที่สำคัญและมีก๊าซธรรมชาติสำรองที่ไม่แพ้อ่าวไทย 

 

ปานปรีย์เผยว่า ในระหว่างการเยือนไทยของ ฮุน มาเนต เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์นั้น เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มีการหารือในประเด็นนี้กับนายกรัฐมนตรีกัมพูชา แต่ยังไม่ได้ลงรายละเอียด ซึ่งแม้ว่าจะดูไม่คืบหน้า แต่รัฐมนตรีต่างประเทศเชื่อว่า การพูดคุยครั้งนี้จะเป็น ‘จุดเริ่มต้น’ ที่จะนำไปสู่การเจรจาต่อไป ซึ่งก็จะตั้งคณะทำงานที่มีกองทัพเรือเข้ามาเกี่ยวข้อง เนื่องจากพื้นที่ทางทะเลเป็นพื้นที่ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกองทัพเรือ ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการเข้ามาเจรจาในเรื่องนี้ด้วย

 

ปานปรีย์มองว่า ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนสามารถมองในด้านความมั่นคงทางพลังงาน ซึ่งถือเป็นหัวใจในการขับเคลื่อนประเทศและพัฒนาเศรษฐกิจ โดยปัจจุบันด้วยปัจจัยเศรษฐกิจโลกที่ไม่สู้ดีนัก ทุกประเทศได้รับผลกระทบ รวมถึงไทยและกัมพูชาด้วยนั้น ทำให้การเจรจาเพื่อใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในพื้นที่นี้กลายเป็นเรื่องที่จำเป็น หากไม่เร่งดำเนินการ คนไทยอาจเสียประโยชน์และอาจเกิดความไม่มั่นคงขึ้นในอนาคต ซึ่งการซื้อพลังงานจากต่างประเทศมีความไม่แน่นอนสูงมากในเรื่องราคา ในขณะที่แหล่งพลังงานในอ่าวไทยก็เริ่มลดน้อยลง เช่นเดียวกับการนำเข้าพลังงานจากเมียนมาก็เริ่มลดลงด้วย  

 

ปานปรีย์ย้ำว่า การเจรจาระหว่างรัฐบาลไทยกับกัมพูชาในขณะนี้จะให้ความสำคัญกับการหาแนวทางร่วมสำรวจพัฒนาพื้นที่และใช้ประโยชน์จากแหล่งพลังงานร่วมกัน โดยจะยังไม่ไปแตะเรื่องดินแดน หรือยังไม่ไปสู่ขั้นกำหนดว่าพื้นที่ไหนเป็นของใคร ตรงนี้คล้ายกับแนวทางพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (Joint Development Area: JDA) ที่มีการจัดสรรผลประโยชน์ในแหล่งพลังงานร่วมกัน ซึ่งในอนาคตไทยและกัมพูชาอาจเดินตามแนวทางนี้ และมีโอกาสเป็นไปได้มากที่สุด

 

สิ่งสำคัญคือ ปานปรีย์กล่าวว่า รัฐบาลต้องสร้างความเข้าใจในหมู่ประชาชนว่ารัฐบาลจะไม่ยกดินแดนให้กับประเทศใดแม้แต่ 1 ตารางนิ้ว เมื่อเกิดความมั่นใจในเรื่องนี้แล้ว โครงการนำทรัพยากรใต้ท้องทะเลมาใช้ร่วมกันก็มีโอกาสไปต่อได้ ซึ่งหากสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะยังไม่พูดคุยหรือตกลงกันในเรื่องดินแดนแล้ว ในขั้นต่อมาจึงจะมีการเจรจาต่อเรื่องการลงทุนและแบ่งปันผลประโยชน์จากทรัพยากรใต้ทะเล รวมถึงสัดส่วนก๊าซหรือน้ำมันที่ขุดเจาะขึ้นมาได้

 

