×

ล้วงเคล็ดลับสติกเกอร์ฟุตบอล Panini ของสะสมจากอิตาลีที่สร้างรายได้ปีละ 22,400 ล้านบาท

07.06.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

9 Mins. Read
  • พี่น้องชาวอิตาลีตระกูลพานินี เบนิโตและจูเซปเป (Benito & Giuseppe) ประกอบธุรกิจสายส่งหนังสือพิมพ์และขายของชำมาตั้งแต่ปี 1955 ก่อนได้ไอเดียผลิตสติกเกอร์ เพราะบังเอิญไปเห็นสติกเกอร์คอลเล็กชัน Figurines ที่มาพร้อมกับดอกไม้และต้นไม้
  • จุดพลิกผันที่ทำให้โดนใจผู้บริโภค คือช่วงปี 1968 ที่หันมาจับธุรกิจสติกเกอร์ภาพหน้านักฟุตบอลเต็มตัว เริ่มต้นด้วยการทำสติกเกอร์นักฟุตบอลในลีกอิตาลี Calciatori Collection
  • จุดแข็งของพานินีคือกระจายไปทำสติกเกอร์และการ์ดสะสมกีฬาอื่นๆ เช่น บาสเกตบอล NBA, ฮอกกี้ NHL, เบสบอล MLBPA หรืออุตสาหกรรมบันเทิงกับค่าย Disney และ Warner Bros. ทั้งยังสร้างวัฒนธรรมการเทรดในหมู่นักสะสมจนเกิดเป็นคอมมูนิตี้ที่แข็งแรง

เชื่อไหมว่าสติกเกอร์นักฟุตบอลจากค่าย ‘พานินี’ (Panini) เล่มที่มีมูลค่าสูงสุดในท้องตลาด ณ ปัจจุบัน ขายกันเฉียดหลัก 300,000 บาทกันไปแล้ว (สมุดสติกเกอร์ Panini Mexico 70 World Cup พร้อมสติกเกอร์ที่ยังไม่ติดแบบครบเซต)

 

Photo: Panini & Kind 1986 (eBay)

 

ส่วนตัวการ์ดนักฟุตบอล อีกหนึ่งโปรดักต์ชูโรงของพานินีที่มีมูลค่าสูงสุด ณ ตอนนี้คงต้องยกให้ ลิโอเนล เมสซี (Lionel Messi) คอลเล็กชันลาลีกา ปี 2004-2005 เพราะสนนราคาขายใน eBay ที่ใบละราวๆ 320,000 บาท ฝั่งการ์ดสะสมเวอร์ชันอเมริกันฟุตบอลของ ทอม เบรดี (Tom Brady) ในปี 2000 พร้อมลายเซ็นก็ไม่น้อยหน้าเพราะเริ่มต้นขายกันที่ใบละแค่ประมาณ 3.9 ล้านบาท!

 

Photo: Sports Cards Exchange (eBay)

 

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าบรรดาสติกเกอร์และการ์ดสะสมจากพานินีจะมีมูลค่าทางตัวเลขที่สูงมหาศาลมากมายขนาดนี้ จนผู้ลงสมัครท้าชิงตำแหน่งนายกเทศมนตรีในเปรูต้องงัดกลยุทธ์แจกสติกเกอร์พร้อมสมุดสะสมมาใช้แล้ว (เปรูห่างหายจากการลงเล่นฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายนานกว่า 36 ปี (1982-2018) ทำให้สติกเกอร์พานินีเวอร์ชันฟุตบอลโลก 2018 ในปีนี้ที่เปรูขายดีเทน้ำเทท่าหมดยกแผง)

 

เกือบ 57 ปีแล้วที่พานินี ค่ายผู้ผลิตสติกเกอร์จากอิตาลีก้าวเข้ามาเปิดตลาดทำธุรกิจผลิตสติกเกอร์ฟุตบอลและกีฬาขายจนเป็นที่รู้จักในหมู่นักสะสมในกว่า 120 ประเทศทั่วโลก ถ้าเปรียบเป็นช่วงอายุของคนก็เรียกได้เต็มปากว่าผ่านร้อนผ่านหนาวจนชีวิตเริ่มเข้าที่เข้าทาง

 

ว่ากันว่าในแต่ละปีกำลังการผลิตสติกเกอร์ของโรงงานพานินีในอิตาลีและบราซิลจะอยู่ที่ประมาณ 1 พันล้านซอง คิดเล่นๆ เป็นจำนวนกลมๆ ก็ตก 6 พันล้านใบ หรือราว 150,000 ล้านบาท (จำหน่ายซองละประมาณ 25 บาท)

 

จากการเปิดเผยล่าสุดของบริษัทเมื่อปี 2016 ที่ผ่านมายังพบอีกด้วยว่า พวกเขาสามารถกวาดรายรับจากยอดขายสมุดสะสม สติกเกอร์ การ์ดสะสม (Trading Cards) หนังสือ นิตยสาร รวมกันทั้งหมดไปมากกว่า 698 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือตีเป็นเงินไทยก็แค่ 22,400 ล้านบาท! และในช่วงระยะหลังๆ ก็เริ่มปรับมุมธุรกิจบุกโลกดิจิทัลมากขึ้นด้วยการทำเว็บไซต์สะสมสติกเกอร์ออนไลน์ คู่ขนานไปพร้อมๆ กันกับการสะสมโปรดักต์แบบ Physical ที่อัปเดตข้อมูลตัวเลขแพ็กสติกเกอร์ที่ถูกเปิดในแต่ละวินาทีแบบเรียลไทม์

 

 

THE STANDARD ชวนคุณมาร่วมแกะสติกเกอร์ไขคำตอบไปพร้อมๆ กันว่า จุดเริ่มต้นและแรงบันดาลใจในการดำเนินกิจการของพานินีมีความเป็นมาอย่างไร เหตุใดของสะสมจากบริษัทที่ชื่อเหมือน ‘แซนด์วิชย่างสไตล์อิตาลี’ รายนี้ถึงประสบความสำเร็จมากทั้งในเชิงโมเดลธุรกิจและผลตอบรับจนยืนระยะยาวได้ ‘เหนียวแน่น’ บนหน้ากระดาษต่อเนื่องเกือบ 6 ทศวรรษเต็ม

 

 

อดีตสายส่งหนังสือพิมพ์ที่ผันตัวมาเอาดีทำสติกเกอร์สะสม

ย้อนกลับไปเมื่อราวๆ ปี 1961 ณ เมืองโมเดนา (Modena) ในประเทศอิตาลี สองพี่น้องพานินี เบนิโตและจูเซปเป (Benito & Giuseppe) ที่พื้นเพประกอบธุรกิจสายส่งหนังสือพิมพ์และขายของชำมาตั้งแต่ปี 1955 ได้เกิดความคิดอยากแตกไลน์ขยายธุรกิจของตัวเองให้ต่างไปจากเดิม

 

ทันทีที่ทั้งคู่ไปพบเข้ากับสติกเกอร์สะสม Figurines ที่มาพร้อมกับดอกไม้และต้นไม้ ซึ่งส่งตรงมาจากเมืองมิลานแต่ไม่สามารถผลิตขายได้ ไอเดียของทั้งสองก็เริ่มพลุ่งพล่านและเห็นตรงกันว่ามันน่าจะเป็นการลงทุนที่ดี (ยุคนี้รูปสติกเกอร์ยังไม่มาพร้อมกาวในตัว ยังต้องใช้กาวทาที่ด้านหลังแล้วติดอยู่)

 

คู่พี่น้องพานินีตัดสินใจลองไปซื้อสติกเกอร์เซตดังกล่าวมาขายต่อดู โดยใช้วิธีเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ใหม่ขายคู่แพ็กเกจ 2 ชิ้นในราคา 10 ลีร์ (สกุลเงินในสมัยก่อนของประเทศอิตาลี) ปรากฏว่าใช้เวลาไม่นานนักก็ขายสติกเกอร์ได้กว่า 3 ล้านชุดแล้ว สร้างประกายความหวังให้กับทั้งเบนิโตและจูเซปเปเป็นอย่างมาก

 

พอเริ่มดูท่าว่าจะไปได้สวย สองพี่น้องจึงมองหาลู่ทางทำธุรกิจด้วยลำแข้งของตัวเอง และในที่สุดพวกเขาก็กลายมาเป็นทั้งผู้ผลิตสติกเกอร์และจัดจำหน่ายเต็มตัว ซึ่งแค่ในปีแรกก็ขายไปได้แล้วกว่า 15 ล้านชุด ก่อนเพิ่มเป็น 29 ล้านชุดในปีต่อมา

 

จุดพลิกผันของพานินีที่ทำให้ผลิตภัณฑ์สติกเกอร์จากอิตาลีโดนใจผู้บริโภคจนถึงปัจจุบัน คือช่วงปี 1968 ที่ครอบครัวพานินีหันมาจับธุรกิจสติกเกอร์ภาพหน้านักฟุตบอลอย่างเต็มตัว เริ่มต้นด้วยการทำสติกเกอร์นักฟุตบอลในลีกอิตาลี Calciatori Collection ซึ่งได้รับความนิยมสูงมากในหมู่นักสะสมกลุ่มเด็กๆ

 

Photo: laststicker

 

แต่จุดเปลี่ยนสำคัญที่จะลืมกล่าวถึงไม่ได้เป็นอันขาดคือการได้ร่วมงานกับสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือฟีฟ่า (FIFA) ในปี 1970 เพื่อผลิตสติกเกอร์เก็บสะสมเป็นหนึ่งในสินค้าที่ระลึกช่วงฟุตบอลโลกคร้ังที่ 9 ที่จัดขึ้นในเม็กซิโก (ปีดังกล่าวยังใช้ถ้วยชูล รีเมอยู่)

 

มองผิวเผินอาจเข้าใจได้ว่าเมื่อพานินีได้ร่วมงานกับฟีฟ่าก็จะทำให้รายรับของเขาเพิ่มขึ้นไปอีกหลายเท่าตัว แต่ผลลัพธ์ที่แท้จริงที่ยังซ่อนอยู่ในซองสติกเกอร์ FIFA World Cup 1970 คือการที่พานินีได้ใบเบิกทางเดินทางไปทำความรู้จักกับนักสะสมนอกประเทศอิตาลีเป็นครั้งแรกในวงกว้าง ตัวสมุดสะสมสติกเกอร์เองก็ถูกปรับให้มีคำบรรยายใต้ภาพหลายภาษาเพื่อให้เข้าถึงคนได้ทุกเชื้อชาติด้วย

 

นับเป็นการเปิดตัวในฐานะผู้ผลิตสติกเกอร์ฟุตบอลระดับโลกไปโดยปริยาย เพราะเป็นการป่าวประกาศให้ตนได้เป็นที่รู้จักในตลาดกระแสหลักสากลมากขึ้น จนอีก 2 ปีถัดมาพานินีก็เดิมพันคิดค้นกรรมวิธีให้สติกเกอร์ของพวกเขามาพร้อมกับหน้ากาวด้านหลังเพื่อความสะดวกและความง่ายในการเก็บสะสม

 

แม้ขั้นตอนการขยายตลาดจะกระท่อนกระแท่นไปบ้าง ทำให้การวางจำหน่ายสติกเกอร์พานินีฟุตบอลโลกปี 70 ในสหราชอาณาจักรล่าช้าไปถึงปี 1978 แต่นั่นก็ไม่ใช่ปัญหาแต่อย่างใด เพราะนับตั้งแต่ยุค 70s เป็นต้นมา พานินีก็ยังได้รับความไว้วางใจร่วมผลิตสติกเกอร์ในมหกรรมฟุตบอลสำคัญๆ กับฟีฟ่ามาโดยตลอด และกลายเป็นผู้ผลิตสติกเกอร์ฟุตบอลเบอร์ 1 ของโลกจนถึงปัจจุบัน

 

 

ยุค 90s กับช่วง (เกือบ) แผ่วและการผงาดครั้งสำคัญ

พอสติกเกอร์ของพานินีเริ่มติดตลาด ก็เริ่มมีผู้เล่นเจ้าอื่นๆ ทยอยเข้ามาทำตลาดในผลิตภัณฑ์เซกเมนต์ (สติกเกอร์) เดียวกันมากขึ้นเรื่อยๆ คละกันทั้งของถูกและผิดลิขสิทธิ์ โดยเฉพาะคู่แข่งที่ขับเคี่ยวกันมายาวนานตั้งแต่ยุคแรกๆ จนถึงปัจจุบันอย่าง Topps ผู้ผลิตการ์ดอเมริกันฟุตบอลจากสหรัฐฯ​ ที่เริ่มต้นธุรกิจในช่วงยุค 50s และปัจจุบันเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ผลิตสติกเกอร์สะสมพรีเมียร์ลีกอังกฤษและศึกยูฟ่าแชมป์เปียนส์ลีก

