×

ไพบูลย์ ยืนยันพลังประชารัฐไม่แก้ รธน. กลับไปเป็นบัตรใบเดียว ยืนยันคำนวณ ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ต้องหารด้วย 100 เท่านั้น

โดย THE STANDARD TEAM
02.08.2022
  • LOADING...
ไพบูลย์ นิติตะวัน

วันนี้ (2 สิงหาคม) ไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ แถลงถึงกรณีมีกระแสข่าวที่พรรคพลังประชารัฐจะแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นบัตรเลือกตั้งให้กลับไปเป็นบัตรใบเดียวว่า มติที่ประชุมคณะกรรมการบริหาร (กก.บห.) พรรคพลังประชารัฐ มีความเห็นร่วมกันยืนยันว่า พรรคพลังประชารัฐไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้ใช้บัตรใบเดียว เพราะจุดยืนนโยบายของพรรคพลังประชารัฐชัดเจน ต้องการให้ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ตามที่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญไปแล้ว และ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ก็เห็นชอบในเรื่องดังกล่าว  

 

ส่วนที่มีกระแสข่าวดังกล่าวออกมาถี่มากขึ้นนั้น ไพบูลย์กล่าวว่า เป็นปกติ เพราะใกล้ที่จะเลือกตั้ง อาจมีบางฝ่ายอยากจะได้บัตรเลือกตั้งแบบใบเดียว และดำเนินการมาตลอด แต่เรื่องบัตรใบเดียวเป็นของการเลือกตั้งปี 2562 ทำให้พรรคพลังประชารัฐตกอยู่ในกระแสข่าวนี้ด้วย

 

ไพบูลย์ยังกล่าวยืนยันว่า ตนไม่สามารถเห็นชอบกับร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พ.ศ. .… ในประเด็นการคำนวณ ส.ส. บัญชีรายชื่อด้วยการหาร 500 ที่ผ่านการเห็นชอบของที่ประชุมรัฐสภาในวาระ 2 เพราะขัดรัฐธรรมนูญ ดังนั้นในกระบวนการต่อไป ตนในฐานะอดีตประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่..) พ.ศ. …. แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83 และ 91 ว่าด้วยระบบเลือกตั้ง จะยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เพราะเราแก้รัฐธรรมนูญมาแล้ว และมีการบิดเบือนเจตนารมณ์ เราก็ต้องทำความเห็น ตนเห็นชัดว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 91 ก็เพื่อให้เป็นบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ แล้วหารด้วย 100 ในการคำนวณ ส.ส. บัญชีรายชื่อเท่านั้น แต่นี่ขัดมาตรา 91 ชัดเจนอย่างสิ้นเชิง มาบิดเบือนบัตร 2 ใบ แล้วจะให้หารด้วย 500

 

ไพบูลย์กล่าวต่อไปว่า สำหรับขั้นตอนการยื่นศาลรัฐธรรมนูญ จะต้องมีสมาชิกรัฐสภาเข้าชื่อให้ครบ 1 ใน 10 ของสมาชิกรัฐสภาทั้งหมด คือประมาณ 70 กว่าคน ก็จะยื่นต่อศาลได้ ส่วนจะยื่นช่วงไหนนั้นต้องรอให้ที่ประชุมรัฐสภาโหวตในวาระ 2-3 แล้วเสร็จ จากนั้นจึงส่งไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พิจารณาออกความเห็น เมื่อเสร็จสิ้น ในขั้นต่อไปประธานรัฐสภานำเสนอให้นายกรัฐมนตรี เราก็จะยื่นในช่วงนี้ ถือว่ายังมีอีกหลายขั้นตอน ต้องติดตามกันต่อไป 

 

อย่างไรก็ตาม ไพบูลย์กล่าวว่า ประเด็นที่ตนจะยื่นเกี่ยวกับข้อกฎหมายที่จะชี้ให้เห็นว่าขัดรัฐธรรมนูญอย่างไร รวมถึงตัวบทบัญญัติที่เขียนให้สัมพันธ์โดยตรง นอกจากนี้ยังขัดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะมาตรา 93 และ 94 ที่เขียนไว้ว่าไม่มีผลอะไรที่จะไปเปลี่ยนมาตรา 91 ได้ เพราะมาตรา 91 ที่แก้ไขนั้นเป็นที่มาของการแก้ไขการคำนวณ ส.ส. บัญชีรายชื่อ ถ้าไม่ใช้สูตรคำนวณ ส.ส. บัญชีรายชื่อ หารด้วย 100 คน มันขัดเจตนารมณ์ ถือเป็นการขัดประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และบิดเบือนเจตจำนงประชาชนที่ออกเสียงผ่านบัตรเลือกตั้งใบที่ 2 อีกด้วย เพราะตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2540, 2550 และ 2554 ก็ต้องใช้จำนวณ ส.ส. บัญชีรายชื่อ มาหารเท่านั้น ไม่ใช่ไปนำ ส.ส. เขตมาหาร สิ่งเหล่านี้จึงต้องไปพิสูจน์กันที่ศาล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X