×

หนี้ท่วมแล้วต้องจิบชาน้อยลง!? ปากีสถานรณรงค์ขอ ‘คนดื่มชาน้อยลง’ เพื่อฝ่าวิกฤตก่อนตามรอยศรีลังกา

05.07.2022
  • LOADING...
ปากีสถานรณรงค์ขอคนดื่มชาน้อยลง

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • ทีมข่าวเศรษฐกิจหลายกลุ่มจากสำนักข่าวอินเดียพร้อมใจวิเคราะห์ถึงผลกระทบของ The Lanka Crisis หรือวิกฤตเศรษฐกิจในศรีลังกาตลอดช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา หนึ่งในรายงานที่โดดเด่นที่สุดคือการจับตาว่า ‘ปากีสถานจะเป็นศรีลังการายต่อไปหรือไม่?’ เพราะปากีสถานเพิ่งประกาศขอให้ประชาชนดื่มชาน้อยลง เพื่อช่วยกันคนละไม้คนละมือในการฝ่าวิกฤตรอบนี้
  • บางรายงานมีการเปิดลิสต์ธุรกิจอินเดียที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากวิกฤติ เนื่องจากทั้งศรีลังกาและปากีสถานเป็นประเทศเพื่อนบ้านของอินเดีย และทั้งคู่ต้องเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา
  • สำหรับในศรีลังกาเอง ปัญหาของประเทศที่เกิดจากทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศที่ลดลง หนี้จำนวนมาก การลดค่าเงิน และอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น ส่งให้ประชาชนทุกหย่อมหญ้าได้รับผลกระทบ แม้แต่นักเรียนตัวน้อยก็ต้องหยุดเรียนเพิ่ม เพราะโรงเรียนประกาศหยุด 1 สัปดาห์ ตั้งแต่วันที่ 4-8 กรกฎาคม เพื่อลดการใช้พลังงานในประเทศลง

แม้จะฟังดูแปลก แต่ดูเหมือนว่าทางการปากีสถานกำลังเร่งขอให้ประชาชนดื่มชาน้อยลงเพื่อฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจ ถามว่าทำไมการดื่มชาน้อยลงจึงสามารถช่วยประเทศจากวิกฤตเศรษฐกิจได้ คำตอบคือในกรณีของปากีสถาน การดื่มชาน้อยลงจะทำให้ประเทศลดตัวเลขการนำเข้าที่เกิดขึ้นบนหนี้สาธารณะได้

 

อาห์ซาน อิกบาล รัฐมนตรีกระทรวงการวางแผนของรัฐบาลกลางปากีสถาน ออกมาเรียกร้องให้ประเทศชาติลดการบริโภคชาลง 1-2 ถ้วย เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เนื่องจากปากีสถานซึ่งเป็นหนึ่งในผู้นำเข้าชารายใหญ่ที่สุดของโลกนั้นต้องกู้ยืมเงินเพื่อนำเข้าใบชา

 

สำหรับชานั้นเป็นเครื่องดื่มยอดนิยมในปากีสถาน มูลค่าการบริโภคชาในประเทศปากีสถานนั้นสูงเกิน 400 ล้านดอลลาร์ ในปีงบประมาณ 2021-2022 (ราว 1.4 หมื่นล้านบาท) โดยเป็นการนำเข้าชามูลค่ากว่า 60 ล้านดอลลาร์ จากปีงบประมาณที่แล้ว (ราว 2.1 พันล้านบาท) การนำเข้าใบชามูลค่าหลายล้านดอลลาร์กำลังสร้างแรงกดดันต่อเศรษฐกิจของประเทศปากีสถานที่ขาดแคลนกระแสเงินสด

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 


 

การออกมาขอให้ประชาชนดื่มชาน้อยลงทำให้ปากีสถานถูกจับตามองว่าจะเป็น The Next Sri Lanka ส่วนหนึ่งเป็นเพราะขณะนี้ราคาน้ำมันเบนซินและดีเซลในประเทศพุ่งสูงขึ้น ผู้คนต้องจ่ายเงินมากกว่า 230 PKR (รูปีของปากีสถาน) หรือราว 40 บาท เพื่อเติมน้ำมัน 1 ลิตร

 

ปากีสถานรณรงค์ขอคนดื่มชาน้อยลง

 

นอกจากนี้ปากีสถานยังต้องเผชิญกับวิกฤตด้านไฟฟ้า โดยทั้งในเขตเมืองและชนบททั่วประเทศต้องพบกับเหตุไฟฟ้าดับเป็นเวลานาน นำไปสู่การประท้วงต่อต้านการผลักภาระให้พลเมือง โดยเรียกร้องให้รัฐบาลปากีสถานดำเนินการจ่ายไฟฟ้าอย่างราบรื่น ทั้งหมดล้วนเป็นสถานการณ์ที่สะท้อนว่าปากีสถานมีโอกาสเดินมุ่งหน้าไปสู่ปัญหาที่คล้ายคลึงกับศรีลังกา

 

ทำไมปากีสถานจึงเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจ? คำตอบไม่ได้มีเพียงค่าเงินรูปีปากีสถานที่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมีส่วนทำให้เกิดหนี้ต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น แต่ยังมีภาวะที่สะท้อนว่าปากีสถานตกอยู่ใน ‘บ่วงหนี้’ หนีไปไหนไม่ได้จากวงจรแสวงหาเงินกู้ใหม่-ชำระคืนเงินกู้เก่า

 

บ่วงกรรมนี้ยังมีส่วนจากการที่ปากีสถานไม่สามารถจัดการหาแพ็กเกจเงินช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ ทำให้ประเทศต้องพยายามดิ้นรนบนทางเลือกที่มี

 

อัตราเงินเฟ้อในประเทศปากีสถานยังแตะระดับสูงสุดในเดือนพฤศจิกายน 2021 สาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันดิบทั่วโลกซึ่งนำไปสู่ค่าขนส่งที่แพงขึ้น ที่สำคัญปากีสถานเป็นผู้นำเข้าอาหารหลายรายการ เช่น ถั่ว ข้าวสาลี น้ำมันพืช และน้ำตาล ทำให้ต้องแบกรับปัจจัยผกผันมากมายที่เกิดขึ้น

 

ขณะเดียวกัน ปากีสถานมีเหตุความไม่สงบทางการเมืองในประเทศรอบด้านก็มีปัจจัยหลายประการ เช่น หนี้ต่างประเทศ ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ อัตราเงินเฟ้อ ฯลฯ ล้วนมีส่วนทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปากีสถาน มีสถิติชี้ว่าภายในเดือนมิถุนายน 2564 หนี้ต่างประเทศของปากีสถานแตะระดับ 8.64 หมื่นล้านดอลลาร์ ขณะที่หนี้สินภายนอกทั้งหมดของประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 1.28 แสนล้านดอลลาร์ ภายในเดือนมีนาคม 2022

 

การกู้ยืมเงินจากภายนอกมากเกินไปเป็นหนึ่งในส่วนสำคัญที่ทำให้ปากีสถานมีปัญหา ข้อมูลระบุว่าโครงการระเบียงเศรษฐกิจจีน-ปากีสถาน (CPEC) สร้างหนี้กับรัฐบาลจีนจำนวน 6.4 หมื่นล้านดอลลาร์ให้กับปากีสถาน เพิ่มจากหนี้เดิมที่มีมูลค่า 4.7 หมื่นล้านดอลลาร์ ในปี 2014

 

สื่อธุรกิจจำนวนไม่น้อยมองว่าปากีสถานกำลังเดินตามรอยเท้าศรีลังกาสู่ดินแดน ‘กับดักหนี้ของจีน’ ตัวละครหลักของเรื่องนี้คือบริษัทจีน China-Railway North Industries Corporation (CR-NORINCO) ซึ่งเสร็จสิ้นการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายละฮอร์ (Lahore Line) และได้เรียกร้องเงินคงค้างจากหน่วยงานขนส่งมวลชนปัญจาบ มากกว่า 45.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2023 และยังมียอดคงค้างที่เหลืออีกมูลค่า 10.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในสิ้นปีนี้ และต้องชำระค่าธรรมเนียมทั้งหมดก่อนสิ้นสุดสัญญาในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2023

 

ปากีสถานรณรงค์ขอคนดื่มชาน้อยลง

 

จีนนั้นอยู่ในฐานะเจ้าหนี้อีกหลายก้อนซึ่งต้องต่อรองอย่างหนักกับปากีสถาน รายงานระบุว่าในปีงบประมาณ 2021-2022 ปากีสถานจ่ายดอกเบี้ยให้กับจีนประมาณ 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับการใช้วงเงินสินเชื่อการค้าของจีนจำนวน 4.5 พันล้านดอลลาร์ เป็นดอกเบี้ยที่เพิ่มจากในปีงบประมาณ 2020-2021 ซึ่งปากีสถานต้องจ่ายเงิน 120 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นค่าดอกเบี้ยเงินกู้จำนวน 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

ปากีสถานยังมีกำหนดต้องจ่ายประมาณ 1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ให้กับผู้ผลิตไฟฟ้าของจีน และจนถึงขณะนี้จ่ายไปเพียง 280 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

นอกจากจีน ปากีสถานยังมีภาระเงินกู้อีกหลายก้อนกับซาอุดีอาระเบียและกาตาร์ รวมทั้งเงินกู้จากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ 13 ฉบับ ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา น่าเสียดายโครงการเงินกู้ส่วนใหญ่ถูกระงับกลางทางเนื่องจากไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขเงินกู้ได้ เป็นสาเหตุสำคัญของภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ เช่นเดียวกับเงินกู้ IMF มูลค่า 6 พันล้านดอลลาร์ ประจำปี 2562 ก็ถูกระงับเช่นกัน

 

หากพักกรณีของปากีสถานที่อาจเดินตามรอยศรีลังกาไป สื่อหลายสำนักชี้ว่าธุรกิจอินเดียเป็นอีกส่วนที่ส่อแววได้รับผลกระทบโดยตรง โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ เช่น Tata Motors, Mahindra & Mahindra, Ashok Leyland และ TVS Motors ทุกรายได้หยุดการส่งออกชุดอุปกรณ์ยานยนต์ไปยังศรีลังกา และหยุดการผลิตส่วนประกอบในศรีลังกาเนื่องจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ไม่แน่นอนและการขาดแคลนเชื้อเพลิง

 

ข้อมูลชี้ว่าความไม่มั่นคงในศรีลังกาส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมน้ำมันทั้งรายใหญ่ของอินเดียอย่าง Indian Oil, Airtel, Taj Hotels, Dabur, Ashok Leyland, Tata Communications, Asian Paints และ State Bank of India

 

ในขณะเดียวกัน ส่วนแบ่งของศรีลังกาในสัดส่วนการส่งออกทั้งหมดของอินเดียนั้นลดลงจาก 2.16% ในปีงบประมาณ 2015 เหลือเพียง 1.3% ในช่วง 10 เดือนแรกของปีงบฯ 2022 การส่งออกของอินเดียไปยังศรีลังกาในขณะนี้ต่ำเตี้ยเรี่ยดิน จากที่เคยสูงถึงระดับ 6.7 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2014-2015

 

อย่างไรก็ตาม วิกฤตศรีลังกายังเพิ่มโอกาสให้อินเดียได้ เพราะการขาดแคลนเชื้อเพลิงในศรีลังกาทำให้คำสั่งซื้อเครื่องแต่งกายจำนวนมากจากสหราชอาณาจักร สหภาพยุโรป และประเทศในลาตินอเมริกากำลังถูกโอนไปยังอินเดีย

 

แปลว่าวิกฤตที่เกิดขึ้นทำให้ภาคธุรกิจเครื่องแต่งกายของศรีลังกาเสียหายยับเยิน จากข้อมูลของสำนักงานบริหารการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา อุตสาหกรรมส่งออกเครื่องนุ่งห่มของศรีลังกามีสัดส่วนประมาณ 44% ของการส่งออกทั้งหมดของประเทศ

 

สำหรับในศรีลังกาเอง หนึ่งในสัญญาณที่บอกว่าประชาชนทุกกลุ่มกำลังได้รับผลกระทบจากวิกฤตในประเทศคือ ศรีลังกาได้ประกาศหยุดโรงเรียน 1 สัปดาห์ ท่ามกลางวิกฤตด้านเชื้อเพลิงอย่างรุนแรง ทำให้เมื่อวันอาทิตย์ที่ 3 กรกฎาคม ศรีลังกาไม่มีเชื้อเพลิงสำหรับการขนส่ง จึงประกาศเป็นวันหยุดยาวสำหรับโรงเรียนตั้งแต่วันจันทร์ที่ 4 กรกฎาคมเป็นต้นไป

 

ปากีสถานรณรงค์ขอคนดื่มชาน้อยลง

ชาวศรีลังกาจำนวนมากกำลังรอคิวยาวเพื่อเติมน้ำมันที่สถานีเติมน้ำมันของ Indian Oil Corporation ในเมืองโคลัมโบ ประเทศศรีลังกา เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2022

ภาพ: Pradeep Dambarage / NurPhoto via Getty Images

 

กระทรวงศึกษาธิการศรีลังกาประกาศว่า โรงเรียนเอกชนและรัฐบาลทั้งหมดจะเข้าสู่ช่วงหยุดทำการตั้งแต่วันที่ 4-8 กรกฎาคม ถือเป็นการตัดสินใจปิดโรงเรียนที่เกิดขึ้นได้หลังจากการหารือระหว่างเจ้าหน้าที่กระทรวง การศึกษาจังหวัด และเจ้าหน้าที่อื่นๆ

 

และหลังจากพิจารณาถึงการเข้าเรียนที่น้อยลงของเจ้าหน้าที่โรงเรียน ครู และนักเรียนในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งสาเหตุหลักมาจากปัญหาด้านการเดินทางที่ขาดแคลนเชื้อเพลิงสำหรับระบบขนส่งสาธารณะและยานพาหนะส่วนบุคคล โดยรายงานระบุว่า รถส่วนตัวทุกคันในศรีลังกาต้องพึ่งพาสถานีบริการน้ำมันของบริษัท Indian Oil

 

เมื่อโรงเรียนในเมืองถูกปิด บางส่วนเปลี่ยนเป็นการสอนออนไลน์ เช่นเดียวกับผู้คนในศรีลังกาที่ต้องทำงานจากที่บ้าน ประชาชนยังต้องพยายามอยู่ให้รอดจากปัญหาอาหารขาดแคลน ซึ่งท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจครั้งเลวร้ายที่สุดเท่าที่เคยมีมา โครงการอาหารโลกขององค์การสหประชาชาติได้ประกาศว่า ประมาณ 5 ล้านคน หรือ 22% ของประชากรศรีลังกาทั้งหมดไม่มีความมั่นคงด้านอาหารและต้องการความช่วยเหลือโดยด่วน

 

อ้างอิง:

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising