ออสการ์ (Oscars) หรือรางวัล Academy Awards ถือเป็นรางวัลที่ใหญ่ที่สุดในวงการภาพยนตร์ทั่วโลก ซึ่งงานประกาศรางวัลออสการ์จัดขึ้นครั้งแรกในปี 1929 และนับได้ 90 ปีแล้ว ที่บุคคลในวงการภาพยนตร์ได้รับรางวัลในสาขาต่างๆ ทั้งสาขานักแสดงยอดเยี่ยม บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม รวมทั้งรางวัลสำคัญอย่างผู้กำกับยอดเยี่ยม
แต่เชื่อหรือไม่ว่าเกือบ 90 ปีมานี้ มีเพียงผู้กำกับหญิงหนึ่งเดียวเท่านั้นที่เคยชนะรางวัล นั่นคือ แคธรีน บิเกโลว์ (Kathryn Bigelow) เจ้าของผลงานภาพยนตร์ The Hurt Locker ในปี 2009 และจวบจนปัจจุบัน ไม่น่าเชื่ออีกเช่นกันว่าที่ผ่านมามีผู้กำกับหญิงที่ได้รับเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมแค่เพียง 5 คนเท่านั้น!
จนกระทั่งในปี 2018 ที่ผ่านมา ผู้หญิงกลายเป็นจุดสนใจและได้รับการยอมรับมากขึ้นจากกระแส #MeToo #TimesUp โดยเฉพาะในวงการฮอลลีวูด ทำให้เวทีออสการ์ปี 2018 พื้นที่เพิ่มมากขึ้นให้กับผู้หญิง และผู้กำกับหญิง ผู้กำกับหน้าใหม่อย่าง เกรตา เกอร์วิก ก็ได้เข้าชิงรางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมจากภาพยนตร์ Lady Bird แม้เธอจะเสียรางวัลไปให้กับ กีเยร์โม เดล โตโร จากภาพยนตร์ Shape of Water ก็ตาม
และเนื่องด้วยเทศกาลออสการ์ 2019 เวียนมาถึง THE STANDARD ขอชวนคุณมาย้อนดูรายชื่อ 5 ผู้กำกับหญิงในตำนานที่เคยเข้าชิงรางวัลบนเวทีออสการ์กัน
“I am a director. I’m the one who can order men around.”
– Lina Wertmuller
Lina Wertmüller (1977)
ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้กำกับหญิงคนแรกของโลกที่ได้เข้าชิงรางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมบนเวทีออสการ์ ลินา เวิร์ตมูลเลอร์ (Lina Wertmüller) เป็นผู้กำกับสัญชาติอิตาลีที่มาพร้อมสไตล์โดดเด่น เปรี้ยว และกลายเป็นที่พูดถึงมากที่สุดในวงการภาพยนตร์ช่วงปี 70s ด้วยความที่ภาพยนตร์ของเธอแฝงมุกตลกร้าย ความอีโรติกของตัวละคร และการตีความถึงสังคมคนอิตาเลียนอย่างเผ็ดร้อน เธอมีเอกลักษณ์ประจำตัวที่ทำให้ทุกคนจดจำเธอได้คือแว่นตากรอบขาว ที่แม้กระทั่งตอนนี้ลินาในวัย 90 ก็ยังใส่อยู่เหมือนเดิม
เธอกำกับภาพยนตร์มากว่า 32 เรื่อง ‘I basilischi’ คือเรื่องแรกของเธอในปี 1963 จนมาถึงเรื่อง ‘Seven Beauties’ ในปี 1975 (เข้าฉายในอเมริกาในปี 1976 ทำให้เข้าชิงออสการ์ปี 1977) ทำให้เธอเป็นผู้กำกับหญิงคนแรกที่ได้เข้าชิงรางวัลออสการ์ จากภาพยนตร์เรื่อง Seven Beauties ที่มาในแนว Black Comedy เล่าถึงเหตุการณ์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่บนเวทีออสการ์ในปีนั้น เธอได้เสียรางวัลให้กับ จอห์น จี. อวิลด์เซน (John G. Avildsen) จากภาพยนตร์เรื่อง Rocky ที่นำแสดงโดย ซิลเวสเตอร์ สตอลโลน (Sylvester Stallone)
เทรลเลอร์ของโปรเจกต์ภาพยนตร์ Seven Beauties: The Films of Lina Wertmüller ที่รวบรวมผลงานภาพยนตร์ของลินา ทั้ง The Seduction of Mimi, Love and Anarchy, All Screwed Up, Swept Away, Seven Beauties, Summer Night, Ferdinando and Carolina และ Behind the White Glasses
“To deny women directors, as I suspect is happening in the States, is to deny the feminine vision.”