ส่วนหน่วยงานไหนจะเป็นเจ้าภาพหรือหัวหอกในการเจรจาเรื่องดินแดนนั้น ณ เวลานี้ปานปรีย์เผยว่ายังไม่ได้รับมอบหมาย แม้ในอดีตกระทรวงการต่างประเทศจะเป็นประธานคณะกรรมการเจรจาในเรื่องนี้ก็ตาม ตอนนี้จึงต้องรอดูนโยบายจากรัฐบาลก่อนว่าจะมอบหมายให้กระทรวงไหนเป็นผู้ดูแลเรื่องนี้    

 

📍 วิกฤตเมียนมา บททดสอบการทูตไทย

 

ไทยถูกจับตาและตั้งคำถามอย่างมากถึงบทบาทที่จะช่วยคลี่คลายวิกฤตการณ์ในเมียนมา ซึ่งเวลานี้ผ่านพ้นมาแล้ว 3 ปีนับจากเหตุการณ์รัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลพลเรือนของ ออง ซาน ซูจี ขณะที่การสู้รบระหว่างกองกำลังชาติพันธุ์และกองทัพรัฐบาลก็ยังเป็นไปอย่างดุเดือดและไม่มีทีท่าว่าจะจบลงในเร็ววัน  

 

ปานปรีย์ยอมรับว่า ปัญหาในเมียนมาเป็นปัญหาคาราคาซังและเป็นความกังวลใจของอาเซียนด้วย จนนำไปสู่การออก ‘ฉันทมติ 5 ข้อ’ เพื่อร่วมหาทางออกให้กับเมียนมา แต่มีบางเรื่องที่เมียนมาไม่อาจยอมรับได้ใน 5 ข้อดังกล่าว แต่ด้วยสถานการณ์การสู้รบที่เป็นอยู่ในขณะนี้ทำให้เกิดคำถามว่า ถึงเวลาหรือยังที่คู่ขัดแย้งจะหันหน้ามาเจรจากัน

 

ปานปรีย์มองว่า การผลักดันกระบวนการสันติภาพในเมียนมาต้องใช้เวลาพอสมควร แต่สิ่งที่ทำได้ทันทีคือ การเข้าไปดูแลประชาชนที่เดือดร้อนผ่านการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญเป็นลำดับแรก และจากการเริ่มพูดคุยทีละประเทศในอาเซียนก็ได้รับการสนับสนุน เพราะเรื่องนี้เป็นหนึ่งในฉันทมติ 5 ข้อด้วย ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลมีการสื่อสารกับชาติสมาชิกอาเซียนให้ทราบเป็นระยะว่าไทยทำอะไรบ้าง ได้พบกับใคร คุยกับใคร และแนวทางเดินต่อไปจะเป็นอย่างไร ทำให้เกิดความเข้าใจว่าไม่ใช่ไทยจะมาแย่งซีน แต่เป็นการสร้างแนวร่วมว่าเป็นเรื่องที่อาเซียนต้องทำร่วมกัน

 

ปานปรีย์เสริมว่า รัฐบาลไม่เห็นด้วยกับการที่เมียนมาถูกโดดเดี่ยว เพราะการปล่อยให้สถานการณ์ในเมียนมาเลวร้ายลงอาจกระทบอาเซียนในภาพรวม ดังนั้นอาเซียนจึงมีความพยายามที่จะดึงประเทศที่หายไปกลับมา ซึ่งการประชุมอาเซียนระดับรัฐมนตรีต่างประเทศที่หลวงพระบาง สปป.ลาว ก็มีสัญญาณบวกที่เมียนมาส่งตัวแทนที่เป็นเจ้าหน้าที่ระดับปลัดกระทรวงเข้าร่วมประชุมเป็นครั้งแรก ซึ่งก็มีการหารือถึงแนวทางช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่ไทยเป็นฝ่ายริเริ่ม และทุกประเทศก็ยอมรับ โดยเวลานี้ไทยสามารถผลักดันความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมได้เกิน 50% แล้ว

 

ในมิติของการเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์การสู้รบในเมียนมา หากรัฐบาลทหารเมียนมาเพลี่ยงพล้ำให้กับกองกำลังชาติพันธุ์ ปานปรีย์ระบุว่า ในมุมของไทย ไทยจะไม่เข้าไปแทรกแซงกิจการภายในของเมียนมา ถ้าเมียนมาต้องการสันติภาพ พวกเขาก็ต้องหันมาเจรจากัน ส่วนคนกลางที่จะเข้าไปช่วยไกล่เกลี่ยก็ต้องพูดคุยกันต่อไป แต่หากเกิดการต่อสู้อย่างหนัก จนเกิดการอพยพใหญ่มายังชายแดน ไทยก็เตรียมพร้อมและมีการประเมินว่าจะสามารถรองรับผู้อพยพได้จำนวนเท่าใด โดยเป็นการให้ที่พักพิงชั่วคราวเท่านั้น

 

นอกเหนือจากการพูดคุยกับฝ่ายรัฐบาลเมียนมาแล้ว ปานปรีย์ยังเน้นย้ำอีกว่า ไทยมีแผนที่จะพูดคุยเจรจากับตัวแทนทุกฝ่ายในเมียนมาอยู่แล้ว แต่จุดเริ่มต้นต้องคุยกับรัฐบาลเมียนมาก่อน ถ้าคุยกับรัฐบาลเมียนมาไม่ได้ การให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมก็อาจเกิดขึ้นได้ยาก ในขณะเดียวกันหากคุยกับฝั่งรัฐบาลแล้ว ก็จะมีการคุยกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ต่อ ซึ่งปานปรีย์เชื่อว่า ท้ายที่สุดแล้วกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ จะเห็นชอบด้วย โดยปัจจุบันรัฐบาลได้พูดคุยกับตัวแทนบางกลุ่มแล้ว แต่พยายามจะคุยให้ครบทุกกลุ่ม นอกจากนี้ สปป.ลาว ที่เป็นประธานอาเซียนปีนี้ ก็มีการส่งทูตพิเศษไปพูดคุยกับกลุ่มชาติพันธุ์หลายกลุ่ม และล่าสุดได้เดินทางไปนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เพื่อพูดคุยกับกลุ่มรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) 

 

ขั้นตอนต่อไปหลังจากความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมคือ การสนับสนุนให้กลุ่มชาติพันธุ์และรัฐบาลหันมาเจรจากัน เพื่อสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้น ซึ่งเงื่อนไขต่างๆ เป็นเรื่องที่พวกเขาต้องคุยกันเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการหยุดยิงหรือการจัดการเลือกตั้ง แต่หากไม่พูดคุยกันสิ่งที่กล่าวมาก็จะไม่เกิดขึ้น

 

📍 สงครามอิสราเอล-ฮามาส และการช่วยเหลือตัวประกันชาวไทย

 

อีกหนึ่งความท้าทายของการทูตไทยคือ การเจรจาช่วยเหลือคนไทยที่ถูกกลุ่มฮามาสจับเป็นตัวประกันตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่แล้ว ซึ่งปานปรีย์อัปเดตสถานการณ์ล่าสุดว่า ยังมีตัวประกันไทยอีก 8 คนที่ยังอยู่ในฉนวนกาซา ส่วนสาเหตุที่ยังไม่ได้ปล่อยตัวออกมานั้น เป็นเพราะทั้งอิสราเอลและฮามาสยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงหยุดยิงครั้งใหม่ได้ โดยก่อนหน้านี้ทั้งสองฝ่ายเคยตกลงหยุดยิงชั่วคราวสำเร็จในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2023 ซึ่งทำให้มีตัวประกันบางส่วนรวมคนไทย 23 คน ที่ได้รับการปล่อยตัว

 

ปานปรีย์ย้ำว่า กระทรวงการต่างประเทศยังมีการติดต่อสื่อสารกับเครือข่ายต่างๆ เพื่อช่วยเหลือตัวประกันอยู่ 

 

