×

ปากีสถานเจรจาขอเงินกู้จาก IMF หวังกอบกู้เศรษฐกิจก่อนล่มสลาย

โดย THE STANDARD TEAM
10.02.2023
  • LOADING...

ปากีสถานเดินหน้าจัดการเจรจาครั้งสุดท้ายกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เพื่อขอเงินกู้มาช่วยยับยั้งวิกฤตเศรษฐกิจที่ปัจจุบันทวีความรุนแรงขึ้นจนอาจถึงขั้นล่มสลาย ท่ามกลางความวิตกว่าปากีสถานอาจเดินตามรอยศรีลังกาที่เศรษฐกิจพังพินาศไปก่อนหน้านี้

 

ปัจจุบันปากีสถานมีเงินดอลลาร์สำหรับการนำเข้าสินค้าเหลืออยู่ไม่เพียงพอถึง 1 เดือน และกำลังดิ้นรนเพื่อชำระหนี้ต่างประเทศที่อยู่ในระดับสูง

 

คณะผู้แทนจาก IMF มีกำหนดเดินทางออกจากปากีสถานในวันพฤหัสบดี  (9 กุมภาพันธ์) หลังใช้เวลาหารือกับรัฐบาลนานถึง 10 วัน โดยมีเป้าหมายเพื่อปลดล็อกเงินทุนสนับสนุนจากต่างประเทศ ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการอยู่รอดของปากีสถาน

 

โดยอัตราเงินเฟ้อต่อปีของปากีสถานพุ่งขึ้นทะลุ 27% ในเดือนมกราคม ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 1975 หรือในรอบ 48 ปี ขณะที่ในสัปดาห์นี้เงินรูปีร่วงลงสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 275 รูปีต่อดอลลาร์ ลดลงจากระดับ 175 รูปีต่อดอลลาร์เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งสถานการณ์ค่าเงินดังกล่าวส่งผลให้ปากีสถานต้องซื้อและชำระค่าสินค้าแพงขึ้น

 

นักวิเคราะห์ระบุว่า การขาดแคลนเงินตราต่างประเทศเป็นหนึ่งในปัญหาเร่งด่วนที่สุดของปากีสถาน โดยที่ผ่านมารัฐบาลอยู่เบื้องหลังการควบคุมอัตราแลกเปลี่ยนของธนาคารไว้สูงเกินจริง ซึ่งมีส่วนทำให้ขาดเงินดอลลาร์ในระบบ จนกระทั่งเมื่อปลายเดือนที่แล้วรัฐบาลจึงยอมปล่อยให้อัตราแลกเปลี่ยนลดลง ซึ่งสามารถช่วยภาคธุรกิจได้บางส่วน แต่ภาระกลับไปตกอยู่ที่ประชาชน เนื่องจากการดำเนินการดังกล่าวส่งผลให้ราคาสินค้าและบริการสูงขึ้น

 

เช่นเดียวกับหลายประเทศ ปากีสถานได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด และการรุกรานยูเครนของรัสเซีย ซึ่งดันราคาพลังงานในตลาดโลกให้พุ่งสูงขึ้น และทำให้ปากีสถานซึ่งต้องพึ่งพาการนำเข้าเชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างมากนั้นเจอพิษราคาน้ำมันแพงเข้าไปเต็มๆ 

 

นอกจากนี้ ปากีสถานยังถูกซ้ำเติมจากภัยธรรมชาติ โดยเมื่อปีที่แล้วประเทศเผชิญกับเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ครั้งรุนแรงที่สุดในรอบหลายปี ซึ่งสหประชาชาติระบุว่าสร้างความเสียหายเป็นมูลค่ากว่า 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์ พื้นที่ขนาดใหญ่ของปากีสถานจมอยู่ใต้น้ำ ทำลายพื้นที่เพาะปลูก และส่งผลกระทบต่อการผลิตอาหาร ทำให้อาหารหลัก เช่น ข้าวสาลี และหัวหอม มีราคาพุ่งสูงขึ้น

 

ปัญหาทั้งหมดทั้งมวลนี้เกิดขึ้นท่ามกลางบรรยากาศทางการเมืองที่ไม่แน่นอน โดยเฉพาะปีนี้ที่ปากีสถานมีกำหนดจัดการเลือกตั้งทั่วไปในช่วงปลายปี

 

สำหรับการขอความช่วยเหลือทางการเงินจาก IMF ในครั้งนี้ ไม่ใช่ครั้งแรกของปากีสถาน ดร.ซาจิด อามิน จาเวด รองผู้อำนวยการบริหารของสถาบันนโยบายการพัฒนาที่ยั่งยืนในกรุงอิสลามาบัด กล่าวว่า “ถ้าคุณย้อนดูประวัติศาสตร์ของปากีสถาน จะเห็นว่าเรามีปัญหาเรื่องดุลการชำระเงินเป็นวงจร

 

“เราหันไปหา IMF และดำเนินการปฏิรูปอย่างเข้มงวดเป็นเวลา 2-3 ปี จากนั้นเมื่อถึงปีเลือกตั้ง เราดันถอยหลังกลับไปเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง” ดร.จาเวดกล่าว พร้อมกับเสริมว่าเงินอุดหนุนต่างๆ ถูกนำไปใช้เพื่อดึงคะแนนเสียงจากผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

 

คำถามคือ ข้อตกลงเงินกู้กับ IMF จะซื้อเวลาให้ปากีสถานได้นานแค่ไหน?

 

“หากสามารถกลับไปเริ่มต้นโครงการกับ IMF ได้อีกครั้ง นั่นจะช่วยปลดล็อกเงินหลายพันล้านดอลลาร์ตามที่ซาอุดีอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์สัญญาไว้ และความเสี่ยงของปัญหาดุลการชำระเงินจะถูกผลักออกไปก่อน” คูร์รัม ฮุสเซน นักข่าวสายธุรกิจและเศรษฐกิจในปากีสถานกล่าว 

 

แต่เขากล่าวเพิ่มเติมว่า “ในระยะยาวโครงการนี้จะส่งผลเพียงเล็กน้อยหรือไม่ส่งผลอะไรเลย ปากีสถานเผชิญกับภาระหนี้จำนวนมาก หากไม่มีการปรับโครงสร้างหนี้อย่างครอบคลุม ประเทศจะยังคงกลับมายืนอยู่ ณ จุดนี้ ในจุดที่เผชิญกับวิกฤตดุลการชำระเงินอีกครั้ง”

 

ฮุสเซนกล่าวว่า การทำข้อตกลงกับ IMF จะช่วยเศรษฐกิจและรัฐ แต่จะเป็นภาระของประชาชนทั่วไป อย่างไรก็ตาม เขาคิดว่าความเสี่ยงที่น่ากังวลที่สุดคือการที่รัฐบาลบรรลุข้อตกลงกับ IMF และเริ่มดำเนินการตามแผน จากนั้นกลับเปลี่ยนใจ

 

“ปากีสถานจะกลับเข้าสู่จุดที่เผชิญวิกฤตดุลการชำระเงินอย่างแน่นอน หากรัฐบาลเกิดรู้สึกกลัวหรือไม่มั่นใจขึ้นมากะทันหัน และต้องการที่จะหยุดกระบวนการปรับโครงสร้าง พร้อมขอเจรจากับ IMF ใหม่อีกครั้ง”

 

ภาพ: Muhammed Semih Ugurlu / Anadolu Agency via Getty Images

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X