 

โดยปกติพานินีจะถือลิขสิทธิ์ผลิตสติกเกอร์และการ์ดสะสมฟุตบอลลีกอิตาลี ลาลีกา ทัวร์นาเมนต์สำคัญอย่างยูโรและฟุตบอลโลกเป็นหลัก มีบ้างในช่วงระหว่างปี 1978-1993 ที่ได้ผลิตสติกเกอร์สำหรับลีกฟุตบอลอังกฤษ ก่อนถูกเมอร์ลิน (Merlin) ตัดหน้าชิวลิขสิทธิ์ไปนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา (ถูก Topps ซื้อกิจการต่อไปอีกทอดในปี 1995) รวมถึงลิขสิทธิ์ศึกยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกที่ทำมาตั้งแต่ปี 1999-2015 และกลายเป็น Topps ที่เข้ามารับช่วงต่อจนถึงปัจจุบัน

 

ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยสำหรับพานินีที่จะต่อกรกับผู้ผลิตจากสหรัฐฯ เพราะ Topps เองก็เป็นคู่แข่งที่มีฝีไม้ลายมือและผ่านประสบการณ์ในอุตสาหกรรมนี้มาโชกโชน ประกอบกับช่วงยุค 90s ที่นักสะสมไทยในวงการบอกกับเราว่าเป็นช่วงขาลงเล็กๆ ของอุตสาหกรรมสติกเกอร์จึงทำให้มีช่วงที่ยอดขายของบริษัทดรอปลงไปบ้าง

 

แล้วอะไรที่ทำให้พวกเขากลับมาครองความนิยมได้อีกครั้ง?

 

คำตอบคือ ทัวร์นาเมนต์อย่างฟุตบอลโลกและฟุตบอลยูโร ที่ทำให้ยอดขายค่อยๆ ฟื้นตัวและกลับมาดีวันดีคืน

 

Simona Spiaggia หัวหน้าฝ่านการผลิตโรงงานพานินีในโมเดนา เมืองต้นกำเนิดของสติกเกอร์ยอดฮิตได้ให้สัมภาษณ์กับ AFP ไว้ว่า “เรามียอดการผลิตที่เพิ่มขึ้นสูงต่อเนื่องทุกๆ 2 ปีทั้งฟุตบอลยูโรและฟุตบอลโลก เพียงแต่ช่วงฟุตบอลโลกอาจจะมียอดสูงกว่าเล็กน้อย”

 

Photo : sticker-collection.be

 

ปี 2009 ถือเป็นอีกหนึ่งในจุดประกายการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของบริษัท เมื่อพานินีได้เซ็นสัญญาร่วมกับสมาคมบาสเกตบอลแห่งชาติ NBA ร่วมผลิตสติกเกอร์และการ์ดสะสมนักบาสเกตบอลด้วยกัน ก่อนจะขยายช่วงเวลาความร่วมมือมาเรื่อยๆ และยังได้ร่วมงานกับสมาคมกีฬาฮอกกี้ (NHL) และสมาคมกีฬาเบสบอล (MLBPA) ในเวลาถัดมา

 

อีกหนึ่งในกลยุทธ์ที่น่าสนใจของพานินีคือการไม่จำกัดกรอบตัวเองทำแค่ของสะสมสติกเกอร์วงการกีฬา ฟุตบอล บาสเกตบอล ฮอกกี้ หรือแค่เบสบอลเท่านั้น แต่ยังนำความถนัดเข้าไปจับวัตถุดิบในอุตสาหกรรมอื่นๆ โดยเฉพาะภาพยนตร์ การ์ตูนจากค่าย Warner Bros., Disney และ DreamWorks

 

Photo: Panini

 

เราจึงได้เห็นนักสะสมกลุ่มเด็กๆ ตัวน้อยหรือแฟนๆ หน้าใหม่เริ่มตามเก็บสติกเกอร์พานินีชุดเจ้าหญิงดิสนีย์,​ Disney Tsum Tsum, Shrek, Dragon, Kung Fu Panda หรือภาพยนตร์เรื่อง Fantastic Beasts ซึ่งเปรียบได้กับการที่พานินีขยายธุรกิจของตัวเองไปหาผู้บริโภคที่แตกต่างไปจากเดิมของบริษัทและก็ประสบความสำเร็จเอามากๆ เสียด้วย

 

3 หัวใจสำคัญผนึกสติกเกอร์พานินีเป็นป๊อปคัลเจอร์โลกฟุตบอลที่ไม่มีวันหมดอายุ

ถ้าให้เราวิเคราะห์สูตรความสำเร็จที่ทำให้สติกเกอร์ของพานินีคงกระพันยืนยาวในหลายช่วงอายุของคนตลอดจนนักสะสมมาเกินครึ่งร้อยปี เราเชื่อว่ามันประกอบไปด้วยเหตุผลสำคัญ 3 ประการด้วยกัน

 

ข้อแรก ‘สติกเกอร์พานินีเป็นของสะสมที่ไม่มีพิษมีภัย เรียบง่ายและมีมนต์ขลังในหลายช่วงอายุคน’ โดยปกติแล้วสติกเกอร์พานินี 1 ซอง 6 ใบจะมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 25 บาท (ช่วงฟุตบอลโลกครั้งนี้แพงกว่าปกติเป็นพิเศษที่ 30 บาท) ส่วนสมุดสะสมก็ไม่ได้มีราคาแพงโดดไปจนน่ากลัว

 

Simona เคยบอกไว้ว่า “พานินีคือความเรียบง่าย ฉะนั้นบริษัทจึงแทบไม่เคยต้องผจญกับช่วงเวลาวิกฤตเลย เพราะมันคือเกมง่ายๆ ที่ช่วยให้พ่อแม่ผู้ปกครองได้รับความบันเทิงไปพร้อมๆ กัน”

 

5 ขั้นตอนง่ายๆ ในการเล่นพานินี ฉีกซอง นำสติกเกอร์ออกมา หาหน้าที่คุณต้องการจะแปะ แค่ติดมันลงไปแล้วรีดให้เรียบก็เป็นอันจบ! ไวเสียยิ่งกว่าโกหกและความสนุกก็จะอยู่ในทุกๆ ขั้นตอน ทั้งช่วงที่ต้องลุ้นว่าจะได้ใบซ้ำหรือเปล่า และใกล้จะติดได้ครบทุกหน้าแล้วหรือยัง

 

อันโตนิโอ อัลเลกรา (Antonio Allegra) ผู้อำนวยการด้านการตลาดประจำบริษัทพานินีก็บอกเช่นกันว่าเป็นเรื่องมหัศจรรย์และน่าประหลาดใจมากๆ ที่มนต์เสน่ห์ของพานินียังคงความ ‘เรียบง่าย’ ไว้ในกระดาษ 1 แผ่นมาเกือบ 50 ปี

 

“ถ้าให้เราวิเคราะห์มนต์สะกดของการเก็บสะสมสติกเกอร์พานินีอย่างจริงจัง ผมเชื่อว่าทุกวันนี้มีอะไรให้ทำให้เล่นมากมาย ทั้งวิดีโอเกมหรืออินเทอร์เน็ต แต่ความรู้สึกและอารมณ์ร่วมที่คุณจะได้รับกลับเทียบไม่ได้เลยกับช่วงเวลาที่คุณได้เปิดซองสติกเกอร์แล้วไล่ดูใบที่ยังไม่มี พกมันติดตัว เอาไปแลกกับนักสะสมคนอื่นเพื่อให้อัลบั้มสติกเกอร์ของคุณครบ นี่คือสิ่งที่ไม่มีสินค้าชนิดอื่นสามารถมอบให้กับคุณได้ เป็นเหตุผลให้คนยังเก็บสะสมมันจนถึงปัจจุบัน แม้ 50 ปีผ่านไป มนต์ขลังของพานินีก็ยังไม่เสื่อมคลาย”

 

อัลเลกรายังบอกอีกด้วยว่า ทุกวันนี้ถึงจะมีนักสะสมที่เป็นเด็กรุ่นใหม่เกิดขึ้นมาเรื่อยๆ แต่พานินีก็ยังรักษานักเก็บสติกเกอร์รุ่นผู้ปกครองพ่อแม่ไปจนถึงตายายให้เหนียวแน่นติดอยู่กับแบรนด์มาได้ แถมยังช่วยเสริมสร้างปฏิสัมพันธ์ของคนใน 3 ช่วงวัยได้เป็นอย่างดี

 

