×

เบื้องหลังการจัดงาน Oscars ความวุ่นวาย รายละเอียด และราคาที่ต้องจ่าย เพื่อความยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก

17.02.2018
  • LOADING...
oscasrs2019

กว่าจะมาเป็นงานประกาศรางวัลออสการ์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลก เบื้องหลังงานสเกลใหญ่ขนาดนี้ที่เราได้เห็นตลอดมา ทั้งสถานที่จัดงาน เหล่าแขกรับเชิญ ดาราที่มาร่วมงาน ไปจนถึงพรมแดงที่เป็นเอกลักษณ์ ล้วนมีความสำคัญที่ทำให้งานนี้ตกอยู่ในสายตาของคนทั่วโลก

 

และนี่คือเกร็ดเบื้องหลังงานออสการ์ที่จะทำให้คุณรู้จักงานนี้มากขึ้น และรอคอยให้ถึงวันประกาศรางวัลยิ่งกว่าที่เคย!

 

Photo: Matt Petit / ©A.M.P.A.S.

Photo: Valerie Durant / ©A.M.P.A.S.

Photo: Matt Petit / ©A.M.P.A.S.

 

สถานที่จัด Dolby Theatre

โรงละคร Dolby Theatre หรือชื่อเดิม โกดัก เธียเตอร์ (Kodak Theatre) เป็นสถานที่จัดงานประกาศรางวัลออสการ์มาตั้งแต่ปี 2002 ตั้งอยู่ในแหล่งช้อปปิ้งชื่อดังย่าน Hollywood & Highland Center ที่ฮอลลีวูด ลอสแอนเจลิส แคลิฟอร์เนีย ออกแบบโดย เดวิด ร็อกเวลล์ (David Rockwell) ถือเป็นโรงละครที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ รองรับผู้ชมได้มากถึง 3,300 ที่นั่ง

 

โถงทางเดินด้านหน้าจนถึงบันไดที่เข้าไปยังโรงละคร ตรงผนังจะมีชื่อภาพยนตร์ที่ได้รับรางวัลสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมติดอยู่ และผนังที่ว่างเหลือไว้สำหรับผู้ชนะในอนาคต ซึ่งเนื้อที่ที่เหลือไว้สามารถติดชื่อภาพยนตร์ที่ชนะรางวัลได้จนถึงปี 2071

 

ตัวพรมแดงเฉดสีเฉพาะของออสการ์

พรมแดงที่ใช้ปูในงานออสการ์นั้น ทางผู้จัดต้องใช้พรมแดงยาว 500 ฟุต ใช้เวลาปูประมาณ 2 วัน ผลิตโดยบริษัท Signature Systems Group ซึ่งรับหน้าที่ปูพรมแดงให้เรียบเนียนไม่มีรอยย่น โดยทำงานให้กับงานออสการ์มาตั้งแต่ปี 2008 สีของพรมเป็นเฉดสีที่ใช้กับงานออสการ์เท่านั้น ชื่อสี Academy Red ทำให้เหล่าดาราที่เดินในงานดูดีและสง่างาม ที่สำคัญ โค้ดสีถูกปิดเป็นความลับเพื่อไม่ให้เกิดการลอกเลียนแบบ

 

กฎระเบียบสำหรับสื่อที่มาทำข่าว

ทางงานประกาศรางวัลออสการ์จะมีบัตรผ่านให้กับสื่อ โดยสื่อต้องลงทะเบียนล่วงหน้าผ่านเว็บ www.oscars.org ในนามของบริษัทเท่านั้น อุปกรณ์ไร้สายรวมถึง ไมโครโฟน อินเตอร์คอม ที่มีความถี่สูง ห้ามใช้ในบริเวณพื้นที่จัดงาน เนื่องจากจะรบกวนสัญญาณในการออกอากาศทางโทรทัศน์

 

ทั้งนี้สื่อที่ลงทะเบียนขอบัตรผ่านมีโอกาสที่จะถูกปฏิเสธเช่นกัน เพราะพื้นที่ของสื่อมีจำกัด ในปี 2017 มีสื่อมวลชนที่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปในบริเวณงานเพียง 110 สื่อ นับเป็น ⅓ ของสื่อที่ยื่นเรื่องขอไปทั้งหมด ทั้งนี้เมื่อได้รับบัตรผ่านแล้ว ห้ามถ่ายรูปบัตรผ่านหรือนำไปสำเนา และห้ามเผยแพร่ลงสื่อทุกชนิด

 

Photo: Robert Gladden / ©A.M.P.A.S.

Photo: Robert Gladden / ©A.M.P.A.S.

 

การดูแลความปลอดภัย

การดูแลความปลอดภัยของงานออสการ์ในแต่ละปีมี 2 ขั้นตอน โดยจะมีการจัดระเบียบความปลอดภัยก่อนวันงานและงานในวันจริง มีกล้องวงจรปิดความละเอียดสูงส่งสัญญาณไปยังสถานีควบคุม ซึ่งมีเจ้าหน้าที่คอยตรวจตราความเคลื่อนไหวและสิ่งผิดปกติต่างๆ ทุกคนที่เข้าร่วมงาน รวมไปถึงดาราที่มาร่วมงาน ต้องผ่านเครื่องตรวจจับโลหะ โดยมีตำรวจจากกรมตำรวจแอลเอ (LAPD) ทำหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัย

 

ส่วนที่นั่งสำหรับแฟนๆ ที่ต้องการมาดูเหล่าดาราเดินพรมแดงในปีนี้ จะไม่มีการมาจองที่ก่อน แต่เปลี่ยนให้ไปจองล่วงหน้าผ่านเว็บไซต์เท่านั้น โดยต้องส่งชื่อ พาสปอร์ต หมายเลขประกันสังคม และต้องยินยอมให้มีการตรวจเช็กประวัติได้ เมื่อถูกตรวจสอบแล้ว แฟนๆ จะต้องผ่านเครื่องตรวจจับโลหะ และนั่งในบริเวณที่กำหนด

 

ใครจะได้รับเชิญไปร่วมงาน

แขกที่มีสิทธิ์เข้าร่วมหรือได้รับการเชื้อเชิญให้ไปร่วมงานประกาศรางวัลออสการ์ในปีนั้นๆ ได้แก่ ผู้เข้าชิงรางวัล พิธีกรของงาน นักร้องที่ได้แสดงสดบนเวที ผู้ชนะปีก่อนๆ ที่กลับมารับหน้าที่ประกาศรางวัล รวมถึงคนอื่นๆ ที่มีส่วนร่วมในการทำภาพยนตร์ที่ได้เข้าชิง หรือถ้าโชคดี คนที่ถูกเชิญจะสามารถพาคนในครอบครัว แฟนหนุ่ม แฟนสาว มาเป็นคู่ควงร่วมงานได้

 

ค่าใช้จ่ายสำหรับการจัดงานออสการ์

การถ่ายทอดสดงานประกาศรางวัลออสการ์ในวันจริงนั้น มีค่าใช้จ่ายอยู่ราว 21-22 ล้านเหรียญสหรัฐ

 

โดยแบ่งเป็นค่าจ้างโปรดิวเซอร์งานอยู่ที่ 100,000 เหรียญต่อคน ค่าจ้างพิธีกรอย่าง จิมมี่ คิมเมล อยู่ที่ 15,000 เหรียญ ค่าจ้างพนักงานรักษาความปลอดภัย 250,000 เหรียญ พรมแดงมีราคา 1.5 เหรียญต่อตารางฟุต รูปปั้นรางวัลออสการ์มีมูลค่า 900 เหรียญต่อหนึ่งตัว

 

ส่วนค่าจัดหาอาหารสำหรับหลังงานจบ ถึงจะไม่มีตัวเลขที่ชัดเจน แต่ร้านอาหาร Wolfgang Puck ผู้ผูกขาดการทำอาหารงานออสการ์มานาน คาดการณ์ว่ามีค่าใช้จ่ายราว 20,000 เหรียญ สำหรับค่าช็อกโกแลตที่ใช้ในงานเลี้ยง Governors Ball หลังจากพิธีแจกรางวัล และค่าใช้จ่ายราว 25,000 เหรียญ สำหรับค่าสเต๊กให้กับแขกผู้มาร่วมงาน 1,500 คน

 

Photo: Robert Gladden / ©A.M.P.A.S.

Photo: Todd Wawrychuk / ©A.M.P.A.S.

Photo: Todd Wawrychuk / ©A.M.P.A.S.

 

COVER PHOTO: Robert Gladden / ©A.M.P.A.S.

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X