หุ้น OTO หลังราคาร่วงหนัก 4 ฟลอร์ติด เพียง 2 สัปดาห์ราคาดิ่งหนักจากจุดนิวไฮในรอบ 5 ปี ทำมาร์เก็ตแคปสูญ 1.5 หมื่นล้านบาท ด้านตลาดหลักทรัพย์ฯ เตือน มีความผิดปกติ ส่วนนักวิเคราะห์ชี้ เสี่ยงเป็น Money Game
ราคาหุ้น บมจ.วันทูวัน คอนแทคส์ (OTO) ปรับร่วงหนักติดฟลอร์ (Floor) ติดต่อกัน 4 วัน ในช่วงระหว่างวันที่ 12-15 มิถุนายน 2566 โดยการเคลื่อนของราคาหุ้น OTO มีดังนี้
- วันที่ 12 มิถุนายน ปิดการซื้อ-ขายที่ 11.30 บาท ลดลง 4.90 บาท หรือ 30.25%
- วันที่ 13 มิถุนายน ปิดการซื้อ-ขายที่ 7.90 บาท ลดลง 3.40 บาท หรือ 30.09%
- วันที่ 14 มิถุนายน ปิดการซื้อ-ขายที่ 5.50 บาท ลดลง 2.40 บาท หรือ 30.38%
- วันที่ 15 มิถุนายน ปิดการซื้อ-ขายที่ 3.84 บาท ลดลง 1.66 บาท หรือ 30.18%
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นหลังจากที่ราคาหุ้น OTO ทะยานไปนิวไฮในรอบ 5 ปีที่ราคา 24.40 บาทเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคมที่ผ่านมา แน่นอนว่าราคาหุ้น OTO ที่ดิ่งหนักภายในช่วง 2 สัปดาห์ จนล่าสุดวานนี้ (14 มิถุนายน) ราคาลงมาถึงฟลอร์ที่ราคา 5.55 บาท ลดลงไป 18.85 บาท ติดลบไป 77% ทำให้มูลค่ามาร์เก็ตแคปของหุ้น OTO สูญหายถึงประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท จากเดิมที่เคยสูงถึงประมาณ 1.9 หมื่นล้านบาท ลงมาเหลือประมาณ 4 พันล้านบาทเท่านั้น
ดังนั้นด้วยข้อมูลข้างต้นจะพบว่า ภาวะการซื้อ-ขายหุ้นของ OTO เกิดความผิดปกติ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็เห็นข้อมูลตรงนี้ จึงให้หุ้น OTO อยู่ในมาตรการกำกับการซื้อ-ขายระดับ 1 มาก่อนล่วงหน้าแล้วตั้งแต่วันที่ 6 มิถุนายน 2566 เนื่องจากสภาพการซื้อ-ขายผิดปกติโดยไม่มีปัจจัยพื้นฐานสนับสนุน
มาตรการกำกับการซื้อ-ขายระดับ 1 กำหนดให้โบรกเกอร์ต้องดำเนินการ ดังนี้
- ให้ผู้ลงทุนทุกประเภทที่ต้องการซื้อหลักทรัพย์ OTO ต้องวางเงินสด 100% ก่อนซื้อ
- บริษัทสมาชิกห้ามนำหลักทรัพย์ OTO คำนวณเป็นวงเงินในการซื้อ-ขายในทุกประเภทบัญชี
ต่อมา 14 มิถุนายน ตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงเตือนผู้ลงทุนให้ระมัดระวังและศึกษาข้อมูลให้รอบคอบก่อนตัดสินใจซื้อ-ขายหุ้น OTO เนื่องจากมีสภาพการซื้อ-ขายที่ผิดไปจากปกติ และพบการขายที่กระจุกตัว โดยเฉพาะในช่วงวันที่ 12-13 มิถุนายน 2566 ซึ่งพบว่า ปริมาณการซื้อ-ขายปรับตัวเพิ่มขึ้น และพบการขายที่กระจุกตัว ตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงขอให้ผู้ลงทุนพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจซื้อ-ขาย
นอกจากนี้ขอให้บริษัทสมาชิกทุกรายกำกับดูแลการซื้อ-ขายและการดำเนินการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับหลักทรัพย์ OTO อย่างใกล้ชิดและเคร่งครัด เพื่อป้องกันการส่งคำสั่งซื้อ-ขายที่อาจไม่เหมาะสมหรือไม่เป็นไปตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ย้อนรอย SAMART ทิ้งหุ้น OTO เกลี้ยงพอร์ต
หากไปตรวจสอบข้อมูลย้อนหลังจะพบว่า ในอดีต OTO เคยมี บมจ.สามารถคอร์ปอเรชั่น หรือ SAMART เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่มาก่อน โดยตั้ง OTO ขึ้นมาในปี 2543 เพื่อทำธุรกิจ Call Center และ Contact Center ต่อมา OTO เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ mai ในปี 2557
จากนั้นช่วงปลายปี 2563 บมจ.สามารถคอร์ปอเรชั่น ตัดสินใจขายหุ้น OTO ที่มีในมือออกทั้งหมดจำนวน 193.70 ล้านหุ้น คิด 69.18% ที่ราคา 2.40 บาท มูลค่า 464.88 ล้านบาทให้กับนักลงทุน 3 ราย ได้แก่ บุญเอื้อ จิตรถนอม, สุทธิพจน์ อริยสุทธิวงศ์ และ ณัฐพงศ์ ศีตวรรัตน์ โดยปัจจุบันในรายชื่อผู้หุ้น 10 อันดับแรก พบว่า ยังมีรายชื่อของ บุญเอื้อ จิตรถนอม และ ณัฐพงศ์ ศีตวรรัตน์ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน 2 อันดับแรก แต่ไม่ปรากฏชื่อของ สุทธิพจน์ อริยสุทธิวงศ์
โดย บมจ.สามารถคอร์ปอเรชั่น อ้างเหตุผลในการขายหุ้น OTO ในครั้งนั้นว่า เป็นการปรับโครงสร้างเชิงกลยุทธ์ เนื่องจากมีเป้าหมายในการสร้างความยั่งยืนทางธุรกิจบนพื้นฐานของความชำนาญและโอกาสในการเติบโตระยะยาว โดยมีธุรกิจมุ่งเน้นประกอบด้วยธุรกิจด้าน Digital ICT Solutions & Services และธุรกิจด้าน Utilities & Transportations ซึ่งเกี่ยวโยงกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศจากเป้าหมายดังกล่าว นำมาสู่การปรับโครงสร้างธุรกิจให้มีความชัดเจน
จับตาแผนใช้เงินแปลง OTO-W1 หันรุกธุรกิจพลังงาน
หลัง OTO เปลี่ยนผู้ถือหุ้นมาครบระยะเวลาราว 1 ปีในช่วงปลายปี 2564 มติอนุมัติแจกฟรีใบสำคัญแสดงสิทธิ์ที่จะซื้อหุ้นสามัญ ครั้งที่ 1 หรือ OTO-W1 ให้กับผู้ถือหุ้นเดิมจำนวน 280 ล้านหน่วย สัดส่วน 2 สามัญเดิม ต่อ 1 หน่วยวอร์แรนต์ กำหนดอัตราการใช้สิทธิแปลงวอร์แรนต์เป็นหุ้นสามัญสัดส่วน 1:1 ในราคาหุ้นละ 3 บาท มีอายุ 3 ปี กำหนดวันใช้สิทธิ์ครั้งแรกในวันที่ 31 พฤษภาคม 2566 และวันใช้สิทธิ์ครั้งสุดท้ายวันที่ 29 พฤศจิกายน 2567 ซึ่งหากมีผู้ใช้สิทธิ์แปลงเป็นหุ้น OTO จะมีเงินเข้ามายังบริษัทรวมราว 700 ล้านบาท เพี่อรองรับแผนการขยายไลน์ธุรกิจเข้าสู่ Commercial Technology อย่างเต็มรูปแบบ
