ขึ้นชื่อว่าเป็นรางวัลด้านภาพยนตร์ที่ยิ่งใหญ่ระดับโลก ไม่ว่าใครในแวดวงอุตสาหกรรมภาพยนตร์ก็คงอยากมีไว้เพื่อการันตีความสำเร็จ และไม่ใช่แค่เรื่องของการแสดงเบื้องหน้าเท่านั้น เพราะงานเบื้องหลังเองก็สำคัญไม่แพ้กัน
คุณรู้หรือเปล่าว่าคนไทยเคยมีส่วนร่วมกับงานภาพยนตร์ใหญ่ๆ หลายเรื่องที่สามารถกระโดดไปรับรางวัลออสการ์มาหลายคนแล้ว แม้จะเป็นเพียงส่วนหนึ่งในงาน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ฟันเฟืองเหล่านี้ล้วนสำคัญ และคู่ควรกับการเป็นเจ้าของรางวัลร่วมจริงๆ
แต่สิ่งที่น่าสนใจมากกว่านั้นคือ การที่บุคลากรเชื้อสายไทยหลายๆ คน ได้รับการยอมรับจากออสการ์ให้ได้นั่งเก้าอี้กรรมการนี่สิ! คุณต้องสั่งสมบารมีและพิสูจน์ตัวเองมามากน้อยแค่ไหนในอุตสาหกรรมภาพยนตร์โลก เพื่อให้ได้รับการยอมรับในผลงาน และก้าวไปสู่การเป็นหนึ่งในคณะกรรมการผู้ตัดสินรางวัลออสการ์ ซึ่งต้องได้รับการเชื้อเชิญจากสถาบันศิลปะและศาสตร์แห่งภาพยนตร์ (The Academy of Motion Picture Arts and Science) และได้รับการยอมรับว่า ผลงานของคุณนั้นยอดเยี่ยมจากอุตสาหกรรมภาพยนตร์
เจ้ย-อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล เป็นคนไทยคนแรกที่ถูกเทียบเชิญให้นั่งหนึ่งในเก้าอี้กรรมการออสการ์จาก 693 ที่นั่ง ในปี 2017 ซึ่งจากผลงานภาพยนตร์ของเขา ทั้ง สัตว์ประหลาด! Tropical Malady (2547) และ ลุงบุญมีระลึกชาติ Uncle Boonmee Who Can Recall His Past Lives (2553) ที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากหลายๆ สำนักทั่วโลก ก็เป็นเครื่องการันตีแล้วว่า เขาคู่ควรกับการเป็นกรรมการออสการ์อย่างแท้จริง นอกจากนี้ยังมี สอง-สยมภู มุกดีพร้อม ผู้กำกับภาพคนเก่งจากภาพยนตร์อย่าง Call Me By Your Name (2017) และ Suspiria (2018) ก็เคยนั่งแท่นกรรมการในปี 2018 ซึ่งผลงานของเขาก็นับว่าเป็นบุคคลสัญชาติไทยที่เข้าใกล้รางวัลออสการ์ที่สุดแล้วคนหนึ่ง
ส่วนในปี 2019 ที่ผ่านมา ชื่อของ ลี ชาตะเมธีกุล นักลำดับภาพมากความสามารถ ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่เคยถูกเชื้อเชิญให้เป็นกรรมการออสการ์ นอกจากนี้ยังมี สุทธิรัตน์ แอนน์ ลาลาภ คอสตูมดีไซเนอร์เชื้อสายไทย-อเมริกัน ที่มีผลงานโดดเด่นจากภาพยนตร์อย่าง Slumdog Millionaire (2008) และ Steve Jobs (2015) ก็เคยได้เป็นหนึ่งในคณะกรรมการออสการ์มาแล้วในปี 2016
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น กฎกติกาในการดำรงตำแหน่งกรรมการออสการ์นั้นมีการปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่ในปี 2016 ที่กรรมการทุกคนจะมีอายุสมาชิกคนละ 10 ปีเท่านั้น และเงื่อนไขของการต่ออายุสมาชิกกรรมการจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อบุคคลเหล่านั้นมีผลงานในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกทั่วโลกประมาณ 7,900 คน
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล