×

ไพบูลย์ โวยไม่ถูกบรรจุญัตติส่งศาล รธน. ตีความร่างแก้ รธน. ของฝ่ายค้าน

23.09.2020
  • LOADING...

วันนี้ (23 กันยายน) มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อพิจารณาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ (รธน.) ซึ่งมีรวม 6 ญัตติด้วยกัน แบ่งเป็น 2 ญัตติแรกจากทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 โดยทันทีที่เปิดประชุม รวมถึงอีก 4 ญัตติของพรรคร่วมฝ่ายค้านที่จะแก้ไขรายมาตรา มีสาระสำคัญ อาทิ ตัดอำนาจ ส.ว. ร่วมเลือกนายกฯ ปิดประตูนายกรัฐมนตรีคนนอก ยกเลิกการคุ้มครองคำสั่ง และประกาศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รวมถึงแก้ไขกติกาการเลือกตั้งจากบัตรใบเดียวกลับไปใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ

 

ทันทีที่เปิดประชุม ไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ ลุกขึ้นเสนอญัตติปรึกษาหารือ เนื่องจากตนเองได้เสนอญัตติด่วนให้รัฐสภามีมติส่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยกรณีมีปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภา ในการเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมของสมาชิกรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ

 

ไพบูลย์ อภิปรายว่า จากการตรวจสอบการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมฝ่ายค้านจำนวน 4 ฉบับที่ยื่นต่อประธานรัฐสภาเมื่อวันที่ 10 กันยายนที่ผ่านมา พบว่ารายชื่อ ส.ส. พรรคร่วมฝ่ายค้าน ไปซ้ำกับการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ จำนวน 1 ฉบับ เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม

 

จึงมีปัญหาทางข้อกฎหมายเกี่ยวกับเจตนารมณ์ ว่า ส.ส. มีอำนาจลงนามเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญได้คราวละ 1 ฉบับ หรือลงนามเสนอได้คราวละหลายฉบับ

 

เพราะทั้งนี้คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่ 5/2563 ระบุว่าการลงลายมือชื่อของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้เสนอความเห็นลงลายมือชื่อได้คำร้องเดียวเท่านั้น จะมีลายมือชื่อเป็นผู้เสนอความเห็นซํ้ากันในคำร้องอื่นไม่ได้ จึงขอให้ประธานรัฐสภาส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย 

 

อย่างไรก็ตาม เลขาธิการรัฐสภาได้ตีตกญัตติของตนไป จึงขอให้พิจารณาทบทวนข้อกฎหมายใหม่ มิเช่นนั้นจะยื่นต่อศาลอาญาคดีทุจริตประพฤติมิชอบเพื่อให้พิจารณาในข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

 

ด้าน ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา กล่าวว่า ญัตติของไพบูลย์ได้ตกไปโดยฝ่ายของเลขาธิการรัฐสภาได้พิจารณาเป็นกรณีพิเศษ ซึ่งได้มีการเรียกประชุมฝ่ายกฎหมายทั้งหมดของสภาแล้วให้ความเห็นเสนอมาที่ตน 

 

ประการแรก ประเด็นที่คิดว่ากฎหมาย 4 ฉบับมีการลงชื่อซ้ำกันนั้น ชี้แจงว่าการลงชื่อซ้ำกันมี 2 อย่างคือ ในฉบับเดียวลงชื่อซ้ำ 2 ครั้งถ้าแบบนี้มันไม่ได้ หรือกฎหมายที่เสนอทั้ง 4 ฉบับแล้วทั้งหมดเป็นชุดเดิม แต่กฎหมายเป็นคนละฉบับกัน แต่เป็นคนละหลักการและเป็นคนละเรื่องกัน ในกรณีนี้ไม่มีกฎหมายใดห้ามไว้

 

และเมื่อสืบค้นประวัติย้อนหลังในที่ประชุมก็มีสมาชิกเสนอกฎหมายซ้ำ ซึ่งคณะกฎหมายรายงานว่ากรณีนี้ไม่มีกฎหมายใดห้าม และไม่เคยมีปัญหาตีความเพราะทุกคนเข้าใจชัดเจนตั้งแต่ตั้น และเมื่อการเสนอญัตติด้วยลายลักษณ์อักษรตกไป การเสนอญัตติด้วยวาจาก็มีผลไม่แตกต่างกัน 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X