ขณะเดียวกันปานปรีย์ชี้ว่า การเป็นมิตรกับทุกประเทศเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะไม่ว่าจะเกิดสถานการณ์ขึ้นที่ไหน เช่น อิสราเอล ปาเลสไตน์ ยูเครน หรือแม้แต่วิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด ความร่วมมือระหว่างประเทศจะเป็นหัวใจสำคัญในการแก้ไขปัญหาและวิกฤตต่างๆ ซึ่งการช่วยเหลือตัวประกันไทยในสงครามครั้งนี้ก็เป็นตัวอย่างของการใช้การทูตช่วยแก้ปัญหา รวมถึงการส่งแรงงานไทยนับหมื่นกลับประเทศด้วยเช่นกัน โดยไทยมีการเจรจากับทั้งตัวแทนของกลุ่มฮามาสและอิสราเอล รวมถึงประเทศที่อยู่ในเส้นทางการส่งแรงงานไทยกลับ อาทิ อียิปต์ หรือประเทศที่เป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของฮามาสอย่างกาตาร์ก็มีการเจรจาด้วย เพื่อเป็นช่องทางในการเข้าถึงผู้นำฮามาส

 

📍 การแข่งขันของรัฐมหาอำนาจ ไทยอยู่ตรงไหน?

 

ท่ามกลางโจทย์ใหญ่ด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ชาติมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาและจีนแข่งขันกันอย่างดุเดือด ต่างชาติมองไทยว่าเอียงไปฝั่งใดฝั่งหนึ่งหรือไม่นั้น ปานปรีย์แสดงความเห็นว่า ไทยไม่ได้สนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมากกว่ากัน แต่ไทยอยากจะเป็นมิตรกับทุกประเทศ การที่จีนและสหรัฐอเมริกาเลือกไทยเป็นสถานที่ประชุมหารือระหว่าง หวังอี้ รัฐมนตรีต่างประเทศของจีน กับ เจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของสหรัฐฯ เมื่อปลายเดือนมกราคมนั้น ก็สะท้อนว่าไทยไม่ได้เลือกข้าง ซึ่งปานปรีย์มองว่า การวางตัวเป็นกลางระหว่างมหาอำนาจอย่างจีนและสหรัฐฯ ถือเป็นความสำเร็จอย่างหนึ่งของการทูตไทย

 

ในเรื่องของการค้าและการลงทุนก็เป็นปัจจัยสำคัญ ไทยพยายามทำให้ต่างชาติมั่นใจว่าไทยเปิดกว้าง ไม่ได้เลือกข้าง พร้อมค้าขายกับทุกประเทศ หากเขาเข้ามาลงทุนหรือย้ายซัพพลายเชนเข้ามาในประเทศไทย เขาก็จะสามารถส่งออกสินค้าไปยังประเทศทุกขั้วที่แบ่งแยกกันในเวลานี้ได้ ในทางกลับกัน หากไทยแสดงตัวว่าอยู่ขั้วใดขั้วหนึ่ง จะเท่ากับว่าไทยปิดกั้นในด้านการค้า 

 

ส่วนในมิติความมั่นคงนั้นปานปรีย์มองว่า วันนี้สถานการณ์ยังไปไม่ถึงจุดที่ต้องตัดสินใจว่าจะต้องไปข้างใดข้างหนึ่ง ซึ่งในความเป็นจริงไทยก็ไม่ได้ต้องการจะไปข้างใดข้างหนึ่งอยู่แล้ว ไทยพบกับจุดสมดุลที่เหมาะสมแล้วในเวลานี้ ซึ่งก็คือการเป็นมิตรกับทุกประเทศ มองว่าจุดนี้ไม่น่าจะมีประเทศใดมากดดันไทย แต่ตรงกันข้าม จะมีแต่ความร่วมมือเกิดขึ้น  

 

📍 โจทย์ใหญ่นำไทยกลับสู่จอเรดาร์โลก

 

เป้าหมายสำคัญด้านการต่างประเทศไทยภายใต้การนำของปานปรีย์คือ การทำให้ประชาคมโลกหันกลับมาสนใจไทย และนำพาไทยกลับสู่จอเรดาร์โลกอีกครั้ง ไทยต้องการจะมีเพื่อน ต้องการความมั่นคง ไม่ต้องการที่จะอยู่อย่างโดดเดี่ยวท่ามกลางโลกที่เปลี่ยนแปลงไปและมีความไม่แน่นอนสูงมาก ไม่ว่าจะเกิดสถานการณ์อะไรขึ้น ล้วนแล้วแต่ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศ

 

ปานปรีย์เน้นย้ำว่า แนวทางที่สำคัญของการทูตไทยคือ ต้องมีความยืดหยุ่น สามารถปรับไปตามสถานการณ์ได้ ยกตัวอย่างเช่น สงครามในยูเครน ไทยก็ต้องวางนโยบายด้านการต่างประเทศว่าจะรักษาความเป็นมิตรกับรัสเซียอย่างไร ในขณะที่ชาติตะวันตกกดดันให้ไม่เห็นด้วยกับการที่รัสเซียรุกรานประเทศเพื่อนบ้าน 

 

ในส่วนของการฟื้นฟูบทบาทไทยในอาเซียนนั้นปานปรีย์มองว่า เวลานี้อาเซียนหันมาให้ความสนใจไทยเหมือนกับที่เคยเป็นมาในอดีตแล้ว

 

ในประเด็นการจัดลำดับความสำคัญในด้านการทูตช่วง 6 เดือนแรกและหลังจากนี้นั้น ปานปรีย์กล่าวว่า รัฐบาลจะให้ความสำคัญจากเล็กไปหาใหญ่ก่อน เริ่มจากประเทศที่มีพรมแดนติดกับไทย โดยเฉพาะปัญหาในเมียนมา ซึ่งส่งผลกระทบต่ออาเซียนทั้งภูมิภาค ต่อไปคือการทำความเข้าใจกับมหาอำนาจว่าวันนี้ไทยยืนอยู่ตรงไหน ยืนอยู่ตรงกลาง กลางแบบไหน ซึ่งก็ต้องสร้างความชัดเจนกับมหาอำนาจว่าไทยพร้อมจะร่วมมือกับทุกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ จีน อินเดีย หรือ EU 

 

ถ้าให้ดูบนจอเรดาร์โลก ประเมินว่าสีของประเทศไทยชัดขนาดไหน ปานปรีย์ตอบว่า เริ่มกลับมาแล้ว โดยพิจารณาจากการที่หลายประเทศตอบรับการเดินทางเยือนของผู้แทนไทย หรือขอพบรัฐมนตรีต่างประเทศเพื่อพูดคุยในวาระต่างๆ ซึ่งปานปรีย์เชื่อว่า ขณะนี้ภารกิจที่จะนำไทยกลับมาสู่จอเรดาร์โลกอีกครั้งทำมาได้มากกว่า 50% แล้ว 

 

กับคำถามที่ว่า ปานปรีย์สามารถรักษาความเป็นตัวของตัวเองได้แค่ไหนเมื่อต้องคุยกับนายกรัฐมนตรีเศรษฐาอยู่ตลอด ปานปรีย์ยืนยันว่า นายกรัฐมนตรีให้อำนาจเต็มที่ในการดำเนินนโยบายการต่างประเทศ แต่ในเรื่องที่มีความสำคัญ เช่น การให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในเมียนมา ก็จะมีการปรึกษาหารือก่อน เมื่อนายกรัฐมนตรีเห็นชอบก็ดำเนินไปตามแนวทางนั้น หรือบางครั้งเมื่อรับโจทย์มา ยกตัวอย่างเช่น อยากให้มีข้อตกลงฟรีวีซ่ากับประเทศใดเพิ่ม ก็จะรับไปเจรจาต่อ

 

ปานปรีย์กล่าวทิ้งท้ายในรายการว่า การทำงานในช่วงที่ผ่านมายังเป็นไปตามเป้าหมายและตามกรอบเวลาที่กำหนด

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X