– Jane Campion
Jane Campion (1994)
นอกจาก เจน แคมเปียน (Jane Campion) จะเป็นหนึ่งในผู้กำกับหญิงที่ได้เข้าชิงรางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมเวทีออสการ์แล้ว เธอยังเป็นผู้กำกับหญิงคนแรกที่ได้รางวัล Palme d’Or จากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ในปี 1993 อีกด้วย (ปีนั้นเธอเสมอกับ เฉินข่ายเกอ (Chen Kaige) จากภาพยนตร์ Farewell My Concubine) เจนแสดงความเห็นอยู่บ่อยครั้งเรื่องบทบาทของผู้กำกับหญิงในวงการภาพยนตร์ หลังจากเธอได้รับตำแหน่งเป็น Jury President ในเทศกาลคานส์ปี 2014 เธอก็ใช้โอกาสดังกล่าวเสนอความเห็นเรื่องความเท่าเทียมทางเพศอย่างจริงจัง เจนได้รับการขนานนามโดยสื่อมวลชนว่า ‘Lady Palme’ เพราะตอนนั้นเธอเป็นผู้หญิงคนเดียวที่เคยได้รางวัล ซึ่งทำให้เธอไม่ค่อยพอใจเท่าไรนัก และยิ่งอยากสนับสนุนให้ผู้กำกับหญิงมีบทบาทมากขึ้น
ภาพยนตร์ที่โด่งดังและทำให้เธอเข้าชิงรางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมบนเวทีออสการ์คือ ภาพยนตร์แนวดราม่า-โรแมนติกเรื่อง The Piano ในปี 1993 แม้เธอจะไม่ได้รางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยม แต่ในออสการ์ปีเดียวกันนั้น เธอก็ได้รับรางวัล Best Writing (* Screenplay Written Directly for the Screen) ด้วย
* ปัจจุบันคือรางวัลบทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม หรือ Best Original Screenplay
เทรลเลอร์ภาพยนตร์ The Piano (1993)
“Of course I am proud of my dad and where I come from, but I do have my own way of working my own style.”
– Sofia Coppola
Sofia Coppola (2004)
ผู้กำกับขวัญใจแฟนภาพยนตร์ยุคใหม่หลายๆ คน โซเฟีย คอปโปลา (Sofia Coppola) เป็นที่รู้จักในวงการภาพยนตร์ในฐานะลูกสาวของตำนาน ฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปลา (Francis Ford Coppola) เธอกำกับภาพยนตร์เรื่องยาวเรื่องแรกตั้งแต่ปี 1999 The Virgin Suicides ซึ่งแม้จะเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกของเธอ แต่ก็ได้เข้าชิงรางวัลจากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์
โซเฟียนับเป็นผู้กำกับที่ได้อยู่ท่ามกลางแสงไฟมากที่สุดคนหนึ่ง ด้วยชื่อเสียงของตระกูลคอปโปลา และตำแหน่งทางสังคมที่ทำให้เธอกลายเป็นทั้งผู้กำกับมากความสามารถ แฟชั่นไอคอน และเซเลบริตี้ ภาพยนตร์ของเธอยังมีเอกลักษณ์ที่ดึงแฟนๆ ให้ติดสไตล์ของเธอได้ ทั้งมู้ดโทนที่มีความเพ้อฝันเหมือนเด็กสาววัยรุ่นตลอดเวลา แต่ก็ถูกปรับให้สมดุลด้วยบทหนังที่เต็มไปด้วยการเล่าเรื่องที่ฉลาด และเป็นตัวของตัวเอง ไปจนถึงมุมกล้อง เสื้อผ้า และงานกำกับศิลป์ในหนังทุกเรื่องที่ทุกคนต้องตกหลุมรัก
เธอได้เข้าชิงรางวัลออสการ์ด้วยผลงานภาพยนตร์ Lost in Translation ในปี 2003 เธอพลาดรางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยม แต่ก็ได้รางวัล Best Writing, Original Screenplay ไปครองแทน ในปี 2004 เธอเคยเข้าชิงรางวัล Golden Kinnaree Award ในงาน Bangkok International Film Festival จากภาพยนตร์เรื่องเดียวกันนี้ด้วย ส่วนเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ดูจะเป็นเวทีที่โปรดปรานหนังสไตล์โซเฟีย คอปโปลาที่สุด เธอพาหนังเข้าชิงมาแล้วถึง 4 เรื่อง (The Virgin Suicides, Marie Antoinette, The Bling Ring และ The Beguilded) ซึ่งเธอชนะรางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมปี 2017 จาก The Beguiled ทำให้เธอเป็นผู้หญิงที่ได้รางวัลเป็นคนที่ 2 ของเวทีนี้ หลังจากเจน แคมเปียนถึง 24 ปี
เทรลเลอร์ภาพยนตร์ Lost in Translation (2003)
“There should be more women directing; I think there’s just not the awareness that it’s really possible.”
– Kathryn Bigelow
Kathryn Bigelow (2010)
เมื่อไม่นานมานี้ เวทีออสการ์ได้สร้างปรากฏการณ์ด้วยการมอบรางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมให้กับผู้กำกับหญิงคนแรก แคธรีน บิเกโลว์ (Kathryn Bigelow) ในปี 2010 จากภาพยนตร์เกี่ยวกับสงครามอิรักเรื่อง The Hurt Locker ซึ่งกวาดรางวัลออสการ์ไปถึง 6 รางวัล รวมทั้งรางวัลใหญ่ๆ อย่างภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม เอาชนะภาพยนตร์ยักษ์ใหญ่อย่าง Avatar ที่กำกับโดยสามีเก่าของเธอ เจมส์ คาเมรอน (James Cameron) ด้วย อย่างที่เห็นทั้งรายละเอียดหนัง และตัวอย่าง The Hurt Locker คงไม่เชื่อว่าฝีมือเบื้องหลังการกำกับนี้จากมาจากผู้หญิง
แคธรีนเป็นที่รู้จักจากภาพยนตร์แนวแอ็กชัน นำเสนอความรุนแรงหรือประเด็นหนักๆ อย่างเรื่องความแตกต่างของเชื้อชาติ ใน Detroit ภาพยนตร์เรื่องล่าสุดของเธอในปี 2017 และจากการที่เธอเรียนจบด้านทัศนศิลป์และกราฟิกดีไซน์ ทำให้เธอมีความสามารถในการใช้สีและจัดองค์ประกอบในภาพยนตร์ นอกจากนี้เธอยังขึ้นชื่อเรื่องความเป๊ะ ห้ามสื่อถามเรื่องส่วนตัว คุยได้แค่เรื่องภาพยนตร์หรือประเด็นเรื่องการเมืองเท่านั้น ซึ่งนั่นแสดงให้เห็นความจริงจังในการทำงานที่แยกส่วนออกจากชีวิตส่วนตัวได้เป็นอย่างดี เธอได้รางวัลออสการ์ถึง 2 รางวัล ทั้งผู้กำกับยอดเยี่ยม และภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในปี 2010
เทรลเลอร์ภาพยนตร์ The Hurt Locker (2008)
“I think that the way women have come together to lead the Time’s Up movement and to make clear goals for our industry is how we are going to move forward with purposefulness”
– Greta Gerwig
Greta Gerwig (2018)
เกรตา เกอร์วิก (Greta Gerwig) จากตำแหน่งนักแสดงที่ฝากผลงานไว้กว่า 40 เรื่อง รวมทั้งภาพยนตร์ดังๆ อย่าง Frances Ha ในปี 2012 และ 20th Century Women ในปี 2016 เธอค่อยๆ ผันตัวมาเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ ซึ่งทำให้เธอได้เข้าชิงเวทีใหญ่ๆ ทั้งสาขานักแสดงและผู้กำกับยอดเยี่ยม จนกลายเป็นที่รักในวงการฮอลลีวูด ปัจจุบันเธอยังเป็นแกนนำกลุ่ม Time’s Up ต่อต้านการคุกคามทางเพศอีกด้วย
เกรตาเคยกำกับภาพยนตร์มาเพียงแค่ 2 เรื่อง คือ Nights and Weekends ในปี 2008 และล่าสุดกับ Lady Bird (2017) ภาพยนตร์คอเมดี-ดราม่าเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของหญิงสาววัยรุ่นกับแม่ ที่ทำให้เธอเรียกตัวเองว่าเป็นผู้กำกับที่ประสบความสำเร็จได้อย่างเต็มตัว เพราะ Lady Bird เข้าชิงออสการ์ถึง 5 รางวัล ทั้งบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, ผู้กำกับยอดเยี่ยม, ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, นักแสดงนำหญิง และนักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม
ก่อนหน้านี้ Lady Bird ยังชนะรางวัล Best Motion Picture – Musical or Comedy จากเวทีลูกโลกทองคำมาแล้ว ทำให้เวทีออสการ์ครั้งที่ผ่านมา ทุกคนต่างจับตามองว่า เกรตา เกอร์วิก และสไตล์แบบสง่างามแต่เพี้ยนๆ จะทำให้เธอได้เป็นผู้กำกับหญิงคนที่ 2 ของโลกที่ได้รับรางวัลออสการ์สาขาผู้กำกับยอดเยี่ยมหรือเปล่า แต่เธอก็แพ้ให้กับ กีเยร์โม เดล โตโร จากภาพยนตร์ Shape of Water และพลาดตำแหน่งผู้กำกับที่มีอายุน้อยที่สุดอันดับที่ 4 ที่เคยได้รางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมจากเวทีออสการ์อีกด้วย
เทรลเลอร์ภาพยนตร์ Lady Bird (2017)
ผลการศึกษาของ San Diego State University’s Center for the Study of Women in Television and Film รายงานว่า บทบาทของผู้หญิงที่ทำงานเบื้องหลังในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ยังคงสภาพเดิมมาตลอด 20 ปี ถ้านับจากจำนวนผู้กำกับ คนเขียนบท โปรดิวเซอร์ และคนตัดต่อ จากภาพยนตร์ตัวอย่าง 250 เรื่อง ยังมีจำนวนผู้หญิงแค่เพียง 18% ของตำแหน่งทั้งหมดเท่านั้น ซึ่งถือเป็นเปอร์เซ็นต์คงที่ตั้งแต่การเริ่มศึกษาโปรเจกต์ดังกล่าวเมื่อปี 1998 คงไม่แปลกที่ความเป็นไปได้ของผู้กำกับหญิงที่จะเข้าชิงรางวัลออสการ์จึงน้อยกว่าผู้ชาย
อย่างไรก็ตาม เราก็เห็นความเปลี่ยนแปลงในวงการภาพยนตร์มากขึ้นเรื่อยๆ มีทั้งผู้กำกับหญิงและบุคคลเบื้องหลังตำแหน่งอื่นๆ มากมายที่ได้รับคำชื่นชม และได้รับความสนใจจากวงการภาพยนตร์มากขึ้นทุกปี และแม้งานออสการ์ครั้งที่ 90 นี้ เราจะไม่ได้เห็นรายชื่อผู้กำกับหญิงติดโผรางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยม แต่ก็ยังมีลุ้นว่าในปีต่อๆ ไป เราจะมีโอกาสได้เห็นผู้กำกับหญิงคนที่ 6 ที่ชนะรางวัลใหญ่บนเวทีออสการ์อีกหรือเปล่า