เหตุผลข้อถัดมา ‘พานินีเปรียบได้ดั่งบันทึกทางประวัติศาตร์ลูกหนังฉบับย่อ’ ของทัวร์นาเมนต์และลีกในแต่ละปี หน้าสมุดของสติกเกอร์พานินีสามารถบอกอะไรเราได้หลายๆ อย่าง

 

Photo : oldschoolpanini

 

ตั้งแต่ปีที่นักฟุตบอลระดับตำนานคนนั้นๆ แจ้งเกิดในฐานะดาวรุ่ง ทีมชุดประวัติศาสตร์ที่คว้าแชมป์ฟุตบอลลีก ฟุตบอลยูโรหรือฟุตบอลโลก หรือพัฒนาการทางใบหน้าของนักฟุตบอลที่ค้าแข้งมาเป็นระยะเวลาหลายปี

 

เรื่องราวเหล่านี้จะถูกเล่าผ่านสติกเกอร์ที่ถูกติดบนหน้าสมุดในแต่ละหน้า ทุกครั้งที่นักสะสมกลับมาเปิดดูสมุดพานินีอีกครั้ง ความทรงจำเดิมๆ และช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลองก็จะหวนกลับมาปรากฏให้หายคิดถึงอยู่เสมอ

 

 

ส่วนข้อสุดท้ายที่สำคัญที่สุดคือการก่อให้เกิด ‘วัฒนธรรมการแลกเปลี่ยน (Trading)’

 

ย้อนกลับไปในปี 2010 สมุดสะสมสติกเกอร์ฟุตบอลโลกพานินีในปีนั้นมีจำนวนสติกเกอร์ทั้งหมด 640 ใบ ที่ต้องตามสะสมเพื่อให้อัลบั้มสติกเกอร์ครบถ้วนสมบูรณ์ทุกหน้า และทางพานินีก็ได้ประเมินไว้ว่าถ้านักสะสมคนหนึ่งจะสะสมด้วยตัวเองตามลำพังจะต้องซื้อสติกเกอร์มากถึง 4,505 ใบ หรือ 901 ซอง (เดิมบรรจุซองละ 5 ใบ) ตีเป็นเงินก็อยู่ที่ประมาณ 22,525 บาท

 

ฉะนั้นเมื่อนักสะสมเปิดซองเจอสติกเกอร์ใบเดิมซ้ำๆ กันอยู่บ่อยๆ สิ่งที่พวกเขาจำเป็นจะต้องทำเพื่อให้คอลเล็กชันของตนครบในระยะเวลาอันรวดเร็วโดยเสียเงินน้อยที่สุด คือการนำใบซ้ำไปแลกกับนักสะสมคนอื่นๆ จนในที่สุดกิจกรรมรูปแบบนี้ก็นำไปสู่ ‘วัฒนธรรมการเทรด’ และการสร้างคอมมูนิตี้นักสะสมขนาดย่อมขึ้นมาให้กลายเป็นกลุ่มก้อนองค์กรที่เหนียวแน่น

 

 

ในประเทศไทยก็มีกลุ่มนักสะสมสติกเกอร์ขาประจำที่ชื่นชอบการเก็บสะสมสติกเกอร์และการ์ดพานินีจำนวนมากกว่า 1,000 คน โดยเป็นสังคมแห่งการแลกเปลี่ยนความช่วยเหลือ การให้คำแนะนำการเก็บสะสมซึ่งกันและกัน

 

สำหรับแผนการในอนาคตของพานินีผู้อำนวยการด้านการตลาดประจำได้พูดปลายเปิดเอาไว้ว่า อนาคตของพานินีอาจเป็นทั้งเรื่องยากและง่ายที่จะคาดเดา เพราะแม้จะดำเนินธุรกิจนี่มาเกือบ 50 ปีแล้วแต่พวกเขาก็คิดถึงแผนการในอนาคตเพื่อให้ตามเทรนด์ความนิยมของท้องตลาดในช่วงเวลานั้นๆ ให้ได้เสมอ

 

“สิ่งสำคัญลำดับต้นๆ ที่บริษัทจะให้ความสำคัญเสมอคือ ‘กีฬา’ พานินีจะพยายามพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตัวเองโดยเลี่ยงการละเลยรูปแบบการสะสมสติกเกอร์จริงๆ (Physical Collecting) ให้น้อยที่สุด เพราะนี่คือเวทมนตร์ที่แท้จริงของพานินี บางทีเราอาจจะเลือกมองหาวัสดุอื่นๆ มาใช้ในกระบวนการผลิตเช่นเดียวกับเทคโนโลยีอื่นๆ สิ่งที่พวกเราต้องการจะทำคือการรักษาประสบการณ์การสะสมสติกเกอร์แบบเดิมๆ ให้คงอยู่ไว้สืบต่อไป”

 

 

57 ปีที่ผ่านมา สิ่งที่พิสูจน์ได้ชัดเจนคือความสำเร็จของพานินีไม่ใช่เรื่องบังเอิญ เพราะทุกๆ กลยุทธ์ดำเนินหรือขยายกิจการ พวกเขาไม่เคยหลอกหรือโกหกตัวเองเพื่อพยายามจะเป็นสิ่งอื่นที่ไม่ถนัด

 

เพราะรู้ว่าตัวเองเก่งและชำนาญการผลิตสินค้าจำพวกสติกเกอร์และการ์ดสะสม พานินีจึงสรรหาทุกวิถีมาต่อยอดมูลค่าและทำให้ผลิตภัณฑ์เหล่านั้นมีความพิเศษมากขึ้นจนเป็นที่ต้องการและคงความนิยมได้เช่นเดิมเสมอมา

อ้างอิง:

FYI
  • ฟุตบอลโลกปีนี้ที่รัสเซีย พานินีมีสติกเกอร์ให้แฟนๆ ต้องไล่เก็บสะสมถึง 682 ใบ มากกว่าคอลเล็กชันฟุตบอลโลกของพานินีครั้งแรกในปี 1970 ถึง 411 ใบและมากกว่าครั้งที่ผ่านๆ มาทั้งหมด

 

 

  • ปัจจุบันนักสะสมสามารถสั่งสติกเกอร์ที่ตนยังตามหาไม่เจอได้ แต่พานินีจะจำกัดพื้นที่จัดส่งแค่ในสหราชอาณาจักร สาธารณรัฐไอร์แลนด์และยิบรอลตาร์เท่านั้น ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ collectibles.panini.co.uk/customer-service/how-to-order.html
  • Betsy Cortegana คือหนึ่งในผู้ลงสมัครท้าชิงตำแหน่งนายกเทศมนตรีต้องงัดกลยุทธ์หาเสียงโดยชูนโยบายแจกสติกเกอร์พานินีพร้อมสมุดสะสมสำหรับ 1 คะแนนเสียงที่โหวตให้เธอ

 

 

  • ทีมฟุตบอลหญิงไทยเป็นตัวแทนจากประเทศไทยทีมแรกที่สร้างประวัติศาสตร์ถูกบรรจุอยู่ในสมุดสะสมสติกเกอร์ฟุตบอลโลกหญิงปี 2015 (ปีที่ 2 ที่พานินี่ทำสมุดสะสมสติกเกอร์ฟุตบอลหญิง) และในปี 2019 ที่จะถึงนี้ทีมฟุตบอลหญิงไทยก็จะได้อยู่ในสมุดสะสมสติกเกอร์ของพานินีอีกครั้งหลังผ่านเข้าไปถึงฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย

 

 

  • บริษัท The CardZ คือตัวแทนจำหน่ายและผู้นำเข้าสินค้าของพานินีในประเทศไทยอย่างเป็นทางการรายเดียว ณ ปัจจุบัน
  • แม้จะไม่มีการเปิดเผยอย่างเป็นทางการออกมา แต่เชื่อกันว่าสัญญาของพานินีและฟีฟ่าน่าจะหมดลงในช่วงปี 2022 แต่การขยายช่วงระยะสัญญาออกไปไม่น่าจะติดอุปสรรคใดๆ เพราะทั้งสองมีความสัมพันธ์ระหว่างกันที่แน่นแฟ้นมาโดยตลอด
  • โลโก้ของพานินีที่รูปอัศวินถือดาบได้รับแรงบันดาลใจมาจากเกมปริศนาอักษรไขว้ The Knight ที่จูเซปเป พานินีคลั่งไคล้และเป็นผู้กำหนดกติกาขึ้นมาเอง

 

 

  • ส่วนโลโก้รูปนักฟุตบอลกำลังจักรยานอากาศได้รับแรงบันดาลใจมาจากตำนานลูกหนังอิตาลี Carlo Parola ปราการหลังและมิดฟิลด์ตัวรับสโมสรยูเวนตุสที่ค้าแข้งในช่วงปี 1939-1955

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising