×

‘ภากร’ ชี้ ปัญหา SVB ล้มกระทบตลาดหุ้นไทยน้อย เหตุไร้ความเชื่อมโยงโดยตรง แนะจับความเสี่ยงดอกเบี้ยขาขึ้นมีผลกระทบแรงกว่า

13.03.2023
  • LOADING...
SVB

ตลาดหลักทรัพย์ฯ มองกรณี SVB ถูกปิดมีผลกระทบไทยจำกัด เหตุไม่มีความเกี่ยวข้องโดยตรง แต่มองมีผลกระทบสภาพคล่องในระบบการเงินโลกลดลง ระบุต้องจับตาปัจจัยเสี่ยงปีนี้ ทั้งดอกเบี้ยขาขึ้น-เงินเฟ้อเร่งตัวที่จะยังกดดันสภาพคล่อง

 

ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า กรณีที่ Silicon Valley Bank หรือ SVB ในสหรัฐฯ ถูกสั่งปิด ประเมินว่าเนื่องจากถูกผลกระทบจากทิศทางของดอกเบี้ยที่เป็นขาขึ้น สำหรับผลกระทบต่อระบบการเงินและตลาดหุ้นไทยที่น้อยเพราะประเด็นดังกล่าวไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับระบบการเงินและตลาดหุ้นไทยโดยตรง แต่อาจมีผลกระทบทางอ้อมให้สภาพคล่องในระบบการเงินของโลกลดลงไป


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


“ประเทศไทยถือว่ายังแข็งแรงและมีโชคด้วย เพราะส่วนแรกมีระบบธนาคารพาณิชย์ที่แข็งแรงมาก ส่วนที่สองเงินที่เกี่ยวข้องกับ Venture Capital หรือ VC กับคริปโตเคอร์เรนซี ถือว่ามีสัดส่วนน้อยเมื่อเทียบกับระบบเศรษฐกิจไทย จึงเชื่อว่ามีผลกระทบกับประเทศไทยไม่มากนัก แต่ถ้าจะมีก็คือผลกระทบทางอ้อมในด้านสภาพคล่องมากกว่า เพราะสภาพคล่องของโลกจะลดลง เนื่องจากธนาคารที่เกี่ยวข้องยังไม่สามารถเบิกถอนเงินปกติได้ และอาจมีผลกระทบต่อการเคลื่อนย้ายของ Fund Flow ที่เข้า-ออก ซึ่งคาดเดาได้ค่อนข้างยาก”

 

ภากรกล่าวว่า ณ ปัจจุบันธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังไม่ได้ติดต่อสอบถามข้อมูลมายังตลาดหลักทรัพย์ฯ ถึงผลกระทบจาก SVB รวมถึงยังไม่มีนัดประชุมร่วมกันในประเด็นนี้ เพราะปัญหาด้านสภาพคล่องของระบบธนาคารในสหรัฐฯ ซึ่งทำให้ผู้ฝากเงินตระหนก (Panic) ถอนเงินฝากออกมา ยังไม่มีผลกระทบต่อระบบการเงินและตลาดทุนของไทย

 

สำหรับปัจจัยเสี่ยงหลักที่มีผลกระทบต่อการลงทุนที่เพิ่มขึ้นในปีนี้คือ แนวโน้มดอกเบี้ยและอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่เร่งตัวสูงขึ้น เนื่องจากจะเป็นปัจจัยกดดันให้สภาพคล่องในระบบลดลง จนกว่าธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลกจะมีการปรับเปลี่ยนนโยบายทางการเงิน 

 

“ปัญหาการปิดธนาคารในสหรัฐฯ มองว่าเป็นปัญหาปลายเหตุที่เกิดขึ้น ส่วนปัญหาต้นเหตุมาจากดอกเบี้ยที่ปรับขึ้นจนมีผลกระทบให้สภาพคล่องในระบบหายไป เพราะฉะนั้นเราต้องมอนิเตอร์เรื่องราคาสินค้าโภคภัณฑ์, ตัวเลขเงินเฟ้อ, ตัวเลขการจ้างงานสหรัฐฯ ที่เป็นตัวแปรที่มีผลต่อนโยบายดอกเบี้ย หากแนวโน้มดอกเบี้ยเริ่มมีทิศทางลดลงจะเป็นปัจจัยที่บอกว่ามีโอกาสที่สภาพคล่องในระบบจะกลับมาเพิ่มขึ้น”

 

ด้าน ศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัญหาของ SVB ที่เกิดขึ้นมาจากกรณีที่ SVB ที่เน้นรับฝากเงินจากกลุ่มลูกค้าหลักในกลุ่มธุรกิจเทคหรือสตาร์ทอัพ ซึ่งถูกผลกระทบจากภาวะดอกเบี้ยที่เป็นขาขึ้น จึงมีความต้องการใช้สภาพคล่อง ดังนั้นจึงจำเป็นต้องถอนเงินฝากออกจากธนาคารจนเกิดปัญหาดังกล่าวขึ้น ส่วนธนาคารอื่นๆ ในสหรัฐฯ ที่เน้นรับเงินฝากกับกลุ่มธุรกิจเทคหรือสตาร์ทอัพ ขณะนี้เท่าที่ทราบข้อมูลมีจำนวนน้อย แต่เป็นประเด็นที่ยังต้องติดตามต่อไป

 

นอกจากนี้ ประเด็นปัญหาของ SVB ไม่มีความเชื่อมโยงกับธนาคารพาณิชย์ของไทย เพราะฐานลูกค้าที่ฝากเงินค่อนข้างกระจายตัวได้ดี อีกทั้งเชื่อว่าประเด็นปัญหานี้จะไม่ลุกลามจากภาคสถาบันการเงินมาสู่ระบบเศรษฐกิจของโลก จนส่งผลกระทบถึงระบบเศรษฐกิจของไทยทั้งภาคการส่งออกและนำเข้า เพราะล่าสุดหน่วยงานกำกับดูแลของสหรัฐฯ คือ Federal Deposit Insurance Corporation (FDIC) ได้ออกมาตรการมาดูแลแล้ว จึงเชื่อว่าจะมีผลกระทบที่จำกัด อีกทั้ง SVB ถือเป็นธนาคารที่มีขนาดไม่ใหญ่เมื่อเปรียบเทียบกับระบบของธนาคารของสหรัฐฯ และไม่น่าจะมีผลกระทบต่อ GDP ของสหรัฐฯ ที่ยังสามารถขยายตัวได้ดี 

 

อย่างไรก็ดี ยังต้องติดตามถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่ออัตราดอกเบี้ยในตลาดโลกในระยะสั้น หรืออัตราดอกเบี้ยระหว่างธนาคาร (LIBOR) ที่ดีดขึ้นเล็กน้อยหลังมีข่าวปิด SVB แต่ปัจจุบันเริ่มกลับมาสู่ระดับปกติหลัง FDIC ออกมาดูแลปัญหาที่เกิดขึ้น

 

สำหรับปัจจุบันตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังไม่มีข้อมูลว่าบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ไทยมีความเกี่ยวข้องกับธนาคารสหรัฐฯ ที่กำลังประสบปัญหาอยู่ โดยเชื่อว่าจะมีน้อยหรือไม่มีเลย ทั้งในฝั่งของการฝากเงินหรือกู้เงิน แต่ทั้งนี้ต้องรอการยืนยันข้อมูลจาก ธปท. อย่างเป็นทางการอีกครั้ง

 

ขณะที่ภาวะตลาดหลักทรัพย์ไทยในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 มีเงินลงทุนเคลื่อนย้ายออกจากตลาดหุ้นหลายแห่งในภูมิภาค รวมถึงตลาดหุ้นไทยที่ผู้ลงทุนต่างชาติพลิกกลับมาขายสุทธิจากที่เคยซื้อสุทธิต่อเนื่อง สาเหตุสำคัญมาจากค่าเงิน US Dollar ที่ปรับตัวแข็งค่าตามการคาดการณ์ดอกเบี้ยสหรัฐฯ จะยังคงเพิ่มขึ้น อีกทั้งตัวเลขเศรษฐกิจที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประกาศ ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ค่อนข้างมาก จากภาคการส่งออกและการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคภาครัฐที่ลดลง แม้การบริโภคภายในประเทศยังฟื้นตัวตามภาคบริการและท่องเที่ยว

 

สรุปภาวะซื้อขายหุ้นไทยเดือนกุมภาพันธ์ 2566 

 

  • ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2566 SET Index ปิดที่ 1,622.35 จุด ปรับลดลง 2.9% จากเดือนก่อนหน้า โดยปรับไปในทิศทางเดียวกับดัชนีตลาดหลักทรัพย์อื่นในภูมิภาค และปรับลดลง 2.8% เมื่อเทียบกับสิ้นปีก่อนหน้า
  • ในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 กลุ่มอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีกว่า SET Index เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2565 ได้แก่ กลุ่มเทคโนโลยี กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง และกลุ่มบริการ
  • ในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันใน SET และ mai อยู่ที่ 67,066 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า 32.3% โดยมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันในสองเดือนแรกปี 2566 อยูที่ 69,600 ล้านบาท โดยผู้ลงทุนต่างชาติขายสุทธิเป็นเดือนแรกด้วยมูลค่า 43,562 ล้านบาท หลังจากเป็นผู้ซื้อสุทธิสี่เดือนต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ผู้ลงทุนต่างประเทศมีสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายสูงสุดต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10
  • ในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 มีบริษัทเข้าจดทะเบียนใหม่ซื้อขายใน SET 5 หลักทรัพย์ และใน mai 2 หลักทรัพย์ โดยมูลค่าระดมทุนรวมในหุ้น IPO ของไทยปี 2566 ยังอยู่ในระดับต้นๆ ของเอเชีย
  • Forward P/E ของตลาดหลักทรัพย์ไทย ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2566 อยู่ที่ระดับ 15.5 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ระดับ 12.2 เท่า และ Historical P/E อยู่ที่ระดับ 18.9 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ระดับ 13.4 เท่า
  • อัตราเงินปันผลตอบแทน ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2566 อยู่ที่ระดับ 2.82% ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ 3.09%
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X