จากกรณีที่ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) ในนามอิสระ ให้สัมภาษณ์กับวอยซ์ถึงการแก้ปัญหาม็อบชุมนุมในพื้นที่กรุงเทพฯ จะทำอย่างไรไม่ให้สร้างปัญหาให้คนที่ไม่ได้มาร่วมชุมนุมว่า ตนมองว่าการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างเป็นเรื่องปกติของสังคมประชาธิปไตย ดังนั้น กทม. ในฐานะเจ้าของพื้นที่ ควรจัดพื้นที่สำหรับการแสดงออกทั้งขนาดใหญ่ เช่น ลานคนเมือง สนามกีฬาไทยญี่ปุ่น-ดินแดง เป็นต้น นอกจากนี้ทุกเขตควรมีพื้นที่สาธารณะขนาดเล็กเพื่อให้คนมาแสดงความคิดเห็นได้เช่นกัน นอกจากพื้นที่แบบอะนาล็อกแล้ว ควรมีพื้นที่แบบดิจิทัลในการแสดงความคิดเห็นด้วย
ชัชชาติระบุว่า กทม. ต้องอำนวยความสะดวกเรื่องการจัดหาเครื่องเสียง รถสุขา มีการประสานงานขออนุญาตใช้พื้นที่ชุมนุมตามกฎหมาย พร้อมย้ำว่าการแสดงออกเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน ปัญหาที่คนรุ่นใหม่อัดอั้นตันใจส่วนหนึ่งเป็นเพราะไม่มีใครรับฟังพวกเขา เชื่อว่าถ้ามีพื้นที่ตรงนี้ สังคมจะดีขึ้น ช่วยแก้ไขปัญหาได้อย่างจริงจัง
ต่อมา พรรณิการ์ วานิช กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กระบุว่า “ไม่เห็นด้วยกับนโยบายนี้ของคุณชัชชาติเลยค่ะ การชุมนุมเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน ต้องเกิดได้ทุกที่ ผู้ว่าฯ กทม. มีหน้าที่อำนวยความสะดวกให้ผู้ชุมนุม จัดรถห้องน้ำ ดูแลความปลอดภัย และในขณะเดียวกันก็ต้องดูแลให้คนทั่วไปที่ไม่ได้มาร่วมชุมนุมยังสัญจรไป-มาได้ หรืออย่างน้อยก็ได้รับความสะดวกตามสมควร มีการแจ้งประชาสัมพันธ์ล่วงหน้าให้หลีกเลี่ยงเส้นทาง ไม่ใช่จัดโซนนิ่ง เปิดให้ชุมนุมได้แค่บางที่”
พรรณิการ์ระบุว่า การให้ชุมนุมได้เฉพาะในที่ที่รัฐกำหนด เป็นวิธีที่ประเทศเผด็จการเขาใช้กันเพื่ออ้างว่าฉันเป็นประชาธิปไตย เปิดรูให้ประชาชนชุมนุมได้ในบางที่ แต่เป็นการชุมนุมที่จะไม่มีพลัง ไม่มีอิมแพ็กอะไรพอที่จะสะเทือนผู้มีอำนาจได้ หากพูดถึงความสะดวกไม่เดือดร้อนใคร อันที่จริงเวลาเราชุมนุมที่สนามหลวงก็ไม่เดือดร้อนใคร เพราะเป็นที่โล่งกว้าง แต่เพราะมันเป็นสัญลักษณ์แห่งอำนาจ ผู้มีอำนาจเดือดร้อน คนจัดชุมนุมที่สนามหลวงจึงโดนคดี
“หากคุณชัชชาติจะจัดโซนนิ่งให้ชุมนุม อยากทราบว่าหน้าทำเนียบรัฐบาล กระทรวงต่างๆ สนามหลวง และอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จะเป็นโซนที่สามารถชุมนุมได้หรือไม่? เหตุที่การชุมนุมต้องเกิดได้ทุกที่ เพราะหากเราชุมนุมได้เฉพาะบริเวณที่รัฐกำหนด เท่ากับให้ผู้มีอำนาจควบคุมการชุมนุมได้ การชุมนุมส่วนใหญ่เป็นการต่อต้านผู้มีอำนาจทั้งนั้น หากรัฐไม่อนุญาตเราก็ไม่ได้ชุมนุม เท่ากับประชาชนถูกพรากเอาอาวุธหนึ่งเดียวที่ตัวเองมีไป”
พรรณิการ์ยังระบุต่อไปว่า แน่นอนว่าการชุมนุมขนาดใหญ่ทำให้ประชาชนจำนวนมากไม่ได้รับความสะดวกในการใช้พื้นที่ การเดินทาง ขอยกตัวอย่าง เวลาอังกฤษจะมีการประท้วงหยุดงานของพนักงานรถไฟ ซึ่งกระทบกับการเดินทางของคนเป็นล้าน สหภาพเขาจะแจ้งล่วงหน้านานหลายวัน เพื่อให้ประชาชนวางแผนชีวิตตัวเองในวันที่จะมีการประท้วง และคนส่วนใหญ่ก็ยอมรับได้ วางแผนเลี่ยงการเดินทางหรือไปใช้ระบบโดยสารอื่น ความไม่สะดวกในการเดินทางเป็นสิ่งที่พวกเขายอมจ่าย เพื่อแลกกับสิทธิที่เพิ่มขึ้นของเพื่อนร่วมชาติ สวัสดิการที่ดีของพนักงานรถไฟอังกฤษได้มาจากการต่อสู้เรียกร้อง ไม่ใช่การเชื่อฟังและทำตามที่รัฐอนุญาต สวัสดิการ คุณภาพชีวิต สิทธิเสรีภาพของคนไทยก็เช่นเดียวกัน