นอกจากนี้ล่าสุดเมื่อวันที่ 6 มิถุนายนที่ผ่านมา บอร์ด บมจ.วันทูวัน คอนแทคส์ ได้ประกาศแต่งตั้ง บัณฑิต สะเพียรชัย อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บีซีพีจี (BCPG) มาเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการบริหาร OTO คนใหม่ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมนี้ แทน คณาวุฒิ วรรทนธีรัช ได้ทำหนังสือลาออกจากตำแหน่ง โดยมีแผนจะแตกไลน์ธุรกิจใหม่โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน สร้าง Recurring Income และเข้าสู่ธุรกิจ Climate Tech
เตือน OTO ดิ่ง 3 ติดฟลอร์ เป็น Money Game
ด้านแหล่งข่าวนักวิเคราะห์เปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH ว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับหุ้น OTO มองว่ามีโอกาสเป็น Money Game เนื่องจากมีข้อสังเกต ดังนี้
– มีแรงเทขายทำกำไรในหุ้น OTO ซึ่งคาดว่าจะเป็นกลุ่มของผู้ถือหุ้นใหญ่ที่ชิงขายออกมาก่อนที่หุ้น OTO จะมีจำนวน 233 ล้านหุ้น ซึ่งเป็นหุ้นที่มาจากการใช้สิทธิ์แปลงสภาพ OTO-W1 ระหว่างวันที่ 24-30 พฤษภาคมที่ผ่านมา เพื่อจะเข้ามาทำการซื้อ-ขายในตลาดหลักทรัพย์เพิ่ม
– การใช้สิทธิ์แปลง OTO-W1 เป็นหุ้น OTO ปัจจุบันจะเป็นกรณี In-the Money ได้ เพราะราคาแปลงสภาพที่ 3 บาท ทำให้มีส่วนต่างกำไรจากหุ้น OTO ที่ซื้อ-ขายกันในช่วงระหว่าง 16-20 บาท (ช่วงวันที่ 24-30 พฤษภาคม) ส่งผลให้มีเงินเข้ามาที่บริษัทจำนวนประมาณ 700 ล้านบาท
– มีหุ้นใหม่ของ OTO จำนวน 233 ล้านหุ้นที่มาจากการแปลงสภาพ OTO-W1 ที่รอประกาศวันเข้าซื้อ-ขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ อย่างเป็นทางการ ซึ่งปกติจะประกาศภายในช่วง 1-2 สัปดาห์หลังสิ้นสุดกำหนดระยะเวลาการแปลงสภาพ จึงมีความเสี่ยงสูงที่หุ้นใหม่ OTO ใหม่จำนวน 233 ล้านหุ้นที่มาจากการแปลงสภาพ OTO-W1 จะถูกแรงขายออกมาเพื่อทำกำไร เพื่อมีต้นทุนการแปลงสภาพที่ต่ำ
– นักลงทุนรายย่อยเริ่มรับรู้ถึงข้อมูลความเสี่ยง จึงเริ่มเห็นแรงเทขายหุ้น OTO ตามมาด้วย เพราะรับรู้ถึงข้อมูลว่าในอนาคตจะมีหุ้นใหม่ของ OTO จำนวน 233 ล้านหุ้นถูกเทขายทำกำไรออกมา
“กระบวนการนี้จะมีหุ้นใหม่ของ OTO เข้ามาเทรดเพิ่มอีก 233 ล้านหุ้นที่แปลงมาจาก OTO-W1 เพื่อจะมาขายเอากำไรออกไป จึงเกิดการชิงจังหวะขายกันก่อน เพราะกลัวจะมีหุ้นใหม่มาขายกดดันราคา พอหุ้นหลุดแนวรับสำคัญ มีแรงขายออกมา มีวอลุ่มเข้าด้วย”
สำหรับคำแนะนำในการลงทุนให้หลีกเลี่ยงการลงทุนในหุ้น OTO เพราะยังมีความเสี่ยงการลงทุนที่สูง หลังจากราคาหุ้นปรับร่วงลงมาที่ฟลอร์ติดต่อกัน 3 วัน รวมถึงให้ติดตามข้อมูลตัวเลขผลประกอบการไตรมาส 2/66 ของ OTO ที่ใกล้จะทยอยออกมาว่าจะมีตัวเลขอย่างไรบ้าง รวมถึงข้อมูลรายละเอียดสำคัญในงบการเงินด้วย